จัดกระเช้านโยบายต้อนรับ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่

เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่างลงอีกครั้ง หลังคำพิพากษาจำคุก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ หนึ่งในแกนนำ กปปส. เป็นเวลา 6 ปี 16 เดือน รอการแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่มาสานต่อนโยบายที่ค้างคา หรืออาจผุดนโยบายใหม่ๆ ขึ้นมาอีกไม่น้อยก็มาก 

การมาหรือจากไปของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะครั้งไหน ล้วนส่งผลกับทิศทางการศึกษาไทยทั้งสิ้น หลายนโยบายที่ถูกประกาศออกไปต้องหยุดชะงัก ขาดความต่อเนื่อง โครงการต่างๆ ที่ครูกำลังหัวหมุน อาจต้องล้มพับแล้วถูกแทนที่ด้วยโครงการใหม่ๆ ให้หัวหมุนกันต่ออีกนับไม่ถ้วน 

ในวาระแห่งการรอคอย รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ กองบรรณาธิการ WAY ได้หีบห่อกระเช้าที่ด้านในบรรจุด้วยนโยบายการศึกษาที่ค้างคาจากรัฐมนตรีคนก่อนที่ต้องโทษจำคุก …มีอะไรรอให้สะสางอีกบ้าง

1

ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

เริ่มต้นด้วยคำสั่งจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ เมื่อช่วงปลายปี 2562

คำสั่งนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนาหู ก่อนจะเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อมีหนังสือลงนามเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะห่างกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ด้วยเหตุว่า “เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรและการบริหารจัดการ” 

ข้อมูลจาก สพฐ. ปี 2562 ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กราว 15,158 แห่ง มีนักเรียนจำนวน 981,831 คน และมีครูในโรงเรียนเหล่านั้น 103,079 คน 

นั่นแปลว่า มีคนจำนวนหลักล้านจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงครอบครัวของนักเรียนจำนวนมหาศาลที่ต้องแบกรับต้นทุนแนบท้ายกับการที่ลูกหลานต้องโยกย้ายโรงเรียนไปไกลกว่าเดิม มากไปกว่านั้น คือการขาดพื้นที่ทางสังคม 

อาจเร็วไปหากจะบอกว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการจัดสรรทรัพยากรการศึกษา คือการจับเด็กและครูมามัดรวมกันโดยไม่เมียงมองมิติทางชุมชนและสังคม ตลอดจนราคาที่ต้องจ่ายของผู้ปกครองในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในเว็บไซต์ประชาไท ว่า “หน่วยงานท้องถิ่นมีบทบาทต่อสถานศึกษามาก เพราะสถานศึกษาคือหนึ่งในกลไกยึดเหนี่ยวชุมชนไม่ให้กระจัดกระจาย ถ้าคุณไม่มีโรงเรียนอยู่ คนรุ่นใหม่ใครจะอยากอยู่ที่ชุมชน ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ แล้วกิจกรรมในชุมชนจะไปต่อยังไง จะเอาภาษีมาจากไหน เขาลงทุนกับชีวิตของเด็กเพราะเขารู้ว่ามันคือตัวดึงดูดที่ทำให้ชุมชนไปต่อได้ หนุ่มสาวยังอยากอยู่ในชุมชนเพราะรู้ว่ามีโรงเรียนอยู่”

สิ่งที่ตกอยู่บนไหล่บ่า รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่คือ จะเข็นนโยบายนี้ต่อไปอย่างไร และจะมีคำตอบให้แก่เด็ก ผู้ปกครอง และครู ในโรงเรียนเหล่านี้ที่จะต้องถูกยุบอย่างไร 

2

ปลดล็อค ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง

3 นโยบายยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ อันเป็นแนวนโยบายที่อดีตเจ้ากระทรวงทิ้งค้างไว้ 

หนึ่ง – ‘ปลดล็อค’ คือการปลดล็อคกฎหมายและระเบียบราชการต่างๆ ที่ทำให้กลไกการทำงานภายในไม่ไหลลื่น และการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเป็นไปได้ยาก เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเกิดเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น

สอง – ‘ปรับเปลี่ยน’ การพัฒนาการศึกษาไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะทุกวันนี้โลกเราหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความต้องการของตลาดแรงงานและสังคมก็เปลี่ยนตาม ดังนั้นการศึกษาจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้

เป้าหมายแรกของการปรับเปลี่ยนคือ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน จากหลักสูตรมาตรฐานที่ใช้ไม้บรรทัดอันเดียววัดทุกคนเหมือนกันหมด โดยเปลี่ยนเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถและศักยภาพ หรือ Competency เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสพัฒนาความสามารถไปตามความถนัดและเส้นทางอาชีพที่ตนเองสนใจ และที่สำคัญคือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

สาม – ‘เปิดกว้าง’ คือการเปิดเสรีทางการศึกษา ให้เอกชนที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา ไม่เพียงร่วมกับภาครัฐในการบริหารสถานศึกษา แต่ยังสามารถสร้างสรรค์และนำเสนอหลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอน รวมถึงร่วมประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านช่องทางหรือกลไกขับเคลื่อนการศึกษาต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดเตรียมไว้

3

แผนบรูณาการการศึกษาทั่วประเทศ

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส. และ รมว.ศึกษาธิการ เคยประกาศแผนบูรณาการการศึกษาทั่วประเทศเป็นนโยบายหลักในปี พ.ศ. 2564 อิงตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เน้นความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงกับการบริหารงบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอน และการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีความยั่งยืน

แผนบูรณาการการศึกษาที่ว่านี้ มีการลงพื้นที่สำรวจและพัฒนาโดยใช้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ มีการวาง 3 แนวทางในการพัฒนาโรงเรียน ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1 พัฒนา ‘โรงเรียนคุณภาพชุมชน’ ระดับประถมศึกษา โดยเลือกโรงเรียนและทุ่มงบพัฒนาเพื่อดึงดูดนักเรียนเข้ามาเรียน ซึ่งการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชนถือเป็นการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปในตัวอีกด้วย

แนวทางที่ 2 พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ. ประมาณกว่า 1,000 แห่ง ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (stand alone) 

แนวทางที่ 3 ยกระดับโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง โดยพัฒนาโรงเรียนมัธยมรอบนอกให้มีคุณภาพเท่าเทียมกับโรงเรียนมัธยมในตัวเมือง เพื่อกระจายจำนวนนักเรียนและลดความแออัดในโรงเรียน

ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีการแต่งตั้งศึกษาธิการภาค จำนวน 6 คน ประจำภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในพื้นที่ระดับภูมิภาคให้เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

อาจเรียกได้ว่า แผนดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากไอเดียของณัฏฐพล ในช่วงหลังเกิดสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง จึงพยายามผลักดันแผนการศึกษาจังหวัด ด้วยคอนเซ็ปต์ในการใช้การศึกษากระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัด ทั้งจังหวัดขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ผ่านโรงเรียนคุณภาพชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง 

4

หลักสูตรฐานสมรรถนะ

9 กุมภาพันธ์ 2564 อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ภายในปี 2565 ไทยจะพัฒนาและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา โดยการจัดทำหลักสูตรการอิงสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ซึ่งหลักสูตรใหม่จะเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เมื่อเรียนแล้วผู้เรียนได้สมรรถนะอย่างไรบ้าง และจะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยขึ้น เช่น การเรียน Coding เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก 

ระหว่างจัดเตรียมหลักสูตรมีวี่แววว่า ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ พยายามจะล้มกระดานหลายต่อหลายครั้ง แต่ความคืบหน้าในปัจจุบันอาจสรุปได้ว่า หลักสูตรนี้ยังคงเดินหน้าต่อ

“หลักสูตรที่จัดทำใหม่ไม่ได้เป็นการพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะปัจจุบันหลักสูตรที่ใช้อยู่ก็อิงสมรรถนะผู้เรียนอยู่แล้ว แต่จะปรับให้ทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นครูจะต้องปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากปัญหาและแสวงหาวิธีแก้ เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ใหม่ผ่านการเรียนการสอนลักษณะนี้” อัมพรกล่าว

หลักสูตรฐานสมรรถนะถือเป็นเครื่องวัดสมรรถนะของผู้เรียนแต่ละกลุ่มตามช่วงอายุ เป้าหมายของหลักสูตรฐานสมรรถนะจะช่วยเค้นศักยภาพของเด็กตามความถนัด ซึ่งต่อไปจะเน้นการเรียนเฉพาะกลุ่มสาระวิชาหลักเท่านั้น จากนั้นจะเป็นการเรียนที่ให้ผู้เรียนได้ค้นเจอศักยภาพของตัวเอง โดย สพฐ. จะมีการทดลองนำร่องในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับหลักสูตรใหม่เพื่อแจกจ่ายให้กับครูทั่วประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อมีการเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ โครงการพัฒนาปรับเปลี่ยนหลักสูตรสมรรถนะจะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ ต้องคอยติดตามกันต่อว่าอนาคตการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่รอไม่ได้คือ อนาคตของนักเรียนไทยทั่วประเทศที่จะต้องเดินหน้าต่อไป

5

Coding by คุณหญิงกัลยา

9 สิงหาคม 2562 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงนโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21 หนุนเด็กไทยต้องได้เรียน Coding พร้อมพัฒนาหลักสูตรให้เป็นรูปธรรม ก้าวทันเทคโนโลยีและโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ปัจจุบันวิชา Coding กำลังดำเนินการในโรงเรียนตามแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการ ขณะเดียวกัน บุคลกรทางการศึกษามากมายต่างมีข้อกังวลถึงความพร้อมของครูที่ยังขาดองค์ความรู้ในการสอนและถ่ายทอดความเข้าใจสู่นักเรียน เนื่องจากแก่นแท้ของหลักสูตรนี้ คือการสอนให้เด็กทำงานเป็นขั้นตอน แก้ปัญหาอย่างมีกระบวนการ ฝึกตรรกะในการคิด 

Coding คือวิชาใหม่ที่ใส่เข้าไปในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนอย่างเป็นทางการ (National Standards) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยเริ่มตั้งแต่ชั้น ป.1 

Coding คือส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาการคำนวณที่บรรจุอยู่ในสาระเทคโนโลยี กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ค้นเจอปัญหาและเงื่อนไข รู้เหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษใหม่

แก่นแกนของวิชา Coding เป็นเรื่องที่สนุกและจับต้องได้ แต่หากครูขาดทักษะ เครื่องมือ วิธีการสอน ไปจนถึงขาดงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยให้การเรียนรู้สนุก เช่น coding toys คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ฮาร์ดแวร์ และเครื่องมืออื่นๆ อาจทำให้ปลายทางของวิชานี้ไม่บรรลุจุดหมายที่ควรจะเป็น 

6

เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครู (อีกครั้ง)

ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่จัดทำโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้นำเสนอแนวทางสำคัญ 7 เรื่อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และมีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ หนึ่งในนั้นคือ การเตรียมปรับแนวทางการเลื่อนวิทยฐานะของครู

ในช่วงท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ก่อนที่ณัฏฐพลจะถูกตัดสินจำคุก ได้มีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ซึ่งหลังจากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า การผลักดันเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครูจะบรรลุฝั่งฝันหรือไม่ และจะมีแรงกระเพื่อมจากฝั่งข้าราชการครูต่อเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง ซึ่งได้มีการทบทวนและเตรียมปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามข้อกฎหมาย
  2. การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน โดยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความต่อเนื่อง ทั่วถึง และเท่าเทียม
  3. การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสทุกช่วงวัยให้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  4. การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ โดยมีการวางแผนการผลิตครูระบบปิด เพื่อพัฒนาครูให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รวมทั้งเตรียมดำเนินการเรื่องการขอวิทยฐานะของครูให้มีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นผลเชิงประจักษ์
  5. การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีการศึกษาวิจัยและนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับชั้น ป.1-3 ในปีงบประมาณ 2562 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะผู้เรียนให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย
  6. การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพของการศึกษา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน และจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น
  7. การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ได้จัดทำโครงการดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะออกแบบและจัดทำระบบฟังก์ชั่นการใช้งานภายในแพลตฟอร์ม ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563
อ้างอิง

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า