ยักษ์ ฟันเฟืองประชาธิปไตย: อารมณ์ อาภรณ์ อาชีวะ

ผมแสกกลาง กางเกงยีนส์ขายาว ใส่เสื้อช็อปเดินกางปีก เหล่านี้เป็นคำนิยามของ ‘เด็กอาชีวะ’ หรือ ‘เด็กช่าง’ จากมือที่เคยจับอาวุธ เปลี่ยนมาจับมือเพื่อนต่างสถาบัน ทำหน้าที่การ์ด ยืนแนวหน้าปกป้องประชาชน

ยักษ์ ชายร่างใหญ่ หันหลังให้กับระบบการศึกษาของสายสามัญ ทุ่มเทชีวิต ม.ปลาย ให้กับสายอาชีพ แต่ความสนใจเรื่องการเมืองไม่ต่างจากเด็กทั่วไป เริ่มติดตามการเมืองครั้งแรกกรณีตากใบ ตอนนั้นเขาอายุ 11 ปี จนทำให้เขาต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับ ‘กลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย’ ที่เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 2553

ขณะที่ปี 2563 การชุมนุมประท้วงของ ‘ราษฎร’ ยกระดับเพดานสูงขึ้นเรื่อยๆ เพดานที่สูงขึ้นนี้เกิดจากการรวมมวลชนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มมวลชนเสื้อแดง และแม้กระทั่ง ‘กลุ่มอาชีวะปกป้องประชาชน’

สื่อต่างยื่นไมโครโฟนและส่องสปอตไลท์มาที่ ‘นักเรียนอาชีวะ’ นับเป็นปรากฏการณ์ที่เด็กอาชีวะทิ้งมีด อาวุธ แล้วหันมาจับมือกับเพื่อนต่างสถาบันด้วยจุดยืนเดียวกันและทิ้งความรุนแรงไว้ข้างหลัง

ทุกคืนที่มีม็อบ ‘การ์ดอาชีวะ’ คือแนวหน้าปะทะความรุนแรง และเมื่อการชุมนุมถูกยกระดับขึ้นสูง การ์ดอาชีวะยิ่งถูกจับตามองจากสังคม พวกเขาถูกคาดหวังเรื่อง ‘อารมณ์’ เพราะ ‘อาภรณ์’ ของพวกเขาด่างพร้อย พวกเขาเป็นเหมือนตัวชี้วัดหนึ่งของความชอบธรรมในการชุมนุมอย่างสงบ

แต่ความรุนแรงที่ด่างพร้อยของนักเรียนอาชีวะ อาจมีที่มาจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยอันมีเผด็จการเป็นตัวละครสำคัญ

“ยุคนั้นอาชีวะจะเป็นทั้งการ์ดและศูนย์ประสานงานกับฝ่ายนักศึกษา ก็คือเป็นตัวนำด้วยกัน แต่วิทยุยานเกราะเข้ามาแทรกแซงการจัดตั้ง ให้มีการแตกแยกในอาชีวศึกษา แล้วถามว่าอาชีวศึกษามันรุนแรงขึ้นมาแบบทุกวันนี้ได้ยังไง สิ่งที่วิทยุยานเกราะมาทิ้งไว้กับอาชีวะนี่แหละ” ยักษ์เล่า

WAY วิ่งขึ้นไปที่แนวหน้า พูดคุยกับ ยักษ์ ‘กลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย’ ว่าด้วยอาชีวะ ความรุนแรง การเมือง และชีวิตที่อยากให้ดีกว่านี้

อะไรคือปัญหาของการรวมตัวกันของนักเรียนอาชีวะจากหลายสถาบัน มีคู่อริไหม แบบเคยจะตีกันมาจากข้างนอก แต่พอมาม็อบต้องเป็นทีมเดียวกัน พวกคุณเป็นแบบนั้นหรือเปล่า

มีเยอะ บางคนทำใจไม่ได้ก็มี อันนี้ก็ต้องพูดตรงๆ แต่เขาไม่ปะทะกันแน่นอน ไม่ว่าจะวาจาหรือสายตา รู้แหละว่ามันเป็นแผลในใจของเขา เขาก็เลือกที่จะขยับไป ไม่อยู่ตรงนี้ก็ได้ อีกคนเขาก็เกรงใจ เขาก็ขยับไปอยู่อีกที่เหมือนกัน หลายคู่ก็เคลียร์ใจกันแล้ว บางคู่ก็ยังเคลียร์ใจไม่ได้ ก็ต้องพูดตรงๆ ว่ามี ส่วนเรื่องจะตีกันในม็อบไหม ไม่มีนะ

คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำกับนักเรียนอาชีวะในเรื่องความรุนแรง ก็จะมีคนมองว่าการ์ดอาชีวะที่มาเป็นแนวหน้าเพราะอยากใช้ความรุนแรง คุณอยากจะโต้แย้งไหม

มันไม่ใช่ทุกคน แต่ก็ต้องพูดว่า ความรุนแรงเป็นของคู่กับวัยรุ่นในสังคมไทย ไม่รู้ว่ามันบิดเบี้ยวหรือเปล่านะ มันเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน ไม่ใช่แค่อาชีวะที่อยากใช้ความรุนแรง เด็กมัธยมก็อยาก เราก็เห็น แต่สังคมจะมองไปที่อาชีวะ แต่จริงๆ มีทุกเพศทุกวัย ทุกคน

สำหรับนักเรียนอาชีวะที่เดือดๆ ที่อยากใช้ความรุนแรง เราก็ต้องมีวิธีการพูดคุยกับเขา เรามีวิธีจัดการอารมณ์กันอยู่ อาจจะไม่ได้เต็มร้อย แต่คิดว่าทำดีที่สุดแล้ว

photo: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

อาชีวะมีความเป็นพี่เป็นน้องกันสูง?

ใช่ครับ ด้วยการที่เป็นโรงเรียนสายอาชีพ เราถูกสอนมาตั้งแต่แรกว่า เราทำงานคนเดียวไม่ได้ แล้วเราก็ไม่ควรจะมีหัวหน้าคนเดียว หัวหน้าก็จะมีมากกว่า 1 อยู่แล้ว ในแต่ละโซน แต่ละกลุ่ม คือการตัดสินใจจะมีการใช้หัวมากกว่า 1 หรือว่าการเซฟคน หรือห้ามคน ห้ามอารมณ์คนจะมีการทำงานเป็นทีมมากกว่า

อาชีวะที่มาเป็นการ์ด ที่ผ่านมาจะเห็นว่าห้ามอารมณ์กันได้ดีขึ้นจากครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะว่าเขามีการคุยกัน และมีความเป็นทีม แม้แต่คนที่ยังไม่เคยมา มาครั้งแรกด้วยกัน เห็นแล้วว่าโรงเรียนเดียวกันนี่หว่า เฮ้ย โรงเรียนนี้เจอหน้าได้ เขาก็เริ่มรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแล้ว

เคยคิดไหมว่า กูตีกันเพื่ออะไรวะ

ทุกคนที่เข้าไปเรียนคิดเหมือนกันหมดแหละ ผมกล้าพูดเลยว่าทุกคนคิด ทุกคนคิดว่าแค่เรามาเรียนแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน ไม่ได้เหรอวะ

อยากทราบว่าความหลากหลายในการ์ดอาชีวะกลุ่มฟันเฟืองฯ ส่วนมากเป็นคนรุ่นไหน

ส่วนมากจะอายุประมาณ 20-22 รองลงมาก็คือที่ยังเรียนกันอยู่ 15-18 ยังเรียน ปวช. ปวส. อยู่

มีศิษย์เก่าแบบเก๋าๆ ไหม

มีๆ 50 ยังมี บางรุ่นเขาอยู่มาตั้งแต่พฤษภาทมิฬ บางรุ่นอยู่มาตั้งแต่คนเดือนตุลา ก็ยังมากับน้องๆ มาเจอกันข้างหน้า เรามองหน้ารู้กันอยู่แล้ว พี่คนนี้เขาอะไรยังไง บางคนเขาก็เป็นตำนานดาวค้างฟ้าในวงการอยู่แล้ว

อาชีวะมีจุดยืนอย่างไรต่อข้อเรียกร้องของนักศึกษา พวกคุณมาจากหลายสถาบัน รักษาจุดร่วมกันอย่างไร

บางคนเขาก็ยังเทิดทูนอยู่ ส่วนมากด้วย แต่เขารู้สึกว่ามันเป็นสิทธิของนักเรียนนักศึกษา เด็กที่มาเรียกร้องเขามีสิทธิ แต่สิ่งที่รัฐกระทำกับเขามันเกินไป ไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียว สิ่งที่คนที่ต่อต้านเด็กกระทำกับเขาเกินไป รู้สึกว่ารับไม่ได้ เขาเป็นแค่เด็ก บางคนแค่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ไปทำกับเขาได้ยังไง แล้วมันเป็นภาพลักษณ์ออกมาว่า เฮ้ย เป็นอาชีวะทำ กลายเป็นว่า เราจะยอมแบบนี้เหรอ จะยอมให้มันเกิดภาพลักษณ์ทางลบกับอาชีวะต่อไปเหรอ

กลุ่มทางนี้หลายๆ ส่วน ก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งหมดของนักศึกษา แต่เข้าใจว่าเขามีสิทธิที่จะเรียกร้อง แค่นั้นเอง

แต่เราก็ยังช่วยซัพพอร์ตน้องๆ ต่อ?

ใช่ เพราะเราเห็นว่า น้องที่มาตรงนี้เขาก็ไม่ได้จะไปทำร้ายใครได้ แต่กลับโดนคนอื่นทำร้าย ก็เลยรู้สึกว่า เราจะอยู่เฉยยังไงได้ แล้วยิ่งมาทำร้ายในนามอาชีวะด้วย ก็รู้สึกยอมไม่ได้

สำหรับผม ไม่ว่าจะใช้ชื่ออาชีวะ หรือใช้ชื่ออะไรก็ตาม ไม่มีสิทธิที่จะทำร้ายใครแค่การเสนอความคิดเห็นทางการเมืองอยู่แล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองควรจะพูดได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

ถ้ามีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น อาชีวะได้วางแผนไว้ไหม เตรียมใจไว้อย่างไรบ้าง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรแน่นอน แต่แผนรับมือเรามี เราไม่อยากให้ถึงวันนั้นด้วยซ้ำ เพราะว่าไม่อยากเห็นใครต้องเจ็บ ที่ผ่านมามีน้องหลายคนทั้งเจ็บมากเจ็บน้อย เจ็บน้อยก็ตั้งแต่ถลอก เย็บเข็มสองเข็ม เจ็บมากคือ 20 เข็ม นี่คือโดนลวดหนาม เข้าไปตัดลวดแล้วโดนดึงออกมา ไม่ว่าจะโรงเรียนไหนโดน ขอแค่เป็นอาชีวะมันก็รู้สึกว่าไม่ควรจะมีใครโดน มันรู้สึกว่าเราเป็นพี่น้องกัน

อาชีวะไม่ได้ต่างกับคนอื่น มีคนที่เตรียมใจและคนที่ไม่ได้เตรียมใจ แต่คิดว่าส่วนมากเขาเตรียมใจไว้หมดแล้ว เพราะเรื่องนี้มีการคุยกันไว้แล้วด้วย ว่ามันต้องเกิดแน่ๆ สักวัน

การทำงานร่วมกับการ์ดอื่นๆ ปลอกแขนอื่นๆ สะดวกราบรื่นดีไหม

ก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีปัญหากันถึงขนาดคุยกันไม่ได้ โอเคว่ามีปัญหา แต่คุยกันได้ ทุกอย่างมันคุยกันได้หมด เราก็ไม่ใช่เด็ก โตกันหมดแล้ว อยู่ที่ว่าเขาจะอยากคุยกับเราหรือเปล่า ซึ่งที่ผ่านมาเวลามีปัญหาก็คุยกันตลอด เราก็รับฟังตลอด ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถปรับปรุงได้ อย่างเหตุที่เกิดขึ้นที่วงเวียนใหญ่ หรือว่าภาพที่บางนา ก็มีการปรับเปลี่ยนปรับตัว พวกเราปรับตัวกันมาตลอด มันเหมือนว่าคนอื่นไม่ปรับตัวหรือเปล่ามากกว่า

แต่ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นการ์ด คนที่มีปลอกแขนทั้งหมดจะมีปัญหากันนะ มันไม่ได้มีปัญหากันทั้งหมด แล้วก็ไม่ได้มีปัญหากันทุกงาน มันเป็นเรื่องของการทำงาน ทุกงานมันมีปัญหาอยู่แล้ว

คุณติดตามการเมืองตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่กรณีตากใบ ปี 2547 ตอนนั้นอายุประมาณ 11 ปีได้ ก็ยาวมาเรื่อยๆ ทุกปีเลย เพราะการเมืองไม่เคยหยุด ตามที่เขาบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง

คุณเลือกสีเสื้อไหม

เลือกครับ ตอนนั้นก็อย่างที่บอก ผมอยู่ฟันเฟืองฯ ผมอาจจะเข้ามาทีหลังเพื่อน ผมเข้ามาตอน 2556 เพราะปี 2553 ผมยังอยู่กลุ่มอื่น ผมก็เลือกเสื้อแดง

ทำไมอาชีวะต้องมาเรียกร้องทางการเมือง

ถ้าจะมองแบบปกติเลยคือ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่อาชีวะ ไม่ใช่แค่เด็ก ม.ปลาย ไม่ใช่แค่เด็กมหา’ลัย มันเป็นเรื่องตั้งแต่…คนทำงานทุกคน ทุกคนที่อยู่ในสังคม หรือคนไร้บ้าน ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตามที่อยู่ในสังคมนี้ มันเป็นเรื่องของเขาทั้งหมด เป็นเรื่องที่ทุกคนควรเรียกร้อง ไม่ว่าจะเรียกร้องตาม หรือเรียกร้องแตกต่าง หรือจะแย้งกับคนที่เรียกร้องอยู่ด้วยซ้ำ มันเป็นสิทธิ

โอเคว่าบางอย่างมันไม่ควรจะทำ เช่นการทำร้ายร่างกายกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ หรือว่าการที่เจ้าหน้าที่มาละเมิดสิทธิกัน

ถ้าการเมืองดี คุณอยากเห็นนักเรียนอาชีวะเป็นแบบไหน

เราอยากเห็นอาชีวะไทยเป็นเหมือนอาชีวะในประเทศโลกที่หนึ่ง หรือว่าประเทศ G12 หรือ G20 ด้วยซ้ำ เพราะที่นั่นอาชีวะเรียกว่า เป็นกำลังหลักในการพัฒนา และก็อยู่ในระบบแรงงานของตลาดแรงงาน เป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูง ถามว่าไทยเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูงไหม…ก็เป็น แต่ด้วยระบบการผลิตหลักของไทย หรือว่าระบบอุตสาหกรรมหลักของไทย มันไม่ได้เป็นระบบที่สร้างมาเพื่อพัฒนา มันเป็นระบบที่รับจ้างผลิต เท่ากับว่ามันจะไม่มีการพัฒนา หรือว่าการพัฒนาโตต่ำมาก ทำให้อาชีวะก็ไม่โตเหมือนกัน เพราะว่าตลาดแรงงานจะถูกจำกัดลงตามกลไกการผลิต ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นอยู่ว่าเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งโลกสูง ไม่ได้พึ่งตัวเองเลย เราไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือวิจัยการผลิตเทคโนโลยีได้เองอย่างไต้หวัน หรือว่าประเทศที่เขาเป็นแค่เกาะเล็กๆ ทำไมเศรษฐกิจเขาโตเอาๆ

บ้านเราเป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) ไม่ใช่ ODM (Original Design Manufacturer) ไม่ได้มีการดีไซน์อะไรเลย ตลาดแรงงานเราก็เท่าเดิม ไม่มีการเปิดตลาดใหม่ เวลาคนที่จบการศึกษา ทั้งอาชีวะ ทั้งปริญญาตรี ก็ต้องเข้าตลาดแรงงานเหมือนกัน ปริญญาตรีมีคนเรียนเยอะกว่าอาชีวะ เท่ากับว่าปริญญาตรีจะไปแย่งงานอาชีวะ ถูกไหม แล้วอาชีวะจะไปอยู่ตรงไหน ตกงาน ถ้าไม่ตกงานก็ต้องยอมโดนกดค่าแรง ปริญญาตรีควรจะได้ค่าแรงเยอะกว่านี้ ก็จะโดนกดค่าแรง เพราะว่าอยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่อาชีวะอยู่

ไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ย้อนไปถึงโครงสร้างการศึกษาเลย ที่ว่าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนจริงๆ เหมือนออกแบบมาเพื่อป้อนเข้าระบบ พอตายไปก็เอาคนใหม่ยัดเข้าไป คุณตกงานก็เป็นเรื่องของคุณ

มันเป็นแบบนี้มาตลอดเลยหรือ?

ถ้าย้อนไปสัก 20 ปี ไม่ได้เป็นอย่างนี้ หรือ 10 ปีที่แล้วก็ยังไม่ใช่อย่างนี้ 10 ปีที่แล้ว การเข้าตลาดแรงงานของอาชีวะ ยังมีความต้องการสูง ทุกวันนี้ก็ยังต้องการสูง แต่ว่ามันไม่ได้ถูกกดกันขนาดนี้ เท่ากับว่าเราจบมาเราต้องเรียน… อาชีวะไม่ได้เรียนเหมือนมัธยมอย่างหนึ่ง ถ้าจะตัดเรื่องความเสี่ยงที่ต้องเดินทางไปเรียน-กลับบ้าน ที่มันไม่ควรจะมีอยู่แล้ว เอาแค่เรียนในช็อป เซฟตี้มันมี แต่ว่าเครื่องจักรยังไงก็มีอันตราย เราเรียนไปก็เสี่ยงไปอยู่แล้ว แม้จะ 1 เปอร์เซ็นต์มันก็คือความเสี่ยง แต่ว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะยอมรับได้

เท่ากับว่าเราเรียนจบมาแล้วเราต้องไปทำงานในค่าแรงที่ถูก ปริญญาตรีก็เหมือนกัน เรียกว่าไม่มีความแฟร์ แล้วก็มีช่องว่างระหว่างชนชั้นสูง

คุณคาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ราษฎร’

ผมหวังว่าสิ่งที่พวกน้องของผมทำ สิ่งที่พี่ผมทำ เพื่อนผมทำตอนนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เปลี่ยนสังคม แล้วก็เปลี่ยนภาพอาชีวะ แม้กระทั่งเปลี่ยนอาชีวะเองได้ เปลี่ยนไปถึงขนาดโครงสร้างการศึกษา โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเราไปได้เลย แต่ตอนนี้ก็เป็นแค่ความหวัง

Author

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า