ไรเดอร์แม่เลี้ยงเดี่ยว เรื่องที่ไม่ได้เล่าอย่างในโฆษณา

ภาพลักษณ์บนโฆษณาถูกฉาบสีเรื่องเล่าด้วยความแข็งแกร่ง สู้ชีวิต และมีอิสระในคราวเดียวกัน คุณแม่ไรเดอร์มักถูกนำเสนอแบบนั้น โดยเฉพาะในโมงยามที่วิกฤติโควิดซ้อนปัญหาเศรษฐกิจบีบให้ช่องทางหาเงินมีไม่มากนัก

บนอานมอเตอร์ไซค์ ลูกวัยกำลังน่ารักหันไปสบตาคุณแม่ในยูนิฟอร์มไรเดอร์ ต่างฝ่ายต่างเติมพลังซึ่งกันและกันผ่านสายตาท่าทาง แล้วเรื่องเล่าก็ถูกปูมาด้วยพล็อตสร้างแรงบันดาลใจ ทว่าด้วยเงื่อนไขที่ใกล้เคียงกัน มีอะไรอีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกเล่า อย่างน้อยก็ในมุมกลับของรอยยิ้มนั้น

ความลำพังของค่ำคืน

กุ๊กกิ๊ก-เบญจวรรณ พวงสถิตย์ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำงานไรเดอร์เป็นหลักมากว่า 3 ปี ก่อนระลอกคลื่นของโรคระบาดจะหนักหน่วง เธอชิงปิดกิจการร้านขายของแล้วเอาสินค้าไปอยู่บนตลาดออนไลน์ ส่วนอีกขาคือการก้าวขึ้นคร่อมมอเตอร์ไซค์ เป็นคุณแม่ไรเดอร์เกือบๆ จะตามพล็อตโฆษณาเป๊ะ แต่อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่า รายละเอียดอาจแตกต่างกันไม่มากก็น้อย

“ปรับตัวมาขายของในแฟนเพจและร้านค้าออนไลน์ แล้ววิ่งงานทั้งวัน จากแพลตฟอร์มส่งอาหารแล้วก็เปลี่ยนมาส่งเอกสาร ข้อดีของการวิ่งงานคือเราสามารถบริหารเวลาได้ เราสามารถนั่งตอบไลน์ลูกค้าหรือกดยืนยันคำสั่งซื้อในระบบที่เราขายออนไลน์ได้

“แต่เมื่อโควิดเริ่มมา คนก็แห่กันมาสมัครอาชีพไรเดอร์ ทำให้เราไม่ได้ยอดตามที่ต้องการ ต้องแย่งงานกันแล้วมีการปรับราคาลง มันไม่ไหวจริงๆ จากกิโลเมตรละ 10 บาทเหลือ 7 บาทแล้วหักอีก 15 เปอร์เซ็นต์ วิ่งให้ได้ 1,000 บาทก็แทบอ้วก มันเหนื่อย ไม่คุ้มเลย ตัวงานไม่เท่าไร แต่ที่รับไม่ได้คือเขากดขี่เราเกินไป

“ยิ่งงานวิ่งตอนกลางคืน บางทีคำพูดของลูกค้ามีการคุกคามเรา เหมือนเห็นเราเป็นผู้หญิง เป็นเพศที่บอบบางกว่า ด้วยอาจจะเมา แล้วมาจับต้องตัวเรา เพราะคิดว่าเราไม่ได้ถือสา กอด บีบ หรือดึงแขน มีหมด โดยใช้คำว่าเมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ พฤติกรรมแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าชาวต่างชาติ บางครั้งชวนเราไปนอนก็มี”

พล็อตไม่ได้เล่าเหมือนอย่างที่เราเคยเห็น และเหตุการณ์เช่นนี้เธอกด skip ไม่ได้เหมือนโฆษณาที่แทรกมาใน YouTube

“เราป้องกันตัวโดยการพกอาวุธ มันอาจเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับตำรวจ แต่ถึงเวลาตำรวจก็ช่วยอะไรเราไม่ได้อยู่ดี บางทีเข้าซอยเปลี่ยวซอยที่ไม่มีไฟเราก็ไม่รู้จะโดนฉุดโดนลากหรือเปล่า เราต้องมีมีดเอาไว้ที่กระเป๋า

“ลูกค้าเคยถามเราว่าวิ่งงานดึกๆ ไม่กลัวเหรอ แล้วพูดด้วยเสียงเย็นๆ เราก็ไม่รู้ว่ามีความหมายแฝงหรือเปล่า เราก็ตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไรค่ะพี่ ในกระเป๋ามีมีด ถ้าจะโดนลูกค้าจี้ก็คงไม่เป็นไร

เหตุการณ์แบบนี้นำไปสู่การพูดคุยของสหภาพไรเดอร์เกี่ยวกับการป้องกันการถูกคุกคามทางเพศกับไรเดอร์หญิงบ้างแล้ว แต่การแจ้งไปยังบริษัทแพลตฟอร์มนั้น เธอยังไม่เห็นคำตอบหรือทางออกต่อเรื่องนี้

“มีการสะท้อนเรื่องนี้ไปยังบริษัทแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเขาจัดการยังไง บางทีวิ่งงานดึกๆ เราจะโทรไปแจ้งเรื่องนี้แต่คอลเซ็นเตอร์เขาปิดแล้ว”

ชีวิตจริง VS โฆษณา

ถึงแม้โฆษณาจะฉายภาพเฉพาะแม่กับลูก แต่ชีวิตจริงของคุณแม่คนหนึ่งอาจต้องเป็นที่พึ่งพาของสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วยเช่นกัน กุ๊กกิ๊กเองเมื่อมีอาชีพเป็นไรเดอร์ที่กำลังอยู่ในขาขึ้น เธอจึงต้องวิ่งงานเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัว

“อาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพที่สวนทางกับอาชีพอื่นในสภาวะแบบนี้ คนอยู่บ้านก็สั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น ส่งเอกสารทางแมสเซนเจอร์มากขึ้น ไม่เหมือนกับอาชีพอื่นที่ต้องเปิดหน้าร้าน แต่ที่บ้านเราอย่างพ่อเคยเปิดอู่แล้วต้องปิด ภาระการหารายได้มันก็มาตกหนักที่เราแทน เงินที่วิ่งงานมันเพียงพอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ว่าเมื่อครอบครัวปิดกิจการก็เพิ่มค่าใช้จ่ายที่เราต้องส่งให้ที่บ้าน 

“เราคิดว่าไรเดอร์หญิงแม่เลี้ยงเดี่ยวทำงานคูณสอง บางคนอาจจะกลับบ้านแล้ว แต่ว่าเราไม่ได้กลับ ดึกๆ ประมาณเที่ยงคืนเราก็ต้องขับวน 6-7 รอบตอนลูกค้าเลิกจากผับบาร์ บางทีทำงานข้ามคืน บางคนอาจจะนอนแล้ว แต่เราต้องวิ่งทั้งสาย บ่าย เย็น”

สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อโฆษณา เธอมองว่าสิ่งที่นำเสนอยังมีส่วนที่ตรงกับความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่แน่นอนว่าหลายอย่างก็ไม่ใช่เสียทีเดียว การนำเสนอที่ไม่ตรงไปตรงมากับสภาพการทำงานในชีวิตจริงอาจส่งผลให้ลูกค้าเข้าใจการทำงานและความลำบากของไรเดอร์คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

“ในโฆษณาเขาเสนอเรื่องการทำงานแบบจัดการเวลาได้ใช่ไหม ไม่แน่ใจว่าเขาพูดถึงเรื่องรายได้หรือเปล่า ไรเดอร์บางคนที่มาวิ่งไม่นานเขาก็ยอมรับกับราคาที่แพลตฟอร์มให้เพราะไม่รู้ว่าควรได้รับมากกว่านี้ บางคนคิดว่าได้วันละ 300-500 ก็ดีแล้ว ดีกว่างานประจำวัน อาจเพราะความคาดหวังเรื่องรายได้ต่างกัน แต่คิดว่าที่โฆษณาเรื่องการประกันอุบัติเหตุที่ใช้ไม่ได้จริงๆ โฆษณาอย่างดีแต่พอโดนชนจริงก็บอกให้ใช้ประกันส่วนตัวจาก พ.ร.บ. รถฯ

 “ผู้บริโภคอาจจะช่วยได้ถ้าเข้าใจปัญหา แต่ตอนนี้ลูกค้าอาจยังไม่เข้าใจวิธีการทำงาน เช่น แพลตฟอร์มจ่ายออเดอร์ด้วยวิธีการ ‘ยิงงาน’ มาหาไรเดอร์ ทั้งร้านข้าวและร้านน้ำในเวลาเดียวกัน ปกติเราควรส่งสินค้าที่เป็นน้ำก่อน แต่ GPS กำหนดให้เราไปส่งข้าวก่อนส่งน้ำ พอน้ำไปถึงลูกค้าน้ำแข็งก็ละลายแล้ว เราไม่ได้เลือก แต่งานมันจ่ายมาให้เราเอง นั่นแหละคือจุดเล็กๆ ที่ผู้บริโภคก็ยังไม่รู้ เมื่อก่อนแอพฯ ก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่าเป็นงานซ้อน คนที่ถูกตำหนิคือไรเดอร์”

จากการเป็นไรเดอร์มากว่า 3 ปี โดยที่ไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าเธอจะทำอาชีพนี้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในเมื่อยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์ของสังคมโดยรวมจะดีขึ้น เธอจึงเลือกที่จะมีส่วนร่วมกับการเรียกร้องเพื่อความถูกต้องแทน

“เราไม่ได้คิดว่าเราจะทำงานไรเดอร์มานานถึง 3 ปี แต่ว่าตอนนี้เราเลือกอะไรไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิด เรายังไม่รู้เลยว่าเราต้องวิ่งงานไปถึงเมื่อไร เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราควรกลับบ้านไปทำอย่างอื่น แต่เรายังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ เพราะเรายังไม่เห็นจุดหมายเลยว่าเราจะหยุดวิ่งงานตอนไหน ผ่านมา 3 ปีแล้วยังไม่เห็นอะไรจะดีขึ้น

 “ที่มีส่วนร่วมกับสหภาพไรเดอร์ และปัจจุบันก็เป็นสมาชิกกลุ่ม Grab สันทนาการ เพราะวิ่งงานอยู่แล้วมีพี่ไรเดอร์คนหนึ่งเห็นว่าเราเป็นผู้หญิง เพราะในยุคแรกๆ ไม่ค่อยมีผู้หญิงเป็นไรเดอร์กัน และเราก็เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วย เราก็เข้าไปมีส่วนร่วมหลายอย่าง หลายประเด็นที่เขาทำมานานแล้ว เช่น การกดขี่ค่ารอบพนักงาน ทุกวันนี้บริษัทก็ยังไม่ยอมตอบสนองข้อเรียกร้อง เหมือนรับฟังไปอย่างนั้น 

“สหภาพไรเดอร์เองก็เริ่มมีการพูดถึงปัญหาการคุกคามทางเพศกับไรเดอร์หญิง แต่ยังขับเคลื่อนได้แค่ระยะเริ่มต้น ยังไม่เกิดความคืบหน้าจริงจังเท่าประเด็นอื่นๆ ซึ่งจากประสบการณ์ที่เราได้ยินได้ฟังมาอาชีพอย่างหมอนวด แม่บ้าน หรืออื่นๆ ที่เป็นเพศหญิงเป็นเพศมักถูกผู้ชายคุกคามทางเพศเยอะมาก แทบทุกคนเลยที่เคยประสบปัญหานี้”

 

ถ้ากฎหมายดี ชีวิตก็ดี

ไม่เพียงปัญหานี้ กุ๊กกิ๊กมองว่าบริษัทแพลตฟอร์มควรมีสวัสดิการและมาตรการปกป้องทั้งไรเดอร์หญิงและชาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีอุบัติเหตุ หรือการกำหนดค่ารอบขั้นต่ำเอาไว้ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

“ถ้ามีราคาที่เหมาะสม เปรียบเทียบแล้วไม่ได้เสี่ยงมาก การเป็นไรเดอร์ก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจ 

“ถ้ากฎหมายดี ทุกอย่างก็จะดีขึ้น เราจะมีเงินเก็บได้เร็วกว่าเดิม ได้เอาเงินจากที่วิ่งงานไปต่อยอดค้าขาย วันหนึ่งเราก็ต้องกลับไปดูแลลูกเต็มตัว เราไม่สามารถทำงานตรงนี้ได้นานหรอก ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้คนที่วิ่งงานต่อๆ ไป รู้สึกว่าไรเดอร์เป็นทางเลือกหนึ่งในอาชีพให้พวกเขา

“ที่ผ่านมามีคนพูดว่าเป็นไรเดอร์หญิงมันอันตรายนะ แต่เมื่อรายจ่ายเราเยอะ เราก็เลือกงานไม่ได้ แดดร้อน ฝนตก โทรศัพท์พังไม่รู้กี่เครื่อง โดนรถชนไม่รู้กี่ครั้ง เราก็ยังต้องวิ่งงาน ตอนนี้หลายคนเริ่มไม่ไหวแล้ว 

“บริษัทควรมองว่า หากไม่มีไรเดอร์ แอพฯ ก็ขับเคลื่อนไปไม่ได้ ถ้าไม่มีเราก็ไม่มีรายได้ อย่ามองว่ามีคนสมัครเป็นไรเดอร์เรื่อยๆ ก็เลยกดขี่เรา มันจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำของสังคม ถ้าบริษัทมีมาตรการที่ดีต่อไรเดอร์มันก็ส่งผลดีกลับไปยังบริษัทเอง นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรมีให้กันโดยไม่ต้องมีใครมาเรียกร้องด้วยซ้ำ”

โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY

สนับสนุนโดย

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า