15 ปี รัฐประหาร 2549 แกะรอยเบื้องหลังความขัดแย้งผ่านปากคำทักษิณ

…คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ย่อมมีอำนาจออก และ ยกเลิก แก้ไข กฎหมายได้ รัฐมนตรีที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้ จึงเป็นรัฐมนตรีโดยชอบ…

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 45/2496 ที่ใช้รับรองการทำรัฐประหารตั้งแต่สมัย 2490 กลายมาเป็นบรรทัดฐานในการทำรัฐประหารของไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา [1] แน่นอนว่าการทำรัฐประหารในยุคใหม่ของการเมืองไทยที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองจวบจนปัจจุบัน อย่างการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ดูจะใช้บรรทัดฐานเดียวกันนี้ เมื่อกลุ่มชนชั้นนำเห็นชอบกับการรัฐประหารรัฐบาลของ พันตํารวจโททักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) และตามมาด้วยการถ่ายทอดสดคำแถลงการณ์ยึดอำนาจผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมาว่า

เนื่องด้วยขณะนี้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลไว้ได้แล้ว โดยไม่มีการขัดขวาง เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ความร่วมมือและอยู่ในความสงบ และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย

การยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จำเป็นต้องลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศและไม่มีโอกาสได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีก อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่องผ่านทางโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter ไปจนถึงเว็บไซต์ของตนเองอย่าง Thaksin Official เป็นต้น

เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการรัฐประหาร 2549 ในวันที่ 19 กันยายน 2564 นี้ เราลองหันกลับมาทบทวนการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นับตั้งแต่วันที่ลี้ภัยออกนอกประเทศหลังการรัฐประหารจนถึงปัจจุบันที่พลิกบทบาทจาก ทักษิณ ชินวัตร ของคนรากหญ้า มาเป็น Tony Woodsome ที่มองไปยังอนาคตของคนรุ่นใหม่ ว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร และการแสดงออกของผู้คร่ำหวอดการเมืองมาอย่างยาวนานตั้งแต่จุดสูงสุดจนถึงจุดที่ต้องระหกระเหินในต่างแดนนั้น สามารถสะท้อนการเมืองไทยตลอด 15 ปีมานี้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของการรัฐประหาร บทบาทของตัวทักษิณเอง ไปจนถึงประเด็นเปราะบางอย่างความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำ กองทัพ และสถาบันพระมหากษัตริย์ อันร้อนแรงในปัจจุบัน

18 กันยายน 2553

ทักษิณออกมากล่าวถึงการครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 2549 ใน Twitter ว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่แสนสาหัส อยากเห็นการมองไปข้างหน้าร่วมกันมากกว่าความไม่สงบ การใช้กระบวนการยุติธรรมที่สองมาตรฐาน หรือการนำสถาบันลงมาเล่นการเมือง รวมถึงขอให้การใช้กำลังปราบปรามประชาชนของทหารในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

18 ตุลาคม 2556

ย้อนกลับไป 8 ปี ทักษิณได้ออกมาพูดถึงเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร 2549 ในเชิงการทูตกึ่งเรื่องตลกว่า ตนเองเป็นผู้พยายามริเริ่มจัดตั้ง Asia Cooperation Dialogue (ACD) เพื่อพยายามรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของเอเชียตั้งแต่ปี 2545 โดยได้รับความร่วมมือจากอินเดีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และอีกหลายชาติในอาเซียน

ต่อมาเมื่อเกิดการกระทำรัฐประหารของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และรัฐบาลที่จัดตั้งต่อมาอย่างรัฐบาลชุด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้พยายามที่จะติดต่อหลายประเทศไปเพื่อขอยกเลิก ACD นี้ โดยทักษิณกล่าวว่าคงเป็นความพยายามในการ ‘ทำลาย’ สิ่งดีๆ ที่เขาสร้างไว้ แต่ความพยายามของภาครัฐไทยครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

“ทางคณะรัฐประหารก็คงอยากจะทำลายสิ่งดีๆ ที่ผมทำไว้ก็จะไปขอยกเลิก ACD เลยโดนตอกหงายมาจากประเทศสมาชิกว่า ACD ถึงแม้ไทยจะเป็นผู้ริเริ่ม แต่ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ มันเป็นองค์กรของทุกประเทศสมาชิก ผมพยายามจะปลุกให้เกิดความเป็นหนึ่งของเอเชียให้ได้ จึงต้องหาเสียงเพิ่มสมาชิกไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีอยู่ 28 ประเทศแล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กระทรวงต่างประเทศของเราต้องทำงานต่อเนื่องจริงจังต่อไปครับ”

31 มีนาคม 2560

ทักษิณกล่าวถึงกรณีที่ตนเองกลายเป็นสาเหตุที่รัฐบาลทหารมักอ้างถึงเมื่อเกิดเรื่องร้ายแรงในประเทศ ดังเช่นเหตุการณ์วางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และการวางระเบิดหลายจุดที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทักษิณกล่าวว่า สุดท้ายภายหลังการสืบค้นก็จะพบว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ดี

เขายังกล่าวต่อไปอีกว่าการ ‘ตกเป็นเหยื่อ’ ของข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่ได้จบสิ้นเพียงเท่านี้ แต่ยังมีการนำเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปกลับมาเล่นงานอีก ทั้งที่คดีหมดอายุความไปแล้ว โดยทักษิณเน้นย้ำว่าหากตนเองกระทำผิดจริง รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารถึง 2-3 รัฐบาล คงไม่นิ่งเฉยเป็นแน่

ประเด็นสำคัญที่สุดอันเป็นปมปัญหาของการเมืองไทยอย่าง ‘ทักษิณ vs. สถาบันกษัตริย์’ นั้น เจ้าตัวยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และยืนยันข้อเท็จจริงมาให้สาธารณชนได้ทราบดังนี้

“เนื่องจากมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่า ตัวผมเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับขบวนการล้มล้างระบอบการปกครองของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้ ตัวผมขอยืนยันว่าผมมีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยถวายงานเจ้านายทุกพระองค์ ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีมาตลอด และมีความเชื่อมั่นที่แน่วแน่มั่นคง ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และผมเชื่อว่า ระบอบการปกครองของไทยเรานี้ ประกอบกับพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยของเรารักษาเอกราชและความเป็นไทยมาได้ตราบจนทุกวันนี้”

และ

“ผมคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เติบโตจากครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง และวันนี้ก็ยังเป็นคนธรรมดาคนเดิม ผมถือว่าผมโชคดีมากแล้ว ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมี ได้สนองงานรับใช้สังคมไทยในฐานะต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 35 ปี และจะขอรับใช้ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผมรักนับถือ เคารพ และเทิดทูน ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ว่าผมจะอยู่ ณ หนใดบนพื้นพิภพนี้”

นอกจากการยืนยันถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ทักษิณได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่เป็นภัยอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่มาจากตัวเขาเอง แต่มาจากการที่สถาบันกษัตริย์ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการกระทำรัฐประหารมากกว่า 

“สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย คือการปฏิวัติรัฐประหารมากกว่า และการรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ใช้ข้ออ้างที่แทบไม่เคยเปลี่ยน คือความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอร์รัปชัน แต่ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองของทหาร ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการรัฐประหารครั้งใดที่ไม่ใช้หลักนิติธรรมในการแก้ปัญหา ก็จะยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจและความเห็นต่างกลับบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งที่จะแก้ไขได้ยากขึ้นทุกที”

19 กันยายน 2560 

ในวาระครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทักษิณส่งข้อความรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านแอคเคาท์ทวิตเตอร์ Thanksin Shinawatra เตือนไม่ให้คนไทยลืมเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้น เป็นภาษาอังกฤษว่า “I hope the memory of what happened 11 years ago has not faded from the hearts of Thai people. I am, and will always be, concerned about the livelihood of my fellow Thai citizens.”

18 กันยายน 2561

ครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 2549 ทักษิณกล่าวว่า ยังไม่ได้มีความเจริญงอกงามใดเป็นชิ้นเป็นอันเกิดขึ้นเลยหลังจากการรัฐประหาร นอกจากจะยังทะเลาะกันไม่จบสิ้นแล้ว ยังไม่เท่าทันการพัฒนาของโลกอีกด้วย

“เรามีการปฏิวัติ 2 ครั้งใน 12 ปี ปฏิวัตินายกฯ ที่เป็นพี่น้องกันและได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แน่นอนมีคนได้ดีและร่ำรวยจากการปฏิวัติทั้ง 2 ครั้ง แต่คนที่แย่ลงในหลายมิติมีมากกว่า และไม่สำคัญเท่ากับประเทศไทยที่เรารักถูกมองแย่ลงในสายตาคนทั้งโลก”

ทักษิณยังกล่าวถึงการครบรอบ 12 ปีของการรัฐประหาร ว่า ตนสูญเสียความสุขและเสียดายประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

“ผมต้องสูญเสียความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวผม ที่พ่อแม่ลูกเราอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นมาตลอด ต้องมาพรากจากกัน ผมเสียใจที่คนที่รักผม สนับสนุนผมถูกรังแก แต่คงไม่เสียใจเท่าประเทศที่ผมรัก แผ่นดินที่ผมเกิด และเติบโตมา ซึ่งครั้งหนึ่งได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ต้องมาตกอยู่ในสภาวะแบบนี้”

แม้การครบรอบ 12 ปีรัฐประหารครั้งนี้ ทักษิณจะแทบไม่ได้พูดถึงตัว ‘ผู้กระทำ’ หรืออธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นชัดเจนนัก แต่ก็ยังทิ้งท้ายไปถึงกลุ่มคนเหล่านั้นผ่านการออกมาพูดต่อหน้าสาธารณชนเอาไว้ว่า

“สุดท้ายนี้ผมขออโหสิกรรมให้กับทุกคนที่ให้ร้ายกลั่นแกล้งผมมา ณ ที่นี้ด้วย”

19 กันยายน 2561

1 วัน หลังโพสต์รำลึก 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แสดงความเห็นตอบโต้ทักษิณผ่านสื่อว่า 

“แล้วใครเป็นคนทำอะ ปฏิวัติอะ แล้วบ้านเมืองมันยุ่งอยู่นี้เพราะใคร ไม่ใช่พวกเรานะ [คสช.] พวกเราไม่เกี่ยวนะ” ต่อมาผู้สื่อข่าวถามว่า โพสต์ของทักษิณเหมือนเป็นการส่งญาณให้ปรองดองพูดคุยกันหรือไม่ พลเอกประวิตรตอบกลับว่า “เอาเรื่องกฎหมายที่เขาผิด ให้เขาเคลียร์ให้ได้ซะก่อนเถอะ แล้วค่อยว่ากันนะ” (https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_134444, https://www.youtube.com/watch?v=Ox6HNVwjv28&t=2s)

ต่อมาทักษิณโพสต์ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า 

“ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ. เลย”

19 กันยายน 2563

ทักษิณโพสต์รำลึก 14 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ ผ่านเฟซบุ๊ค พร้อมแนบภาพจดหมายลายมือประกอบ เนื้อหาเป็นการพูดเชิงเปรียบเทียบความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าการบอกเล่าเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้น

“เด็กๆ ที่อายุระหว่าง 20 ถึง 30 ในปัจจุบัน 14 ปีที่แล้วเขาได้ยินได้เห็นพ่อแม่เขาคุยกันว่าเขากำลังมีงาน/มีธุรกิจ มีรถ มีบ้าน แต่วันนี้เขาได้ยินว่าเขากำลังตกงาน/ธุรกิจอยู่ไม่ได้ กำลังเสียรถ เสียบ้าน และตัวเขายังมองไม่เห็นอนาคตตัวเองถึงจะมีการศึกษาที่ดี เพราะวิธีคิดของเรากำลังถูกเอาเปรียบโดยทุนนิยมโลกที่เรารู้ไม่เท่าทัน เราล้าสมัยในหลายด้าน”

ทักษิณยังเสริมเรื่องสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศของไทยว่า

“ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับวิธีคิดใหม่ ทั้งฝ่ายบริหารบ้านเมืองและการเมือง เพราะที่ผ่านมา 14 ปีแล้ว เราไม่ทันโลกจริงๆ มีแต่ถูกเอาเปรียบ โลกไม่เหมือนเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้ นโยบายที่เคยใช้ได้ในอดีตปัจจุบันยิ่งใช้ยิ่งแย่ โดยเฉพาะโลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนที่แสนดีจะหายากขึ้น ผมหมายถึงการเมืองระหว่างประเทศ”

ย่อหน้าสุดท้ายของจดหมาย ทักษิณทิ้งท้ายว่า

“ถึงแม้ผมไม่ได้ถือ passport ไทย แต่ผมตระหนักตลอดเวลาว่า ผมเป็นคนไทย รักคนไทย รักผืนแผ่นดินไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

27 กรกฎาคม 2564

ทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ ผ่านรายการ Care Talk x Care Clubhouse ตอน Roadmap to New Normal วางเส้นทางสู่วิถีใหม่ ในประเด็นว่าทำไมจึงไม่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น ณ ตอนนั้น

“บางคนถามผมว่า ทำไมไม่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ต้องเข้าใจว่า รัฐบาลพลัดถิ่น สมัยนี้กับสมัยก่อน ไม่เหมือนกัน ผมไม่อยากให้เยิ่นเย้อ นึกว่าปฏิวัติแล้ว จะทำอะไรที่ฉลาดๆ แต่กลายเป็นว่า ก็โง่จนถึงทุกวันนี้” (https://www.matichon.co.th/politics/news_2852990)

ขณะดำเนินรายการ ทักษิณยังชวนสมาชิกครอบครัวที่เดินทางมารวมตัวกันในวาระวันคล้ายวันเกิด 72 ปี ของทักษิณ พร้อมออกมาทักทายผู้ชมหน้ากล้องอีกด้วย

14 กันยายน 2564 

(Clubhouse https://www.facebook.com/watch/live/?v=3025720334341528&ref=watch_permalink) https://www.facebook.com/careorth/photos/a.111684960583203/406278064457223/

ทักษิณพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ ผ่านรายการ CARE Talk x CARE Clubhouse ตอน อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของการเมืองไทย: แล้วอนาคตของเยาวชนไทยจะเป็นอย่างไร 

ทักษิณเล่าว่า ก่อนเกิดรัฐประหาร มีความพยายามลอบสังหารตน ทั้งจากการดักยิงสไนเปอร์ กระทั่งคาร์บอมบ์ที่สะพานกรุงธน (สะพานซังฮี้) ที่จับผู้ต้องหาซึ่งเป็นทหารได้ 2 ราย และกันทหารอีกคนหนึ่ง หรือ ‘จ่ายักษ์’ เป็นพยาน ทักษิณเล่าว่า ผู้ต้องหาให้การว่า “ต้องฆ่าให้ตาย ถ้าไม่ตายก็จะปฏิวัติ” 

ทักษิณเล่าต่อว่า หลังจากนั้นมีความพยายามโน้มน้าวให้ตนเองเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศ จนในที่สุดทักษิณจึงเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อเข้าร่วมประชุม ASEM (Asia-Europe Meeting) ที่ฟินแลนด์ ต่อด้วย การประชุม Non-Aligned Movement (NAM Summit) ที่คิวบา ก่อนจะไปประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ที่นิวยอร์ค

ช่วงที่อยู่นิวยอร์คนี้เอง ทักษิณเล่าว่า ตนน่าจะเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากมีช่วงเว้นว่างอยู่ประมาณ 4-5 วัน แต่ก็ถูกโน้มน้าวให้อยู่ต่อเพื่อพักผ่อนก่อน ทักษิณเรียกตนเองในตอนนั้นว่า ‘ซื่อบื้อ’ เพราะจริงๆ ตนรู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์ที่ไทยยังไม่ค่อยนิ่ง ทั้งนี้ ได้มีการเขียนประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมลงนามเอาไว้แล้ว และฝากไว้ที่ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ทั้งยังมอบให้ พลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น คอยทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินแทน แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน

“คนของผมทั้งสองคนไปตามหารัฐมนตรีกลาโหม คือ พลเอกธรรมรักษ์ [ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา] วันนั้นรัฐมนตรีกลาโหมของผมถูกพาไปซ่อนที่ไหนก็ไม่รู้ สองคนนี้ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ไปประกาศได้ครึ่งเดียว มิ่งขวัญถูกจี้เลย ประกาศยังอ่านไม่ทันจบ เขาก็ปิดทีวีช่อง 9 เลยไม่ได้อ่าน ก็ทำให้เราประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ทัน”

ทักษิณยังกล่าวว่า “พอประกาศปฏิวัติ ตูม! ผมจะกลับมา เครื่องบินกลับไม่ได้ ถ้าผมกลับมาสนุกแน่”

สำหรับสิ่งที่ทักษิณเสียใจที่สุดในการรัฐประหารครั้งนี้ คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกฉีกไป ซึ่งในสายตาของทักษิณเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด 

“รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือมองคนไทยเป็นคน ทำให้คนเป็นผู้นำจะต้องดูแลประชาชน”

“การเมืองที่ปฏิรูปจริง คือการเมืองที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 การเลือกตั้งผลออกมา ไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยมาต่อรอง ทำให้นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำในการแก้ไขปัญหาของชาติได้เต็มที่ ผมคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด”

สุดท้าย ทักษิณกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับวังว่า 

“ทั้งหมดเนี่ย ผมคิดว่าผมมีเรื่องกับ Palace Circle ไม่ใช่ตัวพระเจ้าอยู่หัว”

อ้างอิง

[1] รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย. สถาบันพระปกเกล้า, จาก http://wiki.kpi.ac.th/

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า