หนีเสือปะจระเข้ เลิกทะเลาะกับหัวหน้างาน เพื่อมารบกับแพลตฟอร์ม

เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากนัก ทำให้ไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ว่ามีไรเดอร์ทำงานให้บริษัทแพลตฟอร์มกี่มากน้อย แต่จากคำพูดเมื่อปี 2019 ของ ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย ในรายงานของ Forbes Thailand ระบุว่า ช่วงเวลาดังกล่าว Lalamove มีไรเดอร์ถึง 80,000 คัน[1] และแถลงการณ์ของ Grab เมื่อปลายปี 2020 บอกว่ามีไรเดอร์นับแสนรายหารายได้ผ่านแพลตฟอร์มของตน[2] เช่นนั้นหากรวมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่อยู่ในสนามเดียวกันทั้ง Foodpanda, Gojek, LINE MAN และ Robinhood ย่อมอนุมานได้ว่ามีไรเดอร์ทั่วประเทศแตะครึ่งล้านคนเป็นอย่างน้อย คำถามสำคัญก็คืออะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้มีคนประกอบอาชีพบนท้องถนนมากขนาดนี้

ลำพังคำโฆษณาว่า ‘รายได้ดี’ และ ‘มีอิสระ’ ไม่น่าจะดึงดูดให้หลายคนเลือกเข้ามาทำงานแพลตฟอร์มจำนวนมากอย่างที่เห็น กระทั่งคนที่มีงานในระบบอยู่แล้วยังตัดสินใจลาออกเพื่อมาเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากไม่ใช่เพราะหวังว่า การเป็นไรเดอร์นั้นจะนำมาสู่ชีวิตที่ดีสมคำโฆษณา ก็อาจเป็นเพราะงานในระบบนั้นมีปัญหาหลายอย่างสะสมกระทั่งยากที่จะสะสาง

การจ้างงานในระบบ บีบคนให้ออกมาอยู่ข้างนอก

การพูดคุยผ่านงานวิจัยเรื่อง ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (New Forms of Platform Mediated Work for On-demand Food Delivery) พบว่าไรเดอร์ส่วนหนึ่งลาออกจากงานประจำมาขึ้นคร่อมมอเตอร์ไซค์เพราะมีรายได้สูงกว่างานเดิม แม้รู้ทั้งรู้ว่าการเป็นไรเดอร์นั้นมีรายได้ไม่มั่นคง แต่ข้อดีอื่นๆ ของแพลตฟอร์มนั้นสามารถชดเชยข้อด้อยของมันได้

ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างในอุตสาหกรรมขนส่งอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าจ้างไรเดอร์ซึ่งให้ข้อมูลช่วงการทำวิจัย (เมษายน-กันยายน 2019) นั้นสามารถทำรายได้ตั้งแต่ 15,000-40,000 บาทต่อเดือน ช่องว่างของค่าจ้างที่ขึ้นลงนั้นมีตัวแปรไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความขยัน

หลังวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 งานประจำถูกแทนที่ด้วยงานที่ไม่มั่นคงมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงทั่วโลก หน้าตาของงานไม่มั่นคงคือ มีสัญญาระยะสั้น เป็นจ้างเหมาช่วง เหมาค่าแรง เป็นต้น การจ้างงานเช่นนี้มีทั้งในภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งองค์กร NGOs 

ปี 2008 มีการประมาณกันว่าทั่วโลกมีการจ้างงานในลักษณะไม่มั่นคงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะในประเทศไทยตัวเลขดังกล่าวอาจน้อยลงแต่ก็ยังสูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ด้วยภาพรวมของการจ้างงานเป็นเช่นนี้ การกระโดดจากการจ้างงานที่ไม่มั่นคงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วของหลายต่อหลายคน มาสู่การทำงานแพลตฟอร์มจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตัดสินใจซับซ้อน

ยิ่งพิจารณาจากวัฒนธรรมเชิงอำนาจในที่ทำงาน ที่ผู้บังคับบัญชามักใช้อำนาจเกินขอบเขต มอบหมายงานที่ไม่สอดคล้องกับคนทำงาน พนักงานขาดการมีส่วนร่วม เบื่อหน่าย เครียด ไม่มีความสุข และไม่สามารถรวมกลุ่ม ต่อรอง หรือเจรจาใดๆ กับนายจ้าง

ปัญหาแรงงานในประเทศไทยนั้นหนักหน่วงกระทั่งองค์กรสหพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation: ITUC) จัดอันดับสถานการณ์การเคารพสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานในประเทศไทย ปี 2018 ให้อยู่ในระดับ 4 คือมีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ ต่อมาปี 2019[3] และปี 2020[4] ประเทศไทยถูกลดมาอยู่ระดับ 5 ซึ่งหมายถึงไม่มีหลักประกันสิทธิด้านแรงงานเลย 

ทั้งนี้ระดับที่เลวร้ายที่สุดตามเกณฑ์ของ ITUC คือ 5+ เป็นระดับที่ระบบนิติธรรมล่มสลาย ไม่มีกฎหมายใดๆ มารับประกันสิทธิพึงมีพึงได้ของแรงงาน 

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ใกล้จุดต่ำสุดของการจ้างงานนิดเดียวเท่านั้น

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่แปลกเลยที่คนทำงานในระบบจะกระโดดออกมาข้างนอก ปัญหาเล็กน้อยก็คือ ดอกกุหลาบที่โรยไว้ในเส้นทางของไรเดอร์นั้น ไม่แน่ใจนักว่ามีตะปูเรือใบปนอยู่กี่มากน้อย

เมื่อไรเดอร์มากกว่าออร์เดอร์

ความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์มในฐานะ ‘พาร์ทเนอร์’ หรือ ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการนิยามการจ้างงานลักษณะนี้เอาไว้แล้วโดย เนลสัน ลิคเทนสไตน์ (Nelson Lichtenstein) นักประวัติศาสตร์แรงงานชาวอเมริกัน พร้อมทั้งขยายความว่าองค์กรธุรกิจที่ดำเนินการจ้างงานเช่นนี้เป็นมักจ่ายค่าแรงต่ำ ไม่พัฒนาทักษะของคนงาน ไม่มีความมั่นคง โดยบริษัทได้ประโยชน์จากอัตราหมุนเวียนของกำลังแรงงานที่สูง

แน่นอนว่าสถานการณ์ของแรงงานแพลตฟอร์มนั้นไม่นิ่ง ในช่วงแรกของการมาเป็นไรเดอร์นั้นหลายคนพึงพอใจกับทั้ง ‘อิสระ’ และ ‘รายได้’ ฉะนั้นไม่ว่าจะจัดวางความสัมพันธ์ว่าเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ หรือแบบใดก็ตาม บวกลบคูณหารแล้วหลายคนยิ้มได้ และรอยยิ้มนั้นกว้างพอที่จะดึงไรเดอร์หน้าใหม่เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ และปัญหาเริ่มเกิดจากตรงนี้นี่เอง

การสมัครงานเป็นไรเดอร์นั้นต่างจากการสมัครงานในอาชีพอื่น ขั้นตอนที่ซับซ้อน และการเรียกร้องทักษะที่พึงมีกลับเหลือเพียง บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ เอกสาร พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ เอกสารจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ และสมุดบัญชีธนาคารเท่านั้น เมื่อสมัครแล้วประมาณ 3-4 วันจะมีการตอบกลับ เมื่อได้รับการยืนยันก็จะใช้เวลาอบรม 1-2 วัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบังคับ ระเบียบ และวิธีการใช้งานแอพพลิเคชั่น จบขั้นตอนเหล่านี้ก็สามารถออกไปทำงานได้เลย

ความง่ายเช่นนี้จึงนำมาสู่การมีไรเดอร์มากกว่าออร์เดอร์ กลายเป็นกำลังแรงงานส่วนเกิน (surplus labor) เบื้องหน้าคือผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย แต่เบื้องหลังของการรับออร์เดอร์นั้นทั้งใช้การช่วงชิงและชิงโชค

เมื่อมีออร์เดอร์จากปลายนิ้วของใครสักคน ระบบการกระจายงานของแพลตฟอร์มจะมีอย่างน้อย 2 รูปแบบ

แบบแรก แพลตฟอร์มจะมอบหมายงานให้กับไรเดอร์อย่างจำเพาะเจาะจงให้กับไรเดอร์ที่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หากไรเดอร์คนนั้นๆ ไม่กดรับงาน หรือรับงานไม่ทัน ออร์เดอร์ดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปให้ไรเดอร์คนอื่นๆ ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ไรเดอร์จะต้องกดปุ่มรับงานแม้ขณะระหว่างที่มอเตอร์ไซค์กำลังวิ่งอยู่

ไรเดอร์ที่ใช้แพลตฟอร์มกระจายรูปแบบนี้มักเกิดคำถามว่า การเลือกคนที่เหมาะสมนั้นพิจารณาจากอะไร มีหลักเกณฑ์แบบไหน และทำไมจึงไม่กำหนดเงื่อนไขให้กดรับออร์เดอร์ได้ขณะที่รถหยุดนิ่งแล้ว ซึ่งจะปลอดภัยมากกว่า

แบบที่สอง แพลตฟอร์มจะกระจายงานไปให้กลุ่มไรเดอร์ในพื้นที่จำนวนหนึ่งเพื่อแข่งกันกดปุ่มตอบรับงานแบบกดก่อนได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์จะสามารถกดรับงานได้ต่อเมื่อพาหนะหยุดนิ่งแล้วเท่านั้น

วิธีการกระจายงานเช่นนี้ หลายคนมองว่าทำให้ไรเดอร์ไม่สามารถประเมินระยะทางและระยะเวลาของการส่งอาหารว่าเหมาะกับตนหรือเปล่า กลายเป็นต้องแย่งชิงกดงานให้ได้ก่อนค่อยไปเผชิญปัญหาทีหลัง

การมีไรเดอร์มากกว่าออร์เดอร์ยิ่งปรากฏชัดขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ร้านอาหารจำนวนมากถูกปิด กระทั่งไรเดอร์ในต่างจังหวัดก็มีมากขึ้น ขณะที่ร้านอาหารไม่ได้มีมากตาม ออร์เดอร์ในแต่ละวันก็น้อยลงตามไป ยิ่งเมื่อเจอกับการลดค่ารอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในระยะหลังเรามักได้ยินว่า รายได้ที่เคยสูงในช่วงแรกเริ่มลดลงแทบจะครึ่งต่อครึ่ง

เจ้านายเอาแต่ใจในแพลตฟอร์ม

หนึ่งในตัวแปรของการทำงานในระบบที่บีบคนให้ออกมาทำงานนอกระบบคือผู้บังคับบัญชา สิ่งที่ไรเดอร์มองแพลตฟอร์มเมื่อตอนแรกพบคืออิสรภาพ และการทำงานที่ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง แต่จากการพูดคุยกับหลายคนกลับพบว่า พวกเขาเคยถูกลงโทษจากแพลตฟอร์ม และไม่รู้ว่าเหตุผลของโทษทัณฑ์นั้นคืออะไร

เช่นนั้นการบอกว่าไรเดอร์คืองานอิสระ ทุกคนได้เป็นเจ้านายของตัวเอง และไม่ขึ้นตรงกับใครก็ต้องถูกตั้งคำถามอีกครั้งว่าจริงหรือ

โดยหลักการแล้วแพลตฟอร์มจะเตือนไรเดอร์หากปฏิเสธงานเกินจำนวนที่กำหนด หรือได้รับการประเมินจากผู้บริโภคว่าบริการได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งการลงโทษนั้นจะมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ไรเดอร์ถูกลงโทษทั้งที่ไม่ได้ปฏิเสธงานเกินกำหนด บางคนถูกระงับทั้งที่ทำงานเกินค่าเฉลี่ย

จากการศึกษา ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ ไรเดอร์คนหนึ่งตอบกับนักวิจัยเช่นนี้

“ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะบล็อกเราเมื่อไหร่ การแบนไม่มีกฎตายตัว อาจจะเนื่องจากคุณวิ่งงานมากเกินไป ช่วงเย็นไม่รับงานบ่อยเกินไป มีการแบน 5 วัน หรืองานไม่เด้งมา 2 ชั่วโมง พอโทรถาม call center ก็ตอบได้ไม่ชัดเจน บอกเพียงว่าระบบถูกตั้งมาเช่นนี้ และตอบไม่ได้ว่าจะระงับจนถึงเมื่อไหร่”

หากเปรียบเทียบกับการทำงานในระบบ อย่างน้อยในสายพานการทำงานทั่วๆ ไป ต่อเมื่อมีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามา หัวหน้างานจะตรวจสอบกับพนักงานว่า มีใครว่าง หรือมีความสามารถทำงานนั้นๆ ได้บ้าง แต่สำหรับวิธีการทำงานของแพลตฟอร์ม การแจกงานดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสอบถามคนทำงานแต่อย่างใด กระบวนการเช่นนี้ ในแง่หนึ่งคือการตัดความขัดแย้งระหว่างคนทำงานได้ แต่อีกแง่ ก็ทำให้เกิดความอึดอัดใจ (frustration) เพราะไม่สามารถโต้แย้งหรือแสดงความเห็นได้เลย เมื่อปัญหาสะสม การระเบิดของความรู้สึกจึงถี่มากขึ้น

8 ธันวาคม 2020 ไรเดอร์กลุ่มใหญ่รวมตัวกันเพื่อประท้วงบริษัทแพลตฟอร์ม ต่อกรณีความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หนึ่งในประเด็นสำคัญคือวิธีการที่แอพพลิเคชั่นกระทำต่อมนุษย์[5]

“สมมุติผมวิ่งจริง 35 กิโลเมตร แต่แอพพลิเคชั่นขึ้นแค่ 25 กิโลเมตร เขาก็จ่ายเงินผมแค่ 25 กิโลเมตร แล้วอีก 10 กว่ากิโลเมตรผมวิ่งฟรีนะ เขาบอกระบบเขาเป็นแบบนั้น

“อย่างลูกค้าจุดที่หนึ่งอยู่สนามหลวง จุดที่สองอยู่หัวลำโพง จุดที่สามอยู่แยกคอกวัว แอพฯ กลับให้ผมไปหัวลำโพงก่อนแล้วย้อนกลับมาคอกวัว ระบบคุณคืออะไร เราต้องส่งให้คนใกล้ๆ ก่อนใช่ไหมค่อยไปไกลๆ แต่นี่ระบบคุณให้ผมไปส่งไกลๆ แล้วย้อนมาใกล้ ของหรืออาหารที่ต้องส่งมันก็จะเสีย มันก็จะละลาย”

ขณะอีกความเห็นหนึ่งบอกว่า ระบบประมวลผลของแพลตฟอร์มนั้นไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน และเอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นกัน

“แพลตฟอร์มนี้เคยทำให้เรามีรายได้ดีมาก วันนึงๆ วิ่งเช้าถึงเย็นก็ได้วันละ 2,000 บาท แต่วันหนึ่งระบบ AI ที่คุณสร้างมาใหม่ จากที่เมื่อก่อนระบบจะประมวลว่าใครอยู่ใกล้ได้งาน แต่เดี๋ยวนี้เป็นระบบยิงงานตามที่ AI จดจำ

“อาจจะเคยเห็นไรเดอร์จอดหน้าห้างกัน 10-20 คัน นั่นคือเขาไม่ได้งาน แล้วก็มีอีกคนมาจากไหนก็ไม่รู้อยู่ห่าง 4-5 กิโลเมตรขี่มาเข้าไปเอาของ เอาอาหาร ทำไมคุณไม่ให้สิทธิคนที่อยู่ใกล้ก่อน อย่างน้อยมันก็เป็นบริการที่ดีเพื่อให้ผู้บริโภครับของเร็ว ส่งเร็ว มันดีกว่าไหม

“แล้วคนที่รองานหน้าห้างอีกสิบกว่าคนเขาจะเอาอะไรกิน มันคือระบบที่ไม่เป็นธรรมกับคนขับ คนไหนคุณพอใจคุณก็ให้”

ข้อสังเกตจากนักวิจัยผ่านการพูดคุยกับไรเดอร์ส่งอาหารนั้นเชื่อว่า นอกจากแพลตฟอร์มจะใช้การออกแบบอัลกอริธึมเพื่อกระจายงานในลักษณะโควตา เพื่อให้ไรเดอร์ได้งานไม่เกินระดับที่ระบบคำนวณ อัลกอริธึมนั้นยังกำหนดค่าแรงของคนส่งอาหารโดยที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้เลย

ประเด็นนี้สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิชาการจากออสเตรเลีย เรื่อง “ระบอบการควบคุมของแพลตฟอร์ม” (platforms’ control regime) ที่ระบุว่ากลไกของแอพลิเคชั่นนั้นผ่านการออกแบบให้เป็นไปในลักษณะแข่งขันกันรับงาน หรือมาก่อนได้ก่อน ซึ่งทำให้ไรเดอร์เลือกรับงานไว้ก่อน โดยไม่มีโอกาสกระทั่งพิจารณาว่าตนเองมีศักยภาพ หรือมีความพร้อมในการรับ-ส่งอาหารนั้นๆ แท้จริงหรือไม่ และระบบการประเมินของแพลตฟอร์มอันนำมาซึ่งมาตรการลงโทษไรเดอร์นั้นความโปร่งใส ครั้นเมื่อเข้าสู่กระบวกนการโต้แย้งหรืออุทธรณ์โทษผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ก็มักสร้างความรู้สึกว่าไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป ไรเดอร์จำนวนมากจึงเลือกปล่อยเลยตามเลย

อีกทั้งการเลือกใช้วิธีจ่ายค่าตอบแทนรายชิ้น ตลอดจนใช้ ‘incentive’ หรือ ‘แรงจูงใจ’ เหล่านี้ยังเอื้อประโยชน์ให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถควบคุมต้นทุนแรงงานได้ในระยะยาว โดยไรเดอร์ซึ่งเป็นแรงงานต้องทำงานที่เร็วมากขึ้น และจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนตามที่ตนเองต้องการ ทั้งหมดเป็นการบีบให้ไรเดอร์ต้องพบกับความเสี่ยงจากการทำงานสูงขึ้น แต่กลับสวนทางกับสวัสดิการด้านความปลอดภัยที่ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กระทั่งไรเดอร์อาจต้องรับผิดชอบชีวิตตนเองเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

คำอธิบายจากเจ้านายที่มองไม่เห็น

ด้วยจำนวนผู้เล่นในธุรกิจ Food Delivery ประเทศไทยมีเท่าที่เห็น ไม่มากก็น้อยเราย่อมพบว่าข้อค้นพบของการวิจัย ตลอดจนถ้อยคำของไรเดอร์ย่อมฉวัดเฉวียนเวียนวนอยู่กับแพลตฟอร์มไม่กี่เจ้า และแพลตฟอร์มที่มักเป็นทั้ง ‘พาร์ทเนอร์’ และ ‘คู่กรณี’ ของไรเดอร์ก็คือ Grab ประเทศไทย

การประท้วงของไรเดอร์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2020 นำมาสู่การออกแถลงการณ์ของ Grab  โดยบริษัทได้ชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหาในหลายประการด้วยกัน เช่น การออกกฎระเบียบต่างๆ นั้น บริษัทฯ คำนึงถึงถึงหลักกฎหมาย ความปลอดภัย และความมั่นคง โดยได้สื่อสารให้ไรเดอร์รับทราบอย่างชัดเจนแล้ว ส่วนในประเด็นว่าด้วย การปิดระบบขอไรเดอร์อย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีระบบอุทธรณ์ บริษัทโต้แย้งว่า ไรเดอร์สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตลอดเวลาผ่านทาง ‘ศูนย์ช่วยเหลือ’ (Help Centre) ในแอปพลิเคชัน อีกทั้งการลงโทษไรเดอร์นั้น มีขั้นตอนสืบสวนข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม

มากกว่านั้น บริษัทยังยืนยันว่า ได้จัดทำประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์ทุกคน โดยให้ความคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการรับงาน และให้ความคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาทในกรณีที่เสียชีวิต

ในอีกกรณีที่คล้ายคลึงกัน คือเหตุการณ์ที่ไรเดอร์จากจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี เดินทางมารวมตัวกัน ณ อาคาร T-One ถนนสุขุมวิท ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหลังบริษัทประกาศปรับลดค่าตอบแทนต่อรอบของไรเดอร์มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งการรวมตัวครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องที่ที่สำคัญคือ ต้องการค่ารอบราคาเดิม คือ 40 บาทต่อรอบ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ไรเดอร์ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ ได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน โดยขอให้บริษัทคิดค่าตอบแทนเป็นค่ารอบตามปกติ และไม่เอาเงิน incentive แต่อย่างใด

บริษัทฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2021 โดยมีประเด็นสำคัญคือการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอินเซนทีฟ การกระจายงานให้ไรเดอร์ใหม่ แก้ไขเรื่องรัศมีการกระจายงาน ปรับปรุงแผนที่ไม่มีเสถียรภาพในการคำนวณระยะทาง และพัฒนาคุณภาพการบริการของพนักงาน[6]

ทว่าในรายละเอียดของการชี้แจงดังกล่าว กลับไม่มีการพูดถึงข้อเรียกร้องในประเด็นการปรับลดค่ารอบ ที่ไรเดอร์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดแต่อย่างใด

เชิงอรรถ

[1] https://tinyurl.com/znjswwxj

[2] https://tinyurl.com/cyby4tph

[3] https://www.ituc-csi.org/IMG/pdf/2019-06-ituc-global-rights-index-2019-report-en-2.pdf

[4] https://www.ituc-csi.org/IMG/pdf/ituc_globalrightsindex_2020_en.pdf

[5] https://mgronline.com/live/detail/9630000126568

[6] https://www.facebook.com/linemanriderth/photos/a.111449020877937/193587185997453

โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY

สนับสนุนโดย

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า