‘ปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์’ ยิ่งขัดสน ยิ่งต้องเพิ่มโอกาส

ช่วงเวลาของเด็กปฐมวัย คือนาทีทองแห่งพัฒนาการการเรียนรู้ตลอดชีวิต 6 ขวบปีแรกจึงเปี่ยมด้วยความหมายที่ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดควรให้ความสำคัญ

หลักสูตร ‘ปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์’ (RIECE Curriculum) ภายใต้ โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE) พัฒนามาจากหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ผ่านการสอนที่เน้นการเรียนรู้ด้วย ‘การเล่น’ ที่ส่งเสริมทักษะในการวางแผน (plan) การปฏิบัติ (do) และการทบทวน (review) หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ โดย ‘การเล่น’ ที่ว่านี้จะเป็นการให้โอกาสเด็กคิดการเล่นอย่างอิสระ เด็กจึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงทำให้เกิดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

หลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ เป็นการต่อยอดขึ้นมาจากข้อค้นพบของศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮ็คแมน (James J. Heckman) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) เพื่อใช้ในโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ซึ่งข้อค้นพบของเฮ็คแมนแสดงให้เห็นว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) จากหลักสูตรไฮสโคป ในโครงการ ‘Perry Preschool’ มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ

การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท

จาก ‘Perry Preschool’ สู่ ‘ปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์’

เมื่อ ‘Perry Preschool’ ได้ปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย นักวิจัยไทยได้ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์กว่า 50 ศูนย์นำโปรมแกรมนี้ไปใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เรียกว่า หลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ โดยปีแรกของการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกระบวนการวางแผน การลงมือทำ และการทบทวน (Plan-Do-Review: PDR)

ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจคือ

เด็กปฐมวัยที่เรียนภายใต้หลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์มีโอกาสที่จะผ่านเกณฑ์มากกว่าเด็กอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ โดยรวมผลลัพธ์ที่กล่าวมาข้างต้นบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า หลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ดีกว่าหลักสูตรอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในพื้นที่วิจัย

นอกจากนี้ ในการวิจัยชิ้นเดียวกัน นักวิจัยยังได้ตอบคำถามที่ว่า “หลักสูตรปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ส่งผลต่อเด็กแต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างไร?” โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับปัจจัยด้านการที่ทั้งพ่อและแม่ไม่ได้อาศัยอยู่ในครัวเรือน เนื่องจากเด็กปฐมวัยไทยจำนวนมากไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่

ในงานวิจัยเรื่อง Do Parental Absence and Children’s Gender Affect Early Childhood Investment? Evidence from Rural Thailand ผู้เขียนคือ หง็อก ทู ดินห์ (Ngoc Tu T. Đinh) และ วีระชาติ กิเลนทอง พบว่า กว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย โครงการปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ได้ดีกว่าเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง มากกว่านั้นเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มักเป็นเด็กที่ขาดโอกาสมากกว่า

ความพร้อมของเด็กปฐมวัยและความขัดสนของครอบครัว

ในขณะเดียวกัน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เก็บข้อมูลความพร้อมของเด็กปฐมวัยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศภายใต้ โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ซึ่งผลการวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ว่าความพร้อมของเด็กปฐมวัยไทยในบางประเด็นยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อาทิ ด้านการรู้จักตัวเลข (number identification) ด้านการแปลงรูปในใจ (mentaltransformation) ซึ่งเป็นทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านความเข้าใจในการฟัง (listening comprehension) ซึ่งเป็นทักษะด้านภาษา ด้านความจำขณะทำงาน (working memory) ซึ่งเป็นทักษะแบบ EF และด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor) ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าเป็นกังวล

แต่หากพิจารณาจากความพร้อมด้านการรับประทานอาหาร พบว่า เด็กปฐมวัยเกือบทั้งหมด (มากกว่าร้อยละ 97) ได้ทานอาหารเช้า และผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่าบุตรหลานของตนได้ทานอาหารครบ 5 หมู่ ข้อค้นพบทั้ง 2 ส่วนนี้ยืนยันว่า ในด้านโภชนาการโดยเฉพาะการได้ทานอาหารเช้าไม่ใช่ปัญหาสำคัญของเด็กปฐมวัยไทย

ร้อยละของเด็กกลุ่มตัวอย่างที่ทานอาหารเช้าในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (แยกรายจังหวัด)

แต่ประเด็นที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือ ความขัดสนของครอบครัว ซึ่งในที่นี้วัดจากความถี่ของการที่ครอบครัวเคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลชี้ให้เห็นว่ามีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่เคยประสบปัญหาอาหารไม่เพียงพอในรอบ 1 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบเด็กปฐมวัยด้านความเข้าใจในการฟัง ด้านการรู้จักตัวเลข และด้านการแปลงรูปในใจ (ซึ่งเป็นทักษะด้านคณิตศาสตร์อันหนึ่ง) ระหว่างเด็กที่มาจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภคและเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่เคยมีปัญหาพบว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่มาจากครอบครัวที่เคยมีปัญหาดังกล่าวต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน

ข้อมูลจากโครงการไรซ์ไทยแลนด์ยังได้สะท้อนทิศทางที่น่าสนใจอีกว่า เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ซึ่งมักเป็นเด็กที่ขาดโอกาสมากกว่าเด็กทั่วไป หรืออาจจะมองได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีความขัดสนมากกว่า และเมื่อเข้าสู่โครงการปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์แล้วเด็กมีแนวโน้มในการพัฒนาที่ชัดเจน แม้ว่าเครื่องมือในการวัดผลในงานวิจัยดังกล่าวอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งในแง่ปริมาณและตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมากพอในการชี้ให้เห็นพัฒนาการเด็กในทุกด้าน แต่สัญญาณที่ดีจากโครงการปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ก็เป็นความพยายามที่เห็นผลครั้งแรก ในการประยุกต์ใช้งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกมาสู่เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล และงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นต่อไปก็คือ การประยุกต์ใช้เครื่องมือสำรวจที่พัฒนาขึ้นจากโครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ในการประเมินผลกระทบของโครงการปฐมวัยไรซ์ไทยแลนด์ว่า จะสามารถช่วยพัฒนาและลดช่องว่างด้านความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ได้หรือไม่

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Heckman, J. J., Moon, S. H., Pinto, R., Savelyev, P. A., and Yavitz, A. (2010). The Rate of Return to the HighScope Perry Preschool Program. Journal of Public Economics, 94(1-2):114-128.

Chujan, W. and Kilenthong, W. T. (2019). An Early Evaluation of a HighScope-Based Curriculum Intervention in Rural Thailand.

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า