‘Blood Money’ แคมเปญแบนบริษัทน้ำมันไทย ชาวเมียนมากล่าวหาเป็นท่อน้ำเลี้ยงเผด็จการ ปตท. ชี้แจง ไม่เกี่ยวข้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

-1-

Blood Money Campaign หรือ ‘กลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือด’ เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมของประชาชนชาวเมียนมา ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา 2021 มีเป้าหมายเพื่อประณามธุรกิจต่างชาติที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา ได้ปล่อยแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนชาวเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชาวไทย และทั่วโลก ร่วมกันบอยคอต แบน และคว่ำบาตรสินค้าและบริการของเครือ ปตท. รวมถึงธุรกิจน้ำมัน ก๊าซ และร้านกาแฟอเมซอน

ใจความสำคัญในแถลงการณ์ระบุว่า เงินรายได้จากค่าก๊าซที่ ปตท. จ่ายให้กับเผด็จการทหาร รวมทั้งการดำเนินธุรกิจกับ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐที่ตอนนี้อยู่ในมือของรัฐบาลทหาร นับเป็นกิจกรรมทางธุรกิจและนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญ 

รวมถึงร้านกาแฟอเมซอนก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ ปตท. ซึ่งมีการประกอบธุรกิจทั้งในเมียนมาและไทย ดังนั้นกลุ่มจึงคิดแคมเปญแบนเงินเปื้อนเลือด เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

-2-

หลังจากผ่านช่วงเวลา 10 ปีแห่งการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมา พบว่า Chevron, PTTEP, CNPC, Posco และบริษัทน้ำมันและก๊าซอื่นๆ ได้มาร่วมกันสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐบาลทหารเมียนมาอีกครั้ง 

นั่นเป็นคำกล่าวของ อู ทุน วิน (U Tun Win) อดีตสมาชิกรัฐสภาและองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติและนานาชาติ 

บรรดานายพลที่มีอำนาจกำลังใช้เงินค่าน้ำมันนี้ซื้ออาวุธเพื่อสังหารประชาชนชาวเมียนมา อย่างที่ โธมัส แอนดรูว์ (Thomas Andrews) ผู้ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในเมียนมาได้ชี้ให้เห็นว่า มีหลักฐานวิดีโอมากมายที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพเมียนมาทุบตีผู้ประท้วง แพทย์ พยาบาล และผู้คนที่ยืนดู อย่างโหดเหี้ยม มีวิดีโอของทหารและตำรวจทำลายทรัพย์สิน ปล้นสะดมร้านค้า จับกุมผู้ประท้วงและผู้สัญจรไปมาโดยพลการ และยิงใส่บ้านเรือนของประชาชนโดยไม่เลือกหน้า

เป็นที่ทราบกันดีว่าการได้รับอนุญาตให้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในเมียนมา บริษัทต่างๆ ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ MOGE โดยเงินค่าน้ำมันและก๊าซจะไหลเข้ากระเป๋าของนายพลที่มีอำนาจโดยตรง ซึ่งในความเป็นจริง กองทัพได้รับเงินส่วนใหญ่จาก Chevron, Total Energies, Posco, PTTEP และบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ อีกหลายแห่ง จากข้อมูลของผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติระบุว่า MOGE เป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดแหล่งเดียวของรัฐ

บริษัทน้ำมันและก๊าซระหว่างประเทศจ่ายเงินให้ MOGE หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบตลอดทั้งปีหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก๊าซของ Chevron และ Total Energies จากแหล่งยะดะหน่าหรือยาดานา (Yadana) ตามที่เรียกในสื่อภาษาไทย ถือเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด

ในปี 1998 บริษัททั้งสองได้เริ่มขุดเจาะก๊าซในแหล่งยาดานา ทางตอนใต้ของเมียนมาและสูบเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางท่อส่งก๊าซ พาดผ่านป่าฝนเขตร้อนอันมีชีวิตชีวาของเมียนมา ทอดยาวไปทั่วประเทศเมียนมา ไทย และมาเลเซีย

-3-

ท่อส่งก๊าซนี้โผล่ขึ้นมาจากน้ำอุ่นของอ่าวเมาะตะมะในทะเลอันดามัน บริเวณหมู่บ้านดะมินเซ่ะก์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมง มีกระท่อมและบ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่เรียงรายเป็นแนวยาวคั่นกลางระหว่างชายฝั่งกับผืนนาข้าว บนยอดเขาใกล้ๆ มีวัดพุทธตั้งตระหง่านอยู่บนนั้นมานานแล้ว 

มิชชันนารีแบ๊บติสต์เดินทางมาถึงที่นี่ในศตวรรษที่ 19 เพื่อชักชวนชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญในพื้นที่ให้เปลี่ยนมาเข้ารีต พวกเขาได้สร้างโบสถ์ 2-3 แห่ง ท่ามกลางเจดีย์สีทอง ก่อนที่จะมีท่อส่งก๊าซ ภูมิทัศน์ของภูมิภาคตะนาวศรี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้อันห่างไกลของเมียนมาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักหลังการมาถึงของมิชชันนารีแบ๊บติสต์ 

ชีวิตของชาวบ้านคงที่ จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 1992 เมื่อทหารเมียนมาปรากฏตัวในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในเส้นทางท่อส่งน้ำมันเส้นหนึ่งที่รัฐบาลกำลังพิจารณา ทหารสั่งให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ค่ายอพยพที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน

ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงเพิกเฉยต่อคำสั่งอพยพของทหาร พวกเขาย้ายไปอยู่หมู่บ้านใกล้เคียงแทน โดยหวังว่าจะได้ดูแลวัว ไก่ นาข้าว และต้นมะม่วงหิมพานต์ในฟาร์มเล็กๆ ของพวกเขาได้ต่อไป ขณะที่รัฐบาลทหารในขณะนั้นกระตือรือร้นที่จะสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดมหึมา 150 ฟุต ใต้พื้นผิวทะเลอันดามัน

-4-

ผู้หญิงคนหนึ่งโผล่ออกมาจากแนวป่า และพยายามดิ้นรนเพื่อไปยังค่ายผู้ลี้ภัย เธอเล่าถึงการที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากการถูกไล่ล่าโดยทหาร ซึ่งกำลังตามหาตัวสามีของเธอ หลังจากที่เขาหลบหนีจากการบังคับใช้แรงงาน เมื่อหาตัวสามีไม่พบ ทหารจึงรุมทำร้ายเธอ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งด่าเธอ ทุบตี และเตะเธออย่างแรง จนลูกวัยแรกคลอดของเธอหลุดออกจากอ้อมอก พลัดตกลงไปในกองไฟทำอาหาร 

“ลูกของฉันถูกไฟคลอกที่ศีรษะอย่างรุนแรง ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงร้องไห้” ผู้หญิงคนนั้นกล่าว เธออุ้มเด็กหญิงอายุเพียง 1 เดือน ขณะที่เธอร้องขอความช่วยเหลือ

ผู้หญิงคนนี้กล่าวโทษ ‘โครงการของคนขาว’ ว่าเป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของเธอ สามีของเธอเป็นหนึ่งในชาวบ้านหลายร้อยคนที่ถูกบังคับให้ทำงานให้กับกองทัพเมียนมา กองทัพได้รับมอบหมายให้คุ้มกันท่อส่งก๊าซธรรมชาติมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ที่สร้างโดย Unocal Corp. และหุ้นส่วนชาวฝรั่งเศส ผ่านพื้นที่ราบที่ปกคลุมไปด้วยป่าฝนบนภูเขาของภูมิภาคตะนาวศรี

9 ปีต่อมา ผู้หญิงคนนี้ปรากฏชื่อในเอกสารของศาลที่สหรัฐ ในชื่อ ‘Jane Doe 1’ เธอกลายเป็นหนึ่งในพยานปากเอกในคดีความที่กล่าวหาว่า บริษัทน้ำมันและก๊าซสมรู้ร่วมคิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบังคับใช้แรงงาน การฆาตกรรม และการข่มขืน ซึ่งกระทำโดยทหารเมียนมา ในประเทศเมียนมา

ชาวบ้านหลายสิบคนยื่นฟ้องบริษัทน้ำมันและก๊าซในศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยอ้างว่าการวางท่อส่งน้ำมันของ Unocal ในประเทศเมียนมา นำไปสู่การเสียชีวิต การข่มขืน และทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาหยุดชะงัก

เมื่อปี 2004 ผู้หญิงคนนี้ พร้อมโจทก์คนอื่นๆ อีก 14 คน ได้สร้างประวัติศาสตร์ บังคับให้ Unocal เข้าสู่ห้องพิจารณาคดีที่สหรัฐได้สำเร็จมาแล้ว 

มีรายงานอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลทหารเมียนมาบังคับใช้แรงงานสร้างถนนจนเป็นนิสัย รายงานระบุพร้อมเสริมว่า กองทัพเมียนมาสั่งให้ย้ายหมู่บ้านทั้งหมด เป้าหมายคือ ตัดความสัมพันธ์ใดๆ ที่ชาวบ้านอาจมีกับกลุ่มกบฏชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่กองทัพสหรัฐใช้ในโครงการย้ายถิ่นฐานหมู่บ้านเล็กๆ ตามเส้นทางยุทธศาสตร์ในช่วงสงครามเวียดนาม

โครงการสำรวจน้ำมันและก๊าซในภาคกลางและนอกชายฝั่งของประเทศเมียนมาดำเนินไปอย่างราบรื่น ในขณะนั้น Unocal เสนอราคาประมูลสัมปทาน แต่แพ้บริษัท Total ของฝรั่งเศส จากนั้นในช่วงต้นปี 1993 บริษัท Total ได้ร่วมงานกับ Unocal ในฐานะหุ้นส่วน เพื่อพัฒนาพื้นที่นอกชายฝั่งและวางท่อส่งก๊าซ บริษัททั้งสองได้ลงนามในสัญญากับบริษัท MOGE ของรัฐบาลทหาร ซึ่งถือหุ้นในท่อส่งน้ำมัน

-5-

ชื่อ ‘ยะดะหน่า’ หรือ ‘ยาดานา’ (Yadana) ในสื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มาจากคำภาษาบาลีว่า ‘รัตนะ/รัตนา’ ซึ่งในภาษาเมียนมา แปลว่า ‘ทรัพย์สมบัติ’ แต่โครงการภายใต้ชื่อนี้กลับหมายถึงสมบัติสำหรับนายพลและบริษัทต่างชาติเท่านั้น สำหรับคนที่อาศัยอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซ มันช่างแตกต่างราวฟ้ากับเหว อย่างที่พวกเขาเล่าว่า “สถานการณ์ในหมู่บ้านของเราดีมาก ก่อนที่ Total จะมาทำงานที่นี่ เราทำนา เลี้ยงวัว ทำงานในไร่ของเราอย่างสงบ หลังจาก Total เข้ามา เราถูกบังคับให้ไปเป็นพนักงานยกกระเป๋า แบกของให้ทหาร เราถูกบังคับให้ทำงานหลายอย่าง ไร่และสวนของเราถูกทำลาย สวนทุเรียนและสวนยางของเราก็หายไปกับท่อส่งก๊าซ” 

บริษัทต่างๆ จับมือกับรัฐบาลทหาร เพื่อต้องการพื้นที่ว่างสำหรับท่อส่งก๊าซของ Total และ Chevron ทหารขับไล่ผู้คนหลายหมื่นคนออกจากบ้านและหมู่บ้านของตน พวกเขาให้ประชาชนสร้างถนน ค่ายทหาร สถานีตำรวจ และลานจอดเฮลิคอปเตอร์สำหรับผู้บริหารบริษัท ถ้าประชาชนไม่ยอมทำงานให้ทหารก็ต้องเสียค่าปรับไปเรื่อยๆ และถ้าพวกเขาทำงานให้กับทหาร พวกเขาจะไม่สามารถทำงานในไร่นาของพวกเขาได้ บ่อยครั้งที่พวกเขาสูญเสียบ้านและวิถีชีวิตของตนเอง ก่อนจะจบลงที่ค่ายผู้ลี้ภัย และใช้ชีวิตด้วยความยากจนข้นแค้น 

มีรายงานข่าวว่า ทหารข่มขืนเด็กสาวและผู้หญิงที่อาศัยอยู่บริเวณแนวเดินท่อ รวมถึงการเฆี่ยนตี ทรมาน และสังหารผู้คนจำนวนมาก ทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเดียวกับที่ตอนนี้กำลังสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นอีกครั้งในเมียนมา 

-6-

หลังจากมีกระแสแรงกดดันจากสาธารณะอย่างต่อเนื่อง บริษัทน้ำมันและก๊าซเริ่มถอนตัวออกจากเมียนมาอย่างไม่เต็มใจ TotalEnergies ประกาศในปี 2022 ว่าพวกเขาจะออกจากเมียนมาเนื่องจากสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงในประเทศ อย่างไรก็ตาม การย้ายที่ล่าช้านี้ มิอาจทำให้คนตายกลับคืนมา และไม่แน่ว่าจะปกป้องชาวเมียนมาในอนาคตได้หรือไม่

กรกฎาคม 2022 TotalEnergies ได้ส่งมอบส่วนหนึ่งของการถือหุ้นในแหล่งก๊าซยาดานาให้กับ MOGE ที่ควบคุมโดยกองทัพ การถอนตัวของ TotalEnergies อาจทำให้รัฐบาลทหารมีรายได้มากขึ้น ส่วนบริษัทอื่นๆ รวมถึง Chevron, Woodside, Petronas และ Mitsubishi ประกาศว่าพวกเขาจะยุติการดำเนินงานบางส่วนในเมียนมา ในขณะที่บางเจ้าออกไปเนื่องจากก๊าซสำรองในแหล่ง Yetagun หยุดจ่าย 

องค์กรภาคประชาสังคมต่างพากันเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ถอนตัวออกอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้ในอนาคตจากแหล่งก๊าซจะไม่เติมเต็มเงินเข้าสู่กองทุนของกองทัพเมียนมา อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. CNPC และ Posco ยังคงผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในเมียนมา และทุกๆ วัน เงินค่าน้ำมันยังคงไหลเข้าสู่กระเป๋านายพลที่กำลังทำสงครามกับประชาชนเมียนมาอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เคยตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยยืนยันว่าการลงทุนของ OR มุ่งสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนชาวเมียนมา รวมทั้งยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักการสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และไม่ได้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมาแต่อย่างใด 

เมื่อปี 1992 ตอนที่บริษัท Levi Strauss & Co ถอนตัวออกจากเมียนมา ผู้บริหารคนหนึ่งเคยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะทำธุรกิจโดยปราศจากการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลทหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แพร่หลาย” 

ดูเหมือนว่าสิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

เรื่องน่าเศร้าก็คือ เมียนมาสามารถที่จะเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานและมีอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผู้นำทางทหารรุ่นแล้วรุ่นเล่ากลับทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอ่อนแอลง ในขณะที่พวกเขามั่งคั่งจากทรัพยากรเหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ 

ทุกครั้งเมื่อมองลงมาจากเครื่องบินขณะบินผ่านเมียนมาในยามค่ำคืน เมียนมาดูมืดมิดและว่างเปล่าท่ามกลางแสงไฟจากเพื่อนบ้าน

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า