สามเสาหลักค้ำยันเผด็จการ จากตั้งมั่นสู่ความเสื่อมถอย

การปกครองแบบเผด็จการหลายรูปแบบค่อยๆ เสื่อมความนิยมไปจากโลกอารยะ หากทว่ายังมีอีกหลายแห่งบนโลกที่ระบบการปกครองโบราณเช่นนี้ยังพยายามฝืนคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลง การกลับไปทำความเข้าใจ ‘เสาหลัก’ ของระบอบเหล่านี้อาจช่วยให้เห็นอีกบางแง่มุม เพื่อหาคำอธิบายว่า ทำไมหลายประเทศในโลกระบอบเผด็จการจึงแข็งแกร่ง ขณะที่อีกหลายแห่งในโลกกลับยิ่งเสื่อมถอยลงไปแม้ว่ามันจะพยายามดิ้นรนเพียงใดก็ตาม

ทุกอย่างที่กล่าวไปนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้ Johannes Gerschewski มีคำอธิบายให้เราไว้ในงานศึกษาชื่อ ‘The Three Pillars of Stability: Legitimation, Repression, and Co-optation in Autocratic Regimes’ ที่ตีพิมพ์บนวารสาร Democratization เมื่อปี 2013 โดยกล่าวถึงสามเสาหลักว่า คือ ความชอบทางกฎหมาย การปราบปราม และการรักษาแนวร่วม

ความชอบทางกฎหมาย การปราบปราม และการรักษาแนวร่วม  

ในอดีต ความชอบทางกฎหมายของรัฐเผด็จการเป็นหัวข้อสำคัญในการศึกษาอำนาจของรัฐเผด็จการต่างๆ ทว่าในการศึกษายุคปัจจุบันเป็นต้นมา หัวข้อดังกล่าวเริ่มไม่เป็นที่นิยมเท่าที่เคย เนื่องจากมีการถกเถียงว่าอำนาจทางกฎหมายของรัฐเผด็จการไม่ได้ต้องการ ‘ความชอบ’ จากประชาชนในการใช้กฎหมาย และทำให้คำว่า ‘ความชอบทางกฎหมายของอำนาจนิยม’ เป็นคำที่ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะมันไม่มีทางที่จะเป็น ‘ความชอบ’ หรือ ‘legitimation’ ได้

อย่างไรก็ตาม Gerschewski อธิบายในประเด็นดังกล่าวว่า รัฐเผด็จการทั้งหลายไม่สามารถพึ่งพาความชอบในการออกกฎหมาย (หรืออย่างน้อยในระยะยาว) เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เนื่องจากในยุคปัจจุบัน การเป็นอิสระต่อกันและกันระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองนั้นมีมากขึ้นยิ่งกว่าในยุคที่โครงสร้างช่วงชั้นทางสังคมแบบพีระมิด หรือการส่งต่ออำนาจจากทรราชคนหนึ่งสู่อีกคนเคยทำได้โดยง่าย ประเด็นนี้จึงทำให้เสาหลักอีกสองขาที่เหลือเริ่มทวีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต

เสาต่อมาคือ การปราบปราม หรือ ‘repression’ Gerschewski อธิบายเอาไว้ว่าเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของอำนาจเผด็จการมาอย่างยาวนาน โดยแบ่งได้เป็นทั้งการปราบปรามแบบมีความเข้มข้นสูง เช่น การใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และการปราบปรามแบบความเข้มข้นต่ำ เช่น การข่มขู่ หรือการปฏิเสธโอกาสทางการงานและการศึกษา เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการปราบปรามนั้นมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายสูงมากสำหรับการรักษาความมั่นคงทางอำนาจในระยะยาว

ปัจจุบันได้มีการพยายามสร้างตัวชี้วัดเพื่อศึกษาความเข้มข้นของการปราบปรามใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ ตั้งแต่ชุดสำรวจขององค์กร Freedom House โครงการ The Cingranelli-Richards Human Rights Dataset (CIRI) หรือมาตรวัดความหวาดกลัวทางการเมือง The Political Terror Scale (PTS) ที่มีรายงานประจำปีโดย Amnesty International และ US State Department Country Reports on Human Rights Practices

เสาสุดท้ายคือ การรักษาแนวร่วม หรือ co-optation ซึ่ง Gerschewski กล่าวถึงการพยายามสร้างความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้ชนชั้นสูงที่จับกลุ่มรวมกันเป็นก้อนเดียวกันสามารถปกครองระบบการเมืองทั้งระบบได้ผ่านทั้งเครื่องมือที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งหลายครั้งการรวมกลุ่มดังกล่าวมีระบบระเบียบเสียจน Jennifer Gandhi และ Adam Przeworski (2006) ได้พูดถึงเอาไว้ในงานศึกษาที่คล้ายคลึงกันชื่อ ‘Cooperation, Cooptation and Rebellion’ เราสามารถวัดค่าความเข้มข้นของเสาหลักนี้ได้ด้วยวิธีการวัดค่าความเป็นสถาบัน (degree of institutionalization) จากหลายปัจจัยของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมเผด็จการ

สำหรับ Gerschewski แล้ว สามเสาหลักเหล่านี้จึงทำหน้าที่ ‘สร้างความมั่นคง’ ให้แก่ระบอบเผด็จการในปัจจุบัน โดยช่วยให้บรรดาชนชั้นนำสามารถต่อกรกับประชากรที่เหลือในชาติ สร้างความชอบธรรมและความหวาดกลัว ไปจนถึงการเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุนแนวคิดของรัฐ รักษาแนวร่วม และขยับขยายประสิทธิภาพของเครือข่ายชนชั้นนำต่อไป

เสาหลักที่ผุพัง เกิดอะไรขึ้นเมื่อความเสื่อมถอยมาเยือน

การเปลี่ยนผ่านของสังคมจากเผด็จการไปสู่สังคมประชาธิปไตยนั้น ผู้สื่อข่าวที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทหารและความมั่นคงอย่าง Thomas E. Ricks (2012) เขียนเอาไว้ในวารสาร Foreign Policy ว่า การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้คนในสังคมบางส่วนเริ่มมี ‘วิสัยทัศน์แห่งอนาคต’ (vision of tomorrow) ที่พยายามมองหาอนาคตที่ดีกว่าและเป็นไปได้ในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะเมื่อคนในสังคมเปลี่ยนความสิ้นหวังเป็นความหวังได้แล้ว การ ‘ปฏิวัติ’ (revolution) ก็จะเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ถูกถามหา และจะจบลงก็ต่อเมื่อวิสัยทัศน์เหล่านั้นเริ่มกลายเป็นโครงสร้างที่มองเห็นได้จริงโดยการกระทำของผู้ปกครองเท่านั้น

วิสัยทัศน์แห่งอนาคตนี้ Ricks กล่าวว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้สาธารณชนพยายามดิ้นรนและมอบความไว้วางใจที่มากพอให้แก่ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเพื่อการโค่นล้มเผด็จการจากฐานของอำนาจอย่าง ‘pillars of support’ ที่ Ricks จะมองคล้ายกับ Gerschewski ว่ามันคือสถาบัน องค์การ องค์กรทางศาสนา หรืออะไรอื่นๆ ที่ทำให้ตนเองไปเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการ

สำหรับ Ricks แล้ว การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยนั้นจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างรวดเร็วและถึงแก่น โดยมีสังคมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคตเข้ามามีบทบาท ซึ่งจะคล้ายกับสิ่งที่ WZB research project พูดถึงงานศึกษาของ Gerschewski ว่า การสั่นคลอนของเสาใดเสาหนึ่ง (หรือมากกว่าหนึ่ง) เมื่อเข้าถึงจุดวิกฤติแล้วก็อาจจะหมายถึงจุดที่ระบอบเผด็จการล่มสลายได้ หรือไม่ก็จะเข้าสู่สภาวะตั้งมั่นใหม่อีกครั้งได้เช่นกัน

ดังนั้นการมองว่ารัฐเผด็จการจะมีอำนาจสถาพรต่อไปได้อีกยาวนานแค่ไหน อาจต้องมองไปไกลกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมาย หรือความเข้มข้นในการปราบปรามผู้เห็นต่าง แต่ยังรวมไปถึงศักยภาพในการรักษาแนวร่วม ทั้งในเครือข่ายชนชั้นนำของตัวมันเอง ไปจนถึงการรักษาแนวร่วมกับกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐ ว่ายังสามารถร่วมมือกันได้มากน้อยเพียงใด และเสาหลักใดบ้างที่กำลังเข้าสู่สภาวะอ่อนแอจนส่งสัญญาณภาวะวิกฤติ อันอาจจะหมายถึงการเริ่มต้นนับถอยหลังของระบอบเผด็จการทั้งหมดทั้งมวล

ที่มา
  1. Gerschewski, Johannes. (2013). The three pillars of stability: legitimation, repression, and co-optation in autocratic regimes. Democratization. Taylor & Francis, London. Vol. 20 (1). 13-38, http://dx.doi.org/10.1080/13510347.2013.738860 
  2. GANDHI, J. and PRZEWORSKI, A. (2006). COOPERATION, COOPTATION, AND REBELLION UNDER DICTATORSHIPS. Economics & Politics. 18. (1-26) https://doi.org/10.1111/j.1468-0343.2006.00160.x
  3. Thomas E. Ricks. (2012). What to do after the dictatorship falls?. Best Defense. Foreign Policy, From  https://foreignpolicy.com/2012/05/31/what-to-do-after-the-dictatorship-falls/?fbclid=IwAR2JkCUluo40QhthGB662ZSgSZUSRp2cLTMFIOCt_SlX9GhtS1K8zABpVxk     
  4. Christoph Stefes and Kerstin Schneider. (2013). Why dictatorships survive – and what destabilizes them. Press release. WZB: berlin Social Science Center, From https://www.wzb.eu/en/press-release/why-dictatorships-survive-and-what-destabilizes-them 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า