เปิดตัวละครลับ ปริศนา ‘มเหสี’ ของพระนเรศวร ในเอกสารโบราณเมียนมา

หลายปีก่อนผมไปค้นเอกสารที่เมืองมัณฑะเลย์ อมรปุระ และย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา วันหนึ่งผมทำเรื่องขอเข้าค้นคว้า ณ หอเก็บเอกสารโบราณของกรมศิลปากรเมียนมา เขตมัณฑะเลย์ ที่วัดบากะหย่า เมืองอมรปุระ ผมต้องทำหนังสือเรียนท่านอธิบดีกรม เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาเมียนมา เดินเรื่องยื่นหนังสือด้วยตัวเองประมาณ 3 วัน อธิบดีจึงเซ็นอนุมัติลงนาม และให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาแจ้งว่าให้ไปรับหนังสืออนุญาตเข้าหอเก็บเอกสารที่วัดบากะหย่า เมืองอมรปุระ โดยมีคำสั่งว่าให้เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามในระหว่างที่อยู่ในหอเก็บเอกสารโบราณของชาติ เนื่องจากเป็นชาวต่างชาติ และห้ามถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอหรือคัดลอกเอกสารใดๆ เว้นแต่อนุญาตให้อ่านได้เท่านั้น 

ที่นั่น ผมพบเอกสารเกี่ยวกับอยุธยาและล้านนาจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นประเภทพงศาวดาร นอกจากเอกสารจำพวกนั้นแล้ว ผมเห็นเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งชื่อเตะตามาก เอกสารชื่อว่า โยดะยามิพะยาเอชีน แปลว่า บทเห่กล่อมพระมเหสีกษัตริย์อยุธยา แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดอ่านข้างใน เนื่องจากเอกสารนั้นชำรุดเสียหายมากแล้ว และห่อพันไว้ด้วยผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าๆ 

ต่อมาผมได้เขียนแนะนำเอกสารฉบับนี้ในสื่อไทย ว่ามีเอกสารที่ยืนยันว่ากษัตริย์อยุธยามีมเหสีเป็นคนเมียนมา 

ถัดจากนั้นมาอีกปีหนึ่ง ผมไปค้นเอกสารที่หอสมุดมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และขอเข้าไปค้นคว้าแผนกเอกสารโบราณ ตอนนั้นยังไม่มีระบบการสืบค้นออนไลน์ ยังต้องใช้การค้นแบบบัญชีบัตรคำอยู่ หรือไม่ก็ต้องเดินไปไล่ดูเองตามชั้นต่างๆ ผมปรึกษาบรรณารักษ์และถามว่ามีโยดะยามิพะยาเอชีนไหม สักครู่หนึ่ง เธอจึงหยิบบัตรค้นคำเกี่ยวกับ ‘โยดะยา’ หรือ อยุธยา ทั้งหมด มาให้ดู โชคดีมาก ผมเจอโยดะยามิพะยาเอชีนที่นี่ 

บรรณารักษ์แนะนำผมว่า เป็นมเหสีกษัตริย์อยุธยา ผมถามกลับว่ากษัตริย์อยุธยาพระองค์ที่ว่านี้คือใคร บรรณารักษ์ชื่อ ด่อ ตันดาร์ อ่อง ตอบผมว่า เปี๊ยะนริศ หรือ พระนเรศ ซึ่งเคยมาประทับอยู่ที่เมียนมาหลายปี ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า นี่เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับมเหสีเมียนมาของกษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือ ‘พระนเรศวร’ หรือนี่

ประวัติศาสตร์ที่พร่าเลือนกับพระนามที่แท้จริง

ถ้าว่ากันในแง่มุมประวัติศาสตร์ เอกสารนี้น่าสนใจสำหรับนักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจประวัติศาสตร์ ตรงที่สามารถช่วยให้นักประวัติศาสตร์อยุธยาใช้เทียบเคียงกับเอกสารแหล่งอื่นๆ ตลอดจนช่วยเป็นจิ๊กซอว์เชื่อมภาพที่พร่าเลือนของประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น 

สมัยก่อนมักกล่าวกันว่า สมเด็จพระนเรศวรไม่มีพระมเหสี เพราะทรงทำแต่ศึกสงคราม แต่นั่นเป็นเรื่องที่คนในสมัยหลังตีความกันไปเองต่างหาก เพียงเพราะว่าไม่มีระบุอยู่ในพระราชพงศาวดาร (ซึ่งโดยปกติมักไม่ได้กล่าวถึงพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว) อีกทั้งอาจจะไม่ได้พิจารณาหลักฐานอื่นๆ ประกอบ

ทำให้ต่อมาประเด็นนี้เป็นปริศนาคาใจที่หลายคนพยายามหาคำตอบ ถึงขนาดมีการตั้งกระทู้ถามกันในโซเชียลมีเดียว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสี พระโอรส และพระธิดาหรือไม่ นอกจากเรื่องนี้ก็ยังมีอีกหลายประเด็นในรัชกาลของพระองค์ที่ยังเป็นปริศนาให้นักประวัติศาสตร์ค้นคว้ากันต่อไป อย่างรายละเอียดวีรกรรมยุทธหัตถี ยาวยันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่สวรรคตว่าอยู่ในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่เมืองหาง ในรัฐฉานของเมียนมากันแน่ 

ที่ผ่านมาเรื่องราวของพระองค์ได้รับการเขียนเป็นหนังสือ ตำราแบบเรียนประวัติศาสตร์ ตลอดจนภาพยนตร์ เพื่อถ่ายทอดให้คนไทยได้รับรู้ถึงเรื่องราวของพระองค์ได้โดยง่าย โดยอาศัยหลักฐานประวัติศาสตร์และตำนานต่างๆ ผนวกเข้าเป็นเรื่องราว ถ่ายทอดออกมาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กล่าวถึงเรื่องราวของพระองค์อย่างละเอียดลออตลอดพระชนมพรรษาของพระองค์ ยิ่งทำให้เรื่องราวของพระองค์ยังคงถูกกล่าวขานอย่างไม่รู้จบสิ้น

และก็คงไม่แปลกอะไรที่ความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร หลายๆ เรื่องอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางวิชาการไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม 

อย่างเมื่อตอนที่มีภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกมาใหม่ๆ ทำให้หลายคนฮือฮากับตัวละครที่ชื่อว่า ‘มณีจันทร์’ ซึ่งในภาพยนตร์จัดวางให้เป็นพระมเหสีของพระนเรศวร ที่เป็นคนทางฝั่งเมียนมารามัญ แต่มันก็เกิดคำถามขึ้นตามมาอีกว่า แล้วมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่ 

ต่อประเด็นคำถามนี้ เมื่อตรวจสอบจากเอกสารประวัติศาสตร์กลับพบว่า มีการออกพระนามของพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรต่างกันออกไปหลายพระนามด้วยกัน อย่างเช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพระนามพระมเหสี เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า พระนางมณีรัตนา พงศาวดารละแวก กล่าวว่า หลังตีละแวก หรือกรุงเขมรได้ ในปี พ.ศ. 2138 พระนเรศวรได้ทรงนำพระราชธิดาของพระศรีสุริโยพรรณ พระนามว่า พระเอกษัตรี มาเป็นพระมเหสี และยังมีพระนามว่า เจ้าขรัวมณีจันทร์ ปรากฏอยู่ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยก่อนตั้งถิ่นฐานในแหลมอินโดจีนจนถึงสมัยอยุธยา บอกว่า พระองค์เป็นหมัน ไม่ทรงมีพระราชโอรสธิดากับสมเด็จพระนเรศวรแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานในเอกสารต่างชาติ เช่น ในเอกสาร Historical Account of King Prasat Thong ฉบับแปลภาษาอังกฤษของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ระบุว่ามี widow (หม้าย) ของ Black King (พระองค์ดำ) นามว่า Zian Croa Mady Jan ซึ่งชื่อ Zian Croa Mady Jan นี้ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘เจ้าขรัวมณีจันทร์’ ในหลักฐานของสเปนชื่อ History of the Philippines and Other Kingdom ของบาทหลวงมาร์เซโล (Marcelo de Ribadeneira, O.F.M.) ได้พรรณนาถึงกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยสมเด็จพระนเรศวรว่า มีกระบวนเรือของพระอัครมเหสีของพระองค์ร่วมอยู่ในขบวนด้วย

ถ้าเป็นดังที่หลักฐานต่างๆ ว่าไว้ ก็แสดงว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีหลายองค์ เช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินส่วนใหญ่สมัยโบราณในแถบนี้ที่นิยมมีพระมเหสีจำนวนมาก ไม่ใช่ไม่มีอย่างที่คนส่วนใหญ่เคยเข้าใจกัน 

อย่างไรก็ดี นอกจากชาวดัตช์ ชาวสเปน ได้กล่าวถึงไว้ในบันทึกของเขาแล้ว ยังมีชาวต่างชาติอีกผู้หนึ่งที่ยืนยันเรื่องพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรคือ นะวะเดแห่งเมืองแปร 

นะวะเดผู้นี้เป็นกวีในราชสำนักเมียนมา ตามหลักฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วง ค.ศ. 1498-1588 เกิดที่เมืองแปร จริงๆ แล้ว นะวะเดผู้นี้เป็นนายทหารหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น แต่มีพรสวรรค์ด้านวรรณคดี ว่ากันว่านอกจากความช่ำชองในเพลงดาบแล้ว เขายังเป็นกวีอัจฉริยะที่สามารถคิดสร้างสรรค์รูปแบบและประเภทคำประพันธ์ใหม่หลายชนิด จนทำให้เกิดประเภทวรรณคดีใหม่ๆ นะวะเดมีผลงานวรรณคดีมากมาย เขามักจารต้นฉบับด้วยตัวเอง กล่าวกันว่าเขาเป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง (ค.ศ. 1550-1581)

ในระหว่างรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง นะวะเดแห่งเมืองแปรได้รับมอบหมายให้แต่งเอชีนหรือบทเห่กล่อมพระบรรทมหรือบทถวายโอวาทเจ้าฟ้าชาย เจ้าฟ้าหญิง ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนเจริญพระชนมพรรษา ถวายแด่พระธิดาพระองค์เล็กในพระเจ้านอยะทามินซอ/อะนอยะทาซอ กับพระนางสิ่นผิ่วฉิ่นแหม่ด่อ พระธิดาพระองค์นี้มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของพระเจ้าบุเรงนอง เนื่องจากพระบิดาคือพระเจ้านอยะทามินซอเป็นพระโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง เดิมทีไม่ทราบพระนามว่าพระธิดาที่นะวะเดแต่งบทเห่กล่อมพระบรรทมถวายนั้นทรงมีพระนามว่าอะไร เพราะตอนแรกเลยก็ออกพระนามแต่เพียงว่า นะมะด่อ แปลว่า พระกนิษฐา/พระน้องนางเธอ เนื่องจากพระองค์มีพระเชษฐา 3 พระองค์ เป็นเหตุให้นะวะเดเรียกชื่อบทเห่พระบรรทมบทนี้ว่า บทเห่กล่อมพระบรรทมพระกนิษฐาของกษัตริย์ (เนื่องจากต่อมาพระเชษฐาทั้ง 3 พระองค์ได้เป็นกษัตริย์) 

ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของเมียนมา พระเจ้าบุเรงนองส่งพระเจ้านอยะทามินซอหรือที่เชียงใหม่เรียกว่า พระเจ้านรธามังช่อ มาปกครอง รวมถึงพระมเหสี พระโอรส และพระธิดาในพระเจ้านอยะทามินซอก็โดยเสด็จมาพร้อมกันในครานี้ด้วย 

ต่อมาเหตุการณ์การเมืองภายในเมียนมาหลังสมัยพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตเข้าสู่สถานการณ์วุ่นวายหนัก ทำให้หัวเมืองประเทศราชน้อยใหญ่พากันแยกตัวออกจากเมียนมา ซึ่งก็รวมถึงเชียงใหม่ด้วย เชียงใหม่เองก็มีปัญหาคือถูกคุกคามจากล้านช้าง ทำให้เชียงใหม่หาที่พึ่งไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้านอยะทามินซอจึงส่งพระราชสาส์นและบรรณาการลงไปกรุงศรีอยุธยา ยอมเป็นประเทศราชในปี ค.ศ. 1596 สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงขอพระธิดาของพระเจ้านอยะทามินซอกับพระนางสิ่นผิ่วฉิ่นแหม่ด่อมาเป็นมเหสี เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลถึงการออกพระนามพระธิดา จากที่ก่อนหน้านี้เรียกว่า นะมะด่อ ก็เปลี่ยนมาเรียกว่า ‘โยดะยามิพะยา’ แปลว่า มเหสีอยุธยา และบทเห่กล่อมพระบรรทมที่นะวะเดแต่งถวาย ก็เลยเปลี่ยนมาเรียกตามพระยศล่าสุดกลายเป็น ‘โยดะยามิพะยาเอชีน’ หรือบทเห่กล่อมพระบรรทมมเหสีอยุธยา

บทเห่กล่อมพระบรรทม…วรรณกรรมอาถรรพ์!

นะวะเดพรรณนาถึงพระมเหสีพระนเรศวรในบทเห่กล่อมพระบรรทมอย่างไรบ้าง

ผมลองแปลฉากเปิดตัวมเหสีอยุธยาในโยดะยามิพะยาเอชีน โดยถอดความโดยอรรรถเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเช็กความเข้าใจกับอาจารย์ชาวเมียนมา และไม่ได้ถอดความเป็นภาษาไทยด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ถึงซึ่งวรรณศิลป์ตามขนบไทย  ความว่า

ဖြူ​ရောင်ပိတ်လှပ်၊ ရင်ထပ်သလင်း၊

ပျံ့ရွှင်းထုံခိုး၊ သွယ်ကြိုးတမုတ်၊

​ဘော်ထုတ်အစ၊ သမ္မတနှင့်၊ သကျနွယ်ရင်း၊

ပျူမင်းတို့ရိုး၊ ချစ်ဘိုးချစ်ဘွား၊

နန်းတက်များကို၊ ​ရွှေနားဖြည့်သွင်း၊

မင်းတို့ရတု၊ ရွှင်မှုကျူးမျှ၊

မှတ်​​စေရသည်။    ။ရှင်မတည့်​ပျော်​မွှေးစက်ဘိ​သေး။

As if unveiling the white delicate layer,

prevailing the ancestors from Pyu kings,

beloved royal grandma & grandpas,

to follow their steps and glory …

Pyi Nawaday 

และหลังจากฉากนี้ นะวะเดมิได้มุ่งพรรณาพระรูปพระโฉม หากมุ่งเน้นพรรณนาถึงพระราชประวัติและวีรกรรมของพระมหากษัตริยาธิราชที่เป็นต้นราชสกุล เพื่อให้ทรงทราบถึงพระราชประวัติของพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระเจ้าบุเรงนองผู้มีศักดิ์เป็นปู่ ลักษณะฉันทลักษณ์ใช้กลอนสี่ (วรรคละ 4 คำ) จริงๆ แล้วจัดว่าเป็นวรรณกรรมยอพระเกียรติประเภทหนึ่ง เพราะเนื้อหาโดยรวมมุ่งแต่ยอพระเกียรติวีรกรรมของบรรพบุรุษในราชวงศ์โดยอ้างว่าสืบสันตติวงศ์มาจากเทพ 

เอชีนเป็นงานที่แต่งทีเดียวใช้งานได้คุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะใช้เห่กล่อมได้ตั้งแต่เล็กยันโต โดยใช้เป็นบทอ่านถวายซ้ำๆ เพื่อเป็นบทเรียน บางทีเรียกกันว่า บทอ่านเพื่อพระกรรณ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเจ้านายทุกพระองค์จะได้รับการแต่งบทเห่พระบรรทมถวายไปเสียหมด เพราะอนุญาตให้แต่งถวายเฉพาะแด่เจ้านายที่เป็นพระโอรส พระธิดาของกษัตริย์ และชั้นหลานสายตรงทั้งชายและหญิง อย่างกรณีของพระมเหสีในพระนเรศวร

บทเห่กล่อมพระบรรทมหรือวรรณกรรมประเภทเอชีนนี้ บางครั้งกล่าวกันว่าเป็น ‘วรรณกรรมอาถรรพ์’ เพราะเจ้านายเมียนมาหลายพระองค์ โดยเฉพาะที่ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารหลายพระองค์ต้องประสบชะตากรรมถูกปลงพระชนม์บ้าง ถูกกบฏชิงราชบัลลังก์บ้าง มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ประสบภัย มีพระมกุฎราชกุมาร 7 พระองค์ต้องทรงประสบชะตากรรมที่เลวร้ายทั้งก่อนและหลังครองบัลลังก์ อย่างเช่น พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (ค.ศ. 1531-1551) มีบทเห่กล่อมพระบรรทมที่แต่งถวายเมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าฟ้าถึง 3 เรื่อง ในบั้นปลายถูกขุนนางชาวมอญลอบปลงพระชนม์ ส่วนพระมหาอุปราชองค์ที่เป็นพระโอรสของพระเจ้านันทบุเรงมีบทเห่กล่อมที่แต่งถวาย 1 เรื่อง ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์จากการรบกับอยุธยา เมื่อ ค.ศ. 1593 ในสงครามยุทธหัตถี (สงครามในลิลิตตะเลงพ่ายที่คุ้นเคยกันดี) 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ใกล้เข้ามาหน่อยก็ในยุคอาณานิคม อู ปวา นักวิชาการและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้แต่งบทอ่านเพื่อพระกรรณสั้นๆ ถวายแด่เจ้าชายแห่งแคว้นเวลส์ เมื่อคราวเสด็จเยือนอาณานิคมเมียนมา ในปี ค.ศ. 1921 อู ปวา ได้รับพระราชทานเงินรางวัลจำนวน 1,000 รูปี (ประมาณ 70 ปอนด์) ในสมัยนั้น และต่อมาก็ปรากฏว่าเจ้าชายพระองค์นั้น ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทก็ไม่ได้ขึ้นครองราชย์เพราะทรงสละตำแหน่ง เสกสมรสกับหญิงอันเป็นที่รัก และไปใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศ พระอนุชาของพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์ชที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีเคสแบบเดียวกันนี้อีกมาก

เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอยู่ว่า บรรดาเจ้านายที่มีผู้แต่งเอชีนหรือบทเห่กล่อมพระบรรทมถวายล้วนประสบชะตากรรมที่ไม่ดี จึงอดที่จะกล่าวกันมิได้ว่า วรรณกรรมประเภทนี้มีอาถรรพ์! 

เช่นเดียวกันกับที่พระมเหสีอยุธยาก็มีเอชีน 1 เรื่อง ที่นะวะเด นายทหารกวีผู้อยู่ร่วมสมัยแต่งถวาย จนในที่สุดพระองค์ก็ทรงพลัดพรากจากบ้านเมือง มาเป็นหลักประกันความจงรักภักดีของเจ้าประเทศราช และไม่ทราบเรื่องราวที่แน่ชัดหลังจากมาเป็นมเหสีอยุธยา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเอชีนหรือบทเห่กล่อมพระบรรทมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นวรรณกรรมอาถรรพ์ เพราะผู้ที่มีวรรณกรรมประเภทนี้ส่วนใหญ่มักประสบชะตากรรมที่ไม่สวยงามนัก แต่ก็เป็นพยานลายลักษณ์ที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และอย่างในกรณีนี้ก็ช่วยเป็นจิ๊กซอว์ที่ให้ข้อมูลว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีเป็นเจ้าหญิงเมียนมา ผู้สืบเชื้อสายตรงจากพระเจ้าบุเรงนองหรือ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ที่คนไทยคุ้นเคยดี ซึ่งมีพระนามตามพระยศล่าสุดว่า โยดะยามิพะยา — มเหสีอยุธยา ปรากฏพระองค์ครั้งแรกสุดในบทเห่กล่อมพระบรรทม — วรรณกรรมที่ถูกกล่าวหาว่ามีอาถรรพ์ และได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงหลักให้กับหลักฐานชั้นหลังต่อมา

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า