เหรียญอีกด้านของ ‘ฝายชะลอน้ำ’ กิจกรรมอนุรักษ์ป่าหรือคร่าชีวิตลำธาร

เราทุกคนเคยเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า น้ำบนโลกมีการหมุนเวียนเปลี่ยนสถานะในรูปของแข็ง ของเหลว และก๊าซ เรียกว่า วัฏจักรน้ำ (water cycle) เมื่อฝนตกจากเมฆลงสู่ผืนดิน น้ำส่วนหนึ่งจะไหลบ่าไปตามผิวดินลงสู่แหล่งน้ำแล้วกลายเป็นน้ำผิวดิน (surface water) น้ำอีกส่วนหนึ่งจะซึมลงสู่ช่องว่างของดินแล้วกลายเป็นน้ำใต้ดิน (subsurface water) 

การร่วงหล่นของน้ำจากฟ้าสู่ดินและการระเหยของน้ำจากดินสู่ฟ้า เป็นกระบวนการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายพันล้านปีและทำหน้าที่ค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก แต่ยุคปัจจุบันที่ประชากรมนุษย์ทวีจำนวนเข้าครอบครองพื้นที่เกือบทุกหนแห่ง สายน้ำที่เคยไหลอย่างอิสระตามธรรมชาติก็ถูกโครงสร้างทางชลศาสตร์เหนี่ยวรั้งเอาไว้เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำของมนุษย์

นอกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ มนุษย์ยังสร้างประตูระบายน้ำและฝายชะลอน้ำซึ่งมีลักษณะคล้ายเขื่อนขนาดเล็ก เพราะเชื่อว่าโครงสร้างทางวิศวกรรมเหล่านี้จะช่วยกักเก็บน้ำ บรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วม และสร้างความชุ่มชื้นแก่ผืนป่า อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างทางวิศวกรรมดังกล่าวจะสร้างคุณประโยชน์หลายอย่างต่อมนุษย์ แต่ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากกลับพบว่า สิ่งก่อสร้างเหล่านี้สามารถส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และมนุษย์ ได้เช่นกัน

หากมองย้อนกลับไป เราจะพบว่าการสร้างฝายคือกิจกรรมยอดนิยมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งรัฐบาลและหน่วยงานราชการก็มีนโยบายปูพรมสร้างฝายทั่วทุกหัวระแหง บทความนี้ผมอยากชวนผู้อ่านมาเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของลำธาร ผลกระทบของฝายต่อระบบนิเวศ รวมถึงร่วมกันค้นหาวิธีบริหารจัดการน้ำที่ทันสมัย ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงครับ

กำเนิดของลำธาร

ผู้อ่านลองจินตนาการว่า เรากำลังยืนอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่ง เมื่อเพ่งมองลงไปในน้ำ เราจะพบมวลน้ำที่ไหลช้าบ้างเร็วบ้าง สัตว์น้ำที่แหวกว่ายไปมา พืชน้ำที่โบกพลิ้วไหว และตะกอนเม็ดน้อยใหญ่ที่ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ หากใครเคยเดินย้อนจากบริเวณปลายน้ำไปยังต้นน้ำคงจะรู้ว่า แม่น้ำสายใหญ่ทุกสายล้วนกำเนิดจากลำธารขนาดเล็กที่ไหลมารวมกัน ส่วนลำธารเหล่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากผลรวมของธารน้ำที่เล็กกว่า เพราะเมื่อเม็ดฝนตกกระทบผิวดินจนแตกกระเซ็น (splash) น้ำฝนจะไหลแผ่ไปตามผิวดิน (sheet) แล้วกัดเซาะผิวดินจนกลายเป็นริ้วธาร (rill) เมื่อน้ำในริ้วธารมีมากขึ้นก็จะเร่งการกัดเซาะผิวดินให้ลึกและกว้างขึ้นจนกลายเป็นร่องธาร (gully) น้ำจากร่องธารที่ไหลมารวมกันจะกลายเป็นลำธาร (stream) และลำธารหลายสายที่ไหลมารวมกันก็จะกลายเป็นแม่น้ำ (river) ที่ส่งผ่านความชุ่มชื้นไปหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนผืนแผ่นดิน

กระบวนการเกิดลำธาร / photo: United Nations Environment Programme

ลักษณะและหน้าที่ของลำธาร

เมื่อรู้จักต้นกำเนิดของลำธารเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราจะศึกษาลักษณะทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาของลำธาร ได้แก่

  1. มิติของลำธาร หมายถึง ความกว้าง ความยาว และความลึกของลำธาร ลำธารที่มีอายุมาก ค่ามิติของลำธารจะมีแนวโน้มสูงกว่าลำธารที่มีอายุน้อย
  2. รูปร่างของลำธาร หมายถึง ลักษณะที่แสดงความตรงและความคดโค้งของลำธาร ลำธารที่มีอายุมาก รูปร่างของลำธารจะมีแนวโน้มหลากหลายกว่าลำธารที่มีอายุน้อย
  3. ความชันของลำธาร หมายถึง ความลาดชันของพื้นที่ที่ลำธารพาดผ่าน ลำธารที่มีความชันมาก น้ำจะไหลเร็วกว่าลำธารที่มีความชันน้อย
  4. ส่วนประกอบทางกายภาพของลำธาร หมายถึง โครงสร้างของลำธาร เช่น พื้น ผนัง โขดหิน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ได้ไหลไปพร้อมกับน้ำ
  5. สสารในลำธาร หมายถึง น้ำ ธาตุอาหาร และตะกอนขนาดต่างๆ ที่ไหลไปพร้อมกระแสน้ำ ธาตุอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำจะไหลไปเป็นระยะทางไกลมาก ส่วนตะกอนขนาดใหญ่จะตกถึงพื้นเร็วกว่าตะกอนขนาดเล็ก กระบวนการดังกล่าวคือสาเหตุที่ทำให้เกิดลำธารพื้นหิน ลำธารพื้นทราย ลำธารพื้นโคลน และลำธารพื้นผสม โดยธาตุอาหารและตะกอนจากลำธารจะไปสะสมตัวตามแม่น้ำและชายหาด แล้วแพร่กระจายลงสู่ท้องทะเล
  6. สิ่งมีชีวิตในลำธาร หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามลำธารและบริเวณข้างเคียง เช่น พืช สัตว์ จุลินทรีย์

เมื่อพิจารณาคร่าวๆ เราอาจเรียกบริเวณของลำธารที่เต็มไปด้วยกรวดหิน ท้องน้ำตื้น และน้ำไหลเร็วว่า แก่ง (riffle) เรียกบริเวณที่ค่อนข้างตรงและน้ำลึกกว่าแก่งว่า ธารไหล (run) เรียกบริเวณที่เป็นแอ่งลึกและน้ำไหลช้าว่า วังน้ำ (pool) และเรียกบริเวณน้ำตื้นบนพื้นลำธารที่นูนขึ้นมาว่า เนินน้ำ (glide)

เนื่องจากลำธารมีทั้งส่วนที่เป็นแนวตรง คดโค้ง น้ำตื้น น้ำลึก น้ำไหลช้า น้ำไหลเร็ว น้ำใส น้ำขุ่น น้ำอุ่น และน้ำเย็น ความหลากหลายของลักษณะทางกายภาพจึงเอื้อโอกาสต่อการเป็นแหล่งพักพิงของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา งู กบ เต่า แมลง นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รวมถึงพืชน้ำ ส่วนพื้นที่ริมน้ำ (riparian zone) และที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) บริเวณสองฝั่งของลำธารจะมีต้นไม้น้อยใหญ่คอยทำหน้าที่เป็น ‘ร่มบังแดด’ ให้กับน้ำในลำธาร เมื่อน้ำมีอุณหภูมิต่ำ ก๊าซออกซิเจนจึงละลายลงสู่น้ำได้มาก น้ำในลำธารจึงเย็นและใสสะอาด

หากเปรียบเทียบการทำงานของลำธารกับอวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์ ลำธารก็เปรียบเสมือน ‘เส้นเลือด’ ที่แผ่ขยายไปทั่วร่างกาย น้ำคือ ‘เลือด’ ที่คอยนำพาธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ส่วนหินบนพื้นลำธารคือ ‘ปอด’ ที่คอยเติมก๊าซออกซิเจนเข้าสู่เลือด เพราะเมื่อกระแสน้ำไหลเข้าปะทะกับหิน การไหลของน้ำจะแตกกระเซ็นหรือเกิดการหมุนวนอย่างปั่นป่วน ก๊าซออกซิเจนในอากาศจึงถูกเติมลงสู่น้ำมากขึ้น ดังนั้น การเคลื่อนย้ายหินออกจากลำธารหรือการนำหินมาเรียงต่อกันจึงเป็นการรบกวนปอดของลำธารและทำลาย ‘บ้าน’ ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามกรวดหินอีกด้วย

สายน้ำที่แตกเป็นฟองหลังกระทบหินช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจนให้กับลำธาร

ความหลากหลายของลำธาร

นอกจากการจำแนกประเภทของลำธารด้วยลักษณะของตะกอนบนพื้นลำธาร เรายังสามารถนำช่วงเวลาที่ลำธารมีน้ำไหลมาจำแนกประเภทของลำธารได้ด้วย โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะแบ่งลำธารออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. ลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี (perennial stream) หมายถึง ลำธารที่มีน้ำไหลทุกฤดูกาลหรือเกือบตลอดปี มักจะพบบริเวณป่าต้นน้ำหรือภูเขาสูงที่มีต้นไม้หนาแน่น อากาศเย็น-ชื้น และมีระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าพื้นลำธาร
  2. ลำธารที่มีน้ำไหลชั่วคราว (temporary stream) หมายถึง ลำธารที่มีน้ำไหลเป็นบางช่วงเวลา เนื่องจากระดับน้ำบาดาลอยู่ต่ำกว่าพื้นลำธาร แบ่งย่อยออกเป็นลำธารที่มีน้ำไหลตามฤดูกาล (intermittent stream) ซึ่งเป็นลำธารที่มีน้ำไหลในฤดูฝน เพราะระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าพื้นลำธารชั่วขณะ แต่จะไม่มีน้ำไหลในฤดูแล้ง กับลำธารที่มีน้ำไหลตอนฝนตก (ephemeral stream) ซึ่งเป็นลำธารที่มีน้ำไหลเพียงชั่วครู่ขณะฝนตกหรือหลังฝนตก เพราะระดับน้ำบาดาลอยู่ต่ำกว่าพื้นลำธารเสมอ

ฝายและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ผู้อ่านลองจินตนาการถึงลำธารที่น้ำไหลอย่างอิสระ ริมลำธารมีพืชพรรณขนาดเล็ก และห่างออกไปอีกหน่อยก็มีต้นไม้ขนาดใหญ่ สายน้ำที่ยังไม่ถูกรบกวนคือถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำ ธาตุอาหาร และตะกอนจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ หากวันดีคืนดีลำธารสายนั้นถูกคั่นด้วยฝาย ผลกระทบที่ตามมาคือ

1. เมื่อน้ำถูกชะลอให้ไหลช้าลงหรือถูกปิดกั้นจนไม่สามารถไหลได้ ระดับน้ำที่ด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้น เรียกว่า น้ำเท้อ (backwater) แล้วเอ่อท่วมพืชพรรณริมฝั่งลำธารจนอาจยืนต้นตาย รวมถึงขัดขวางการเดินทางไป-กลับบริเวณต้นน้ำ-ปลายน้ำของสัตว์ลำธาร การที่สัตว์ลำธารถูกกักขังอยู่ภายในฝายทำให้บางครั้งมีการตีความแบบผิดๆ ว่าฝายช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของสัตว์ลำธาร

ลำธารถูกกั้นด้วยฝาย ระดับน้ำหน้าฝายจึงยกตัวสูงขึ้น แล้วเอ่อท่วมพืชในป่า / photo: Zhiling Wei

2. ปกติแล้ว ใบไม้ ธาตุอาหาร และตะกอนจากป่าจะถูกพัดพาไปพร้อมกับน้ำ แต่ฝายที่กั้นขวางลำธารจะดักวัตถุเหล่านั้นไว้ที่ด้านหน้าของฝาย เมื่อเวลาผ่านไป ด้านหน้าฝายจึงเริ่มอุดตัน ผลกระทบที่ตามมาคือน้ำเน่า สัตว์น้ำขาดสารอาหารแล้วทยอยตายไป หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าธารน้ำที่ถูกปิดกั้นด้วยฝายจะมีลักษณะแตกต่างจากธารน้ำที่ไหลตามธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง เพราะปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำในธารน้ำที่ไหลอย่างอิสระจะแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยปลาและสัตว์น้ำต่างๆ จะทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของยุง แต่เมื่อธารน้ำถูกฝายมาขวางกั้น น้ำที่เคยไหลตามธรรมชาติจะสูญเสียพลวัต ปลา สัตว์น้ำ และแมลงหลายชนิดจึงลดจำนวนลง แล้วกลายเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของหอย ยุง และพยาธิหลายชนิด ตัวอย่างเช่น การสร้างฝายที่ห้วยทรายเหลือง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ทำให้ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น (endemic species) ลดจำนวนลงจนเกือบสูญพันธุ์

ฝายเริ่มดักตะกอนเอาไว้ในลำธาร / photo: Zhiling Wei

3. เมื่อฤดูแล้งมาเยือน หากน้ำในฝายมีน้อย ลำธารจะแห้งขอดเนื่องจากน้ำระเหยหรือไหลออกไปจนหมด สัตว์ที่ถูกกักขังอยู่ด้านหน้าฝายจึงอาศัยอยู่ไม่ได้ ส่วนกรณีที่น้ำในฝายมีมาก สัตว์บางชนิดอาจอาศัยอยู่ได้ แต่สัตว์จะแย่งชิงอาหารและที่อยู่อาศัยของกันและกัน หรืออาจผสมพันธุ์กันภายในฝูง สัตว์รุ่นลูกจึงอาจมีปัญหาเลือดชิด (inbreeding) ซึ่งเป็นการแสดงออกของพันธุกรรมด้อยที่รับมาจากรุ่นพ่อแม่ ความหลากหลายทางพันธุกรรมจึงลดลง บางครั้งน้ำถูกชะลอเอาไว้ที่ด้านหน้าฝายมากจนเกินไปและทำให้พื้นที่ด้านหลังฝายเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

น้ำในฝายระเหยจนแห้งในฤดูแล้ง / photo: Zhiling Wei

4. เมื่อฤดูฝนเวียนมาถึง น้ำป่าที่ไหลหลากลงมาจะปะทะกับฝาย แล้วกัดเซาะดินริมตลิ่งด้านข้างของลำธารที่อิ่มตัวด้วยน้ำ ทำให้ตลิ่งอาจพังหรือลำธารอาจเปลี่ยนทิศทาง หากฝายพังทลาย วัสดุที่ใช้สร้างฝาย เช่น คอนกรีต หิน กระสอบ กิ่งไม้ ลวด จะไหลลงมาพร้อมกับน้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) เป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ปลายน้ำและทำให้ลำธารตื้นเขิน ส่วนกรณีที่ตะกอนจำนวนมากถูกดักเอาไว้ภายในฝายบนพื้นที่ลาดชัน เมื่อถึงจุดหนึ่งฝายก็จะแตก ตะกอนจึงทะลักทลายลงมาด้านล่างคล้ายกับดินถล่ม (landslide)

ฝายพังทลายเพราะน้ำป่าไหลหลาก

หากเวลาผ่านไปนานหลายปีโดยฝายไม่พังทลายลงมา ตะกอนที่ปกติแล้วจะไหลจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำจะตกทับถมอยู่ที่พื้นลำธาร ลำธารที่ตื้นเขินจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพลดลงและกักเก็บน้ำได้น้อยลง การที่ตะกอนถูกดักจับเอาไว้ที่ต้นน้ำมากขึ้นก็หมายความว่ามีตะกอนไหลลงสู่แม่น้ำและชายหาดน้อยลง ตลิ่งแม่น้ำและชายฝั่งทะเลจึงอยู่ในภาวะขาดแคลนตะกอน ผลกระทบที่ตามมาคือการกัดเซาะตลิ่งแม่น้ำ (bank erosion) และการกัดเซาะชายฝั่งทะเล (coastal erosion)

ฝายดักตะกอนเอาไว้เป็นเวลานานจนพื้นลำธารตื้นเขิน / photo: Zhiling Wei

นอกจากปัญหาเบื้องต้นที่กล่าวมา ฝายบางแห่งยังทำลายที่อยู่อาศัยของนกกระเต็นหรือนกกินปลาชนิดอื่นๆ ที่ล่าเหยื่อตามแหล่งน้ำ รวมถึงฝังกลบแหล่งโบราณคดีหรือแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้หายไป และเมื่ออินทรียวัตถุที่ถูกกักเก็บไว้ภายในฝายเกิดการย่อยสลายก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (global warming) ออกสู่บรรยากาศอีกด้วย

มายาคติเกี่ยวกับฝายและลำธาร

1. ฝายช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าและลดโอกาสการเกิดไฟป่า
ตอบ: ฝายสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่ารอบลำธารได้จริง แต่ป่าในฤดูแล้งก็มีน้ำปริมาณมหาศาลสะสมอยู่ภายในดินมากเพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าผ่านพ้นฤดูแล้งไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฝาย ขณะเดียวกันฤดูแล้งยังมีประโยชน์ต่อการพักรากของพืชเพื่อกำจัดน้ำส่วนเกิน แต่ป่าที่มีฝายเป็นจำนวนมากจะทำให้ความชุ่มชื้นในป่าเพิ่มขึ้นจนเกินสมดุล ซึ่งอาจทำให้กลุ่มพืชที่ชอบน้ำขยายพันธุ์รุกรานกลุ่มพืชเดิมและทำให้ระบบนิเวศของลำธารเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาเป็นวัฏจักรตามคาบเวลา เรียกว่า ชีววัฏจักรวิทยา (phenology)

ส่วนกรณีของไฟป่า ตามหลักการแล้วฝายสามารถลดโอกาสการลุกลามของไฟป่าได้จริง แต่เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อน-ชื้น ไฟป่าตามธรรมชาติจึงมีน้อยมาก ไฟป่าที่เราเห็นเป็นประจำทุกปีนั้นส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ดังนั้น การแก้ปัญหาไฟป่าที่ถูกวิธีคือ ควบคุมการเผาหรือการเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาป่า เพราะการสร้างฝายเพื่อสกัดกั้นการเกิดไฟป่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมีผลเสียมากกว่าผลดี

2. ฝายช่วยลดความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลาก
ตอบ: น้ำป่าไหลหลากเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พบบ่อยบริเวณป่าต้นน้ำ ความจริงแล้วน้ำป่ามีหน้าที่ชะล้างตะกอน กิ่งไม้ และเศษวัตถุต่างๆ ที่วางขวางลำธาร รวมถึงช่วยในการกระจายพันธุ์ของพืชน้ำ เมื่อน้ำป่าปริมาณมากเข้าปะทะกับฝายอย่างรุนแรง มวลน้ำส่วนหนึ่งจะถูกสะท้อนกลับ มวลน้ำอีกส่วนหนึ่งอาจกระโจนข้ามสันฝายแล้วลงไปกัดเซาะพื้นลำธารด้านหลังฝายหรืออ้อมไปกัดเซาะตลิ่งด้านข้างจนเว้าแหว่ง ดังนั้นเราจึงไม่ควรสร้างที่อยู่อาศัยใกล้กับเส้นทางที่น้ำป่าไหลผ่านตั้งแต่แรก

ฝายเบี่ยงเส้นทางของกระแสน้ำ แล้วทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่ง / photo: Zhiling Wei

3. หากไม่สร้างฝายในลำธาร สัตว์น้ำจะตายในฤดูแล้ง เพราะน้ำในลำธารจะแห้งเหือดหายไปจนหมด
ตอบ: แม้ลำธารบางสายจะมีปริมาณน้ำน้อยลงหรือไม่มีน้ำในฤดูแล้ง แต่สัตว์ลำธารก็มีสัญชาตญาณที่เรียกว่า การอพยพตามฤดูกาล (seasonal migration) สัตว์ลำธารจึงย้ายเข้ามาอาศัยตามลำธารในช่วงที่มีน้ำและย้ายออกไปที่อื่นในช่วงที่ไม่มีน้ำ ในทางกลับกัน หากลำธารถูกฝายขวางกั้น สัตว์ลำธารบางชนิดจะไม่สามารถอพยพตามฤดูกาลหรืออาจตายคาฝายได้ เหตุการณ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเดินทางของสัตว์ลำธารกับความเร็วของกระแสน้ำคือ ปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวน ณ แก่งลำดวน อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

4. สัตว์น้ำสามารถเดินหรือว่ายน้ำผ่านฝายแบบไล่ระดับได้
ตอบ: นอกจากฝายแนวดิ่ง ฝายบางชนิดจะถูกออกแบบให้มีความลาดชันน้อยๆ แล้วไล่ระดับให้สูงขึ้น เพื่อให้สัตว์ลำธารเดินหรือว่ายน้ำข้ามง่ายขึ้น แต่ความจริงแล้วฝายแบบไล่ระดับก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ลำธารเช่นกัน เพราะสัตว์ลำธารส่วนใหญ่ไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อเดินหรือว่ายน้ำข้ามโครงสร้างที่มีความลาดชัน ฝายทุกรูปแบบจึงส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของชนิด จำนวน และช่วงวัยของสัตว์ลำธาร

5. ฝายที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจะไม่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ตอบ: ทุกคนคงทราบว่าฝายที่ทำจากยางรถยนต์และกระสอบพลาสติกเป็นมลภาวะต่อลำธารในรูปของสารก่อมะเร็ง (carcinogen) และไมโครพลาสติก (microplastic) แต่ฝายไม้ ฝายหิน และฝายคอนกรีตก็สามารถส่งผลกระทบต่อระดับน้ำ ความเร็วในการไหลของน้ำ คุณภาพน้ำ และระบบนิเวศลำธารได้เช่นกัน

6. ถ้าบีเวอร์สร้างฝายได้ มนุษย์ก็ควรสร้างฝายด้วย
ตอบ: บีเวอร์ (beaver) เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) โดยฝายของพวกมันจะยกระดับน้ำให้สูงขึ้น แล้วสร้างรังที่มีลักษณะคล้ายกระโจมเพื่อปกป้องตนเองจากผู้ล่า เช่น หมาป่า หมี สิงโต ซึ่งฝายส่วนใหญ่จะผุพังไปภายในไม่กี่เดือน พฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากวิวัฒนาการร่วม (co-evolution) ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับถิ่นอาศัยตามธรรมชาติมานานหลายล้านปี ฝายของบีเวอร์จึงเป็นการปรับแต่งที่อยู่อาศัย โดยไม่รบกวนสมดุลของระบบนิเวศดั้งเดิมมากนัก แตกต่างจากฝายของมนุษย์ที่สร้างขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ผลกระทบต่อระบบนิเวศจึงมีมาก และที่สำคัญคือประเทศไทยไม่มีบีเวอร์ครับ!

เรื่องเล่าจากปากคำของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างฝาย

เล่าเรื่องวิชาการยากๆ มาพอสมควรแล้ว ต่อไปผมจะขอนำประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับฝายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่กับแม่น้ำลำคลองมาเล่าสู่กันฟัง… 

ขอเท้าความก่อนว่า บรรพบุรุษของผมประกอบอาชีพทำไร่นาและหาปลาน้ำจืดมานานหลายสิบปี แต่เมื่อปี 2554 รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมชลประทานก่อสร้างประตูระบายน้ำคั่นระหว่างคลองเริงรางกับแม่น้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำที่ไม่สอดคล้องกับพลวัตของแม่น้ำลำคลอง ทำให้คุณภาพน้ำ จำนวนสัตว์น้ำ และหิ่งห้อยลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับทำให้จำนวนยุงเพิ่มขึ้น สร้างความยากลำบากแก่คนหาปลา

วิบากกรรมยังไม่จบนะครับ เพราะหลังจากนั้นก็มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาสร้างฝายกระสอบพลาสติกที่เรียกว่า ‘ฝายมีชีวิต’ กั้นขวางลำคลองอย่างสมบูรณ์ โดยอ้างว่าต้องการช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำสำหรับทำไร่ทำนา ทั้งที่ความจริงแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่แทบไม่เคยสูบน้ำจากคลอง แต่สูบน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ถัดออกไป ผลลัพธ์คือฝายดังกล่าวทำให้น้ำนิ่งสนิท ส่งกลิ่นเหม็น และมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก ผมกับเพื่อนๆ จึงต้องช่วยกันรื้อฝายออก แต่ยังไม่ทันรื้อเสร็จ ฝายแห่งนี้ก็ถูกน้ำพัดกระจัดกระจายกลายเป็นเศษซากพลาสติกไปก่อน เล่นเอาตามเก็บแทบไม่หวาดไม่ไหว

ฝายมีชีวิต กลายเป็นเศษขยะพลาสติก

หลายปีที่ผ่านมา ผมพบว่ามีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรภายในพื้นที่ของตนได้เป็นอย่างดี โดยการปลูกพืชหลากหลายชนิดตามฤดูกาล สร้างแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ หาวิธีแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า และบางช่วงเวลาก็ผันตัวไปเป็นคนจับปลา ขณะเดียวกัน ผมก็เคยเจอเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่หว่านเมล็ดพันธุ์หรือปลูกต้นกล้าของพืชน้อยชนิดจนเต็มพื้นที่ พอถึงฤดูแล้งก็สร้างฝายผันน้ำเข้าเขตแดนของตน แล้วมีปากเสียงกับเกษตรกรคนอื่นๆ หรือคนหาปลาที่สูญเสียรายได้เพราะสายน้ำถูกเบี่ยงไปอยู่บ่อยครั้ง

ใช่หรือไม่ว่า ก่อนลงมือทำเกษตรกรรม เราจำเป็นต้องประเมินความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ ศักยภาพในการจัดสรรน้ำ และความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (carrying capacity) เพราะปัจจัยข้างต้นคือสิ่งที่กำหนดว่าพืชอะไรปลูกได้ พืชอะไรปลูกไม่ได้ พืชชนิดใดควรปลูกปริมาณเท่าไรและปลูกช่วงเวลาใด รวมถึงควรออกแบบระบบจัดการน้ำอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพ โดยหลีกเลี่ยงการสร้างฝายกั้นขวางธารน้ำ เช่น ประปาภูเขา โอ่งเก็บน้ำ บ่อน้ำขนาดเล็ก หรือรางดักน้ำฝนบนหลังคา ด้วยเหตุนี้ นิยามของการทำเกษตรกรรมที่ดีจึงหมายถึงระบบที่สอดรับกับธรรมชาติและสามารถฟูมฟักผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยไม่ฉกฉวยทรัพยากรจากภายนอกหรือรบกวนระบบนิเวศมากจนเกินควร

ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ฝายคือสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการบริหารน้ำของมนุษย์ ฝายจะมีประโยชน์เมื่อถูกสร้างบนพื้นที่ชลประทานที่ไม่รบกวนระบบนิเวศ แต่เมื่อใดก็ตามที่ฝายลุกล้ำกล้ำกรายเข้ามายังอาณาเขตของผืนป่าและธารน้ำธรรมชาติ ฝายจะกลายเป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ ที่สร้างความหายนะมากมายหลายประการ 

ขณะเดียวกัน ลำธารก็ไม่ได้เป็นเพียงท่อส่งน้ำ แต่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด เป็นสายพานลำเลียงธาตุอาหารจากต้นน้ำไปหล่อเลี้ยงปลายน้ำให้อุดมสมบูรณ์ และยังช่วยพัดพาตะกอนจากแผ่นดินไปสู่ทะเล แหล่งน้ำธรรมชาติจึงเป็นระบบ (system) ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน (complexity) และความต่อเนื่อง (continuity) ที่พวกเราต้องรีบทำความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้

ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นสายสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ลำธาร มนุษย์ และฝาย อย่างรอบด้าน รวมถึงหวังว่าสังคมไทยจะก้าวข้ามมายาคติทางความเชื่อไปสู่การถกเถียงบนข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ภายในเร็ววัน

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Author

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า