ชุดไทยใส่แล้วเข้าคุก: รวมท่าทีประชาคมโลกต่อกรณีแต่งกายคล้ายราชินี จนโดนข้อหา ม.112

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาตัดสินจำคุก จตุพร แซ่อึง หรือ ‘นิว’ ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงตามมาตรา 112 จากกรณีสวมชุดไทยสีชมพูเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะและแฟชั่นในการชุมนุมที่ถนนสีลมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 

การตัดสินนั้นส่งผลให้ นิว จตุพร ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่ศาลลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับเป็นเงิน 1,000 บาท ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ นิว จตุพร ได้รับการประกันตัว ทนายความจึงยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 30,000 บาท 

แม้ว่า นิว จตุพร จะได้รับการประกันตัวและออกจากทัณฑสถานหญิงกลางในเร็ววัน ทว่าข่าวการตัดสินคดีครั้งนี้ได้สร้างความตระหนกตกใจ งุนงง ไปจนถึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในสังคมโลก

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงทำให้เกิดการซุบซิบนินทาในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังถูกรายงานโดยสื่อมวลชนระดับโลก เช่น BBC CNN Reuters และสื่ออื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก กรณีอื้อฉาวครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงคดีความทางการเมืองที่ส่งผลกับคนในชาติเท่านั้น แต่กำลังกลายเป็นภาพสะท้อนของประเทศไทยในสายตานานาชาติที่เจริญแล้วทั่วโลก

BBC: ไทยมีกฎหมายเข้มงวดในการปิดปากอย่างได้ผล

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 สำนักข่าว BBC ได้รายงานกรณีพิพากษาจำคุก จตุพร แซ่อึง ว่า มาตรา 112 ถือเป็นกฎหมายที่เข้มงวดเป็นอย่างมากในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในการใช้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เหลือ

การใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ถูกรายงานว่ามีจำนวนความถี่มากขึ้นหลังจากการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 เมื่อปี 2562 จนทำให้มีนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่ำ 210 ราย ที่ถูกมาตราดังกล่าวเล่นงาน แม้ว่าก่อนหน้านี้แทบจะไม่เคยมีผู้ใดถูกตัดสินโทษด้วยมาตราดังกล่าวเลยก็ตาม

นอกจากนี้ BBC ยังเน้นย้ำคำให้การของจตุพรว่า ตนเองไม่ได้มีเจตนาจะล้อเลียนผู้ใด นอกจากใส่ชุดไทยในฐานะ ‘ชุดประจำชาติ’ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศาลกลับเห็นต่างออกไป เนื่องจากมองว่าเป็นการแต่งชุดไทยคล้ายคลึงกับชุดที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มักฉลองพระองค์ออกงานเป็นประจำ

Reuters: นี่คือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดที่สุดในโลก

สำหรับสำนักข่าว Reuters ได้รายงานการตัดสินคดีของจตุพรว่า เป็นอีกหนึ่งกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทยที่มีโทษร้ายแรงติดอันดับต้นๆ ของโลก จากบรรดากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมด

นอกเหนือไปจากการรายงานทั่วไปแล้ว สำนักข่าว Reuters ได้เน้นย้ำจำนวนตัวเลขนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 210 รายที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เช่นเดียวกับสำนักข่าว BBC รวมไปถึงได้ระบุเพิ่มเติมว่า ราชสำนักไทยปฏิเสธที่จะกล่าวถึงการชุมนุมทั้งหมดที่เกิดขึ้นเสมอมา มีเพียงครั้งเดียวที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตรัสถึงการชุมนุม เนื่องจากถูกสัมภาษณ์จากนักข่าวช่อง Britain’s Channel 4 News เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า “We love them all the same.” (เรารักพวกเขาเท่าเทียมกัน) 

สิ่งสำคัญที่ถูกระบุเอาไว้เพิ่มเติมคือ สื่อมวลชนหลายสำนักไม่สามารถเข้าถึงคำพิพากษาได้ เนื่องจากศาลของประเทศไทยมักจะไม่เผยแพร่และเปิดเผยกระบวนการทางกฎหมายต่อสาธารณชน

Reuters ยังได้รายงานถึงที่มาของการชุมนุมในไทยนับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยผู้ชุมนุมระบุว่าการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง เกิดขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังประท้วงการควบรวมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรย์และกองทัพส่วนพระองค์อย่างน้อย 2 หน่วยงาน มาไว้ภายใต้ความดูแลโดยตรงของพระองค์เอง

Amnesty International: ไม่ควรมีใครถูกลงโทษจากการชุมนุมโดยสงบ

ไคลด์ วอร์ด (Kyle Ward) รองเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ระบุถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “การชุมนุมที่ถนนสีลมเป็นการชุมนุมที่คล้ายกับงานเทศกาลทั่วไปบนท้องถนน เต็มไปด้วยเสียงเพลง อาหาร และการเต้นรำ ดังนั้นไม่ควรมีใครถูกลงโทษจากการชุมนุมโดยสงบในครั้งนี้”

แอมเนสตี้ฯ ได้รายงานและยืนยันตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้น 210 คน นับตั้งแต่มีการชุมนุมโดยสงบมาตั้งแต่ปี 2563 เช่นเดียวกับสำนักข่าวอื่นๆ ก่อนจะเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในลักษณะข้อหาเดียวกันโดยเร็ว

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังระบุถึงข้อกังวลจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ในกรณีการใช้มาตรา 112 ตัดสินความผิดต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งจะส่งผลเสียระยะยาวต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดย UNHRC และสมาชิกประเทศต่างๆ ได้พยายามเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกมาตรา 112 หรืออย่างน้อยให้ทำการแก้ไขมาตราดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ให้การยอมรับเมื่อนานมาแล้ว

จากปี 2563 ถึง 2564 แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า มีการดำเนินคดีความทางกฎหมายกับนักกิจกรรมไปแล้วกว่า 1,800 คน ในจำนวนเหล่านั้นเป็นเด็กและเยาวชนอยู่ถึง 280 คน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า