ขึ้นค่ารถไฟฟ้าเที่ยวละบาทกับภาษีออนไลน์วันละ 6 บาทก็ทำประเทศพังได้ ฟางเส้นสุดท้ายสู่การจลาจลล้มรัฐบาลชิลีและเลบานอน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ความวุ่นวายในเลบานอนและชิลีดูเหมือนจะมีปฐมเหตุจากเรื่องเล็กน้อย ที่ดูแล้วไม่น่าจะลุกลามบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โตไปได้ นั่นคือการเก็บภาษีจากการสื่อสารผ่านวิดีโอคอลวันละ 6 บาทของเลบานอน และการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินอีกเที่ยวละ 1 บาทของชิลี

ทั้งสองเรื่องดูเป็นเรื่องหยุมหยิมที่ไม่น่าก่อให้เกิดการชุมนุมระดับประเทศจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่บริบทของเลบานอนกับชิลีนั้นแตกต่างกันมหาศาล เพราะเงิน 6 บาทต่อวันหรือ 180 บาทต่อเดือนที่เรียกเก็บในเลบานอนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใครคิดว่าควรจะต้องจ่าย เพราะเป็นบริการสื่อสารในรูปแบบ OTT หรือ Over The Top จากการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมสมัยใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็นิยมใช้วิดีโอคอลผ่านแอพยอดนิยมอย่าง WhatsApp, Facetime, Facebook เพื่อพูดคุยกันจนเป็นปกติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

แต่ในมุมมองผู้บริหารประเทศกลับเห็นสิ่งเหล่านี้เป็น ‘ความเสียหายทางเศรษฐกิจ’ เพราะเห็นว่าเอกชนที่ลงทุนด้านการสื่อสารนับแสนล้านบาทกลับไม่ได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้น เมื่อไม่อาจรีดภาษีจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นได้ จึงหันไปหารายได้จากผู้ใช้โดยตรง

ภาษีที่เกิดขึ้นนี้จึงดูสิ้นคิดประหนึ่งว่ารัฐบาลไม่อาจหารายได้จากทางอื่นเพิ่มได้ จึงต้องหันมาลงที่ประชาชน เป็นการซ้ำเติมที่เหมือนฟางเส้นสุดท้ายเพราะภาวะเศรษฐกิจในเลบานอนตกต่ำมานานหลายปี จนมีอัตราว่างงานสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเฉียดฟ้าถึง 150 เปอร์เซ็นต์ ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ค่าเงินปอนด์เลบานอนจะอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์

ไฟป่าที่ลุกลามในเลบานอนเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจึงจุดเชื้อไฟในใจชาวเลบานอน เมื่อรู้ว่าเครื่องบินดับไฟป่าทำงานไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณซ่อมแซม เมื่อเจอภาษี WhatsApp เข้าไปจึงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีจุดให้ชาวเลบานอนนัดประท้วงครั้งใหญ่ โดยใช้แอพโซเชียลมีเดียที่เป็นต้นเหตุนั่นแหละ เป็นเครื่องมือในการติดต่อนัดหมายและแจ้งสถานที่ประท้วง กระทั่งเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นมีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก ทำให้ประธานาธิบดีต้องจำใจลาออกในที่สุด

หากความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุหลักของความวุ่นวายในเลบานอน ชิลีก็ไม่น่าจะเกิดวิกฤตการณ์แบบเดียวกัน เพราะนี่คือประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘ความมหัศจรรย์แห่งชิลี’ ด้วย GDP ต่อหัวสูงถึงราว 600,000 บาท อัตราคอร์รัปชันต่ำ จึงไม่มีใครคาดคิดว่าชิลีจะเกิดการประท้วงบานปลายใหญ่โตเพียงเพราะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินเที่ยวละ 1 บาท

เช่นเดียวกับเลบานอน ที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียงน้อยนิดเป็นฟางเส้นสุดท้ายจากปัญหามากมายที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน นั่นคือทั้งค่ารถไฟฟ้าที่เคยปรับขึ้นมาก่อนแล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ค่าไฟฟ้า 10 เปอร์เซ็นต์ และค่าใช้จ่ายทางการศึกษา การแพทย์ และค่าครองชีพที่ปรับขึ้นแทบทั้งระบบ

ความร่ำรวยจากรายได้ต่อหัวสูงลิ่วดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะชิลีถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ติดอันดับต้นๆ ของโลกด้วยอัตราส่วนคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ มีความมั่งคั่งถึง 33 เปอร์เซ็นต์ เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย แต่กลับมีต้นทุนในการใช้ชีวิตเท่าเทียมกับเศรษฐี การปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินจึงเป็นชนวนให้จุดกระแสติดได้อย่างรวดเร็ว

การประท้วงในชิลีเกิดขึ้นโดยเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่หลอมรวมเอาคนที่อึดอัดกับปัญหาเศรษฐกิจเข้ามารวมกัน และเมื่อปั่นอารมณ์จนได้ที่ก็ลงเอยด้วยความรุนแรง ผลสุดท้ายจึงมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันถึง 18 คน และระบบรถไฟฟ้าใต้ดินก็เสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดผู้ถูกจับกุมสูงถึง 7,000 คน และการประชุม APEC ที่กำหนดจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็ต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด

น่าแปลกใจว่าทำไมผู้นำของทั้งสองประเทศจึงมองไม่เห็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่พร้อมอาศัย ‘เรื่องเล็กๆ ในเวลาที่เหมาะสม’ จุดชนวนให้คนในสังคมระเบิดพลังออกมาได้มากมายมหาศาล เพราะก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างจากฮ่องกงให้เห็นมาแล้ว

เพราะการประท้วงในฮ่องกงก็เกิดจากการถ่ายทอดความคิดเห็นกันผ่านโซเชียลมีเดีย จนเด็กรุ่นใหม่รู้สึกอยู่เฉยไม่ได้ ความรุนแรงในการประท้วงจึงเกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุม และไม่มีใครเป็นแกนนำอย่างชัดเจน ทุกอย่างเป็นไปตามกระแสในโซเชียลมีเดียเท่านั้น ซึ่งผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ล้วนไม่เข้าใจลักษณะของโซเชียลมีเดียในการบริบทของการชุมนุม นั่นคือ

  1. ข้อมูลเกินพิกัด นั่นคือแต่ละฝ่ายจะกระหน่ำข้อมูลใส่กันจนเราไม่สามารถแยกแยะข้อมูลจริงและปลอมได้อีกต่อไป การจะหยุดข่าวลือระหว่างการชุมนุมจึงมักกลายเป็นความพยายามที่ไร้ผล
  2. ภาครัฐมักเน้นการให้ข้อมูลด้านเดียว ซึ่งจะทำให้คนเลิกเชื่อถือสื่อจากทางการเสมอ ยิ่งภาครัฐนำเสนอข่าวที่บิดเบือน ก็จะยิ่งกลายเป็นการเพิ่มความโกรธแค้นให้ผู้ชุมนุมมากขึ้นไปอีก
  3. เรื่องเล็กพร้อมจะบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ทุกเมื่อ ตัวอย่างจากเลบานอน ที่แม้จะยกเลิกการเก็บภาษี WhatsApp ไปแล้ว ก็ไม่สามารถหยุดความรุนแรงของผู้ชุมนุมได้ เช่นเดียวกับฮ่องกง ที่แม้จะถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้ว แต่การประท้วงก็ยังไม่มีท่าทีจะจบลงได้เลย

แนวโน้มเช่นนี้ส่งผลให้คนที่เข้าใจบริบทของข้อมูล และมีความรู้ในเรื่อง Big Data Analytics มองเห็นความเป็นไปของสังคม และพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ยิ่งนำมาผนวกกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ยิ่งทำให้เราปรุงแต่งข่าวสารที่จะสร้างให้เกิดกระแสไปตามทิศทางที่ต้องการได้

จุดจบของรัฐบาลหลายๆ ประเทศจึงไม่ได้เกิดจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการใช้อาวุธบีบบังคับรัฐบาลเดิมเหมือนที่เราเคยเห็นมานับสิบนับร้อยปี แต่เป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่ไหลบ่าผ่านเครือข่ายดิจิตอล หลอมให้คนในสังคมคิดไปในทางเดียวกัน แล้วระเบิดความไม่พอใจออกมาเป็นการชุมนุมประท้วงที่บานปลายได้อย่างคาดไม่ถึง

ทิศทางการชุมนุมในอนาคตจึงไม่ได้อยู่ในมือของผู้นำม็อบหรืออำนาจเก่า แต่เป็นผู้ถือ ‘ข้อมูล’ ต่างหากที่จะกำหนดความเป็นไปให้รัฐบาลอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครมองเห็น

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า