กำหนดสถานะไรเดอร์ เพื่อออกจากวังวนปัญหา

1

ข้อเสนอจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ คือ 1) กำหนดสถานะของไรเดอร์ให้ชัดเจน 2) ปรับปรุงแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอภัยของคนทำงาน 3) กำหนดขอบเขตและการใช้อำนาจของแพลตฟอร์ม 4) ไรเดอร์ต้องมีสิทธิการรวมกลุ่มและเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง และ 5) จัดเก็บสถิติเพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการออกแบบนโยบาย

ข้อเสนอทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นสำคัญคือ “การกำหนดสถานะของไรเดอร์” ประเด็นคือในประเทศไทยนั้น การตีความว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มหรือไม่ยังอยู่ในขั้นของการถกเถียง

2

ศุภวิช สิริกาญจน นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน มองว่า การพิจารณาว่าไรเดอร์เป็นแรงงานกลุ่มใดต้องดูที่สัญญาจ้าง หากเป็นเมื่อก่อนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มคำว่า ‘ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน’ จึงไม่สามารถเอา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.เงินทดแทน ตลอดจนกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้ได้ ทว่าสัญญาจ้างในระยะหลังกลับเปลี่ยนไป

ศุภวิชบอกว่า สัญญาของแพลตฟอร์มในระยะหลังนั้น ‘มีอำนาจในการบังคับบัญชาไรเดอร์’ อย่างชัดเจน มีบทลงโทษ มีลักษณะบังคับ มีระบบประเมิน ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อค่าตอบแทนโดยตรง

แต่สำหรับ พรสุดา เจียมพัฒนาตระกูล นิติกรปฏิบัติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เห็นว่า ไรเดอร์มี 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อย คือกลุ่มที่มีเวลาทำงานแน่นอนในลักษณะงานประจำ กับกลุ่มที่ทำงานเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือพาร์ทไทม์ ซึ่งในมุมทางนิติสัมพันธ์นั้นทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่เหมือนกัน

“เมื่อพิจารณาข้อสัญญาที่อาจมีแนวโน้มลงโทษลูกจ้างได้ มีการระงับการให้บริการ ถ้าสมมุติไรเดอร์ทำผิด บริษัทแพลตฟอร์มอาจบล็อกสัญญาณไรเดอร์ชั่วคราวได้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำงาน และอำนาจบังคับบัญชา ก็อาจจะมองได้ว่ากรณีนี้อาจจะเป็นการจ้างแรงงาน

“แต่ถ้าทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือหลังเลิกงาน 17.00-20.00 น. ถึงแม้จะมีลักษณะงานที่คล้ายกัน แต่การบอกว่าคนกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นลูกจ้าง คงจะไม่ใช่ เพราะยังมีความเป็นอิสระประมาณหนึ่ง อาจเป็นการ ‘จ้างทำของ’ (Gig Economy) มากกว่า”

การเป็นหรือไม่เป็นลูกจ้างมีนัยสำคัญเช่นนี้ หาก “เป็นลูกจ้าง” นั่นหมายความว่าไรเดอร์จะมีสิทธิ สวัสดิการ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน แต่หาก “ไม่เป็นลูกจ้าง” สิทธิข้างต้นก็จะไม่มี

3

สำหรับในประเทศไทย ข้อถกเถียงข้างต้นอาจจะอยู่ในระยะแค่เริ่ม แต่หากสำรวจตรวจสอบประเทศอื่นๆ จะพบว่า ข้อสงสัยเหล่านี้คลี่คลายไปแล้ว

กรณีที่อังกฤษ ศาลแรงงานพิพากษาให้คนขับรถอูเบอร์เป็นคนงานของแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับศาลแขวงอัมสเตอร์ดัมที่ตัดสินว่าคนขับรถอูเบอร์เป็นลูกจ้างของอูเบอร์ และต้องได้รับสิทธิ สวัสดิการ ตลอดจนความคุ้มครองตามกฎหมายกำหนด

กรณีของสเปนก็เช่นกัน แต่ไม่ได้จบแค่การพิพากษาของศาลเท่านั้น สเปนยังผลักดันถึงขั้นที่มีการออกกฎหมายไรเดอร์มาบังคับใช้ โดยมีการระบุอย่างชัดเจนว่า ไรเดอร์ต้องเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม และแพลตฟอร์มต้องส่งข้อมูลอัลกอริทึม และ AI ที่ใช้คำนวณมาให้คณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสว่าไรเดอร์กำลังทำงานภายใต้เงื่อนไขแบบใด

ผลของกฎหมายฉบับดังกล่าวจะทำให้ไรเดอร์ 16,794 คนในสเปนกลายเป็นลูกจ้างที่มีเงินเดือน และสร้างรายได้ให้สเปนถึง 29 ล้านยูโร

โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY

สนับสนุนโดย

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า