ปราการสูงชัน-ตั้งตระหง่าน ประวัติศาสตร์สีเลือดผ่านการสร้าง ‘กำแพง’

ตั้งแต่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในยุคสงครามเย็น นโยบายการสร้างกำแพงปิดกั้นพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโกของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปจนถึงแนวกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ที่โผล่ขึ้นมาใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง อาจทำให้เราต้องกลับมาทบทวนถึงความหมายและการใช้งานสิ่งกีดขวางที่มีอายุหลายหมื่นปีในประวัติศาสตร์มนุษย์นี้เสียใหม่ ว่ามันกำลังเคยทำหน้าที่อะไรและยังคงถูกใช้งานในฐานะใด ก่อนจะมาถึงโลกปัจจุบันที่มนุษยชาติยอมรับในหลักการสิทธิ เสรีภาพ และการเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างอิสระ 

ย้อนกลับไปเกือบ 90,000 ปีก่อนคริสตกาล กำแพงเมืองแห่งแรกที่มีการค้นพบในประวัติศาสตร์มนุษยชาติถูกสร้างขึ้น ณ เมืองเจอริโค (Jericho) ในบริเวณที่ปัจจุบันคือเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) ของประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวรแห่งแรกของมนุษย์ ขณะเดียวกัน ในทุกการสร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มักมีการป้องกันคนนอกที่ถูกมองว่าเป็น ‘ศัตรู’ ไม่ให้รุกล้ำเข้ามาได้ บทบาทของกำแพงแห่งแรกจึงส่งทอดมรดกสืบต่อมายังกำแพงรุ่นหลังๆ ในฐานะเครื่องมือในการแบ่งแยกว่าใครคือมิตรที่ควรอยู่ใกล้ตัว และใครคือศัตรูที่ควรผลักไสออกไปอยู่ภายนอกอารยธรรม

ถึงแม้กำแพงเมืองแห่งเจอริโคจะถูกทำลายจากการทำสงครามกันไปมาในความขัดแย้งทางภูมิภาคยุคนั้น แต่ก็ยังมีการพยายามสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ ทั้งรื้อ สร้าง ทำลาย เวียนวนไปมาไม่สิ้นสุด เพราะกำแพงยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดีในการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝักฝ่าย 

ถัดจากกำแพงแห่งแรกที่เมืองเจอริโค นำไปสู่การค้นพบอีกหลายกำแพงบนหน้าประวัติศาสตร์ อย่างกำแพงแห่งดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ไปจนถึงกำแพงอันเลื่องชื่อของโลกอย่างกำแพงเมืองจีน (The Great Wall) ที่ใช้ป้องกันแผ่นดินจีนจากศัตรูซึ่งอยู่ด้านนอกของกำแพง และถูกกีดกันออกจากความเป็นพรรคพวกเดียวกัน ในฐานะคนแปลกหน้า (xeno) ที่ป่าเถื่อน ดุร้าย และอันตราย

Great wall of China [1907] Herbert G. Ponting [RESTORED]

กำแพงจึงมิใช่เพียงสิ่งปลูกสร้างทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่ใช้ป้องกันการก้าวล่วงเขตแดน และไม่ใช่แค่แบ่งแยกว่าใครคือมิตรหรือศัตรู หากยังมีบทบาทในการแบ่งชนชั้นของมนุษย์อีกด้วยว่าใครคือ ‘พวกในกำแพง’ (wallers) และใครคือ ‘พวกนอกกำแพง’ (non-wallers) ซึ่งเป็นการตีตราผ่ากลางชนชั้นที่ค่อยๆ ซับซ้อนขึ้นของมนุษย์

คนเมืองอยู่ใน คนเถื่อนไปข้างนอก เมื่อกำแพงแบ่งแยกความเป็นคน

เสมือนวงกลมที่แต่เดิมทุกอย่างเคยเป็นหนึ่งเดียวเสมอกัน แต่เมื่อใครสักคนลากเส้นผ่าศูนย์กลางตัดแบ่งออกเป็นสองซีก พื้นที่ของสิ่งหนึ่งที่เคยมีคุณค่าเท่าเทียมกันจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน รวมถึงคุณค่าของสิ่งที่อยู่ภายในครึ่งวงกลมแต่ละซีกก็อาจถูกประเมินค่าให้ไม่เท่ากันจากมือของผู้ที่ลากเส้น

ตามการศึกษาของ วิลเลียม อเล็กซานเดอร์ พาร์สันส์ มาร์ติน (W.A.P Martin) มิชชันนารีและนักแปลผู้มีชื่อเสียง ได้เขียนเอาไว้ในวารสารสังคมอเมริกันตะวันออก ในผลงานชื่อ The Northern Barbarians in Ancient China เมื่อปี ค.ศ. 1885 ว่า ภาพวาดในหัวของชาวจีนโบราณเมื่อคิดถึงเหล่าผู้อยู่นอกกำแพง มักจะเป็นภาพของคนเถื่อนผู้โหดร้าย แต่งเติมด้วยจินตนาการเป็นมนุษย์กึ่งสัตว์หรืออสูรกายที่ไร้อารยธรรม ซึ่งแตกต่างไปจากคนในกำแพงผู้มีอารยะทั้งหลาย เห็นได้ชัดเจนในบันทึกจากสาส์นต้อนรับกลุ่มคณะชนเผ่าที่ต้องการจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์จิ้น (ในภาษาอังกฤษสะกดว่า ราชวงศ์ Jin หรือ Tsin นั่นเอง) ความว่า 

“พวกชนเผ่าเหล่านี้ไม่มีสายสัมพันธ์หรือหลักการทั่วไปร่วมกับเรา เราต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นเดียวกับที่เราทำกับศัตรูของเรา” (“The Jung and the Tih have no ties or principles in common with us. We must treat them as our natural enemy.”)

จากคำพูดดังกล่าวที่ปฏิเสธความเป็นมิตรจากผู้คนนอกกำแพง นำมาสู่สงครามยาวนานอย่างไม่รู้จบสิ้นตลอดชายแดนทางตอนเหนือและตะวันตกของแผ่นดินจีน และกำแพงเมืองจีนที่ตั้งตระหง่านขึ้นมาก็ได้แบ่งแยกระดับชั้นของคนสองวัฒนธรรมให้ห่างออกจากกันมากขึ้น ระยะห่างนี้เองที่ผลักดันให้เกิดท่าทีการมองและการปฏิบัติต่อบุคคลนอกกำแพงของฮ่องเต้ราชวงศ์จิ้น ว่าเป็นพวกไม่มีอารยะเท่าตน จะเข่นจะฆ่าอย่างไรก็ทำได้ทั้งสิ้น

กระโดดข้ามขอบโลกอย่างแผ่นดินจีนโบราณสู่อารยธรรมยุโรปอันเรืองรอง จักรวรรดิโรมันและเหล่าทหารกล้าในชุดเกราะเหล็กเหล่านี้เป็นนักสร้างกำแพงมือฉมัง ผลงานชิ้นสำคัญของพวกเขาคือ กำแพงฮาดริอานุส (Hadrian’s Wall) ที่เริ่มก่อสร้างกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 122 ลากยาวตั้งแต่บริเวณโซลเวย์เฟิร์ธ (Solway Firth) แถวๆ ทางเข้าทะเลไอริช ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำไทน์ (Tyne) ที่กลายเป็นเส้นแบ่งของพื้นที่จักรวรรดิโรมันกับพวกอนารยชนในอังกฤษ ซึ่งอนารยชนเหล่านี้ถึงแม้จะมีเชื้อสายเดียวกับชาวโรมัน แต่ก็ถูกนิยามว่าเป็นคนป่าเถื่อนล้าหลัง เนื่องจากพวกเขามีวัฒนธรรม การแต่งกาย ศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างไป 

ด้วยลักษณะที่ไม่มีความเป็นพวกเดียวกันนี้เอง ทำให้เกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้งระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่ถูกนิยามว่าพวก ‘คนเถื่อน’ (babarians) กับจักรวรรดิโรมัน สาเหตุบางครั้งก็มาจากการที่คนในกำแพงอยากที่จะขยายอาณาจักรของตนออกไปและไล่เข่นฆ่าเหล่าคนนอกกำแพง ไปจนถึงการที่คนนอกกำแพงต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าด้วยการอพยพข้ามเขตแดนเข้ามาสู่จักรวรรดิ จนหลายครั้งนำมาซึ่งการปะทะและความสูญเสีย

กำแพงแห่งจักรวรรดิโรมันจึงไม่ใช่แค่ป้องกันการเคลื่อนย้ายทางกายภาพเท่านั้น แต่มันยังได้ขีดเส้นแบ่งด้วยว่ามนุษย์คนใดอยู่ชนชั้นใด และพวกเขาสมควรถูกปฏิบัติอย่างไร ซึ่งการตัดสินใจเหล่านี้มักมาจากผู้ปกครองที่อยู่อาศัยในกำแพงเป็นหลักเสียทั้งสิ้น

กำแพงที่มองไม่เห็น โลกสมัยใหม่ที่ยังคงกีดกันคนออกจากคน

นับจากสมัยแรกของการวางก้อนอิฐ ณ ฐานกำแพงเมืองจีนและจักรวรรดิโรมัน มาจนถึงข่าวสะเทือนโลกที่มีการริเริ่มสร้างกำแพงกั้นพรมแดนอีกครั้งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อันสะท้อนให้เห็นว่า ฐานคิดในการแบ่งแยกกีดกันผู้คนยังคงหลงเหลืออยู่แม้ในโลกสมัยใหม่ที่เจริญแล้ว

ยุคสมัยของกำแพงได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากมาย ตั้งแต่กองหิน รั้วเหล็ก ไปจนถึงรั้วลวดหนาม แต่ในปัจจุบันที่สังคมมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น บางกำแพงอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กลับทรงพลังเสียยิ่งกว่ากำแพงเหล็กใดๆ 

กำแพงที่มองไม่เห็นกำลังแบ่งแยกคนในสังคมออกจากกันด้วยวิธีการที่แตกต่างและน่าสนใจ

งานศึกษาของ สเตฟานี เอตติงเกอร์ เดอ คิวบา (Stephanie Ettinger de Cuba) ผู้บริหารเครือข่ายองค์กร Children’s Health Watch และคณะ ในชิ้นงานที่ชื่อ Constructing Invisible Walls through National and Global Policy ได้ระบุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ภัยธรรมชาติอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางเศรษฐกิจ และความรุนแรง ได้ทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันเกิดการอพยพเพื่อไปหาสถานที่อยู่อาศัยที่ดีกว่า โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีเด็กในความดูแลจะมีความพยายามอย่างยิ่งในการอพยพหนีออกจากพื้นที่ที่ความเป็นอยู่ย่ำแย่ ขณะเดียวกัน นโยบายและกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองกลับทำให้การอพยพเป็นไปได้ยากลำบากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับนโยบายการโดดเดี่ยวตนเองที่เคยถูกปฏิเสธโดยประเทศมหาอำนาจก็ได้กลับมาอีกครั้ง และยังนำมาซึ่งกระแสความหวาดกลัวการเป็นอื่น (xenophobia) ส่งผลไปถึงพัฒนาการของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพ และเป็นผลเสียในอนาคตของมนุษย์ในชั่วรุ่นถัดไป

นอกจากกำแพงทางนโยบายที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันแล้ว ศาสนาเองก็ยังคงทำหน้าที่ในฐานะกำแพงล่องหนอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยากต่อการมองเห็น จากงานศึกษาของ โมนา ทาจาลี (Mona Tajali) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย กรุงมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ในชื่องาน Notions of Female Authority in Modern Shi’i Thought มีข้อค้นพบว่า ตามประวัติศาสตร์นั้นภายใต้การปกครองของนิกายชีอะห์ เพศหญิงมักที่จะถูกกีดกันออกจากตำแหน่งผู้นำในทางศาสนาและทางการเมืองอยู่เสมอ เนื่องจากถูกระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเพศหญิงมีลักษณะที่ด้อยกว่า (inferiority) เพศชาย ทว่ากำแพงลักษณะนี้ในปัจจุบันเริ่มถูกท้าทายจากการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี โดยโมนาได้ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรีในประเทศอิหร่านที่ออกมาเรียกร้องให้ยุติการครอบงำของเพศชายในภูมิทัศน์ทางการเมือง (political sphere) และนำไปสู่การปฏิเสธวาทกรรมที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าระบุมาให้ผู้ชายต้องปกครองผู้หญิง ปรากฏการณ์นี้โมนาได้อธิบายเอาไว้ว่า เป็นเพราะเพศหญิงเริ่มได้รับการศึกษาและแรงบันดาลใจมาจากอุดมการณ์การปฏิวัติภายในของอิหร่านเอง 

การตื่นรู้ของเหล่าสตรีในนิกายชีอะห์ ณ ประเทศอิหร่าน คงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากการศึกษายังไม่ถูกกระจายอย่างทั่วถึง จากหนังสือ Universities Under Dictatorship โดย จอห์น คอนเนลลี (John Connelly) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และ มิคาเอล กรุตเนอร์ (Michael Grüttner) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน กล่าวว่า การศึกษาในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตที่ยืนตรงข้ามกับเผด็จการไปสู่การถูกพึ่งพิงโดยเผด็จการมากขึ้น 

หนังสือเล่มนี้ได้ศึกษาการศึกษาในมหาวิทยาลัยภายใต้เผด็จการ 5 ประเทศ ในแต่ละช่วงเวลา อย่างมหาวิทยาลัยในสมัยนาซีเยอรมนี มหาวิทยาลัยในสมัยฟาสซิสต์อิตาลี มหาวิทยาลัยในสมัยเผด็จการจอมพลฟรังโกแห่งสเปน มหาวิทยาลัยในสมัยประธานเหมา เจ๋อตุง ในประเทศจีน และมหาวิทยาลัยในสหภาพโซเวียต โดยค้นพบว่าเสรีภาพในการทำงานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยมักมีข้อจำกัด แต่ขณะเดียวกันเผด็จการในสมัยใหม่ก็จะต้องพึ่งพานักวิจัย อาจารย์ และวิศวกร ในการเผยแพร่อุดมการณ์ของตนเองมากขึ้น การศึกษาจึงกลายเป็นกำแพงล่องหนที่แบ่งแยกเอาคนที่เห็นต่างออกไปจากสถานศึกษา 

หลัง ‘กำแพงโรงเรียน’ จึงกลายเป็นโรงงานสำหรับผลิตเพียงแค่พลเมืองที่รัฐต้องการเท่านั้น ประกอบกับการเข้าถึงระบบการศึกษาด้วยความจำเป็นต่อความก้าวหน้าในอาชีพในอนาคต กำแพงล่องหนนี้จึงยังคงเป็นหนึ่งในกำแพงที่ยากต่อการพังทลาย

ประชิดแนวรั้วที่สุดเขตแดน เมื่อการยื้อแย่งพื้นที่กลายเป็นสัญลักษณ์

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะพบว่ากำแพงที่ถูกก่อสร้างขึ้น ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือด้วยระบบโครงสร้างทางสังคม มักถูกออกแบบโดยผู้มีอำนาจในสังคมเกือบเสมอ เนื่องจากความพร้อมในการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างที่มากกว่าชนชั้นอื่นในสังคม แต่ก็ใช่ว่ากำแพงนั้นจะถูกสร้างโดยฝ่ายผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมก็ยังเคยมีการพยายามสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อต่อกรกับอำนาจรัฐเช่นกัน

กำแพงแห่งยุคปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการก่อสร้างกำแพงจากสิ่งของใกล้ตัวเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐในสมัย ค.ศ. 1832 ที่ถูกบรรยายเอาไว้อย่างถึงรสในวรรณกรรมที่ชื่อ เหยื่ออธรรม (Les Misérables) ของ วิกตอร์ อูโก และยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือพื้นฐานของการต่อสู้ทางการเมืองในฝรั่งเศสอีกหลายครั้ง 

‘กำแพงของมวลชน’ นี้ประกอบไปด้วยเก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า ไปจนถึงโต๊ะตั่งเตียงและสิ่งของใกล้ตัวมากมาย ถึงแม้ว่าจะด้อยประสิทธิภาพด้านการใช้งาน แต่กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ทรงพลังของคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกำแพงเหล็กของอำนาจอันยิ่งใหญ่อย่างภาครัฐประหนึ่งอสูรร้ายเลวีอาธาน (Livyatan) ที่น่าหวาดหวั่น

เหลียวกลับมายังประเทศไทย การต่อสู้ช่วงปี พ.ศ. 2553 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการนำตาข่ายขึงหน้าเวทีปราศรัย และนำสิ่งกีดขวางหลากหลายชนิดมาสร้างเป็นป้อมค่ายรอบพื้นที่การชุมนุม เพื่อป้องกันการใช้กระสุนจริงที่ยิงมาจากมุมสูงข่ม ภายใต้การบัญชาของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถึงแม้สุดท้ายแล้วกำแพงทำมือของประชาชนจะไม่อาจต้านทานปฏิบัติการกระชับพื้นที่หรือการล้อมปราบทางการทหาร (military crackdown) อันนำมาซึ่งการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่นวัตกรรมการสร้างป้อมค่ายด้วยมือเหล่านี้ก็เป็นเครื่องป้องกันเพียงอย่างเดียวเท่าที่ผู้ชุมนุมจะปกป้องตนเองได้ 

10 ปีถัดมา เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 ยุทธการสร้างกำแพงถูกนำมาใช้อีกครั้งโดยรัฐบาลเผด็จการที่มุ่งสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม ทั้งแท่งปูนแบริเออร์ รั้วลวดหนาม จนถึงนวัตกรรมล่าสุดคือ ตู้คอนเทนเนอร์ ที่เป็นการขีดคั่นเขตแดนว่าใครคือคนที่ควรถูกปกป้อง และใครคือ ‘พวกนอกกำแพง’ หรือ non-waller 

การขีดเส้นแบ่งกั้นระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง และกีดกันมนุษย์ออกจากมนุษย์ด้วยกันเองยังคงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้โดยอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง กำแพงในพื้นที่ทางการเมืองไทยจึงยังคงสูงชันและตั้งตระหง่านเกินกว่าที่แสงแดดจะลอดลงมาถึงได้โดยง่ายนัก และเงาของมันยังคงทอดทับลงมาจากการพยายามสร้างกำแพงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอำนาจ ทรัพยากร และความเชื่อความศรัทธา 

การพยายามรื้อกำแพงคอนเทนเนอร์ของผู้ชุมนุมกลางท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 จึงไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้เชิงกายภาพกับอำนาจรัฐเพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมการชุมนุมได้เพียงอย่างเดียว หากมองลึกลงไปอาจพบว่านี่เป็นหนึ่งในความพยายามต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นว่า กำแพงเหล็กที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นสูงต่ำ แบ่งแยกความมีอารยะหรือไม่มีอารยะ ดั่งที่โลกของอาณาจักรโบราณมักกระทำกันนั้นจักต้องถูกทลายลง 

การทลายกำแพงหรือการหยอกล้อกับแนวกั้นของอำนาจทางสังคมการเมืองไทยดังที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนให้เราเห็นว่าแนวคิดการสร้างกำแพงเพื่อควบคุมทั้งพื้นที่ในโลกกายภาพและในทางความคิดนั้นอาจไม่ใช่วิธีการที่ได้ผลอีกต่อไป ท่ามกลางบริบทของโลกปัจจุบันที่มนุษย์ทุกผู้คนล้วนต้องเท่าเทียมกันโดยไม่อาจมีกำแพงใดมาขวางกั้นได้

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า