บทบาทตำราเรียนในศตวรรษที่ 21: เมื่อคนของโลกอดีต เขียนแบบเรียนให้คนปัจจุบัน เพื่อสร้างโลกอนาคต

‘ตำราเรียน’ เป็นเครื่องมือพื้นฐานของการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทั่วโลกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และยังคงมีปรากฏในระบบการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากเพื่อให้ความรู้แล้ว ตำราเรียนยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางสังคมและการเมืองในการหล่อหลอมแนวคิด ทัศนคติ ให้กับผู้เรียน 

ความท้าทายของการผลิตตำราเรียนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาในทุกยุคทุกสมัยคือ การที่คนรุ่นก่อน เกิด เติบโต และถูกหล่อหลอมจากสังคมในอดีต เป็นผู้ออกแบบตำราเรียนให้คนรุ่นหลัง ซึ่งเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้นำทักษะ ความรู้ ทัศนคติที่ได้รับจากการหล่อหลอม ไปใช้กับชีวิตในอนาคตที่ยังเดินทางมาไม่ถึง 

งานเขียนชิ้นนี้ชวนผู้อ่านสำรวจบทบาทและหน้าตาของตำราเรียนในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี เพื่อหาทิศทางที่ควรจะเป็นในการผลิตตำราเรียนในอนาคต 

สหรัฐอเมริกา: เมื่อตำราเรียนคือเครื่องมือทางการเมือง

อเมริกาประเทศที่ให้ความสำคัญกับปรัชญาเบื้องหลังการผลิตตำราเรียนค่อนข้างมาก เพราะมองว่าตำราเรียนคือเครื่องมือสำคัญในการกำหนดคุณภาพของประชาชนผู้จะเป็นผู้ใช้สิทธิออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งหมายถึงการสร้างคนรุ่นต่อไปที่จะมาออกแบบและขับเคลื่อนประเทศในอนาคต 

บทบาทสำคัญประการหนึ่งของตำราเรียนในอเมริกาคือ การนำเสนอแนวคิดและทัศนคติเพื่อหล่อหลอมผู้เรียน ด้วยความคาดหวังว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นและหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้นได้ ตัวอย่างคำถามของสังคมอเมริกันที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน และคนรุ่นใหม่ควรต้องร่วมกันหาคำตอบในอนาคต เช่น ผู้อพยพเป็นภาระหรือผลประโยชน์ของประเทศ หรือทุนนิยมควรถูกตีกรอบที่จุดไหน ซึ่งตำราเรียนถูกคาดหวังว่าจะอยู่ตรงกลาง นำเสนอข้อมูลและความรู้อย่างเป็นธรรม เพื่อให้คนรุ่นใหม่หาคำตอบที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศและชาวอเมริกัน

แต่ด้วยความที่ตำราเรียนต้องสร้างพลเมืองให้กับการเมืองอเมริกัน เพราะการเมืองอเมริกันมี 2 ขั้วแนวคิดชัดเจน และเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของรัฐบาลแต่ละรัฐจะบริหารจัดการ ทำให้ตำราเรียนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยปริยาย ตำราเรียนในหัวเรื่องเดียวกันของแต่ละรัฐจึงมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐนั้นเป็นฐานเสียงหลักของแนวคิดการเมืองขั้วใด รวมถึงการใช้ตำราเรียนเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อให้ภาพจำต่อเหตุการณ์ในอดีตของคนรุ่นใหม่เป็นไปตามภาพที่คนรุ่นปัจจุบันต้องการ

ตำราเรียนของรัฐอนุรักษนิยม จะเข้มข้นไปทางด้านการปลูกฝังเลือดรักชาติ เน้นอิทธิพลของศาสนาคริสต์ และเชิดชูบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชาติ ส่วนตำราเรียนของฝ่ายซ้ายมุ่งผลักดันให้ผู้เรียนเข้าถึงประวัติศาสตร์จากล่างขึ้นบน เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของกลุ่มคนชายขอบโดยตรง เช่น ทาส ผู้หญิง และชนพื้นเมือง 

ปี 2020 ดานา โกลด์สไตน์ (Dana Goldstein) แห่งหนังสือพิมพ์ The New York Times ศึกษาตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนียในปี 2016 รวม 43 เล่ม และพบว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ สีผิว การอพยพ เพศ และเศรษฐกิจ เช่น เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ความฝันชนบท’ (suburban dream) หรือกระแสที่คนอเมริกันจากเมืองใหญ่หลายเมืองอพยพไปตั้งถิ่นฐานตามชานเมืองหรือชนบท ในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นช่วงที่ชุมชนคนผิวดำขยายตัวอย่างมากในเมืองใหญ่ต่างๆ และรัฐบาลได้ประกาศลดภาษีอสังหาริมทรัพย์และดอกเบี้ยเงินกู้ ตำราเรียนในแคลิฟอร์เนียฉายภาพให้เห็นปรากฏการณ์ยุคนั้น โดยระบุชัดเจนว่า “การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันผิวขาวจำนวนมาก เกิดจากความต้องการไปใช้ชีวิตให้ไกลจากชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ขณะที่หนังสือเรียนของเท็กซัส บรรยายแค่เพียงว่ามีการอพยพของคนเมืองออกไปสู่ชานเมืองจำนวนมาก ไม่มีการระบุว่าเป็นคนกลุ่มไหนและไปด้วยเหตุผลอะไร

การบอกเล่าเรื่องราวของการพยายามรื้อฟื้นสังคม ตั้งบ้านเรือนใหม่ในศตวรรษที่ 20 หลังสงครามกลางเมือง ซึ่งคนขาวลุกขึ้นมาต่อต้านการการให้สิทธิคนผิวดำในการได้รับการสร้างบ้านใหม่ หนังสือเรียนของแคลิฟอร์เนียระบุเหตุผลว่า เพราะคนขาว “ไม่ต้องการให้ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีสิทธิต่างๆ มากไปกว่านี้” แต่ตำราเรียนของเท็กซัสให้เหตุผลว่า การให้สิทธิคนดำในการเข้าถึงการมีบ้าน เป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งหมายถึง การนำเงินภาษีมาใช้มากขึ้น และไม่มีการพูดถึงการเลือกปฏิบัติในประเด็นสิทธิในการมีบ้านเลย

โกลด์สไตน์ยังพบว่า คณะกรรมการกลั่นกรองตำราเรียนของทั้งสองรัฐมีบทบาทกำหนดทิศทางของตำราเรียนที่ส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยภาคเอกชน เช่น คณะกรรมการในรัฐแคลิฟอร์เนียที่แต่งตั้งโดยอดีตผู้ว่าการรัฐ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต ได้ขอให้สำนักพิมพ์แมคกรอว์-ฮิลล์ (McGraw-hill) หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘สังหารหมู่’ (massacre) ในเนื้อหาที่พูดถึงเหตุการณ์ที่ชนพื้นเมืองอเมริกันโจมตีคนขาวในศตวรรษที่ 19 และคณะกรรมการกลั่นกรองตำราในเท็กซัสแต่งตั้งโดยคณะกรรมการด้านการศึกษาของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของรีพลับลิกัน ประกอบด้วยนักการศึกษา ผู้แทนจากโบสถ์ นักการเมือง รวมถึงนักธุรกิจและผู้ปกครอง ก็ขอให้สำนักพิมพ์เพียร์สัน (Pearson) ใส่จำนวนนักบวชที่ร่วมลงนามในคำประกาศอิสรภาพ และให้ระบุว่าการสร้างชาติอเมริกาได้รับแรงบันดาลใจจากการปลุกศรัทธาครั้งใหญ่ของนิกายโปรเตสแตนท์ (Protestant Great Awakening) ลงไปด้วย

เป็นครั้งแรกที่มีการเปรียบเทียบหนังสือเรียนจากต่างรัฐอย่างชัดเจน งานเขียนของโกลด์สไตน์จึงก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของตำราเรียนในปัจจุบัน และกระบวนการสร้างตำราเรียนในอนาคต ในอเมริกาครูคนหนึ่งใช้ชื่อว่า เพ็กกี วอร์เรน (Peggy Warren) เขียนลงทวิตเตอร์ว่าบทความนั้นทำให้เธอ “ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ว่าจะไม่ใช้ตำราเหล่านั้นในห้องเรียน เด็กๆ ต้องเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิเท่านั้น” 

เควิน ดรัม (Kevin Drum) นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งของนิตยสาร Mother Jones เขียนบทความแสดงความเห็นว่า “ผมเกลียดตำราเรียนพวกนี้ทั้งหมด เกลียดตำราทุกเล่มที่มีอยู่ในวันนี้ เอามันมาสับครึ่งให้หมด ไอ้พวกกล่องข้อความที่ขยายเนื้อหาที่ไม่จบสิ้น และประเด็นถกเถียงงี่เง่าทั้งหลายก็เอาออกไปให้หมด แล้วเติมแผนภูมิหรือชาร์ตต่างๆ เข้ามา ถ้าผมต้องเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาจากตำราเรียนที่ยัดเยียด และเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เลวร้ายแบบนี้ ผมคงเกลียดประวัติศาสตร์ไปเลย” 

ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาควบคุมคุณภาพและเนื้อหาของตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์อเมริกากลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่แตกต่างกันตามแต่ว่าใครจะเป็นคนเล่า ด้วยเหตุผลใด 

“ในฐานะนักการศึกษา ผมยืนหยัดสนับสนุนให้หลักสูตรพื้นฐานจัดทำโดยรัฐบาลกลาง เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กอเมริกันจะได้รับการศึกษาที่ทั่วถึงและมีคุณภาพไม่ว่าจะเติบโตในพื้นที่ใดของประเทศ การเปรียบเทียบตำราเรียนของ 2 รัฐนี้ ทำให้เราเห็นความจำเป็นด้านนี้มากขึ้น” ทริช ซอร์นีโอ (Trish Zornio) ผู้สมัครวุฒิสมาชิกรัฐโคโลราโดในขณะนั้น โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กตัวเอง 

หลังการเผยแพร่บทความของโกลด์สไตน์ The New York Times ได้ตั้งคำถามถึงนักเรียนอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ต่อประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำราเรียน เช่น ใครควรเป็นผู้เขียนและอนุมัติตำราเรียน ยังคิดว่าตำราเรียนเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ เชื่อเนื้อหาที่ระบุในตำราเรียนหรือไม่ ไปจนถึงให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางลบที่เคยพบในตำราเรียน โดยมีนักเรียน 239 ราย แสดงความเห็นเข้ามา 

ที่น่าสนใจคือ เด็กๆ จำนวนมากไม่รู้สึกว่าเนื้อหาในตำราเรียนจะส่งผลต่อทัศนคติของพวกเขา เพราะครูของพวกเขาไม่ได้ยึดตำราเรียนเป็นสรณะ หากเน้นให้พวกเขาค้นคว้าเอง และแลกเปลี่ยนถกเถียงกันในห้องเรียน กลุ่มหนึ่งมองว่าตำราเรียนเป็นเรื่องสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน มีจำนวนไม่น้อยที่ตกใจเมื่อรับรู้ว่าตำราเรียนของพวกเขาถูกผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการฝังทัศนคติหรือสำนึกทางการเมืองบางอย่าง 

ญี่ปุ่น: ตำราเรียนสร้างคนเพื่อสร้างชาติ เคารพความแตกต่างหลากหลาย

ปีการศึกษา 2024 นักเรียนระดับประถมศึกษาในประเทศญี่ปุ่นจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ เมื่อนักเรียนชายต้องเรียนการจัดดอกไม้ และนักเรียนหญิงต้องไปเรียนเบสบอล เป็นผลมาจากความคิดที่ก้าวหน้าของผู้ใหญ่ในวันนี้ที่ต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่ยอมรับและเคารพในความแตกต่างของประชาชนญี่ปุ่นที่กำลังหลากหลายมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของญี่ปุ่นเพิ่งแถลงผลการพิจารณาตำราเรียนเพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษาใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2024 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ตำราเรียนวิชาต่างๆ ต้องถูกออกแบบใหม่ให้ส่งเสริมความตื่นตัวต่อความหลากหลายทางเพศและการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมมากขึ้น ซึ่งบริษัทเอกชนที่มีหน้าที่ผลิตตำราเรียนจะต้องนำไปปฏิบัติตาม 

ภายในเดือนเดียวกัน สำนักพิมพ์ Bunkyosya เผยแพร่ตัวอย่างตำราเรียนชุดใหม่ในวิชาสุขศึกษา สำหรับเด็กประถมปีที่ 3 และ 4 ที่นอกจากจะมีภาพประกอบเป็นคนขับรถบรรทุกที่เป็นผู้หญิง หรือเด็กหญิงกำลังเล่นเบสบอลแล้ว ยังมีคำบรรยายว่า “การใช้ชีวิตในแบบของตัวเราเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าเราจะเป็นชายหรือหญิง” นอกจากนี้ตัวละครนักเรียนที่ปรากฏในหนังสือเรียนยังสะพายกระเป๋านักเรียนหลากสีสัน เด็กผู้หญิงไม่ได้สะพายแค่กระเป๋าสีแดง หรือเด็กผู้ชายสะพายแต่กระเป๋าสีดำเหมือนตำราเรียนที่ใช้ในปัจจุบัน 

ขณะที่สำนักพิมพ์ Kobunshoin ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพมาให้ความเห็นและปรับแก้ตำราเรียนของตนเอง ในวิชาศีลธรรมสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำให้หนังสือรุ่นใหม่ของสำนักพิมพ์จะมีตัวละครที่สวมเครื่องแบบที่ก้าวข้ามความเป็นเพศ นักเรียนชายบางคนอาจสวมกระโปรง ส่วนนักเรียนหญิงก็สวมกางเกง เพื่อลบล้างแนวคิดการเหมารวมทางเพศ และเพื่อสร้างทัศนคติการเคารพในความต่างของผู้อื่น

ในหนังสือเรียนวิชาคหกรรมศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 สำนักพิมพ์ Kairyudo สร้างตัวละครพิการที่ต้องนั่งบนวีลแชร์ และตัวละครที่เป็นเด็กต่างชาติ ตัวแทนบริษัท โดยอธิบายเหตุผลว่า “เราต้องการขยายมุมมองของนักเรียนว่า ในสังคมเราประกอบไปด้วยคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท เป็นเรื่องปกติ เราพยายามทำให้หนังสือเรียนเป็นตัวแทนของสังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลายเพศ อายุ เชื้อชาติ รวมถึงความพิการ” 

ผู้ประกอบการด้านสำนักพิมพ์หนังสือเรียนสำหรับเด็กรายหนึ่งกล่าวถึงบทบาทของสำนักพิมพ์กับการสร้างสังคมญี่ปุ่นผ่านตำราเรียนว่า “เมื่อยุคสมัยขับเคลื่อนไปสู่กระแสของการเคารพความหลากหลาย หนังสือเรียนต้องสะท้อนกระแสสังคมนั้น” 

เยอรมนี: อุดมการณ์นาซีมีอยู่ทุกที่แม้แต่ตำราเรียนคณิตศาสตร์

เยอรมนีในยุคนาซี หรือยุคที่พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมนีปกครองประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1920-1945 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศที่ใช้ทุกองคาพยพของระบบการศึกษา รวมถึงตำราเรียน เป็นเครื่องมือในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิดทางการเมืองเช่นคนรุ่นเก่า วัตถุประสงค์หลักของระบบการศึกษาของเยอรมนีในยุคนั้นคือ การศึกษาต้องไม่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามหรือคิดเองเป็น พรรคนาซีเชื่อว่าการขับเคลื่อนผ่านระบบการศึกษาจะทำให้คนรุ่นใหม่ยังคงเชื่อฟังและศรัทธาโลกทัศน์แบบนาซี 

สิ่งแรกๆ ที่นาซีทำต่อระบบการศึกษาของเยอรมนีคือ การเปลี่ยนแกนกลางของหลักสูตรให้เน้นที่กีฬา ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์แทน โดยเฉพาะกีฬาที่นาซีจะเน้นเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนได้มีเวลาอ่านและคิด 

ปี 1936 เด็กนักเรียนในเยอรมนีต้องเรียนวิชาพลศึกษาวันละ 2-3 ชั่วโมง และเพิ่มเป็นวันละ 5 ชั่วโมง ในปี 1938 ขณะที่วิชาเกี่ยวกับศาสนาและหลักความเชื่อถูกลดชั่วโมงเรียนลง จนสุดท้ายถูกตัดออกไปจากหลักสูตรการศึกษาเลย 

ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์และชีววิทยาได้รับความสำคัญอย่างมาก และถูกเขียนขึ้นใหม่หมด เนื้อหาหลักของตำราเรียนต้องยกย่องเผ่าพันธุ์อารยัน สนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติ และปลูกฝังแนวคิดการเพิ่มพื้นที่ทั้งทางกายภาพและบทบาททางสังคมให้ชาติพันธุ์ที่พูดภาษาเยอรมันให้มากขึ้น (ภาษาเยอรมันเรียกแนวคิดนี้ว่า Lebensraum) [การเพิ่มขึ้นของตำราเรียนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับแนวคิดนี้ แปรผกผันกับจำนวนครูชาวยิวที่ลดลงเรื่อยๆ] ตำราเรียนในยุคนั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากพรรคนาซีก่อน จึงจะนำไปใช้สอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้

แนวคิดต่อต้านยิวและส่งเสริมชาวเยอรมันปรากฏอยู่ในตำราเรียนเกือบทุกวิชาในยุคที่พรรคนาซีปกครองประเทศ โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยม

ตัวอย่างหนังสือวิชาคณิตศาสตร์ของเยอรมนีในยุคที่พรรคนาซีปกครองประเทศ (photo: The Wiener Holocaust Library) 

ตัวอย่างจากหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ ที่ต้องการให้นักเรียนเห็นต้นทุนการจัดบริการทางสังคมให้กับประชาชน ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาให้นักเรียนเห็นรูปธรรมคือ “ต้นทุนที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรม” ช่องแรก หากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 ปี ค่าใช้จ่ายจะเท่ากับ 3,000 ไรชส์มาร์ค เทียบเท่าค่าแรงทั้งปีของคนทำงาน 2 คน ช่องที่สอง หากต้องเข้าเรียนในโรงเรียนพิเศษ 7 ปี คิดเป็นเงิน 7,000 ไรซส์มาร์ค เทียบเท่าค่าแรงทั้งปีของ 4 คน และช่องที่สาม หากต้องอยู่ในสถานพักพิง 10 ปี ต้องใช้เงิน 17,000 ไรซส์มาร์ค เทียบเท่าค่าแรงคน 10 คน 

ภาพจากสมุดการบ้านของนักเรียนคนหนึ่งในยุคนาซี (photo: The Wiener Holocaust Library)

ภาพนี้เป็นสมุดการบ้านวิชาชีววิทยาของนักเรียน ที่วาดแผนผังโครงสร้างแสดงความเป็นพลเมืองเยอรมัน เมื่อมีการถ่ายทอดพันธุกรรมข้ามรุ่น ช่องสี่เหลี่ยมสีขาวในรูปหมายถึงคนเยอรมัน ช่องลายสีฟ้าหมายถึงคนยิว คำอธิบายใต้แผนภาพรูปบน คือ เด็กที่มีปู่ย่าตายายเป็นยิว 3 คน จะถูกถือว่าเป็นคนยิวด้วย (แม้คนรุ่นพ่อแม่จะได้รับการยอมรับเป็นคนเยอรมัน) คำอธิบายใต้แผนภาพรูปล่าง คือ เด็กที่มีครอบครัวรุ่นปู่ย่าตายาย มียิวฝั่งละ 1 คน ถือเป็นลูกครึ่งยิว (แม้คนรุ่นพ่อแม่จะได้รับการยอมรับให้เป็นคนเยอรมัน) และจะมีสถานะเป็นยิวเต็มตัวเมื่ออาศัยอยู่ในชุมชนชาวยิวหรือแต่งงานกับชาวยิว 

ภาพนี้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียนระดับ KS 3, 4, 5 (เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาบ้านเรา) ในประเทศอังกฤษและเวลในปัจจุบัน โดยระบุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ว่า เพื่อให้นักเรียนเข้าใจการเกิดขึ้นของนาซี ความเชื่อเรื่องการเหยียดเชื้อชาติของนาซี และแนวคิดการต่อต้านยิว โดยหลักสูตรของอังกฤษและเวลส์กำหนดให้นักเรียนดูภาพสมุดการบ้านข้างต้นแล้วแลกเปลี่ยนถกเถียงกันว่า ขบวนการซีได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของเยาวชนในเยอรมนียุคนั้นอย่างไรบ้าง

เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคนาซีพุ่งเป้าไปที่ตำราเรียนและการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากกว่ามหาวิทยาลัย นอกจากการเปลี่ยนแปลงตำราเรียน หลักสูตร รวมถึงตัวครูผู้สอนแล้ว พรรคนาซียังตั้งโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กนักเรียนชายขึ้นมาเพื่อผลิตผู้นำในอนาคต ใช้ชื่อว่า ‘โรงเรียนอดอล์ฟฮิตเลอร์’ (Adolf-Hitler-Schulen)

ตัวอย่างจาก 3 ประเทศข้างต้น น่าจะเพียงพอที่จะเป็นบทเรียนให้กับผู้รับผิดชอบผลิตตำราเรียนในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ได้มองเห็นความสำคัญของคนที่มีหน้าที่สร้างหลักสูตร และผลิตหรือควบคุมเนื้อหาตำราเรียน 

ก่อนที่เราจะไปถกเถียงกันว่าเนื้อหาของตำราเรียนควรมีอะไรบ้าง เราอาจต้องมาตั้งหลักกันใหม่ตั้งแต่การสร้างภาพสังคมในอนาคตร่วมกัน แล้วหาคำตอบว่าตำราเรียนควรมีบทบาทในการสร้างสังคมเช่นนั้นอย่างไรบ้าง แล้วมาร่วมกันพิจารณาโครงสร้างสังคมในปัจจุบัน เพื่อหาตำแหน่งที่ลงตัวของตำราเรียนในระบบการศึกษายุคดิจิทัล รวมถึงการวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้มีหน้าที่เขียน ผลิต หรือควบคุมคุณภาพตำราเรียน เมื่อนั้นเราอาจพบว่าการสร้างตำราเรียนที่คนรุ่นอดีต เขียนให้คนปัจจุบันเรียน เพื่อสร้างโลกอนาคต เป็นแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้วก็ได้ 

อ้างอิง

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า