จาก ‘ที่นี่มีคนตาย’ ถึง ‘ภาษีกู’: ความเคลื่อนไหวในวันที่ 15 ตุลาคม

ประชาชนทยอยเดินทางมารวมตัวที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ตามเวลานัดหมายของคณะราษฎร 2563 ในเวลา 16.00 น. ท่ามกลางการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ที่มีการปิดทางเดินสกายวอล์ค ตั้งแต่บริเวณห้างสรรพสินค้าเกษรวิลเลจ อีกทั้งมีการผลักดันประชาชนและสื่อมวลชนให้ออกไปจากพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกาศห้ามมีการชุมนุมตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร 

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามหยุดยั้งผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็หลั่งไหลไปจนเต็มพื้นที่และบนท้องถนน โดยชายคนหนึ่งลงไปนอนราบกับพื้น มีประชาชนยืนล้อมวงพร้อมตะโกนร่วมกันว่า “ที่นี่มีคนตาย” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขณะที่เทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1-3 ณ เวลา 15.45 น. คือ

  1. #15ตุลาไปราชประสงค์
  2. #ทนายอานนท์
  3. #สลายการชุมนุม

ลำดับเหตุการณ์

16.15 น. ภานุพงศ์ จาดนอก ปรากฏตัวที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์เพื่อนำการชุมนุม จากนั้นขึ้นกล่าวปราศรัยว่า วันนี้เผด็จการจะต้องเผชิญหน้ากับประชาชน ไม่ว่าแกนนำส่วนหนึ่งจะถูกจับกุมไป แต่การชุมนุมต้องดำเนินต่อไป และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ประชาชนเต็มพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ยาวไปจนถึงบริเวณอาคารเซ็นทรัลเวิลด์พร้อมใจกันตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” นอกจากนี้ภาณุพงศ์ยังกล่าวด้วยว่า การชุมนุมของประชาชนครั้งนี้เหมือนหลังพิงฝาแล้ว แต่จะขอสู้ไม่ถอย และขอเป็นคนสุดท้ายที่จะเดินออกจากที่ชุมนุม 

16.40 น. สัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณพื้นที่ชุมนุมค่อนข้างขัดข้อง ทำให้การรายงานข่าวสถานการณ์ชุมนุมของสื่อมวลชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่แกนนำที่เหลืออยู่ยังคงสลับกันขึ้นกล่าวปราศรัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพียงโทรโข่งและเก้าอี้อีก 1ตัว สำหรับยืนปราศรัย ไม่มีการติดตั้งเวทีถาวร จากนั้นผู้ชุมนุมช่วยกันนำแผงเหล็กมากั้นรอบบริเวณเพื่อให้แกนนำขึ้นปราศรัยบนท้ายรถกระบะ 

16.55 น. “ภาษีกู ภาษีกู ภาษีกู” คือวลีที่ผู้ชุมนุมร่วมกันตะโกนอย่างกึกก้องระหว่างฟังการปราศรัย เช่นเดียวกับคำว่า “กูไม่กลัว” “ขี้ข้าเผด็จการ” 

17:32 น. มีรายงานข่าวจากมติชนออนไลน์ ระบุว่า ศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางเมือง ในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี ขณะที่แฮทแท็ก #saveเอกชัย และ #saveบุญเกื้อหนุน พุ่งขึ้นติดอันดับ 1 ใน 4 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ทันที

18.00 น. ผู้ชุมนุมร่วมกันร้องเพลงชาติ ด้วยการชู 3 นิ้ว

18.15 น. เจ้าหน้าที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ยุติการชุมนุม เพราะเป็นความผิดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมกลับโห่ร้องและตะโกน “ภาษีกู” ด้านแกนนำประกาศว่า จะไม่ถอยออกจากตรงนี้ และยังไม่มีการยืนยันว่าการชุมนุมจะยุติลงเมื่อใด 

18.55 น. ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งฝ่าแผงกั้นทางเชื่อมสยามฯ-ชิดลม เข้ายึดพื้นที่สกายวอล์คข้ามแยกราชประสงค์ ด้านผู้ชุมนุมที่นั่งบนพื้นถนนตะโกน “ภาษีกู” ขานรับประชาชนที่ทวงคืนพื้นที่ทางเดินได้

19.00 น. นายภานุพงศ์ จาดนอก ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกครั้ง โดยประกาศนัดหมายผู้ชุมนุมร่วมกันจัดม็อบดาวกระจายทั่วแผ่นดิน และหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนออกมาจัดม็อบทั่วประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีความไม่ชอบมาพากลจากการที่ทหารได้เคลื่อนกำลังพลเข้าควบคุมพื้นที่รัฐสภา

21.22 น. ผู้ชุมนุมตะโกนขับไล่เจ้าหน้าที่บริเวณรถฉีดน้ำแรงดันสูง 2 คันที่จอดอยู่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทั่งรถฉีดน้ำแรงดันสูงทั้ง 2 คันต้องถอยออกไปจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งจอดมาตั้งแต่เวลา 16.00 น.

22.00 น. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ขึ้นปราศรัยเป็นคนสุดท้าย ระบุ 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 

1. ประยุทธ์ลาออกทันที

2. ไม่เอารัฐประหารและการเซ็นรับรองการรัฐประหาร

3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จุฑาทิพย์ กล่าวกับผู้ร่วมชุมนุมว่า ต่อจากนี้ในเวลา 17.00 น. ของทุกวัน จะออกมารวมตัวกันแสดงจุดยืนถึง 3 ข้อเรียกร้อง ต่อต้านการรัฐประหาร และการรองรับการรัฐประหาร ณ สี่แยกราชประสงค์ – ที่เดิม

ต่อมาแกนนำประกาศต่อผู้ชุมนุมว่า จะยุติการชุมนุมในช่วงเวลา 22.00 น. โดยจะไม่ปักหลักค้างคืน เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะหรือเกิดความสูญเสีย จากนั้นสายฝนเริ่มโปรยปรายลงมาก่อนที่ผู้ชุมนุมจะทยอยเดินทางกลับ

‘ปล่อยเพื่อนเรา’: เสียงที่ราชประสงค์

วลี “ปล่อยเพื่อนเรา” เป็นอีกวลีที่ถูกกล่าวเป็นระยะในระหว่างการชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ สืบเนื่องจากระกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) 

กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ได้ควบคุมตัวแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมรวมทั้งหมด 23 คน ไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และได้ส่งตัวนายอานนท์ นำภา และ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ แกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปดำเนินคดีที่เชียงใหม่

สำหรับรายชื่อแกนนำที่ถูกจับกุมระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย

1.นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ 2.นายอานนท์ นำภา 3.นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ 4.นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒน์ และ 5.นายณัฐชนน ไพโรจน์ ในความผิด มาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา 

ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวม 18 ราย ประกอบด้วย 1.นายชาติชาย แจ่มจันทร์ 2.นายศักดา อุประ 3.นายเจษฎา จอกโคกสูง 4.นายพนรกร พวงบุบผา 5.นายวโรตม์ เทศทอง 6.นายเจษฎา พงษ์วันนา 7.นายวิชัย โรคน้อย 8.นายสัมฤทธิ์ นาดสุทธิ 9.นายโชคชัย โรจนชาญปรีชา 10.นายปารย์พิรัย์ บุญญาธนาภูวเดช 11.นายเริงชัย บังวงศ์ 12.นายสิงหา คลสุข 13.นายโสภา พรมกสิกร 14.นายเดือน คงยอด 15. นายสมประสงค์ เปาอินทร์ 16.นายวันชัย สิงห์สวัสดิ์ 17.ว่าที่ ร.ต.รุ่งโรจน์ ครองสินไชโย และ 18.นายไชญะภัณฑ์ พันทรศิริมาส 

ขณะที่รายชื่อแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 21 คน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ประกอบด้วย

1.นายทรงพล สนธิรักษ์ 2.นายนวพล ต้นงาม 3.เพ็ญศรี เจริญเดชรักษา 4.นายวันชัย สุธงศา 5.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 6.นายทวีชัย มีมงราม 7.นางสาวอภิญญา เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ 8.นายฐิติสรรค์ ญาณวิกร 9.นายมุสิก ผิวอ่อน 10.นายธนกฤต สุขสมวงศ์ 11.นายนันทพงศ์ พานมาฎ 12.นายไผ่ พันมี 13.นายหลอด พันมี 14.นายปีก พันมี 15.นายมาส จ๋องเเจ๋ง 16.นายเปา พันมี 17.นายภักดี ศรีรัศอำไพ 18. (เยาวชน​ อายุ 17 ปี)​ 19.นายเมยาวัฒน์ บึงมุม 20.นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ ‘แอมมี่ The Bottom Blues’  21.นายกิตติภูมิ ทะสา

โดยทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ศาลอนุญาตฝากขังคุมตัวเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เว้นรายที่เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี

ท่ามกลางการกล่าวประณามการสลายการชุมนุมว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักสากล และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ภาณุพงศ์ประกาศจะยังชุมนุมอยู่ตรงนี้แม้เลยเวลา 18.00 น. ที่ตำรวจแจ้งไว้ให้ยุติการชุมนุม 

ไม่อนุญาตประกันตัว

ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้ควบคุมตัว น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล อายุ 21 ปี, นายณัฐชนน หรือณัฐ ไพโรจน์ อายุ 22 ปี และ นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ อายุ 22 ปี มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาล

ศาลธัญบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ศาลโดยใช้เหตุเดียวกับที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่มคณะราษฎรอีสาน ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ หลังจากศาลอาญา ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่ผู้ชุมนุมอีก 20 คนที่ถูกจับกุมพร้อมกันนั้น ในจำนวนนี้ 19 คน ศาลแขวงดุสิตยังไม่มีคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่หลังจากใช้เวลาพิจารณาคำร้องของฝากขัง มานานกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนอีก 1 คนซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปีนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ และมีเงื่อนไขห้ามทำความผิดซ้ำ

ขณะที่ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 คุมตัว นายอานนท์ นำภา และ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ 2 ผู้ต้องหาแกนนำม็อบคณะราษฎร ที่ถูกจับกุมเมื่อเช้าวันนี้ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ออกจากท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังเป็นผัดแรก หลังจากเดินทางมาถึงท่าอากาศยานกองบิน 41 เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.ที่ผ่านมา และ ถูกเจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนภายในกองบิน 41 ก่อนนำตัวส่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ มีความเห็นไม่ให้ประกันตัว

ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมในประกาศฉุกเฉินร้ายแรง

ภายหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุเหตุผลว่าผู้ชุมนุม “มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล 

องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ว่า การออกคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป และห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว เป็นคำสั่งที่มีความคลุมเครือและจะยิ่งนำไปสู่การจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้น 

“การจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมากเมื่อเช้านี้ (15 ตุลาคม 2563) เป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรมเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน เพราะการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ การดำเนินงานของรัฐเช่นนี้มีเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง ทำให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม เราขอเรียกร้องให้ตำรวจไทยปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และผู้ชุมนุมทุกคนที่ถูกควบคุมตัวจะต้องสามารถติดต่อทนายความได้” มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคด้านการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ

ขณะเดียวกัน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ออกแถลงการณ์เรื่อง ‘ขอให้เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยุติการคุกคามผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ’ โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “ไม่มีเหตุผลตามกฎหมายที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้ และข้อกำหนดจำกัดสิทธิต่างๆ ที่ออกตามมานั้น ไม่เข้าข้อยกเว้นที่ได้อนุญาตไว้ตามรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง” 

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุอีกว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจำกัดการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองและการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ อันเป็นการบิดเบือนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของตน โดยอ้างความสงบเรียบร้อยเป็นเกราะบังหน้าเท่านั้น

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 6 ข้อ ดังนี้

  1. นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยทันที 
  2. รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมโดยสงบ 
  3. การส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้ามา ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ อีกทั้งเป็นการฉวยโอกาสใช้อำนาจพิเศษในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา จึงขอให้นำกองกำลังทั้งหมดกลับเข้าที่ตั้ง 
  4. ขอคัดค้านและต่อต้านการใช้กำลังและความรุนแรงทุกรูปแบบกับนักศึกษาและประชาชน ขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนให้มีการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง
  5. การใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนยังอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีเหตุผลใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ความรุนแรงและออกข้อห้ามมิให้มีการชุมนุม
  6. ขอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญโดยเร็ว เพื่อจะได้นำปัญหาต่างๆ เข้าแก้ไขผ่านระบบรัฐสภา และหวังว่าการกระทำของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จะไม่เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

คำสำคัญของการชุมนุม

ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ถ้อยคำที่ประชาชนร่วมกันตะโกนโห่ร้องตลอดการชุมนุม สะท้อนยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี กองบรรณาธิการ WAY ที่ไปสังเกตการณ์ในที่ชุมนุมพบข้อสังเกตว่า มวลชนจะตะโกนคำว่า “ภาษีกู” “ปล่อยเพื่อนเรา” “ไอ้เ_ี้ยตู่” “ขี้ข้าเผด็จการ” “กลับพร้อมกัน”

ความเคลื่อนไหวอีกฝั่ง

ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 36/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับปฏิบัติงาน หัวหน้ารับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

โดยให้ทหารปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้มีคำสั่งด่วนเรียกผู้บังคับกองพันทุกกองพันของกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) และกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) เข้ามาประชุมที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมดูแลสถานการณ์ใน กทม. โดยมอบหมายให้ ร.9 พัน.1 ร.9 พัน.2 และ ร.9 พัน.3 จัดเจ้าหน้าที่ทหารกองพันละ 1 กองร้อย เข้าดูแลความเรียบร้อยภายในทำเนียบรัฐบาล สำหรับส่วนที่เหลือให้เตรียมความพร้อมไว้ในที่ตั้ง หากเกินสถานการณ์ฉุกเฉินให้เข้าสมทบทันที

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีคำสั่งแต่งตั้ง กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) โดยมี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็น อำนวยการ กอร.ฉ. และ ผบ.สส. ผบก.ทบ. ผบ.ทร.บก.ทอ. และ รองผบ.ตร. เป็น รองผอ.กอร.ฉ.

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า