#ม็อบ20มีนา สนามหลวง = สนามราษฎร์

#ม็อบ20มีนา

#REDEM

การชุมนุมใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง วันที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 18.00-21.00 น. จัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนหลากหลายกลุ่ม กิจกรรมหลักที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ได้แก่ ร่วมกันอ่านแถลงการณ์, กิจกรรมเต้นเพื่อปลดปล่อยความอัดอั้น ‘แค่ขยับเท่ากับปฏิรูป’ โดยกลุ่มศิลปะปลดแอก – FreeArts, พับจรวดร่อนจดหมาย ‘จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์’ ส่งไปถึงรั้ววัง และอื่นๆ บนคอนเซ็ปต์ที่ว่า ‘สนามหลวง’ จักต้องเป็น ‘สนามราษฎร์’

การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อกังวลว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหรือไม่ เช่นเดียวกับเสียงทัดทานจากหลายกลุ่มว่า การชุมนุมครั้งนี้ตรงกับวันสอบ GAT/PAT ของนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนมวลชน แต่การชุมนุมยังคงเดินหน้าต่อไป เนื่องจากเป็นข้อยุติที่ได้จากการโหวตร่วมกันของประชาชน 

3 ข้อเรียกร้องจาก REDEM

การชุมนุมเคลื่อนไหวของ REDEM ประกอบด้วย 3 ข้อเรียกร้องหลัก ได้แก่ 

1. จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากปัจจุบันกษัตริย์มีอำนาจล้นเกินจนใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

2. ขับไล่ทหารออกจากการเมือง 

3. รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ตัดงบทหารและงบสถาบันกษัตริย์ที่สิ้นเปลืองและไม่จำเป็น เพื่อนำไปสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย

กลุ่มเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH หนึ่งในแนวร่วมผู้ให้การสนับสนุน REDEM ออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊คว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องมีการเคลื่อนไหวในห้วงสัปดาห์นี้ เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในสภาพเลวร้าย นักกิจกรรมหลายคนสูญเสียอิสรภาพ และผู้ร่วมกันสนับสนุนแทบทั้งหมดกำลังจะทยอยเข้าคุก รวมถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญถูกล้ม ทั้งหมดนี้อาจนำประเทศไปสู่ความล่มสลายไม่ช้าก็เร็ว

“เราเข้าใจดีต่อความย่ำแย่ของระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพราะสมาชิกของ Free YOUTH นั้นจำนวนมากคือนักเรียนมัธยมต้น และมัธยมปลาย นิสิต/นักศึกษา มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว แต่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาหลายประเทศทั่วโลก มักมีรากฐานมาจากระบอบการปกครอง เพราะระบอบการปกครองย่อมหวังให้ประชาชนเชื่อในวิถีทางแบบที่เขาปกครอง การจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่แท้จริง รากฐานนั้นมาจากการที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ การศึกษาของประเทศนั้นจึงจะสามารถพัฒนาไปสู่การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” แถลงการณ์ระบุ

บุกค้นสำนักนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการชุมนุมจะเริ่มต้นขึ้น มีรายงานว่า ตำรวจนำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี บุกเข้าสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพื่อยึดหนังสือ สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ที่เรียบเรียงเนื้อหาจากคำปราศรัยของ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ในกิจกรรมชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้จัดกิจกรรมชุมนุมนัดหมายกันว่า จะมีการนำหนังสือเล่มดังกล่าวมาแจกจ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่สนามหลวง จำนวน 10,000 เล่ม โดยกลุ่มเพื่อนอานนท์จะจัดกิจกรรมชวนอ่านหนังสือพร้อมกันในเวลา 19.19 น. 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตำรวจจะพยายามใช้อำนาจบุกค้นและยึดหนังสือไปแล้วก็ตาม แต่ในโลกสมัยใหม่ประชาชนผู้ใฝ่หาประชาธิปไตยยังสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาหนังสือฉบับดังกล่าวได้ในรูปแบบไฟล์ PDF ผ่านเพจเฟซบุ๊ค เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH

ทลายกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม

17.40 น. มวลชนเริ่มเดินทางเข้าสู่พื้นที่สนามราษฏร์ ผู้ชุมนุมทั้งเยาวชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมกันทำกิจกรรมหลากหลายตามอัธยาศัย ทั้งเซิร์ฟสเก็ต เล่นว่าว เล่นไพ่ UNO เพื่อแสดงออกว่า ‘สนามหลวง’ คือ ‘สนามราษฎร์’

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางเป็นแนวกั้นสูงตระหง่านเหนือพื้นที่อันเคยเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่นานกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ก็ถูกพ่นสีสเปรย์ทับด้วยข้อความและศิลปะกราฟฟิตี้ 

กิจกรรมหลักของวันนี้คือ การพับจรวดร่อนจดหมายข้ามรั้ววังยังไม่ทันเกิดขึ้น จนกระทั่งเวลา 18.45 น. ตู้คอนเทนเนอร์ตู้แรกก็ถูกมวลชนโค่นลงมา

19.05 น. ทันทีที่กำแพงตู้คอนเทนเนอร์ถูกทลายลง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนผู้ชุมนุมห้ามรุกล้ำและขู่ว่าจะจับกุม จากนั้นมีเสียงดังคล้ายระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้งจากฝั่งเจ้าหน้าที่ มีกลุ่มควันพวยพุ่งและกลิ่นคละคลุ้งคล้ายสารเคมี รวมทั้งมีการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ ขณะที่ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการตะโกน “I here too” “ปล่อยเพื่อนเรา”

19.20 น. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสารเคมีที่อาจปะปนอยู่ในละอองน้ำที่เจ้าหน้าที่ฉีด

19.30 น. บริเวณถนนราชดำเนินใน หน้าศาลฎีกา เจ้าหน้าที่บุกเข้ามาจากแนวกั้นของตู้คอนเทนเนอร์ เตรียมเข้าประชิดและกวาดจับผู้ชุมนุม มีเสียงดังคล้ายระเบิดเกิดขึ้นเป็นระยะ มีกลุ่มควันและกลิ่นแก๊สน้ำตาฟุ้งกระจาย ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยร่นออกจากสนามหลวงมุ่งไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า 

19.45 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแถวบริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วยโล่และกระบอง รอคำสั่งเข้าปราบปรามประชาชน 

19.50 น. รถขยายเสียงของผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมและขอให้ทยอยเดินทางกลับบ้านไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า และให้ระมัดระวังกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่อาจซุ่มอยู่บริเวณหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนยังปักหลักประจัญหน้ากับเจ้าหน้าที่ 

20.05 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเริ่มกระชับพื้นที่ มีคำสั่งให้ใช้กระสุนยาง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายได้ ฝ่ายผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการขว้างปะทัดและขวดน้ำสวนกลับ 

21.30 น. เกิดการปะทะบริเวณแยกคอกวัว ตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ ผู้ชุมนุมบางคนยิงหนังสติ๊กตอบโต้ ปาขวดเบียร์สู้ ส่วนที่เหลือตั้งแนวกั้นรับมือเจ้าหน้าที่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานการณ์ตึงเครียด เจ้าหน้าที่เข้ากดดันอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ชุมนุมราว 5 คน ถูกจับกุมไว้ในรถควบคุมผู้ต้องขัง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

Photographer

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า