เตรียมฟ้องศาลปกครอง พิรุธผันน้ำยวม 71,000 ล้าน ใช้ภาพจากร้านลาบประกอบ EIA เรียกค่าคัดสำเนาจากชาวบ้าน 20,000 บาท

ภายหลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม หรือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่า 71,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายภาคประชาชนที่พบว่า เนื้ิอหาของ EIA ฉบับดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายประการ 

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่า จากการศึกษาเนื้อหาใน EIA พบข้อบกพร่อง 2 ประเด็นหลัก คือ 1) ข้อมูลไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะที่ชาวบ้านพูดกันมากคือ กรณี EIA ฉบับร้านลาบ ที่เป็นการนัดพบและรับประทานอาหาร แต่กลับถูกนำรูปภาพและชื่อมาอ้างว่าเป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทีมกฎหมายกำลังรวบรวมข้อมูลและเนื้อหาจากพื้นที่จริงว่ามีการสำรวจอย่างถูกต้องหรือไม่ 2) กระบวนการจัดทำ EIA ซึ่งมีระเบียบระบุชัดเจนว่า ต้องมีขั้นตอนในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย แต่เท่าที่ทราบคือ ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เพียงพอ

หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าวว่า จากการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาเห็นชอบ EIA เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมานั้น พบว่ามีความผิดปกติในหลายขั้นตอน โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เบื้องต้นทีมกฎหมายจะส่งหนังสือคัดค้านไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในสัปดาห์หน้า ก่อนจะดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป

นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวอีกว่า นอกจากข้อพิรุธใน EIA แล้ว ยังมีกรณีที่ชาวบ้านทำจดหมายขอคัดสำเนา EIA จาก สผ. แต่กลับมีเงื่อนไขว่าชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดสำเนาและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,526 บาท

“กลายเป็นว่าเมื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปขอคัดสำเนารายงาน EIA กลับมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น ทั้งที่จริงแล้วรายงาน EIA ควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณะที่สามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ แต่กลับไม่มีการเผยแพร่ ตอนนี้ทีมกฎหมายกำลังเตรียมเรื่องส่งถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ว่าเหตุใดประชาชนต้องเสียค่าถ่ายเอกสารและค่ารับรองเอกสาร และยังมีการแจ้งว่าจะต้องปกปิดข้อมูลบางส่วนก่อนถ่ายสำเนาเอกสารให้ ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวเป็นของรัฐ ซึ่งจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูลใดๆ” หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าว 

วันเดียวกันที่อาคารรัฐสภา นายอภิชาต ศิริสุนทร, นายมานพ คีรีภูวดล และ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินโครงการผันน้ำยวม 71,000 ล้านบาท โดยให้ข้อสังเกตว่า การผลักดันโครงการนี้เป็นไปด้วยความเร่งรีบท่ามกลางสถานการณ์โควิด ทำให้การมีส่วนร่วมและการรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง 

นายมานพ กล่าวว่า การศึกษา EIA ของโครงการนี้ ชาวบ้านเรียกว่า EIA ร้านลาบ เพราะเป็นเพียงการพูดคุยกับชาวบ้านที่ร้านลาบ โดยไม่มีข้อมูลที่ระบุถึงผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภออมก๋อยและฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่ปลายอุโมงค์ในอำเภอฮอด ซึ่งชาวบ้านย่านนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาครั้งหนึ่งแล้ว และอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐแบบซ้ำซาก 

“ประเด็นการทำ EIA ครั้งนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการ ประชาชน และภาคประชาสังคม ออกมาคัดค้านและตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบต่อป่าต้นน้ำและระบบนิเวศ คำถามคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปล่อยให้ EIA ฉบับนี้ผ่านโดยง่ายดายได้อย่างไร ทั้งที่ขาดการมีส่วนร่วมและสุดท้ายก็ถูกต่อต้านจากประชาชน” นายมานพกล่าว 

นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม ทั้งเรื่องวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นข้อสังเกตต่างๆ ที่ภาคประชาชนกังวล เป็นเรื่องที่รัฐต้องทบทวนและศึกษาเอาความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจ ภาครัฐไม่ควรเร่งรีบ และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เต็มที่ รวมถึงศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยหลังจากนี้ กมธ. จะนำเรื่องร้องเรียนของประชาชนเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อเสนอแนะไปยังรัฐบาล

นายคำพอง เทพาคำ รองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การศึกษาโครงการนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งการนำน้ำจากแม่น้ำสาละวินมายังเขื่อนภูมิพลเป็นเพียงความเห็นของ กมธ. บางคน แต่ไม่ใช่บทสรุปของผลการศึกษา 

“น้ำยวมเป็นร่องน้ำอยู่ในหุบเขา สร้างเขื่อนก็กักเก็บน้ำไม่ได้เท่าไหร่ หากเอาน้ำมาจากแม่น้ำสาละวินก็จะบานปลาย ดังนั้นควรศึกษาอย่างรอบคอบ และต้องสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลำพังผลการศึกษาของกรมชลประทานเพียงอย่างเดียวแล้วนำมาตัดสินใจจึงยังถือว่ายังใช้ไม่ได้ ควรมีการทบทวน และเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ” นายคำพองกล่าว

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า