ตรวจชีพจรเศรษฐกิจไทย: ฉันจะอดตายในรัฐบาลประยุทธ์

เศรษฐกิจไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 และเข้าใกล้การนับถอยหลังสู่สิ้นปีอันเคว้งคว้างกันอีกหน ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงอยู่ในอำนาจที่ได้มาด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จวบจนถึงทุกวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม การครองอำนาจทางการเมืองเป็นระยะเวลานานของพลเอกประยุทธ์ กลับดำรงอยู่ท่ามกลางความไร้เสถียรภาพทางการเมืองขนาดหนักและยังไม่สามารถพิสูจน์ผลงานในการบริหารจัดการกิจการอันใดได้ ซ้ำร้ายด้วยวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ก็ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติทรุดตัวหนักลงไปอีกหลายเท่าตัว

หากการมีงานทำและการมีกินเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสุขของประชากร การจะวัดว่าพลเอกประยุทธ์ ‘คืนความสุข’ ไปได้มากน้อยเท่าไหร่แล้ว ก็คงจะต้องกลับไปสำรวจพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยในหลายตัวชี้วัดนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน ภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะ เพื่อมองหาหลักฐานของความสุขที่ซ่อนอยู่ในแต่ละกราฟและตัวเลข…หากมันยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง

อัตราว่างงาน: 7 ปีผ่านไป คนไทยยังเตะฝุ่น

แน่นอนว่าการมีงานทำเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร เนื่องจากการมีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่งนั้นจะนำพามาซึ่งรายได้ ความมั่นคง ไปจนถึงความภาคภูมิใจในตัวเองในเชิงสุขภาวะทางจิตที่ดีของประชาชน อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ดูจะไม่สามารถลดอัตราการว่างงานของคนไทยให้น้อยลงได้ และตัวเลขเหล่านี้ก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในช่วงปี 2557 อัตราการว่างงานของประเทศไทยเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร ทว่าหลังจากที่พลเอกประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกุมอำนาจการบริหารประเทศในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ค่าเฉลี่ยดังกล่าวก็กระโดดขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในช่วงปี 2560-2561 ก่อนที่พลเอกประยุทธ์ในรัฐบาลสมัยที่ 2 จะทำ ‘นิวไฮ’ ให้อัตราว่างงานของคนไทยเฉลี่ยพุ่งไปถึงร้อยละ 1.8 จนกราฟใกล้ทะลุร้อยละ 2 มากขึ้น 

หากมองในแง่ตัวเลขรายหัว จากปี 2557 ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 300,000 คน แต่หลังผ่านไป 7 ปี อัตราว่างงานดังกล่าวกระโดดไปถึง 700,000 คน หรือเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 400,000 คนที่ยังไม่สามารถหางานได้ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 

อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนี้ประกอบไปด้วยหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน โดยในช่วงปี 2563 ถึงแม้ว่าสังคมไทยกำลังถูกโรค COVID-19 คุกคามอย่างหนักหน่วงและทำให้กราฟพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ก็จะพบแพทเทิร์นของอัตราการว่างงานที่เคลื่อนที่ในลักษณะประหนึ่งขั้นบันไดที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อันมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย การเข้ามาแทนที่แรงงานด้วยเทคโนโลยี และปัจจัยของตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง

สาเหตุดังกล่าวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบและจัดการเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การอยู่ในอำนาจตลอด 7 ปีกว่าของพลเอกประยุทธ์ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไป 4 คน ในสมัยรัฐบาลชุดแรก และอีก 3 คน ในรัฐบาลสมัยต่อมา ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการให้ประชาชนมีงานทำ และแสดงให้เห็นถึงการขาดความสามารถในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ใช่ความถนัดของผู้ที่ควรจะอยู่แต่เพียงในกองทัพ 

หนี้ครัวเรือน: ยิ่งพอกยิ่งเพิ่ม 

หน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดอย่างครัวเรือน เปรียบประหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เดินไปข้างหน้า ดังนั้นหากฟันเฟืองเริ่มเกิดอาการ ‘ฝืดเคือง’ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหยอดจารบีให้การทำงานไม่ขัดข้อง ดูแลรักษาสภาพของฟันเฟืองทุกตัวให้ดีอยู่เสมอ อัตราการเอาใจใส่ต่อประชาชนของภาครัฐจึงสามารถสะท้อนได้ผ่านตัวเลขหนี้สินครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามากุมบังเหียนของประเทศ พบว่า สถานการณ์ 7 ปีของบรรดาครัวเรือนไทยอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครัวเรือนทั่วประเทศที่ตกอยู่ในสถานะลูกหนี้ในระบบช่วงปี 2558 มีอยู่ทั้งสิ้น 10,469,834 ครัวเรือนทั่วประเทศ หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ปี 2560 กลับพบว่าจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ในระบบทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 10,838,211 ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่า 400,000 ครัวเรือน และยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่า มีครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่อีกจำนวนเท่าใด

ถึงแม้จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้จะดูอาการหนักแล้ว แต่หากมองไปที่ยอดรวมของหนี้นั้นจะพบว่า สถานการณ์กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติเกินกว่าที่สังคมรับรู้ ตามข้อมูลการให้เงินกู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้อนหลังไปในปี 2557 ไตรมาสแรกปิดอยู่ที่ 9,988,847 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 4 ปิดตัวที่ 10,548,025 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.1 และร้อยละ 79.7 ต่อ GDP ตามลำดับ ส่วนในปี 2560 ไตรมาสแรกปิดตัวที่ 11,596,241 ล้านบาท และในไตรมาสสุดท้ายอยู่ที่ 12,101,463 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.2 และร้อยละ 78.1 ต่อ GDP ตามลำดับ 

ท่ามกลางความน่ากังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังไม่บรรเทา ปี 2563 ในไตรมาสที่ 4 พบว่า อัตราหนี้ครัวเรือนทะยานขึ้นไปถึง 14,039,933 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.4 ต่อ GDP และจากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ ปัจจุบัน คาดว่าหนี้ครัวเรือนในปี 2564 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวถึงร้อยละ 89-91 ต่อ GDP 

การก่อหนี้ที่สูงขึ้นของครัวเรือน เป็นผลมาจากความจำเป็นที่ต้องกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องและการหมุนเวียนในธุรกิจ อัตราตัวเลขที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นสูงนี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่า ครัวเรือนไทยอยู่ในสภาพเปราะบางและมีรายได้ที่ไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น ยอดหนี้ที่พุ่งขึ้นโดยไม่มีวี่แววว่าจะสามารถลดลงได้เช่นนี้ตลอดระยะเวลา 7 ปี ของรัฐบาลประยุทธ์ จึงชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการรักษาสภาพมั่งคั่งในชีวิตและความอยู่ดีกินดีของประชาชน ไปจนถึงการขาดทักษะและความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตของพลเรือน คนทำมาค้าขาย และประชาชนทั่วไปในประเทศ 

นิวไฮหนี้สินภาครัฐ: ถึงประชาชนประหยัดก็ยังต้องจ่าย

การสร้างหนี้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับครัวเรือนเท่านั้น ปัจจุบันภาครัฐเองกลับกลายเป็นผู้สร้างหนี้ที่ทำลายสถิติเดิมและผลักเพดานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงแม้ผู้ก่อหนี้จำนวนมหาศาลจะเป็นรัฐบาลประยุทธ์ แต่ผู้ที่ต้องร่วมแบกรับภาระหนี้กลับต้องเป็นประชาชนทั้งประเทศในฐานะผู้จ่ายเงินภาษีที่รัฐบาลต้องโยกออกมาจากงบประมาณในการดูแลประชาชน เพื่อนำไปชำระหนี้สินที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ

สถานการณ์หนี้สินสาธารณะโดยสำนักงานหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบุว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 หนี้รัฐบาลคิดเป็นสัดส่วนหนี้มากที่สุดถึง 7,760,488.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.94 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด จำนวนหนี้กว่า 7.7 ล้านล้านบาทนี้ นับได้ว่าน่าตกใจเมื่อดูข้อมูลย้อนหลังในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 รัฐบาลได้ก่อหนี้สาธารณะเริ่มต้นที่ 3,965,455.02 ล้านบาท สามปีต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 รัฐบาลก่อหนี้เอาไว้ที่ 4,959,164.41 ล้านบาท และเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ทะยานขึ้นสู่ 6,734,881.76 ล้านบาท ล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 ทำลายสถิติอยู่ที่ 7,760,488.76 ล้านบาท ตามที่กล่าวเอาไว้ 

เมื่อนำข้อมูลมาเรียงต่อกันนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการกู้หนี้สาธารณะดูเหมือนจะเป็นวิธีการคิดของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เสมอมา อัตราหนี้สาธารณะจึงค่อยๆ ถูกผลักให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ประชาชนไม่สามารถทราบถึงแผนการในอนาคตที่ชัดเจนได้ว่า ภาครัฐไทยจะดำเนินการอย่างไรในการชำระหนี้ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้กระทบกับประชาชน

ที่มา: สำนักงานหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง

สภาพปัญหาหนี้ที่กำลังเริ่มเป็นดินพอกหางหมูขณะนี้ของพลเอกประยุทธ์ จึงกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนในอนาคตมากกว่าหนึ่งรุ่น จำนวนหนี้ก้อนปัจจุบันหากแบ่งตามอายุคงเหลือ แบ่งออกได้เป็นหนี้ระยะสั้นร้อยละ 13.98 และหนี้ระยะยาวร้อยละ 86.02 โดยหากพลเอกประยุทธ์ยังอยู่ในอำนาจต่อไป และยังคงใช้วิธีการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มแบบทำลายสถิติอยู่เช่นเดิมนั้น ประชาชนในรุ่นนี้อาจจะต้องเขียนพินัยกรรมฝากฝังให้รุ่นหลานช่วยกันรับช่วงหนี้สินที่ตนเองไม่ได้ร่วมก่อต่อไป

ประเมินคะแนนวิชาบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล

จาก 3 หัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน หนี้ครัวเรือน ไปจนถึงหนี้สาธารณะ กำลังบ่งชี้ให้เราเห็นว่าชีพจรปากท้องของคนในสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลงจนน่าใจหาย ขณะเดียวกัน 7 ปีที่ผ่านมาและกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 8 ของรัฐบาลประยุทธ์ ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ 

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ระดับโลกอย่างไวรัส COVID-19 จะมีผลฉุดรั้งเศรษฐกิจชาติอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีการบริหารจัดการวิกฤติเฉพาะหน้าในระดับที่ย่ำแย่ถึงแย่ที่สุด และการบริหารตลอด 7 ปีที่ผ่านมา หากอ้างอิงข้อมูลตาม OECD Economic Surveys (2020) แล้ว จะพบว่าความมั่นใจการทำธุรกิจและความมั่นใจของผู้บริโภคลดลงเป็นอย่างมาก

ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค ⎮ ที่มา: OECD Economic Surveys (2020)

ปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะมองไปถึงอนาคตของปากท้องคนไทย เนื่องจากสถานการณ์ในอดีตที่สั่งสมมาตลอดนั้น ตอกย้ำชัดเจนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ ไม่มีความสามารถเพียงพอในการดูแลสุขทุกข์ของประชาชน ซ้ำร้ายยังจัดลำดับความสำคัญผิดพลาดอยู่เสมอ เห็นได้จากจำนวนงบประมาณทางการทหารที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับทิศทางของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงทุกขณะ 

งบประมาณรายจ่ายด้านการทหาร (หน่วย: ล้านดอลลาร์)⎮ที่มา: Trading Economic

คำตอบสุดท้ายในการเอาชีวิตรอดต่อไปในอนาคตของสังคมไทย จึงเหลือเพียงแค่การเปลี่ยนตัวผู้นำในการกำหนดนโยบายแต่เพียงเท่านั้น เพราะแม้บุคคลผู้นั้นจะเคยเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23 แต่ก็ชัดเจนแล้วว่าสอบตกวิชาเศรษฐศาสตร์และการบริหารเศรษฐกิจ 

การรักษาปากท้องของประชาชนจึงกลับมาเป็นหน้าที่ของประชาชนในการดูแลกันเอง เพื่อเอาชีวิตให้รอดภายใต้การบริหารจัดการที่ผิดพลาดล้มเหลว ส่วนพลเอกประยุทธ์จะยอมเสียสละเพื่อคนทั้งชาติด้วยการลาออกจากตำแหน่งที่กำหนดความเป็นตายของคนหมู่มากหรือไม่นั้น คงต้องถามใจตัวเองดู

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า