อ่าน-อ่าน-อ่าน แบบฟินแลนด์ ตอนที่ 1

ภาพประกอบ: Shhhh

 

อีกไม่ถึงเดือน วาระสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็จะกลับมาเยือนอีกครั้ง ปีนี้เขามาในธีม ‘อ่าน-อ่าน-อ่าน’ และฟินแลนด์ก็ได้รับเชิญให้เป็นแขกพิเศษ หรือ Guest of Honour เสียด้วย จึงอดไม่ได้ที่จะขอเล่าความเป็นมาเป็นไปของวัฒนธรรมการอ่านแสนสตรวอง…ของคนในดินแดนหนาวเหน็บแห่งนี้ กว่าจะมีวันนี้ ฟินแลนด์ทำอะไรบ้าง และกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อรักษานิสัยรักการอ่านนี้เอาไว้ไม่ให้หนีไปไหน

วรรณกรรมสุดคลาสสิก เจ็ดภราดร (Seitsemän Veljestä) ประพันธ์โดย อเล็กซิส กิวิ (Alexis Kivi) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1870 เล่าเรื่องพี่น้องกำพร้าเจ็ดคนผู้ชื่นชอบการถกเถียงกับผู้คนมากมาย จนไม่มีใครอยากได้เป็นลูกเขย แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน พวกเขาจึงจำเป็นต้องหัดอ่านให้แตกฉาน เพราะเป็นข้อกำหนดของพิธี ด้วยความดื้อดึง พวกเขาจึงตัดสินใจหนีเข้าป่า แต่ท้ายที่สุดก็หัดเรียนการอ่านเขียนด้วยตัวเอง และกลับเข้าหมู่บ้านได้สำเร็จ

เจ็ดภราดร ถือเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องในฟินแลนด์ในฐานะนิยายภาษาฟินแลนด์เล่มแรก และด้วยความสมจริงของเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในสมัยนั้น ทั้งยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านของฟินแลนด์ ในฐานะรากฐานของประเทศอีกด้วย[1] การอ่านออกเขียนได้จึงนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์ใช้สร้างความเสมอภาคในประเทศได้สำเร็จ การอ่านและการศึกษาจึงถือเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศมาได้จนถึงทุกวันนี้

credit: finnkino.fi

แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายดายหรอก ดังที่นิยายเล่าไว้ว่า กว่าเจ็ดพี่น้องจะอ่านออกเขียนได้สำเร็จ พวกเขาก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ดังคำว่า ‘sisu’ ในภาษาฟินแลนด์ซึ่งอ่านไปอ่านมาเหมือน ‘สู้สู้’ แต่หากแปลแล้วน่าจะแปลได้ว่า ความมานะบากบั่น กล้าหาญ อดทน กว่าที่ฟินแลนด์จะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ พวกเขาพยายามวางรากฐานสวัสดิการต่างๆ ไว้มากมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่าย จนในที่สุดเขาก็สามารถสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เป็นสมบัติของคนในประเทศได้

แล้ววัฒนธรรมการอ่านที่ว่าหน้าตาแบบไหน (สถิติปี 2014)[2]

  • ฟินแลนด์มีประชากร 5.5 ล้านคน ขายหนังสือกว่า 20 ล้านเล่มในแต่ละปี คิดง่ายๆ ก็คือคนหนึ่งคนจะซื้อหนังสือประมาณสี่เล่มต่อปี (รวมลูกเด็กเล็กแดงแล้วด้วย)
  • คนฟินแลนด์ 1 ใน 6 ในช่วงอายุ 15-79 ปี ซื้อหนังสืออย่างน้อย 10 เล่มต่อปี
  • 3 ใน 4 คนจะซื้อหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มต่อปี
  • คนฟินแลนด์ใช้เงินประมาณ 300 ยูโร หรือประมาณ 11,000 กว่าบาทต่อปีไปกับหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ
  • คนฟินแลนด์ชอบอ่านสารคดีมากที่สุด
  • มีการตีพิมพ์หนังสือใหม่ๆ กว่าหมื่นเล่มต่อปี
  • สัดส่วนหนังสือภาษาฟินแลนด์สูงกว่าหนังสือแปลกว่าห้าเท่า
  • ปี 2015[3] มูลค่าการตลาดของสิ่งพิมพ์ซึ่งรวมสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้วอยู่ที่ 232 ล้านยูโร หรือประมาณ 8,816 ล้านบาท (ไม่รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสิ่งพิมพ์ 24 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์) แบ่งเป็น
    • สิ่งพิมพ์ประเภทสารคดี (82 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,116 ล้านบาท) ได้รับความนิยมมากกว่าวรรณกรรมประมาณสองเท่า (34.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,311 ล้านบาท)
    • มูลค่าการตลาดของหนังสือเรียนคือ 80.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,070 ล้านบาท

เหมือนกับหลายๆ ประเทศ มูลค่าสื่อสิ่งพิมพ์ในฟินแลนด์มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สิ่งพิมพ์ดิจิตอลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1-4 ของปี 2016 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 11.3 เปอร์เซ็นต์

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า การสร้างวัฒนธรรมนั้นต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ

  • ห้องสมุดประเทศนี้เข้าฟรีทั้งหมด
  • โดยเฉลี่ย คนฟินแลนด์หนึ่งคนจะยืมหนังสือจากห้องสมุดประมาณ 12 เล่มต่อปี
  • เทศบาลทุกแห่งต้องมีห้องสมุดประจำอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
  • ทั่วประเทศนี้มีห้องสมุดกลาง 300 กว่าแห่ง
  • ห้องสมุดสาขา 500 กว่าแห่ง
  • ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย รัฐจะจัดหาห้องสมุดเคลื่อนที่ไปบริการประชาชน (มีจำนวนประมาณ 150 คัน และมีป้ายจอด 12,500 แห่งตามเมืองต่างๆ แถมมีเรือห้องสมุดอีกหนึ่งแห่ง) แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นเพียงร้อยละ 10 ของสถิติการยืมหนังสือโดยรวมเท่านั้น
  • แต่กระนั้นห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นก็เดินทางกว่า 50,000 กิโลเมตรต่อปี ในพื้นที่ห่างไกลห้องสมุดเคลื่อนที่ต้องเดินทางมากกว่านี้มาก คันหนึ่งอาจมีหนังสือและสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ บรรจุอยู่มากกว่า 4,000 เรื่อง
  • ประชากรกว่าร้อยละ 40 เป็นขาประจำห้องสมุด และใช้ห้องสมุดอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง

คนที่นี่เชื่อว่านิสัยรักการอ่านต้องสร้างที่บ้านก่อน นี่ถือเป็นแนวคิดหลักในการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ครอบครัวจึงถือว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ พ่อแม่ฟินแลนด์กว่าร้อยละ 75 อ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟังเพื่อเป็นการสร้างนิสัยในการอ่านที่ดีต่อไปในอนาคต[4]

credit: finland.fi

นอกจากนี้องค์กรอื่นๆ ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น The Finnish Reading Center ซึ่งถือเป็นองค์กร NGO ทีสนับสนุนการอ่านของประชากรในฟินแลนด์ ทำงานร่วมกับสมาคมหนังสือและสถาบันต่างๆ อีกกว่า 10 สถาบัน เพื่อส่งเสริมการอ่านร่วมกับโรงเรียนและห้องสมุดทั่วฟินแลนด์ ในปี 2015 มีการจัดโครงการที่ชื่อว่า ‘100 authors, thousands of encounters’ ช่วยสนับสนุนให้นักเขียนได้พบปะผู้อ่านและนักเรียนตามโรงเรียนมากขึ้น ในโครงการนี้นักเขียนยังได้เข้าไปในเรือนจำ โรงพยาบาล เพื่อพบปะนักอ่านอีกด้วย

แน่นอนว่าโรงเรียนเป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจทีเดียว จึงขอยกยอดไปเล่าในตอนถัดไป โปรดติดตาม

ทำกันมาขนาดนี้แล้ว ผลลัพธ์ของการเริ่มก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการอ่านเมื่อ 140 กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างไรกัน

  • ฟินแลนด์มีอัตราการอ่านออกเขียนได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
  • คะแนน PISA ประจำปี 2015 ในหมวดการอ่านของฟินแลนด์นั้นอยู่อันดับที่ 5 ของตาราง (อันดับแย่ลงกว่าครั้งก่อน)
  • ตามงานวิจัย World’s Most Literate Nations จาก Central Connecticut State University ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ดีที่สุดในโลก (รวบรวมจากผลการทดสอบต่างๆ พฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ จำนวนห้องสมุด ปีที่เข้าเรียนหนังสือ และจำนวนคอมพิวเตอร์ที่มีใช้ในประเทศ)[5]

เท่าที่สำรวจมาก็ไม่มีสูตรอะไรซับซ้อน คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนเห็นคุณค่าของการอ่าน และทำให้การอ่านเป็นเรื่องง่ายเข้าถึงได้ทุกคน และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

  • สร้างรากฐานวัฒนธรรมจากสิ่งที่พื้นฐานมาจากความเชื่อว่าการอ่านออกเขียนได้สำคัญ และต้องให้คุณค่าเพื่อที่จะได้มีสิทธิและความเสมอภาคในสังคมได้
  • ครอบครัวช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนช่วยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้
  • รัฐจัดหาพื้นที่และสิ่งพิมพ์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค (ฟรีนั่นเอง)

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:[1] Finnish Lessons 2.0 เขียนโดย Pasi Sahlberg แปลโดย วิชยา ปิดชามุก สำนักพิมพ์ Open Worlds
[2] finland.fi
[3] Breakdown of sales by type of literature 2015 / 
tilastointi.kustantajat.fi
[4] publishingperspectives.com
[5] theguardian.com

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า