ถ้อยคำของคนตาย ‘คงสิทธิ์ กลีบบัว’ พูดอะไรในคลิตี้

29 ธันวาคม 2563 เกิดเหตุยิงกันที่หมู่บ้านคลิตี้บน ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เสียชีวิตคือ ‘คงสิทธิ์ กลีบบัว’ ชาวบ้านคลิตี้บน และเป็นลูกชายเจ้าของบริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ กระทั่งนำมาสู่การต่อสู้เรียกร้องให้มีการชดเชยและฟื้นฟูธรรมชาติมากว่า 20 ปี อย่างไรก็ดี เมื่อครั้งมีชีวิต คงสิทธิ์ ยืนยันว่า ตนเองเติบโตมาในครอบครัวฝั่งแม่ ไม่ได้มีส่วนได้เสียใดๆ กับบริษัทของผู้เป็นพ่อ เขาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษเฉกเช่นชาวบ้านคนอื่นๆ และที่ผ่านมาเขามักวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่อ้อมค้อมต่อกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ว่า ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป

แม้จะเป็นพื้นที่ที่คาราคาซังกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน แต่เสียงปืนนัดนั้น พันตำรวจเอก บุญส่งวิทย์ ห้องแซง ผู้กำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews.agency เชื่อว่ามีมูลเหตุจากการทะเลาะเบาะแว้ง โดยเขาเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นายคงสิทธิ์มีปากเสียงกับผู้ใหญ่บ้านคลิตี้บน หลังจากนั้นนายนครินทร์ ตันติวาณิช บุตรชายผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ลงมือแล้วหลบหนี

คลิตี้ล่าง

ย้อนกลับไปราวปี 2518 ชาวบ้านสังเกตพบโรงแต่งแร่ บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่ นั่นจึงนำมาสู่การฟ้องศาล ต่อสู้คดี กระทั่งได้รับชัยชนะ โดยวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้บริษัท และผู้บริหาร ในฐานะผู้ก่อมลพิษ จ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ 8 คน จำนวนเงิน 20,200,000 บาท และให้ฟื้นฟูลำห้วยจนกว่าจะสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานราชการ และ 11 กันยายน 2560 ศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาคดีแพ่งคดีที่ 2 ให้บริษัทตะกั่วฯ และผู้บริหารจ่ายค่าชดเชยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพให้กับชาวบ้านอีก 151 คน ด้วยเงิน 36,050,000 บาท พร้อมกับย้ำว่าให้ฟื้นฟูลำห้วยจนกว่าจะสามารถกลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น 30 สิงหาคม 2560 กรมควบคุมมลพิษ และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ตกลงทำสัญญาจ้างโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยวงเงิน 454 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน กระบวนการเริ่มนับหนึ่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 กับโจทย์หินคือการก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย ก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม ขุดลอกลำห้วยคลิตี้ และฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม

คงสิทธิ์ กลีบบัว พูดเมื่อครั้งกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบกรณีการร้องเรียนปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เขาเห็นด้วยที่ต้องมีการฟื้นฟู แต่ไม่ใช่แบบนี้ แบบที่กำลังเป็นอยู่

“ช่วงที่ศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษเข้ามาฟื้นฟูลำห้วย ผมเห็นด้วยว่ายังไงหมู่บ้านคลิตี้ก็ต้องฟื้นฟู แต่วิธีการดำเนินการนั้นมันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูไม่น่าจะสูงขนาดนี้”

ความเห็นนี้มีที่มาที่ไป หลังกระบวนการฟื้นฟูเริ่มต้น ราวเดือนเมษายน 2563 ชุมชนคลิตี้ร่วมกับ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมจัดทำโครงการระดมทุนติดตั้งตั้งเซ็นเซอร์เฝ้าระวังการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วทั่วท้องน้ำควบคู่ไปกับการฟื้นฟู ซึ่งพบว่าระหว่างการดูดตะกอนนั้นเกิดความขุ่นจากการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วในลำห้วยจนเกินค่ามาตรฐาน นำมาสู่การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ใต่สวนตรวจสอบการฟื้นฟูดังกล่าว พร้อมขอให้หยุดการฟื้นฟูไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีมาตรฐานป้องกันที่เหมาะสมทั้งต่อคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม

คงสิทธิ์ กลีบบัว (ขวาสุด) ในวันที่กรรมาธิการฯ ลงพื้นที่เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563

“ผมมองว่าการฟื้นฟูครั้งนี้ไม่คุ้มค่า จากเนื้องานที่เห็น มีการขุดบ่อฝังกลบจำนวน 20 กว่าไร่ ซึ่งตอนนี้ บ่อมีพื้นที่เหลือว่างเยอะมาก ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็บ่อเก็บตะกั่วเก่าที่มีการฝังกลบไปแล้ว เดิมเราคิดว่า น่าจะเอาไปทำเป็นอย่างอื่นมากกว่า เอาไปทำเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านมากกว่า เพราะพอเขาฝังกลบเสร็จ ก็ปักเสา ขึงลวดหนามล้อม แล้วปักป้ายเขตอันตราย หนึ่ง คือเสียพื้นที่ สอง งบประมาณเกือบห้าร้อยล้าน เขาสามารถทำได้ดีกว่านี้ ทำเป็นลานกิจกรรม สนามหญ้า สนามเด็กเล่นก็ได้” คงสิทธิ์ พูดเมื่อครั้งกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่

ในวันเดียวกันนั้น สมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ทั้งเล่าถึงความคืบหน้าและยอมรับถึงความล้าช้าของการดำเนินงานไว้ว่า

“ตอนนี้งานหลักคือเอาตะกอนจากลำห้วยขึ้นมา ตอนนี้เอาขึ้นมามาได้ประมาณ 6,000 ตันทั้งคลิตี้บนและล่าง ยังห่างจากเป้าหมาย 40,000 ตันอยู่เยอะเหมือนกัน ตอนนี้บริษัทเบตเตอร์ฯ ขอเวลาเราอีกสองถึงสามเดือน เราคิดว่ามันนานไป เราต้องเร่งรัดให้ดำเนินการให้เร็ว

“เมื่อเราเร่งรัด ทำให้คนเข้ามาเยอะขึ้น มีการทำงานถี่ขึ้น ผลกระทบที่จะเกิดกับชาวบ้านก็อาจจะมากขึ้น เราต้องดูให้เหมาะสมต่อไป”

สมชาย ทรงประกอบ
สมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

กรอบเวลา  1,000 วัน สำหรับการฟื้นฟูในระยะแรก (Phase 1) ถูกขยายไปอีก 82 วัน ด้วยเหตุผลของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามกำหนด กำหนดจบงานระยะแรกถูกยืดออกมาจบวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กระทั่งขณะนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในระยะที่สอง (Phase 2) ด้วยงบประมาณอีก 217 ล้านบาท และเช่นเคย คงสิทธิ์ ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงหลักการฟื้นฟู

“ผมไม่รู้ว่าการฟื้นฟูมันจะคุ้มค่าไหม เพราะ Phase 1 ที่ผ่านมา งบประมาณ 454 ล้านบาท ยังไม่เห็นผลลัพธ์อะไรเลย นี่จะมาต่อ Phase 2 อีก ผมยินดีให้มีการฟื้นฟู​ แต่วิธีการฟื้นฟูนั้น ขอให้เป็นไปอย่างถูกหลักวิชาการที่ควรจะเป็น”

ไม่เพียงวิธีการดูดตะกอนเท่านั้นที่คงสิทธิ์มองไม่เห็นแง่บวก แต่กระบวนการอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ เขาเองก็อึดอัดเหลือทน

“ชาวบ้านที่นี่บางส่วนมีความรู้ไม่มาก อุปสรรคอีกอย่างคือภาษา เขาพูดภาษาท้องถิ่น พูดภาษาไทยไม่ชัดเจน และไม่กล้าพูด

“ซึ่งหากพูดถึงการทำงานของบริษัทผู้รับเหมาฟื้นฟู เราถือว่าการประชาสัมพันธ์การทำงานของเขาให้ชาวบ้านรับรู้นั้นน้อยมาก แบบแผนการทำงานตามสัญญา TOR ของเขาก็ไม่ชัดเจน หมายความว่า ทุกครั้งที่มีการประชุมไตรภาคี บางทีชาวบ้านก็ไม่รู้แม้กระทั่งว่าประชุมวันไหน จะมารู้อย่างกระชั้นชิด วันสองวัน มันทำให้พวกเราเบื่อหน่าย เหนื่อยที่จะตาม

“มีบางครั้งที่ชาวบ้านบางท่านทักท้วง เหตุผลดีมาก แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เบื่อหน่ายที่จะเข้าร่วม เพราะเขาไม่ได้รับข้อมูล ไม่รู้วันเวลาประชุมบ้าง ถูกสกัดบ้าง หรือบางทีเขาอยากพูด แต่ที่ประชุมไม่อนุญาตให้เขาพูด ผมเคยเถียงกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษท่านก่อนที่เกษียณไปแล้ว ผมมาประชุม ยกมือขอพูด แกบอกว่า ‘คุณยังไม่ต้องพูด คุณเป็นใคร’ ผมแปลกใจนะครับ ผมแย้งไปว่า ถ้านี่เรียกว่าการประชุม หมายความว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดได้ แต่นี่คุณเล่นพูดเอง ตอบเอง มันไม่ใช่ ทุกคนต้องพูดได้ ไม่ใช่คุณมาจำกัดว่าใครพูดได้ ใครห้ามพูด อย่างนั้นคงไม่ใช่การประชุม

“ทำให้การประชุมที่ทุกคนควรได้แสดงความเห็น กลายเป็นการที่หน่วยงานและบริษัทมาบอกแค่ว่า ที่ผ่านมาเขาดำเนินการอะไรไปบ้าง ตรงนี้ทำอะไร ตรงนี้ทำอะไร เหมือนพรีเซนต์งาน แต่ระยะเวลาที่ให้ชาวบ้านแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นนั้น น้อยมากครับ น้อยมาก”

แม้คงสิทธิ์ กลีบบัว จะถูกตัดออกจากกองมรดก และไม่มีส่วนร่วมกับบริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่ The Active โดย ThaiPBS เคยตั้งคำถามต่อการเป็นสมาชิกครอบครัวของบริษัทที่ก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม กระทั่งกลายเป็นการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน และนับเป็นคดีสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย คงสิทธิ์ บอกว่า เขายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าที่ผ่านมาบริษัทให้ความช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านมาโดยตลอด รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมไตรภาคีเพื่อติดตามโครงการฯ นายคงสิทธิ์ พูดเรื่องที่ดินทำกิน มาตรการฟื้นฟู ที่อาจทำให้สารตะกั่วฟุ้งในลำห้วย รวมทั้งการที่ชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคาม ซึ่งถ้อยคำของคงสิทธิ์ สร้างความไม่พอใจให้กับกรรมการหลายคน

อ้างอิง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า