เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว: จะตกงานหรือได้งาน วุฒิการศึกษาอาจไม่ใช่ใบเบิกทางอีกต่อไป

สถานการณ์การว่างงานของไทย หากเทียบกับต่างประเทศแล้วดูจะไม่น่ากังวลเท่ากับ ‘ช่องว่างทางทักษะ’ (skill gap) ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นเสนอว่า ช่องว่างนี้ส่งผลต่อการจ้างงานและการเติบโตทางธุรกิจด้วย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ไวรัส COVID-19 มีคนเสี่ยงตกงานมากถึง 8.4 ล้านคน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พฤษภาคม 2563 พบแนวโน้มไปในทางเดียวกันว่า การตกงานจะมีอัตราสูงสุดในไตรมาส 2 ก่อนจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ก่อนหน้านั้น ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินนักศึกษาจบการศึกษาใหม่ในเดือนมิถุนายน 2563 ประมาณ 280,000-300,000 คน คาดว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จะไม่สามารถหางานทำได้ในระยะ 6-18 เดือนหลังเรียนจบ ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่จะมีโอกาสหางานทำได้มากกว่าหากไม่เลือกงาน โดยแรงงานกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labour) จะเข้ามาทดแทนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนที่ไม่เคลื่อนย้ายกลับมาทำงานในไทย

ข้อมูลข้างต้นชวนให้คิดต่อว่า ช่องว่างทางทักษะของไทยที่ย่ำแย่มาก่อนวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะปะทุแรงขึ้นไปอีกนานแค่ไหน และจะแก้ไขปัญหานี้กันได้อย่างไร 

ถัดจากนี้คือทัศนะของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาช่วยวิเคราะห์และตอบคำถามเส้นทางของแรงงานไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียนจบใหม่ และหนทางต่อไปหลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษาและตลาดแรงงานไทยอย่างไร พร้อมด้วยข้อเสนอหลายประการที่อาจช่วยชี้ทางให้เยาวชนยุคหลัง COVID-19 ลดความเสี่ยงที่จะเดินเตะฝุ่น 

ช่องว่างทางทักษะในกรณีของไทยรุนแรงแค่ไหน

skill gap หรือ ‘ช่องว่างทางทักษะ’ หมายถึงการที่ใครจะทำงานที่ไหนก็ตาม สิ่งที่ต้องเจออย่างแรก คือ ความคาดหวังของนายจ้าง อย่างที่สองคือ สิ่งที่เราทำได้จริง สมมุตินายจ้างคาดหวังให้เราทำได้ 100 อย่าง แต่เราทำได้ 50 อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในแง่นี้ไม่ว่านายจ้างที่ไหนก็ไม่เคยได้ลูกจ้างในอุดมคติเลย เพียงแต่ช่องว่างทางทักษะต้องไม่ห่างกันมากเกินไปจนไปกระทบกับธุรกิจ

กรณีของไทยช่องว่างทางทักษะหนักหนาสาหัส จนนายจ้างกว่าร้อยละ 80 ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อการทำธุรกิจของเขาด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามไปได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศล้วนมีช่องว่างทางทักษะ รวมถึงประเทศเยอรมนี สวีเดน สิงคโปร์ แต่ช่องว่างนั้นเมื่อผ่านไปสักระยะจะถูกปิดได้เร็วมาก เร็วกว่าประเทศไทยถึงเกือบ 4 เท่าตัว เช่น ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เมื่อแรงงานทำงานไปได้ 2-3 ปี ช่องว่างจะถูกปิด แต่แรงงานของไทยทำงานไปแล้ว 8-10 ปี ช่องว่างนี้ก็ยังคงอยู่

ที่สำคัญหากดูข้อมูลในระดับจังหวัดแล้วแยกออกมา จะพบข้อมูลที่น่าตกใจมากคือ เวลาจังหวัดมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนา มีการลงทุนสูง ในด้านหนึ่งรายได้ต่อหัวเพิ่มมากขึ้น แต่ด้านหนึ่งคนไม่ได้พัฒนาให้เก่งเท่าทันกับความซ้ำซ้อนทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เมื่อวิ่งไปถึงจุดหนึ่งก็ตันแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะพอคนถึงจุดหนึ่งแล้วไม่พัฒนาต่อ นายจ้างและนักลงทุนก็จะเลือกลงทุนเฉพาะพื้นที่ที่มีคนพร้อม จึงเหลือเป็นรากของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไปด้วย

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ เพียงแค่เราเปลี่ยนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง วินโดว์อัพเดทขึ้นมา และต้องศึกษาอะไรใหม่ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เมื่อก่อนในยุค 2.0 โลกเราเปลี่ยนช้า บางเรื่องเรารอได้ 3-4 ปีค่อยแก้ แต่ตอนนี้เราอยู่ในโลก disruption ที่เปลี่ยนเร็วมาก เพราะฉะนั้นปัญหาช่องว่างทางทักษะจะต้องถูกแก้ให้เร็วขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้

ดูเหมือนว่าช่องว่างทางทักษะจะมีอยู่หลายกลุ่ม อยากให้ช่วยอธิบายว่ากลุ่มที่มีปัญหาและกลุ่มที่ไม่มีปัญหา คือใครบ้าง

อาจจะแบ่งได้สองแบบ คือ กลุ่มที่เรียกว่า hard skill (ทักษะที่เชี่ยวชาญในงานแต่ละประเภท) และ กลุ่ม soft skill (ทักษะทางอารมณ์ที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น) ที่น่าตกใจคือในท็อป 5 หนักที่สุด คือทักษะที่ต้องไปทำงานและทำงานเป็น และ 4 ตัวที่รองลงมาคือ วินัย ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ถือเป็นเรื่องใหญ่ 

งานวิจัยที่ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ได้ทำมาก่อนหน้านี้ พบว่านายจ้างส่วนใหญ่มองคุณสมบัติเหล่านี้สำคัญมากกว่าใบปริญญาเสียอีก เพราะถ้าแรงงานมีคุณสมบัติที่ว่ามา นายจ้างเขาก็พร้อมที่จะสร้างคนให้ไปต่อได้ แต่กลายเป็นว่าแรงงานของเราขาดสิ่งเหล่านี้

เพราะฉะนั้นปริญญาที่เป็นใบเบิกทาง จะเบิกเข้าไปได้แค่เข้าไปทำงาน แต่ไม่สามารถทำให้เขามีชีวิตที่ดีตลอดไปได้

เทรนด์ของนายจ้างแบบนี้ยังมีอยู่ไหมหรือเปลี่ยนไปบ้างแล้ว

ที่ผ่านมาลักษณะของงานจะคาดเดาได้ เช่น หากเป็นข้าราชการจะรู้ว่าจะต้องทำ 1-2-3-4-5 ถ้าเป็นพนักงานบริษัทอิเล็กทรอนิกส์จะรู้ว่าต้องทำอะไร เพราะตอนเราเข้าทำงานกับตอนเราเกษียณ โรงงานจะผลิตสินค้าคล้ายๆ ของเดิม อาจจะเจอการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ บ้าง แต่หัวใจคือการใช้อุปกรณ์แบบเดิม เพราะฉะนั้นโลกแบบนั้นมันจึงนิ่ง จึงสามารถออกแบบหลักสูตรให้คนมีความรู้ชุดหนึ่งได้และใช้ทั้งชีวิตได้ สามารถใช้ระบบการประเมินเป็นขั้น อนุปริญญา ปริญญา ปวช. ปวส. ได้ จึงใช้เกณฑ์ว่าคุณต้องจบปริญญาตรีสาขานี้นะ ถ้าคุณมีเกณฑ์นี้แล้วทำงานได้ มีการจ้างงานตามวุฒิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ในช่วงปลายยุค 3.0 ต้น 4.0 โลกซับซ้อนกว่าเดิม ตำแหน่งงานเดิมไม่ได้การันตี เช่น ตำแหน่งพนักงานต้อนรับ ถ้าจบปริญญาหรืออนุปริญญา คุณพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อยก็ได้งาน แต่ตอนนี้ลูกค้ามาจากทั่วโลก แล้วมาด้วยการจองผ่านแอพพลิเคชั่นด้วย ทักษะจึงไม่ใช่แค่เรื่องเดิม แต่เป็นทักษะทางดิจิทัลด้วย รวมถึงในเวลาต่อไปจะมีคนทำงานน้อยลง พนักงานต้อนรับก็อาจจะทำงานผู้จัดการไปด้วย นั่งโพสต์ Facebook ทำการตลาดไปด้วย

ทักษะจึงหลากหลายขึ้นจนเลยขอบเขตของปริญญาที่สร้างขึ้นมา และในเมื่อปริญญาไม่ตอบโจทย์ นายจ้างจึงเลือกคนจากแฟ้มงานของทักษะที่สอดคล้องกับงานของเขา ในแง่นี้เราจะเปลี่ยนจากโลกของ degree base employment คือหางานทำตามวุฒิ มาเป็น skill base employment ที่หางานตามชุดทักษะที่เรามีอยู่ 

7-8 ปีแล้วที่อาจารย์ค้นคว้าและพบเจอประเด็นนี้ ถ้าผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ จากโลกที่อาจารย์ศึกษาอยู่ในวันนั้น จนถึงวันนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร

เราคาดว่าโลกที่เราเจอจะซับซ้อน เป็นโลกที่ไม่นิ่ง เด็กจะมีความมั่นคงในการทำงานต่ำมาก ต่อไปงานที่ทำถาวรจะไม่มีจริง เขาจะต้องเปลี่ยนอาชีพบ่อย แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนอาชีพอย่างไร เขาจะต้องมีฐานทักษะเดิมเป็นจุดตั้งต้น

เช่น ผมอาจจะทำงานเสริมสวย แต่พอทำไปสักพักหนึ่งจะมีหุ่นยนต์มาช่วยตัด ดราย มีอุปกรณ์มาช่วยคนตัดผมได้ง่ายขึ้น หรือเมื่อผมเป็นช่างเสริมสวยไม่ได้ แต่ผมมีทักษะด้านความงาม ถ้าลูกค้าหาสินค้าไม่ได้ ผมสามารถย้ายเป็น beauty blogger อาจจะเป็นคนวิเคราะห์ตลาดความงามแทน อาชีพจึงเปลี่ยนไปตามโอกาส

สิ่งที่เด็กเห็นทุกวันนี้ อีก 5 ปี จะไม่เหมือนเดิม อีก 10 ปี จะหายไป เด็กจะต้องมองข้ามช็อตเพื่อหาโอกาสให้ได้ ถ้าไม่เข้าใจความเก่งของตัวเอง ก็จะกลายเป็นฝูงปลาที่แห่ตามอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว ธุรกิจไหนกำลังมา ทุกคนแห่ไปทำหมด ออนไลน์กำลังดี ทุกคนแห่ไปทำ แต่ขาดความเข้าใจถึงจุดแข็ง รากเหง้าของตัวเอง เช่น ตัวเองเก่งศิลปะนะ เก่งวิทยาศาสตร์นะ เก่งคำนวณนะ เราไม่มีแบบนี้ เด็กสมัยนั้นจะถูกสอนว่า โตไปแล้วจะเป็นอะไร ถูกตีกรอบให้คิดจากอาชีพ แต่เมื่อเด็กจบไปจะไม่มีอาชีพที่ถาวร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียนกับอาชีพที่ต้องเจอจะไม่เหมือนกันเลย

พ.ร.บ.การศึกษาฯ เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2551 กว่า 12 ปีแล้ว แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปขนาดนี้จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าทำได้ตามกฎหมายกับนโยบายที่ออกตามมา เราคงไม่ต้องคุยถึงวันนี้หรอก (หัวเราะ) ปัญหาไม่ใช่เรื่องของไอเดีย แต่เป็นเรื่องที่เอาไปใช้จริงในภาคปฏิบัติ ที่ผู้ใหญ่ท่านมองก็มองขาดนะ ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขั้น แต่ว่าการมองขาดกับการปฏิบัติที่ให้เกิดผลจริงมันมีช่องว่างที่ใหญ่มาก การจะไปออกกฎหมายใหม่ 10 ฉบับ ก็ไม่ช่วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นใน 30,000 กว่าโรงเรียน กับ 200 มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องของการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีได้

รวมถึงการกล้าตั้งคำถามยากๆ เช่น คุณครูสมัยนี้ยังพร้อมจะเป็นครู 4.0 สักกี่คน และเราพร้อมจะฝึกฝนครูขึ้นมาสักกี่คน หรือแม้แต่อาจารย์มีเรื่องไหนบ้าง จะยอมเปลี่ยนแปลงไหม หรือจะกอดตำราที่ตัวเองเรียนมา ผมกำลังมองว่ากรอบในการทำงานที่ดีมักจะไม่สามารถทำให้เกิดมรรคผลได้ เพราะมันคือหน้างาน

การพัฒนาการศึกษาจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างไร

การศึกษาคือทุกอย่าง ถ้าเราไม่มีอะไร แต่มีการศึกษาที่ดี เราจะมีทุกอย่าง แต่ถ้าไม่มีการศึกษาที่ดี ต่อให้เรามีทุกอย่างก็จะเสียไป เพราะเศรษฐกิจคือการทำมาหากินของคน หากไปดูอารยธรรมที่รุ่งเรืองของโลก จะพบว่าล้วนมาจากการสอนให้คนตั้งคำถามเป็น แก้ปัญหาเป็น ปรับตัวเป็น เรากำลังจะเจอปัญหาเดียวกัน บางคนอาจจะบอกว่าเราให้ความสำคัญกับการศึกษาเยอะแล้วนะ มีโรงเรียนเยอะ แต่งบประมาณที่ลงไปแบบนี้ทำไมยังเกิดปัญหามากมาย เกิดอะไรขึ้น คำถามคือกล้าชี้ปัญหาอย่างชัดเจนหรือกล้าเปิดให้มีคนวิจารณ์อย่างชัดเจนได้ไหม

ตัวอย่าง บางประเทศให้พ่อแม่มีสิทธิเข้ามาออกแบบหลักสูตร ประเมินเอาครูออก ประเมินโรงเรียนว่าโรงเรียนจะเปิดต่อไปไหม จะได้งบประมาณเท่าไหร่ ฯลฯ คนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางโรงเรียน ทุกวันนี้เรายังเห็นข่าวว่านักเรียนยังต้องหมอบกราบ โรงเรียนเป็นสถาบันที่แยกออกมาแล้วยังมีศักดิ์สูงกว่าคนอื่น 

ผมอยากให้มองโรงเรียนเป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการสร้างคนของสังคม แล้วต้องยอมรับสิ่งที่สังคมคาดหวังกับเขาด้วย พอเราไม่มีกระบวนการตรวจสอบกำกับ แล้ววางตำแหน่งโรงเรียนให้สูงจนเกินไป ถ้าจะสูงมันต้องสูงตามธรรมชาติโดยชุมชนยกชูขึ้น ไม่ใช่การประดิษฐ์

สำหรับกระบวนการเข้าไปเป็นครูจนมีความมั่นคงจนเกินไป ทำให้ครูอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่น ในมหาวิทยาลัยจะมีคำพูดที่ว่า ‘publish or perish’ คือถ้าไม่ตีพิมพ์ผลงานคุณก็ต้องออกไป จริงๆ คือกลไกในการบังคับอาจารย์ให้กระตือรือร้น อยู่ในพรมแดนความรู้ที่ใหม่เสมอ เพื่อที่เด็กจบมาจะได้ไม่ตกงาน

โจทย์เดิมก็ยากอยู่แล้ว โจทย์ใหม่ก็คือ COVID-19 อีก สถานการณ์แบบนี้ทักษะแรงงานจะดำเนินไปอย่างไร

เราเรียกว่า ‘double disruption’ จริงๆ ควรเรียกว่า ‘triple disruption’ ด้วยซ้ำ คือมี disruption 4.0 ที่คนมองว่าปี 2020 เป็นต้นไปมันจะมาแรง แล้วธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนไป เมื่อ COVID-19 เข้ามา disruption ทำให้คนเปลี่ยนวิถีชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ทำให้สังคมที่คนเคยอยู่กันแออัดถูกซอยย่อยเป็นองค์ประกอบที่สอง ส่งผลต่อ disruption ที่ 3 คือวิถีของสังคมแตกต่างไปจากเดิม และส่งผลต่อการมองวิธีการใช้ชีวิตต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย

ในระยะสั้น อาจจะมีคนจ่ายเงินออนไลน์มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนประเทศไทยหา QR Code ตามร้านยากมาก พอ COVID-19 มา คนไม่อยากจับเงิน ที่ไหนก็โอนเงินได้ ไลฟ์สไตล์คนจะเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์พอถูก disrupt แล้วก็จะโหยหาอดีต บางคนบอกว่าวิถีจะเปลี่ยนไป 100 เปอร์เซ็นต์ ผมกลับมองว่าจะเปลี่ยนไปสัก 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่วิถีบางอย่างที่เคยชินอาจจะกลับมา เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนเราอยู่ตรงนี้ เราก็ขยับมาอยู่ตรงกลางๆ เพราะฉะนั้นการตีกรอบความคิดใหม่จากโรคระบาดจึงทำให้มองการจัดการศึกษาต่างกัน

ผมยกตัวอย่างทางธุรกิจ

เมื่อก่อนจะมีต้นทุนและมีรายได้ และรายได้แกว่งไม่เยอะ แต่จาก disruption ทุกครั้งจะเห็นว่ารายได้แกว่งสูงมาก พอเกิดแบบนี้บางทีอาจจะกินเข้าไปในต้นทุนที่เราเคยคิดว่ามันแกว่งไม่เยอะหรอก จ้างคน 3 คน 5 คน ก็โอเค โรงแรมอาจจะมีพนักงาน 3-5 คน ก็โอเค low season ก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นศูนย์ นักท่องเที่ยวก็ไม่มา

โมเดลนับจากนี้จึงเหมือนกับเล็กและเรียว อะไรไม่จำเป็นก็ตัดออก และพยายามรักษาต้นทุน จำนวนคนให้น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นหลังจากนี้จะเป็นโมเดลที่คนอยู่ในธุรกิจน้อย มีการจ้างงานภายนอกเป็นระยะ คนที่ตกงานจาก COVID-19 สัก 10 คน อาจจะรับกลับมาแค่ 10 คน เพราะนายจ้างรู้ว่าปรากฏการณ์อุบัติใหม่อาจจะเกิดขึ้นอีก เหมือนกับธนาคารไทยตอนเจอวิกฤติต้มยำกุ้งก่อนจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คนตกงานแล้วเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ได้การันตีว่าคนจะกลับมามีงานทำเหมือนเดิม

ในส่วนของการศึกษาต้องมาตั้งคำถามใหม่ ผมเคยคำนวณเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การเอาเด็กมารวมกันจะทำให้การจัดการต้นทุนต่อหัวของเด็กต่ำลง ถ้ามองเศรษฐศาสตร์อย่างแคบที่เอาเงินเป็นตัวตั้งก็อาจจะคุ้มค่า ฟันธงได้เลยว่าเราควรยุบโรงเรียนเล็ก แต่นั่นคืออย่างแคบ

ถ้าขยายเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เพียงแค่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แล้ววางในบริบท disruption จากที่เคยบอกว่าเด็กนั่งรถ 3 กิโลเมตรมาโรงเรียนไม่เป็นหรอก แต่ 3 กิโลเมตรที่นั่งรถกันมามันคือการเสี่ยงติดโรค และเมื่อจับเด็กมารวมกันแล้วขยายพื้นที่ออกไป โอกาสติดโรคก็เพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้นนโยบายที่ลดต้นทุนจึงไปสร้างความเสี่ยงให้เด็ก สุดท้ายโรงเรียนเหล่านี้ก็ปิดนานขึ้นเพราะไม่พร้อมจะรับมือ

หากคิดอีกมุม เราสู้ยอมทำแบบโรงเรียนเล็กๆ ให้เขากระจายกันเรียน ไม่ต้องเรียนทั้งวันได้ไหม เพราะเด็กเดินจากบ้านก็ไม่ได้ไกล บริหารจัดการได้ จากที่เราเคยมองโรงเรียนเป็นต้นทุน แต่ disruption สอนเราว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มีมิติมากกว่าแค่เรียนหนังสือ แต่มีทั้งเรื่องอาหารกลางวัน สุขอนามัย พ่อแม่ได้มีเวลาไปทำมาหากิน มันลึกกว่านั้น

การใช้ฐานต้นทุนมาเป็นส่วนสำคัญในการทำนโยบายจึงไม่เหมาะกับยุคนี้ เพราะโรงเรียนเป็นองคาพยพของพื้นที่ สามารถดูแลคนโดยครบถ้วน เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งด้านองค์ความรู้ จิตใจ และโภชนาการ

โรงเรียนไม่ได้มีแค่ให้ความรู้ แต่ยังมีส่วนผลักดันทางเศรษฐกิจด้วย อยากให้ช่วยขยายตรงที่อาจารย์ชี้ว่าให้พ่อแม่ได้มีเวลาทำงาน 

ใช่ครับ โรงเรียนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในวันนี้และในอนาคต ถ้าพ่อแม่รู้ว่าลูกอยู่ที่โรงเรียนแล้วปลอดภัย เขาสามารถกลับไปทำงานได้หรือผลัดเวรไปทำงานยังได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานรายวัน แล้วเงินก็หมุนในชุมชน เพราะคนมีรายได้น้อยจ่ายเงินออกมาหมุนในชุมชนได้เร็วกว่าคนกลุ่มอื่น

ในแง่ของเด็กเอง เมื่อเติบโตขึ้นก็สามารถทำงานหาเงินเพื่อหมุนเศรษฐกิจให้โตขึ้นไปได้ ดังนั้นตัวเชื่อมคือโรงเรียน ถ้าหากเปลี่ยนจากโรงเรียนเป็นโรงพัฒนาคน เราจะเห็นกรอบที่ใหญ่กว่า จะรู้เลยว่าโรงเรียนที่มีเด็กแค่ 3 คน แต่มีต้นทุน 7-8 แสน ในทางบัญชีอาจจะไม่คุ้ม แต่ในทางสังคมไม่ควรปิดเลย ถ้าเขาจบออกไปด้วยคุณภาพที่ดีจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่แข็งแรง

ดูเหมือนถ้าทำได้จะมีกำไรในหลากหลายมิติมาก?

ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์อย่างแคบที่วัดด้วยกำไร เอาไปจับเรื่องไหนก็พัง วิชาเศรษฐศาสตร์จริงๆ คือการสอนให้เลือกอย่างคุ้มค่า ความคุ้มค่าไม่ได้หมายความว่าเงินมาเงินไป แต่ต้องมองคุณค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลงไปว่าคุ้มหรือเปล่า

ในความเห็นของผม การเปิดเทอมสามารถค่อยๆ บริหารจัดการแล้วเปิดได้ เพียงแต่ว่าเราจะไม่กลับไปใช้โมเดลแบบในอดีต เมื่อเราถูก disrupts ต้องคิดแล้วว่าจำเป็นไหมที่เด็กทั้งหมดจะต้องมาเรียนพร้อมกัน อาจจะยืดหยุ่นขึ้น มาโรงเรียนบ้าง อยู่บ้านบ้าง และที่สำคัญควรให้ชุมชนร่วมคิด ว่าสถานการณ์แบบนี้เราจะสร้างพื้นที่ในการดูแลเด็กอย่างไร

อาจจะกลายเป็นโรงเรียน + ศูนย์เด็กเล็ก + ชุมชนคอยสนับสนุน + พ่อแม่คอยช่วยเหลือ

ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องเปิดเทอมพร้อมกัน ถ้าเราเอาเด็กเป็นตัวตั้ง แต่ว่าตลาดแรงงานที่เขาจะเข้าไปอยู่อีก 30 ปี ไม่ได้กำหนดจากนั้น แต่กำหนดจากสิ่งที่อยู่ในตัวเขา คำอธิบายว่าเปิดเทอมก่อน 1 เดือน แล้วฉันสามารถประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น เราดีไซน์ใหม่ได้ไหม เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่อาจจะยืดหยุ่นแล้วจัดเป็น blog course ถ้าเราหันหน้าเข้าหากันแล้วพูดกัน ที่ผ่านมาแก้ผ้าเอาหน้ารอด แม้แต่การสอนออนไลน์ที่ผมทำในช่วงที่ผ่านมาก็ทราบว่า ผมสอนได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เราควรตั้งคำถามกันใหม่ว่าจะสร้างคนอย่างไรให้ระบบยืดหยุ่นได้

กลไกของชุมชนกับโรงเรียนสามารถตัดสินใจได้เอง หรือเราต้องรอให้รัฐส่งสัญญาณมาก่อน

กลไกทางทฤษฎีก็อาจจะเขียนว่าชุมชนต้องมีส่วนร่วม มีอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ก็ต้องถามว่าในเมื่อมีอยู่ในกระดาษอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่เกิดขึ้นจริงเสียที อันนี้แหละคือคำถามใหญ่มากๆ ของผมว่าเกิดอะไรขึ้น มีข้อค้นพบที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ความเห็นของผม เรามีคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นและยอมรับว่ามันเกิดสิ่งเหล่านี้แล้ว หาทางแก้กันต่อไปดีกว่าไหม

ถ้าผู้อำนวยการคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ แล้วใครจะแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ถ้าเขาตัดสินใจเอง เขาก็ต้องรับความเสี่ยงเอง แต่ถ้าเป็นข้อตกลงระหว่างชุมชน ครู ผู้ปกครองแล้ว ทุกคนก็จะเข้าใจว่านี่เป็นสิ่งที่เราเลือกร่วมกันนะ จริงๆ ทางผู้ใหญ่ในระดับนโยบายควรจะให้สัญญาณชัดๆ แรงๆ ซ้ำๆ วันละหลายๆ รอบ เพื่อให้ทุกคนสบายใจ อาจจะมีบางโรงเรียนทำเป็นตัวอย่าง แล้วสื่อสารไปยังโรงเรียนอื่นๆ แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายกลัว เมื่อเราตัดสินใจในสถานการณ์ที่มีความกลัว มีแนวโน้มที่เราจะยึดเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง ความปลอดภัยระยะสั้นอาจจะไม่ทำให้เราเติบโตในระยะยาว คือจะบอกว่า “สมองเอ๋ย COVID-19 มา อย่าเพิ่งโต” เราบอกแบบนั้นไม่ได้ นาฬิกาชีวิตเด็กโตตลอดทุกวินาที จะหาจุดสมดุลตรงนี้อย่างไร อาจจะช้าหน่อย สะดุดหน่อย แต่ยังดีกว่าปล่อยให้นาฬิกาเด็กเดินโดยไม่มีอะไรมาคุมหรือกำกับ

การออกแบบต้องให้ยืดหยุ่นที่สุด ถามจริงๆ เถอะว่าที่เรียนอยู่ทุกวันนี้จำเป็นต้องเรียนทุกอย่างไหม อะไรคือสิ่งที่เด็กไทยควรมีจริง อะไรที่เป็นแก่น ถ้าโฟกัสตรงนั้นได้จะทำให้การจัดการพื้นที่มันปลอดภัยและสามารถหมุนวนกันได้

อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความว่า การเลื่อนเปิดเทอมออกไป ส่งผลอย่างไรต่อเด็กนักเรียน 

หนึ่ง-เวลาเด็กไปโรงเรียน กิจกรรมจะเยอะ มีการเคลื่อนไหว การพูดคุยกับเพื่อน การตอบโต้กับครู ทั้งนอกห้องเรียน ในห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้พัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ทักษะการเข้าสังคม พออยู่บ้านตรงนี้ก็จะหายแล้ว แค่เราไปติดเกาะสักปี กลับมาเริ่มใหม่ยังยากเลย หรือยิ่งทิ้งเด็กไว้กับแทบเล็ต โทรศัพท์ หรือปล่อยให้เด็กนั่งเหม่อ ก็นับว่าเสียเวลา

สอง-คือความรู้ ถ้าหากไม่ได้ใช้บ่อยๆ ก็จะยิ่งทื่อ เมื่อกลับมาเปิดเทอมยังต้องใช้เวลาจำนวนมากเพื่อดึงความรู้เก่ากลับมา เด็กแต่ละคนลืมช้าเร็วไม่เท่ากัน ถ้าจับมารวมกันก็เกิดความเหลื่อมล้ำไปอีก คนที่ช้ากว่าเพื่อนก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังไกลกว่าเดิม

สาม-ฝั่งของพ่อแม่ ต้องรับโจทย์สองอย่าง อย่างแรก ต้องประคองครอบครัว อีกมือหนึ่งต้องกระเตงลูก สภาพก็ย่ำแย่ จะบอกว่าให้พ่อแม่จัดการเรียนรู้ ก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนทำได้ แต่ต้องมีกำลังเพียงพอ ถ้าสอนลูกที่บ้านแล้วไม่มีเงินกินข้าว มันก็น่าหงุดหงิด ความรักความผูกพันในครอบครัวถูกทำลาย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดในภาวะวิกฤติส่งผลต่อคนในหลายมิติมากกว่าแค่เรื่องมีงานทำ

สภาวะอย่างนี้พาให้เราถ่างออกไปจากเรื่องตลาดแรงงานและเรื่องการเรียน คนที่โดนปล่อยออกไปก่อนส่วนใหญ่เป็นคนที่มีทักษะไม่สูง และอาจจะไม่ได้กลับไปทำงาน รอยแยกจะถ่างออกไป แล้วพ่อแม่ที่วิ่งตามคนอื่นไม่ทัน ความสามารถในการเอาทรัพยากรไปดูแลลูกก็ยิ่งน้อย

คนที่ต้องแบกรับอีกส่วนหนึ่งคือครู สภาพแบบนี้ครูจะจัดการอย่างไร

อย่างแรกคือเรื่องอารมณ์เลย เพราะสังคมไทยตอนนี้คาดหวังกับครูมาก มองครูเป็นต้นแบบอยู่แล้ว ตอนนี้ยิ่งยกให้สูงหนักเข้าไปอีก ทั้งจากพ่อแม่ นักเรียน ผู้บริหาร พอแรงกดดันมาจาก 3 สาย ทำอย่างไรให้ครูรู้สึกปลอดภัยในการคิดอะไรใหม่ ตอนนี้ผมก็ยังไม่มีคำตอบ แต่ในระดับนโยบายต้องคิดนะว่า ระหว่างคนกลางที่เชื่อมกระทรวงกับเด็ก ครูจะสามารถดูแลเด็กได้อย่างไรโดยที่ตัวเองก็ไม่เสี่ยง 

พอยืดหยุ่นมากก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วจะประเมินพัฒนาการเด็กอย่างไร

คำถามคือ อะไรคือโอเค เมื่อก่อนเราเริ่มต้นว่าเด็กต้องได้เกรด 3 เกรด 4 ลูกฉันต้องได้รับการติดป้ายหน้าโรงเรียนว่าสอบเข้าที่นู่นที่นั่นได้ อันนี้คือโลกเก่า นั่นเป็นยุค standardization ยุค 2.0-3.0 แต่ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ไม่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวกำกับ 

โลกกำลังพูดถึงระบบการประเมิน เกรดอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นแล้ว เพราะเกรด 4.0 ไม่ได้ประกันว่าเมื่อเขาก้าวออกไปจะประสบความสำเร็จในโลกการงานที่เขาจะหายไปใน 3 ปี 5 ปี ถ้าไม่ได้วัดด้วยเกรด จำเป็นไหมจะต้องวัดเด็กด้วยวิธีเดียวกัน

ข้อมูลจาก PISA (การสอบวัดความรู้นักเรียนร่วมกับนานาชาติ) พบว่า เด็กไทยมีวิธีการเรียนรู้ 4-5 แบบ แล้วคนหนึ่งใช้การเรียนรู้ทั้ง 4-5 แบบ ด้วยวิธีการที่ต่างกัน แต่เราจะประเมินข้อสอบแบบวิธีเดียวคงไม่ใช่ เราพูดถึงการศึกษา 4.0 แล้วบอกว่าเรียนออนไลน์ 4.0 จากอินเทอร์เน็ต จากยูทูบ จริงๆ แล้วไม่ใช่

ออนไลน์ 4.0 คือการที่เทคโนโลยีมีสิบเศียรพันกรไปช่วยครูในการดูแลเด็กในห้องได้ เช่น ถ้าหากเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปช่วยครู จะบอกได้ว่าเด็กคนหนึ่งมีสไตล์การเรียนรู้แบบไหน แล้ว AI จะช่วยให้ครูสามารถออกแบบการประเมินที่เหมาะกับลักษณะของเด็ก เพื่อให้เด็กค้นพบศักยภาพ วิธีประเมินเด็กแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาอยากเป็นศิลปิน ก็อาจจะวัดด้วยการวาดรูป ลงสี ออกแบบ เขาจะถูกประเมินด้วยสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่ยัดเขาเข้ากรอบในแบบเดียวกันหมด ยกเว้นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เช่น อ่านออกเขียนได้ อันนี้อาจจะใช้ข้อสอบกลาง

สำหรับการเรียนผ่านทีวีและออนไลน์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แม้จะมีผลตอบรับที่น่ากังวล แต่ถ้าเราไม่ลองอะไรใหม่ๆ เราก็ไม่เห็น อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าสองวิธีการนี้อาจจะยังไม่เหมาะกับบริบทของไทยในตอนนี้ และหลังจากนี้ควรจะทำอย่างไร

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า