ความเหลื่อมล้ำในค่ารอบ: กรุงเทพฯ – ต่างจังหวัด ต่างรายได้ แต่รายจ่ายเท่ากัน

“คุณพอใจแล้วหรือยังกับค่ารอบที่ได้ตอนนี้ ถ้าไม่พอใจ เราขอเชิญไปรวมพลังเรียกร้องความเป็นธรรมหน้าตึกทีวันกับเรา” 

ข้างต้นคือถ้อยคำของ ‘น้ำหวาน’ (นามสมมุติ) หนึ่งในไรเดอร์ผู้มีบทบาทในการรวมตัวของเหล่าไรเดอร์จากต่างจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง และชลบุรี ฯลฯ เพื่อมารวมตัวประท้วงที่หน้าอาคาร T-One วันที่ 4 มิถุนายน 2564 

เดิมที น้ำหวานคือพนักงานเสิร์ฟอาหารในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ด้วยรายได้เพียงหยิบมือ ทำให้เธอเริ่มมองหางานเสริม นั่นคือการขับไรเดอร์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ ทว่าไม่นานนัก น้ำหวานตัดสินใจลาออกจากงานในร้านอาหาร เพื่อกระโจนขึ้นอานมอเตอร์ไซค์เต็มตัว ด้วยความที่หวังว่า งานใหม่จะมอบอิสรภาพและค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่เธอ

“ทำงานที่ร้านอาหารมันไม่อิสระ ฝนตกแดดออกก็ต้องไป เงินที่ได้ก็ไม่คุ้ม ร้านไม่มีสวัสดิการ มาเป็นไรเดอร์ก็เพราะเงินดีและก็อิสระด้วย”

เหมือนแต่ต่าง สารพัดปัญหาของการเป็นไรเดอร์

‘งานไรเดอร์’ มอบความอิสระในการทำงานและรายได้อันน่าพึงพอใจดังที่น้ำหวานหวังไว้ ด้วยค่าตอบแทนในการวิ่งรถต่อรอบอยู่ที่ 28 บาท รวมกับค่า incentive (เงินจูงใจ) ทำให้ค่ารอบสุทธิอยู่ที่ 34 บาท บวกกับความขยันขันแข็งของน้ำหวาน ที่วิ่งงานเดือนละประมาณ 700-800 รอบ นั่นเท่ากับว่า รายได้ของเธอจะตกอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าบาทต่อเดือน 

นั่นคือตัวเลขรายได้ก่อนการระบาด แต่เมื่อประเทศต้องเผชิญกับ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจดิ่งลงฮวบ ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูง ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาทำอาชีพไรเดอร์ เพราะนโยบายของแอพพลิเคชั่นสามารถรับคนเข้าทำงานได้อย่างไม่จำกัด ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ชั่วโมงการวิ่งงาน ปริมาณงาน และรายได้ของน้ำหวานลดลงอย่างรวดเร็ว

“ในฉะเชิงเทราคือพื้นที่สีแดงเข้ม ก่อนล็อคดาวน์วิ่งได้ถึง 5 ทุ่ม พอล็อคปุ๊บวิ่งได้แค่ 2 ทุ่ม เวลาการวิ่งของเราน้อยลง บวกกับร้านค้าที่ปิดตัวลง งานก็น้อยลงไปอีก

“บริษัทเปิดระบบรับคนใหม่มาอีก 20-30 คน กลายเป็นว่าไรเดอร์มีมาก เราต้องแข่งขันกันแย่งงาน แถมการจ่ายงานที่ไม่เป็นธรรม นั่นคือระบบโปรแกรมให้ไรเดอร์ใหม่เห็นงานก่อนไรเดอร์เก่าๆ โดยบริษัทอ้างว่าคนใหม่ไม่มีความชำนาญในการใช้แอพพลิเคชั่น ไรเดอร์ที่เคยวิ่งได้จาก 700-800 รอบ เหลือเพียง 500 รอบ แล้ววิ่งตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4-5 ทุ่มด้วยนะ”

สำหรับน้ำหวาน ปัญหาใหญ่ที่เธอกำลังเผชิญคือการรับไรเดอร์อย่างไม่จำกัดจำนวนของบริษัท อีกทั้งจำนวนไรเดอร์ที่มากขึ้น กลับสวนทางกับปริมาณงานอย่างเห็นได้ชัด นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องกดแย่งชิงงานกันอย่างดุเดือด เวลาที่ใช้ไปบนท้องถนนมีมากขึ้น ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมีมากขึ้น 

“อย่างเช่นในกรุงเทพฯ แม้ไรเดอร์จะเยอะ แต่งานก็เยอะ ขณะที่ในต่างจังหวัด งานมีน้อย แต่ไรเดอร์เยอะ แค่ภายในเดือนนี้ไรเดอร์ฉะเชิงเทรามีเพิ่มถึง 120 กว่าคน และมีไรเดอร์ฟูลไทม์ 1,000 กว่าคน ซึ่งเยอะมาก พอคนเริ่มเกิดการแย่งงาน เราก็ต้องเหนื่อยหางานมากขึ้น ความเสี่ยงก็มากขึ้นตาม”

ท่ามกลางการแข่งขันและความเสี่ยงที่มากขึ้น พวกเขากลับไม่ได้รับการคุ้มครองดังที่ควรจะเป็น กล่าวคือ บริษัทกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ไรเดอร์ต้องส่งอาหารประมาณ 350-450 รอบ จึงจะได้รับการคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ เงื่อนไขนี้ใช่ว่าไรเดอร์ทุกคนจะสามารถทำได้ตามที่บริษัทขีดเส้นเอาไว้ ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การช่วยเหลือจึงอยู่ในรูปแบบ ‘ช่วยเหลือกันเอง’ ของกลุ่มไรเดอร์ เช่น การเรี่ยไรเงินช่วยเหลือเมื่อไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต 

“ทุกวันนี้ไรเดอร์ฉะเชิงเทราเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกวัน แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแอดมินหรือบริษัท เราต้องช่วยเหลือกันเอง” 

ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาที่น่ากุมขมับอีกประการคือ ค่ารอบที่ถูกปรับลดลงตามอำเภอใจของบริษัท ไรเดอร์มีหน้าที่เพียงรับรู้และยอมรับ ไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ทำให้ปัญหาที่ตามมาคือ รายได้ของไรเดอร์ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยเฉพาะไรเดอร์ต่างจังหวัด 

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น น้ำหวานชวนเราพิจารณาค่ารอบของจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา เทียบกับค่ารอบในกรุงเทพฯ จะพบว่า ค่ารอบก่อนมีการปรับลดล่าสุดของฉะเชิงเทราอยู่ที่ 28 บาท ลดลงเหลือ 25.5 บาท จังหวัดชลบุรี ค่ารอบเดิมอยู่ที่ 40 บาท ลดเหลือ 34 บาท หรือจังหวัดอยุธยา ค่ารอบเดิมคือ 30 บาท เหลือเพียง 24.5 บาท ส่วนกรุงเทพฯ ค่ารอบเดิมคือ 62 ปัจจุบันอยู่ที่ 50 บาท

การปรับลดค่ารอบของไรเดอร์ต่างจังหวัดที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ยิ่งทำให้ค่ารอบของไรเดอร์ต่างจังหวัดนั้นต่างจากไรเดอร์ในกรุงเทพฯ แทบจะครึ่งต่อครึ่ง ทำให้น้ำหวานมองว่า บริษัทอาจเห็นว่าต่างจังหวัดมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงการไม่มีหลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นธรรม เพราะไรเดอร์ต่างจังหวัดเองก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงไม่ต่างกับไรเดอร์ในกรุงเทพฯ 

“ไรเดอร์ต่างจังหวัดก็มีต้นทุน และมีความเสี่ยงไม่แพ้กัน ค่าครองชีพก็ไม่ต่างกันมาก เช่น ค่าข้าวจานละ 40-50 บาท ค่าน้ำมันต่างจังหวัดก็แพงเหมือนกัน ดังนั้น การที่เราลงทุนพอกัน เสี่ยงพอกัน ก็ควรที่จะได้ค่าตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน”

อึดอัด อัดอั้น ไรเดอร์จึงต้องออกมารวมตัวเรียกร้อง

การรวมตัวกันที่ตึก T-One เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลักๆ คือการเรียกร้องสวัสดิการ และที่สำคัญคือ ‘ค่ารอบที่เป็นธรรม’

“เคยมีการปรับลดค่ารอบแล้ว แต่ก็ลงแค่บาทเดียว เราไม่ซีเรียส เพราะมันลงมาไม่เยอะ แต่หลังจากนั้นเขาปรับลงเยอะ ซึ่งวันที่ 1 มิถุนายน บริษัทแจ้งว่าจะมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินเป็นจำนวนสุทธิ โดยไม่มีปรับลดค่ารอบ แต่เมื่อถึงรอบการจ่ายเงิน ค่ารอบที่เคยได้ตามปกติกลับหายไปถึง 3 บาท คืออยู่ที่ 25.50 บาท จาก 28 บาท เขาก็เหมือนฉวยโอกาสตรงนั้น และไม่เคยแจ้งอะไรเราอย่างชัดเจนเลยสักครั้ง”

หลังการรวมตัวเรียกร้องค่ารอบในครั้งนั้น บริษัทตอบรับเสียงของไรเดอร์ด้วยการ ให้ค่ารอบเป็น 25.50 บาทเท่าเดิม แต่ปรับ incentive 3.40 บาท ทั้งวัน โดยไม่มีการเพิ่ม incentive ตามปกติที่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่มีคำสั่งซื้อสูง ซึ่ง incentive กล่าวได้ว่าเป็นเงินโบนัสให้กับเหล่าไรเดอร์ แต่บริษัทกลับแก้ปัญหาด้วยการให้ค่ารอบและคง incentive ไว้ที่ 3.40 เพื่อให้ไรเดอร์ได้ค่ารอบ 28 บาทดังเดิม จนค่ารอบสุทธิปัจจุบันคือ 28.90 บาท ซึ่งน้ำหวานกล่าวว่า นี่ไม่ใช่การแก้ไขที่ตรงกับความต้องการของไรเดอร์แม้แต่น้อย

“เขาแก้ปัญหาไม่ตรงตามที่เราเรียกร้อง เราเรียกร้องให้ได้ค่ารอบเท่าเดิมคือ 28 บาท แล้วเพิ่ม incentive ตามปกติ ไม่ใช่ 28 บาทแบบนี้”

ถัดจากการประท้วงหน้าตึก T-One ได้ 10 วัน คือการประท้วงของไรเดอร์จังหวัดชลบุรี โดยนัดหยุดรับงานในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เพื่อเรียกร้องให้ค่ารอบกลับมาอยู่ที่ 40 บาทเท่าเดิม ซึ่งในกรณีนี้น้ำหวานมองว่า เป็นการดีที่เสียงของไรเดอร์ต่างจังหวัดไม่เงียบหาย เพราะการสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทที่มีอำนาจล้นมือ สำคัญคือ การรวมตัวของผู้ถูกกดขี่ให้ได้มากที่สุด  

แต่ไม่ว่าจะจากเหตุการณ์ประท้วงในวันที่ 4 มิถุนายน หรือนัดหยุดรับงานในวันที่ 14 มิถุนายน ของไรเดอร์ชลบุรี น้ำหวานมองว่า จำนวนของไรเดอร์ที่เข้าร่วมก็ยังไม่มากพอจะต่อรองกับบริษัท หรือแม้แต่ภาครัฐที่ก็มีส่วนในการร่วมแก้ปัญหา 

“ไรเดอร์ต่างจังหวัดมีหลายกลุ่มมาก ในจังหวัดหนึ่งกระจายไม่ได้มีกลุ่มเดียว บางคนย้ายมาจากค่ายอื่นก็รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่ก็ย้ายมาจากค่ายเดิม การจะรวมตัวกันให้เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวกับจังหวัดอื่นๆ เราเลยคิดว่ายาก อีกอย่างเพราะโควิดด้วย ทำให้เราเคลื่อนตัวหรือทำอะไรกันลำบาก อีกทั้งไรเดอร์ส่วนใหญ่ก็มีภาระ เช่น หนี้สิน เขาก็ต้องวิ่งงาน เพราะถ้าหยุดก็จะขาดรายได้ ถ้าเราจะให้เขาหยุดก็ต้องมีเงินสนับสนุน อย่างน้อย เขาต้องมีตังค์ซื้อข้าวให้ลูกกิน หรือมีตังค์จ่ายค่าห้อง”

ด้านสหภาพไรเดอร์ได้เสนอแนวทางคือ ‘การระดมทุน’ เพื่อใช้เป็นเงินสำรองชดเชยให้กับไรเดอร์ที่ต้องการหยุดงานประท้วง และเพื่อให้การรวมตัวเรียกร้องสามารถยืนระยะได้นานพอที่จะสร้างผลกระทบแก่บริษัท โดยที่ไรเดอร์ไม่บาดเจ็บจากรายได้ที่หดหายมากนัก  

“ถ้าจะให้ไรเดอร์ทั่วประเทศหยุดงานเราก็คิดว่ามันต้องใช้เวลา ต้องมีอะไรรองรับเขาถึงจะหยุดได้ แต่เราก็ปรึกษากันในกลุ่มเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ส่วนสหภาพไรเดอร์ก็เสนอว่าต้องมีการระดมทุน เพราะหากมีการสไตรค์หยุดงานกันเกิดขึ้น ก็จะได้มีเงินมาจุนเจือให้ไรเดอร์ที่ออกไปเรียกร้องมีรายได้ ไม่ใช่หยุดฟรี ถ้าระดมทุนได้ คิดว่าก็น่าจะรวมพลได้มากขึ้น

“ถ้าไรเดอร์รวมตัวกันได้มากๆ จะเป็นการเพิ่มพลังเสียงให้บริษัทรับฟังปัญหาไรเดอร์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเขาเห็นเราเป็นแค่คนกลุ่มเล็กที่ไม่ต้องรับฟังก็ได้ แต่ถ้าพลังเสียงมีมาก ก็จะทำให้ผลลัพธ์เป็นไปอย่างที่เราต้องการมากขึ้น” 

โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY

สนับสนุนโดย

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า