‘ไม่เลือกงานก็ยากจนอยู่ดี’ เอาชนะอำนาจอันล้นเหลือของแอพพลิเคชั่น ด้วยการสร้างอำนาจต่อรองของไรเดอร์

วันนี้ เรย์-อนุกูล ราชกุณา คือไรเดอร์จากแอพพลิเคชั่นแห่งหนึ่ง ควบคู่กับตำแหน่งเลขาธิการสหภาพไรเดอร์ และเป็นแอดมินเพจ ‘สหภาพไรเดอร์ – Freedom Union Rider’ ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 30,000 คน 

แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้าสัก 4 ปี เขาคือมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่รับสารพัดงาน ตั้งแต่จัดบูธสินค้า ช่างซ่อมรถยนต์ในอู่รถยุโรป ข้องแวะเกี่ยวข้องกับคนขายแรงทั้งไทย ลาว เมียนมา รับรู้ปัญหาของการกดขี่ผ่านการจ้างงานเป็นทุนเดิม และมากขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจทิ้งยูนิฟอร์มช่างซ่อมรถยนต์มาสวมชุดไรเดอร์บนอานมอเตอร์ไซค์

น้ำผึ้งพระจันทร์อันแสนสั้น

“4 ปีที่แล้ว ผมเห็นแพลตฟอร์มเจ้านึงประกาศรับสมัครไรเดอร์ แล้วเพื่อนก็พูดว่า ‘มันดีนะเว้ย ค่าตอบแทนโอเค กูทำงานเที่ยงกลับเข้าบ้านตอนเย็น ได้มาแล้วพันนึง’ เฮ้ย มันน่าสนใจเลยไปสมัครดู

“ช่วงแรกแฮปปี้มาก เขาไม่เอาเปรียบเรา กฎระเบียบมีไม่เยอะ ‘ค่ารอบ’ สมน้ำสมเนื้อ เราเริ่มสนุกในอาชีพนี้ ไรเดอร์ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เรากดงานไม่ค่อยได้ ไรเดอร์รุ่นพี่เขาก็มาสอนว่าต้องย่อหน้าจอแบบนี้นะ กดแบบนี้นะถึงจะได้งาน

“พอวันนึงเราก็เริ่มเอะใจ เมื่อบริษัทเรียกเก็บเงินจากไรเดอร์คนละ 200 บาท โดยอ้างว่าใช้เป็นหลักประกันหากคนขับทำสินค้าเสียหาย ซึ่งกฎข้อนี้มันไปขัดแย้งกับกฎที่ว่า เมื่อไรเดอร์ทำสินค้าเสียหาย ไรเดอร์ต้องชดใช้ค่าสินค้าเต็มจำนวน … อ้าว แล้วคุณเก็บ 200 บาทไปทำไม”

ความไม่โปร่งใสในการเรียกเก็บเงินเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อรวมกับการใช้อำนาจของบริษัทเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับโดยไรเดอร์ไม่ได้รับรู้รับทราบ กลายเป็นแรงผลักที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นปากเสียงของเพื่อนไรเดอร์

อนุกูลเริ่มติดต่อไปยังเพื่อนพ้องเครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นแรงงาน อาทิ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labour Institute: JELI) และ American Solidarity Center ซึ่งเป็นองค์กรทำงานวิจัยและสนับสนุนคนงานให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อร่วมกันคิดและหาแนวทางเรียกร้องสิทธิของไรเดอร์

“ถ้ามีคนขับสัก 100,000 คน เก็บคนละ 200 บาท เท่ากับ 20,000,000 ล้านเลยนะ นี่คือชนวนความไม่พอใจ

“ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่า ต้องทำอะไรสักอย่างที่จะเป็นปากเสียงให้ไรเดอร์ เพราะพวกเขาโดนเอาเปรียบเยอะมาก ทีนี้ก็เลยเปิดแฟนเพจสหภาพไรเดอร์”

‘สหภาพไรเดอร์’ ไรเดอร์ทั้งผองคือพี่น้องกัน

แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากเงิน 200 บาท และมีข้อเรียกร้องไปยังบริษัทแพลตฟอร์มเพียงเจ้าเดียว แต่ด้วยความไม่เป็นธรรมนี้คือปัญหาร่วม วันหนึ่ง ‘สหภาพไรเดอร์’ จึงไม่ได้เป็นพื้นที่สื่อสารของไรเดอร์เพียงค่ายใดค่ายหนึ่งอีกต่อไป

“ไปๆ มาๆ พวกเราเริ่มเห็นว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้มันมีรูปแบบเหมือนกันทุกบริษัท เป้าหมายเราจึงเริ่มใหญ่ขึ้น จากการเรียกร้องแค่แอพพลิเคชั่นเดียว กลายเป็น ‘สหภาพไรเดอร์’ เพื่อการเรียกร้องเพื่อไรเดอร์ทุกแอพพลิเคชั่น

“ปัญหาร่วมกันของไรเดอร์ เช่น ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งมีนะ แต่มันไปผูกกับจำนวนงาน หมายความว่าผมต้องวิ่งให้ได้ 350 งานถึงจะมีประกันอุบัติเหตุให้ ฮัลโหล? (ลากเสียง) ผมต้องเสี่ยงวิ่งรถ 350 งานกว่าจะได้ประกันอุบัติเหตุมาคุ้มกะลาหัว ต้องเสี่ยงก่อนถึงจะได้การคุ้มครอง สมมุติผมวิ่งได้ 349 งาน แล้วดันไปประสบอุบัติเหตุ ผมไม่มีประกันนะ ทุกแพลตฟอร์มเป็นแบบนี้หมดเลย เราไปเสี่ยงชีวิตกับสิบล้อ เสี่ยงรถเมล์เหยียบ หารายได้เข้าบริษัท กลับไม่ถูกดูแลเลย แล้วรู้ไหมว่าเจ้าของบริษัทแพลตฟอร์มแห่งหนึ่งได้รางวัลนักสิทธิมนุษยชนด้วยนะ”

แฟนเพจไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สื่อสารเท่านั้น แต่มันกลายเป็นพื้นที่รวบรวมปัญหา ซึ่งเขาพบว่ามันมีมากและขยายวงไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นแล้ว

“ไรเดอร์เกือบทุกแอพพลิเคชั่นโดนลดค่ารอบหมด ทุกคนต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับค่ารอบที่ลดลงตลอด และไม่มีทางที่จะเพิ่มขึ้น

“กฎระเบียบก็เอาเปรียบ เช่น สมมุติเรากดได้งานส่งเค้ก ตัวเลือกที่เรามีคือ หนึ่ง ยอมวิ่งแล้วเค้กเละ ก็ควักเงินจ่ายตังค์ค่าเสียหายให้ลูกค้าไป กับ สอง ยกเลิกงาน แล้วยอมอดวันนั้น เพราะกฎที่เขาตั้งขึ้นคือ หากยกเลิกออร์เดอร์จะถูกระงับสัญญาณ 24 ชั่วโมง ไรเดอร์มีสองตัวเลือกในชีวิตเท่านั้น

“บังคับแม้กระทั่งเงินในกระเป๋าไรเดอร์ เช่นผมจะเติมเงินเข้ากระเป๋าเครดิตในแอพฯ ผมเอาเงินสดจ่ายให้พ่อแม่ แล้วให้เขาเติมเข้ากระเป๋าเครดิตให้หน่อย แต่บริษัทกลับออกกฎว่า ใครให้คนอื่นเติมเงินให้ แบนเลย แบนถาวรด้วย งงไหม ผมงงนะ นั่นมันเงินเรา จะให้ใครเติมเงินให้ มันเงินผมถูกไหม แต่คุณกลับมีสิทธิจัดการเงินผมทุกอย่าง

“ไม่นานมานี้ แอพฯ นึงประกาศว่า ไรเดอร์ทั่วประเทศของเขามีประมาณ 60,000 คน ผมถามหน่อยว่า หาก 1 วัน มีประมาณ 10,000 งาน แต่บริษัทกลับกำหนดการวิ่งรอบผูกกับประกันอุบัติเหตุ ถามหน่อยว่าจะมีใครทำได้ไหม เพราะตอนนี้จำนวนไรเดอร์มันมากกว่าจำนวนงาน เขาตั้งเงื่อนไขเพื่อให้เราทำตามไม่ได้ มันคือมายาคติที่เอาไว้ครอบไรเดอร์ เอาจริงๆ นะ ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นยุคทาสอีกแล้ว นึกว่ามันไม่มีแล้ว แต่กลายเป็นว่าต้องมาเจอยุคทาส 2021

“ไรเดอร์บางคนบอกว่า ‘เฮ้ย กูวิ่งวันนึงได้ 1,500-2,000 บาทเลยนะ’ แต่พอถามว่า คุณทำงานตั้งแต่กี่โมง เขาบอกว่า ‘หกโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม’… (เงียบ) คุณพอใจจริงๆ เหรอกับเงินจำนวนนี้ แลกกับการต้องเสี่ยงตายบนถนนทั้งวัน ไม่มีเวลาให้ลูก ให้ครอบครัว หรือเวลาพักผ่อนของตัวเอง สิ่งที่ผมอยากสื่อก็คือ นี่มันไม่แฟร์นะ 

“การจะเป็นไรเดอร์ เรามีต้นทุนที่ต้องแบก เริ่มแรกเลยคือ ค่าเปิดไอดี 400 บาท ค่ากล่อง 1,600 ใช้ไม่ถึงปีก็ขาด แถมแพลตฟอร์มก็ชอบพูดว่า ‘ถ้าคุณไม่ซื้อกล่อง คุณก็จะไม่เห็นงานนะ’ ไหนจะต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าสึกหรอของรถ ค่าข้าว ค่าน้ำ ค่าน้ำมันรถ ที่สำคัญคือค่าความเสี่ยงในชีวิต ที่เราต้องวิ่งรถบนท้องถนน ยิ่งเขากดค่าแรงต่ำเท่าไหร่ เราก็ต้องอยู่บนท้องถนนนานขึ้น ความเสี่ยงก็ทวีคูณไปเรื่อยๆ”

ข้อเรียกร้อง 3 ประการ

“ตอนที่เราประท้วงครั้งแรกเรื่องการลดค่ารอบ สิ่งที่เราสื่อสารคือ ค่ารอบที่ถูกลด หมายถึงการที่บริษัทลดคุณค่าของครอบครัวไรเดอร์ด้วยนะ เพราะเวลาเหล่านี้มันหายไปเลย แต่ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกมาโดยตลอดว่าปัญหาค่ารอบ ค่าประกัน กฎระเบียบ การเอาเปรียบต่างๆ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ อำนาจที่บริษัทแพลตฟอร์มมีอย่างท่วมท้น

“สมมุตินะ ถ้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วข่าวออกว่า ศาลตัดสินให้ ไรเดอร์มีสถานะลูกจ้าง แพลตฟอร์มเจ๊งเลยนะ เพราะจำนวนไรเดอร์เยอะมาก จากเดิมที่บริษัทรับไรเดอร์อย่างไม่จำกัดเพราะเขาไม่มีต้นทุนที่ต้องดูแลไรเดอร์แม้แต่น้อย กลายเป็นว่าเขาต้องจ่ายค่าโอที สวัสดิการ ประกันชีวิต ฯลฯ

“ในมุมมองส่วนตัวของผม ยังไงเราก็ต้องสู้จนได้สถานะลูกจ้างตามกฎหมายให้ได้ เพราะตอนนี้บริษัทพยายามจะหลบเลี่ยงไม่ให้เราได้สถานะลูกจ้าง ขณะเดียวกัน ไรเดอร์จำนวนหนึ่งอาจยังไม่รู้ว่าการได้สถานะลูกจ้าง แปลว่าเขาจะมีสิทธิหรือสวัสดิการอะไรบ้าง หลายคนติดภาพว่า ลูกจ้างต้องตอกบัตร ต้องเข้าออกงานตามเวลาเป๊ะ แต่ผมมองว่า ภาพติดตาเหล่านั้นมันคือกฎกติกาของบริษัทนั้นๆ ว่าเขาจะออกแบบยังไง

“ผมขอยกตัวอย่างแอพพลิเคชั่นหนึ่ง เขาบังคับไรเดอร์เป็น ‘กะ’ เลยนะ เหมือนงานประจำเลย ไรเดอร์ต้องเลือกงานกะเช้า กะเที่ยง ชัดเจน นี่ไม่ต่างอะไรกับลูกจ้างเลยนะ”

ปัญหาที่เกิดขึ้นนำมาสู่การกำหนดข้อเรียกร้อง 3 ประการ 

หนึ่ง ควรมีราคาค่ารอบที่เป็นธรรม 

สอง เมื่อเริ่มส่งของครั้งแรก ต้องมีประกันภัยคุ้มครองไรเดอร์ทันที 

และ สาม ต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งฝั่งไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์ม

“ตอนนี้เรากำลังถูกบริษัทแพลตฟอร์มโฆษณาชวนเชื่อด้วยคำพูดว่า ‘ไม่เลือกงานไม่ยากจน’ โดยไม่ตั้งคำถามกลับว่า หากค่าแรงไม่สมเหตุสมผล จะมีกินไหมล่ะ หรือคำพูดว่า ‘วิ่งเยอะได้เยอะ เหนื่อยก็พัก’ แต่อย่างปัตตานีได้ค่ารอบ 17 บาท ฮัลโหล… เขาจะเอาเวลาไหนไปพักถ้าค่ารอบแค่นี้

“เมื่อแพลตฟอร์มมีอำนาจเต็มในการบังคับไรเดอร์ คุณคือนายจ้างนะ แต่กระทรวงแรงงานก็ยังตีความว่าเราคือ ‘อาชีพอิสระ จ้างทำของรายชิ้น’ บริษัทจึงไม่ต้องรับผิดชอบไรเดอร์ในฐานะลูกจ้าง ส่วนสวัสดิการก็มักจะมาในรูปแบบของน้ำใจ

“เราไม่ได้ต้องการน้ำใจ หรือ ‘incentive (เงินจูงใจ)’ ของบริษัท ที่ไม่ต่างอะไรกับตั๋วไปพบยมบาล เพราะบริษัทเอา incentive มาล่อ ทำให้ไรเดอร์ต้องเร่งทำรอบ รีบวิ่งรถ นั่นยิ่งทำให้เราเสี่ยงกับอุบัติเหตุมากขึ้น เราไม่ต้องการแบบนั้น เราต้องการมาตรฐานที่ทำให้เรามั่นใจว่า เราจะไม่ถูกเอาเปรียบ”

โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY

สนับสนุนโดย

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า