ลาบก้อย ข้าวเหนียว เสี่ยว และอีสาน บ้านของ เดวิด สเตร็คฟัสส์ อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ปี 2524 เดวิด สเตร็คฟัสส์ เข้ามาประเทศไทยครั้งแรกในนามของอาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา วันนั้นเขาเลือกปักหลักอยู่กิ่งอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ในยุคที่ไฟฟ้าคือสิ่งประหลาด และฝรั่งคือสิ่งแปลกปลอม แรกทีเดียวเขาเป็นครูภาษาอังกฤษสอนเด็กมัธยมต้น ต่อมาเขาละทางโลกเข้าไปศึกษาทางธรรมด้วยการบวชเรียน เป็นพระฝรั่งในอีสานที่ต้องท่องภาษาบาลีก่อนฉัน breakfast

ปี 2527 เดวิด ลาสิกขากลับสหรัฐเมริกาเพื่อเรียนปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ปรัชญา และวรรณคดี รวมถึงเรียนปริญญาเอกในสาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน

ปี 2535 โครงการสภาการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (Council on International Educational Exchange: CIEE) เริ่มนับหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น โดย 2 ปีแรกเน้นการสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาแลกเปลี่ยน

ปี 2537 เดวิด ถูกทาบทามให้กลับมาที่ประเทศไทยอีกรอบเพื่อทำงานในบทบาทผู้อำนวยการสภาการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย ภายใต้โจทย์คือการออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

ปี 2554 ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Truth on Trial in Thaialnd Defamation, treason, and lese-majeste’ ว่าด้วยการหมิ่นประมาท การกบฏ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย ที่เจ้าตัวบอกว่า โทษหนักเกินไป

และในปีเดียวกันนั้น The Isaan Record สำนักข่าวภาษาอังกฤษ เปิดตัวขึ้นเพื่อเป็นปากเสียงให้คนอีสาน  ซึ่งต่อมาเดวิดรับไม้ดูแลต่อแล้วปรับเป็นสำนักข่าว 2 ภาษา ไทย/อังกฤษ หลังจากผู้ก่อตั้งชาวอเมริกัน 2 คนกลับสหรัฐฯ

ปี 2557 วันหนึ่งหลังรัฐประหาร เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ว่าเป็น absurd politics หรือ ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน มั่วซั่ว โดยคณะละครที่ยึดเวทีเอาไว้ แล้วทรมานผู้ชมด้วยการเล่นละครประชาธิปไตยห่วยๆ ที่ไม่รู้ว่าตอนจบจะมาถึงเมื่อไหร่

หลังการยึดอำนาจต่อเนื่องมาถึงการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ สำนักข่าว The Isaan Record คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่ตีประเด็นข่าวอย่างแหลมคม

30 มิถุนายน 2563 โครงการ CIEE ต้องปิดตัวเพราะปัญหาโควิด-19 ส่วน เดวิด สเตร็คฟัสส์ เปลี่ยนสถานะเป็นอดีตผู้อำนวยการโครงการฯ และนั่นนำมาสู่ปัญหาต่อเนื่อง

18 กุมภาพันธ์ 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่นแจ้งว่า มีการยกเลิกสัญญาจ้างกับเดวิด ส่งผลให้ทั้งใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยกรมการจัดหางานและวีซ่าทำงานของเขาสิ้นสุดไปด้วย เดวิดตั้งคำถามว่า การยกเลิกดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ก่อนที่ภายหลังจะได้รับคำตอบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า เป็นเพราะโครงการ CIEE ที่เดวิดสัญญากับคณะสาธารณสุขศาสตร์ไว้นั้นไม่มีความคืบหน้า เป็นการยุติความร่วมมือของโครงการที่ CIEE ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาตั้งแต่เริ่มโครงการ

3 พฤษภาคม 2564 หลังเผชิญกับความไม่แน่นอนว่าจะได้อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ที่สุด เดวิด สเตร็คฟัสส์ ได้รับการต่ออายุวีซ่า 1 ปี โดยใช้เอกสารการเป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศ ของบริษัท บัฟฟาโล่ เบิร์ด โปรดักชั่นส์ ซึ่งดูแลสำนักข่าว The Isaan Record ยื่นเป็นหลักฐาน

37 ปีในประเทศไทย จำเป็นต้องฉายภาพให้เห็นเช่นนี้เพื่ออธิบายให้เห็นว่า มิตรสหายตาน้ำข้าวเป็นใครมาจากไหน จึงกลายเป็นบุคคลที่ตกอยู่บนหน้าฟีดของเราๆ ท่านๆ หลายสัปดาห์ สิ้นสุดหมุดหมายของไทม์ไลน์ รายละเอียดในความคิดของ เดวิด สเตร็คฟัสส์ เริ่มตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร

ผมเกิดในเมืองบลูมิงตัน รัฐอิลลินอยส์ หมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมีคนอยู่ราว 800 คน ก็เป็นเด็กชนบทพอสมควรนะ เรียนในหมู่บ้านถึง ป.6 ก็ไปเรียนมัธยมต้นในเมือง นั่งรถบัสราว 25 นาที เรียกว่า Normal Community High School (NCHS) จากนั้นเรียนสาขาประวัติศาสตร์กับวรรณคดีอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย คือช่วงนั้นหลายๆ คนก็เรียนไปทำงานไปนะ ผมก็ทำงานที่โรงพยาบาล ดูแลคนแก่ในบ้านพักคนชรา แรกทีเดียวผมเกรดไม่ดี แล้วก็ไม่ค่อยเข้าเรียนด้วยแหละ หลังจากนั้นก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว จึงลองเรียนหนักขึ้น ทำงานหนักขึ้นด้วย ทำแบบนี้อยู่ 2 เดือน แล้วเก็บเงินไว้ ก่อนตัดสินใจไปยุโรป 4 เดือน ไปเดิน ไปดู เอาให้ทุกข์ที่สุด นอนข้างนอก (ที่สาธารณะ) ถ้าจำเป็น แล้วก็กลับมา รู้สึกมีพลังมากขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็เอาใจใส่การเรียน เกรดก็ดีขึ้น 

หลังจากนั้นผมมีโอกาสเขียนบทความ 3 ตอนให้กับหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย เรื่อง Peace Corps (อาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา) ผมก็เป็นคนโชคดีนะ ไม่ได้พบกับความทุกข์ยากอะไร ผมแค่รู้สึกว่าต้องช่วยเหลือคนอื่นบ้าง คิดแบบนี้ หลังจากนั้นก็เลยสมัครเป็นอาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา

หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกาเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมในหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา การพัฒนาชนบท การสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม

เข้ามาประเทศไทยได้ยังไง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว เราจะหาฝรั่งที่มาเกาะติดพื้นที่เพื่อทำงานอย่างต่อเนื่องค่อนข้างน้อย

ผมเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2524 เป็นอาสาสมัครหน่วยสันติภาพฯ ไปสอนที่โรงเรียนมัธยม ในกิ่งอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร สมัยนั้นกันดารมาก ไฟฟ้าเข้ามาไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนหรือที่หมู่บ้านต่างๆ ผมก็ไปอยู่ที่นั่น ไม่ได้คิดอะไรมาก จริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจมาประเทศไทยด้วยซ้ำ โครงการอาสาสมัครฯ เขาถามว่า อยากไปเคนยา เนปาล หรือประเทศไทย ผมก็ถามว่า ที่ไหนจะได้ไปก่อน เขาบอกว่าประเทศไทยจะได้ไปก่อน ผมก็เลยเลือกประเทศไทย พอมาแล้วก็อยากจะอยู่แบบกันดารหน่อย เพราะช่วงนั้นคิดแบบนักผจญภัย มาถึงค้อวังก็เป็นครูภาษาอังกฤษ มีหน้าที่สอนชั้นมัธยมต้น แล้วก็พยายามทำเรื่องเกษตรแบบที่เราถูกฝึกอบรม แต่ก็ไม่รู้เรื่องมากนัก

พอใกล้ครบกำหนดผมก็ขอต่ออีก 6 เดือน เป็นอาสาสมัคร 2 ปีครึ่ง ระหว่างนั้นก็อ่านงานของ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เห็นพระพุทธศาสนาในมุมมองใหม่ ก็เริ่มสนใจ เลยบวชเป็นพระอยู่ในหมู่บ้านที่ค้อวัง แล้วก็ย้ายไปกุดชุม ผมลาสิกขาก่อนครบพรรษาประมาณ 2 เดือนครึ่ง หรืออาจจะ 3 เดือน ตอนแรกผมกำลังคิดจะจำพรรษาที่กรุงเทพฯ อยากไปปรึกษากับอาจารย์สุลักษณ์ แต่ว่ายังไม่ทันได้เจอกัน ผมก็ต้องกลับสหรัฐอเมริกาเสียก่อน

อีสานในเวลานั้นเป็นอย่างไร

ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรมาก อีสานก็อบอุ่นดี คล้ายหมู่บ้านผมที่สหรัฐ ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรรม คือผมไม่ได้เป็นคนชอบเมืองสักเท่าไร

แต่ผมก็รู้สึกงงๆ ตอนที่เจอนักเรียน คล้ายๆ เขาไม่มีความฝันอะไรใหญ่โตนัก พ่อแม่ให้มาเรียน จะได้ทำงานมั่นคง เป็นเจ้าเป็นนายคน เพราะถ้าเขาไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนายคน เขาอาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบ เขาแค่อยากเป็นครู อยากเป็นทหาร อยากเป็นนางพยาบาล แค่นี้ เขาไม่ได้คิดอะไรมากกว่านี้ เพราะเขารู้ว่าเป็นคนจนจะสู้กับนักเรียนในเมืองใหญ่ไม่ได้ ก็เลยไม่กล้าที่จะฝันอะไรมากมาย

โจทย์ตอนนั้นแค่มาเป็นครูภาษาอังกฤษ แล้วก็บวช ได้มีโอกาสเดินทางเรียนรู้นิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่ได้คิดว่าต้องอยู่อีสานอีกยาวนานเลย?

ไม่ๆ คือผมก็รู้สึกดีนะ ชอบด้วย กลับไปสหรัฐก็เขียนบทความ 3 ตอน เกี่ยวกับประสบการณ์ในประเทศไทยให้หนังสือพิมพ์ในเมืองบลูมิงตัน จากนั้นคิดว่าน่าจะเรียนต่อ แต่ไม่ได้อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชีย อะไรแบบนี้ ผมอยากจะเรียนอะไรกว้างๆ มากกว่า

ตอนกลับสหรัฐ ผมก็ทำงานดูแลคนชราต่อ เพราะผมชำนาญในเรื่องนี้ แล้วระหว่างนั้นมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ติดต่อมาว่าอยากจะเป็นผู้ช่วยอาจารย์ไหม คุณไม่ต้องเสียค่าเรียนปริญญาโทด้วยนะ เพราะว่ามาเป็นผู้ช่วยสอน ผมก็ตกลง แล้วไปช่วยสอนวิชาสงครามเวียดนาม พร้อมกับเรียนไปด้วย อีกเรื่องที่จำได้คือผมอ่านงานของ เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล) เขาเคยมีบทความที่ทำให้ผมตกใจมาก ทำให้เห็นประเทศไทยอีกแบบหนึ่งที่ไม่เคยเห็นจากยโสธร จากนั้นผมก็เริ่มเข้าใจวาทกรรมความเป็นไทย แล้วก็เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างความเป็นไทยโดยลบล้างความเป็นลาว พอเขียนวิทยานิพนธ์เสร็จก็คิดว่าไม่ทำอะไรแล้ว เลยกลับมาประเทศไทย 3 เดือน ไปอยู่หอจดหมายเหตุ ขณะเดียวกันก็คิดว่าอยากจะทำอะไรเพื่อสังคมด้วย

ผมไปทำงานช่วยเด็กที่มีปัญหาถูกทารุณกรรม หรือมีพฤติกรรมไม่ดี แล้วต้องออกจากโรงเรียน ก็ช่วยดูแลเด็กๆ แบบนี้ แต่พอดีมหาวิทยาลัยวิสคอนซินติดต่อมาอีกว่าอยากเรียนปริญญาเอกไหม แล้วก็เป็นผู้ช่วยสอนด้วย ผมก็โอเค เลยตัดสินใจกลับไปเรียนต่อ ช่วงนั้นเขากำลังหาอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์พอดี เราก็จะมีสิทธิมีเสียงนิดหน่อยที่จะออกความคิดเห็นว่าน่าจะจ้างใคร ผมก็เลยเชียร์ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ให้ไปสอนที่วิสคอนซิน

เดวิด สเตร็คฟัสส์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอกคนแรกที่ ธงชัย วินิจจะกูล เป็น advisor ขณะสอนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เเมดิสัน

เริ่มคิดว่าอยากปักหลักที่อีสานตอนไหน

ชาร์ลส คายส์ (Charles Keyes นักวิชาการที่สนใจด้านอีสาน หนึ่งในที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และเป็นที่ปรึกษาสภา CIEE) แนะนำให้ผมไปสมัครเป็นผู้อำนวยการ CIEE ขอนแก่น เพราะเขารู้ว่าผมเป็นคนที่รู้สึกอบอุ่นกับอีสาน ผมก็เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ตอนปริญญาโทด้วย เขาบอกว่าอยากให้คุณออกแบบการทำงานด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม โดยใช้โมเดลใหม่ ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ตอนแรกก็พบกับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เดชา เปรมฤดีเลิศ บำรุง บุญปัญญา กป.อพช.อีสาน ซึ่งช่วงนั้นคนไทยยังมีอคติกับคนอเมริกันอยู่ เราก็พูดคุยกันเพื่อวางโมเดลใหม่ ว่าให้นักศึกษา CIEE อยู่กับชาวบ้านนานๆ หน่อย เขาจะได้เข้าใจชีวิตของชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็ให้ชาวบ้านเข้าใจคนอเมริกันด้วย ใช้วิธีการผิดๆ ถูกๆ แล้วก็ให้นักศึกษาวิจารณ์ ทำแบบนี้ 2-3 ปี ก็ปรับบทเรียนเรื่อยๆ

เดวิด สเตร็คฟัสส์

เดวิด สเตร็คฟัสส์ (ซ้ายสุด) เดชา เปรมฤดีเลิศ (ยืน – ที่สามจากขวา) อดีต เลขา กป.อพช.อีสาน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง CIEE ขอนแก่น

ประมาณปีที่ 3 หรือ 4 มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งมาเรียนรู้กับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ในอีสาน มาทำโครงการเล็กๆ เพื่อรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาทำกิจกรรมที่โรงอาหาร มข. ทั้งสองฝ่ายก็รู้สึกดี สนุก เราก็เริ่มคิดว่า นักศึกษาก็ไม่ได้แค่มาศึกษาอย่างเดียว (แต่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ด้วย – ผู้เขียน) ถ้ามีชุมชนไหน หรือกลุ่มใด กำลังต่อสู้เพื่ออะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรม ความเท่าเทียม อะไรก็แล้วแต่ ต่อจากนี้ก็ให้เขาอยู่ด้วยกัน เพื่อจะได้วางแผนด้วยกัน

หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ก็พานักศึกษาไปอยู่กับคนแถวๆ เขื่อนปากมูล ให้นักศึกษาครึ่งหนึ่งไปนอนกับชาวบ้านที่ต่อต้านเขื่อน อีกครึ่งหนึ่งให้ไปอยู่กับคนที่เห็นด้วยกับเขื่อน แล้วก็คุยกับหลายฝ่าย เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจแบบรอบด้าน ชาวบ้านเขาก็ขอให้นักศึกษาช่วยออกแรงทำอะไรนิดหน่อย นักศึกษาก็ทำ เราก็รู้สึกว่านักศึกษาอาจจะมีประโยชน์ต่อองค์กรนั้นๆ หรืออาจช่วยให้เรื่องต่างๆ ของอีสานอยู่ในสายตาของสังคมใหญ่มากขึ้น ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองแร่ สลัม กองขยะ คนที่เก็บขยะ คนที่ถูกไล่ออกจากป่า มีปัญหาเข้ามาเรื่อยๆ เราพยายามร่วมมือกับ สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนอีสาน ร่วมมือกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วก็มีรายงานสิทธิมนุษยชนอีสานออกมาประมาณ 10 ฉบับ อย่างเช่นเรื่องผู้ติดเชื้อเอดส์ เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ช่วงหนึ่งเราก็ร่วมมือกับคนที่ดูแลเรื่อง trademark ของประเทศไทย แล้วนักศึกษาก็กลับไปช่วยรณรงค์เรื่องข้าวหอมมะลิที่สหรัฐ

นักศึกษา CIEE ลงพื้นที่กรณีเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมี มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี (เสื้อสีแดง) ยืนอธิบาย

เวลานักศึกษาเข้ามา เราอาจเข้าใจว่าเขาจะมาอยู่แป๊บเดียว แต่เราพยายามให้เขาเข้าใจการเรียนแบบใหม่ ให้ชุมชนเป็นเจ้าของห้องเรียน พอนักศึกษากลับไป เขาก็ไปทำแบบนี้ที่สหรัฐ เพื่อช่วยสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น มีนักศึกษาหลายคนที่กลับสหรัฐแล้วกลายเป็นนักกิจกรรม พวกเขาได้รับการจุดประกายจากอีสาน ไม่ว่าจะเป็นจาก กป.อพช. สมัชชาคนจน ชุมชนต่างๆ ที่เขาไปเยี่ยม

บางคนก็ยังติดต่อกันอยู่ เพราะเขารู้สึกผูกพัน เขาไม่ได้มาเรียนอย่างเดียว เขาเข้าใจว่านี่เป็นโครงการแลกเปลี่ยนให้คนอีสานเข้าใจคนนอก แล้วก็ให้นักศึกษาอเมริกันเข้าใจคนอีสาน เวลามีนักศึกษามาบางครั้งก็จะมีนักศึกษา มข. เป็นรูมเมท แล้วบางครั้งรูมเมทคนนั้นก็กลายมาเป็นผู้สนใจประเด็นสลัมในขอนแก่นตามนักศึกษา CIEE โดยเขาก็ขอไปด้วย เราก็ให้ไป

นักศึกษาฝรั่งหลายคนมาเรียนที่อีสานแล้วหลงรักอีสาน เขารู้สึกว่าอีสานเป็นพื้นที่พิเศษในใจของเขา แล้วเขาก็กลับไปตั้งองค์กร non-profit ที่สหรัฐ เรียกว่า Engage แล้วก็ทำอะไรต่ออีกหลายอย่างในท้องถิ่นต่างๆ ที่สหรัฐ หรือบางทีก็หาทุน แล้วพาชาวนารายย่อยจากอีสานไปคุยที่สหรัฐ โดยที่เขาเป็นล่ามให้ เพื่อที่จะให้คนอเมริกันเข้าใจว่านโยบายของสหรัฐมีผลกระทบกับชาวนารายย่อยที่อื่นยังไง หรือกรณีพาผู้ติดเชื้อเอดส์จากไทยไปรณรงค์ที่สหรัฐ อันนี้เขาก็ทำเอง หาทุนเอง

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีอดีตนักศึกษา CIEE ชาวอเมริกัน-เม็กซิกัน ที่ศึกษาปัญหาเหมืองแร่ในเม็กซิโก เขาก็หาทุน แล้วพา NGO กับชาวบ้าน 2 คน จากนาหนองบง (บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) ไปสหรัฐ เพื่อพบกับคนเม็กซิโกที่กำลังสู้เรื่องเหมืองแร่ ต้องใช้ล่าม 3-4 ภาษา เพื่อที่จะสร้าง connection ระหว่างคน ให้มีจิตสำนึกทางสังคม ว่าต้องยืนอยู่ข้างคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ทำแบบนี้เรื่อยๆ มีนักศึกษาบางคนเคยพูดว่า นี่คือประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขา มันช่วยกำหนดอนาคตของเขาด้วย ก็รู้สึกภูมิใจในเรื่องนี้ 

ดูเหมือนว่างานของ CIEE จะไปแตะทุกประเด็นเลย จริงๆ แล้ว CIEE มีขอบเขตงานแค่ไหน

CIEE มีศูนย์การศึกษา 40 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นพื้นที่พิเศษ เพราะมีโมเดลการศึกษาที่นักศึกษาเป็นเจ้าของ ชุมชนก็เป็นเจ้าของ ดังนั้นก็เป็นคนกับคนมาเจอกัน มาคุยกัน มันเท่าเทียม แล้วก็ซาบซึ้งในสิ่งที่แต่ละฝ่ายให้แก่กัน ดังนั้นจึงแตกต่างกับโครงการอื่นที่เขามาเรียนแค่ในห้องแล้วแยกย้ายกลับประเทศตนเอง เราเลยคิดว่าถ้าคนประเทศอื่นมาเมืองไทยก็น่าจะรู้จักคนไทยบ้าง ถ้าจะมาแค่เรียนหนังสือ ที่ไหนก็ทำได้ เราพยายามเน้นกระบวนการกลุ่ม นักศึกษาต้องสร้างกลุ่มเอง ต้องหาทางที่จะสร้างความเป็นเพื่อน ความไว้วางใจ แล้วถ้าเขาทำได้ เขาก็จะพบกับกลุ่มอื่น ในชุมชน ในองค์กร เพื่อที่จะเป็นชุมชนที่รับผิดชอบทางจริยธรรม การศึกษาก็น่าจะสร้างความเป็นเพื่อนและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่พัฒนาสมองอย่างเดียว แต่พัฒนาจิตใจด้วย

มาที่ประเด็นที่กลายเป็นข่าวตอนนี้ มีคนบอกว่าคุณอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มดาวดิน หรือนักกิจกรรมอีสานที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ผมก็คิดว่าอาจจะเป็นดาวดินที่อยู่เบื้องหลังผม เพราะว่าได้รู้จักดาวดินตลอด เราต่างก็อยู่ที่ มข. รู้สึกเหมือนเป็นญาติพี่น้องกัน แต่เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผม เขาสู้เพื่อชุมชน สิทธิชุมชน ตอนนั้นผมก็ชื่นชมปรากฏการณ์แบบดาวดิน แต่ผมไม่ใช่เบื้องหลัง

แต่เพียงทำในสิ่งที่หลายคนก็ทำ เช่น ไปทำข่าว แล้วก็ให้นักศึกษาหรือเยาวชนอีสานได้รู้จักกัน เปิดเวทีให้เขาได้คุยกัน ไม่ต้องไปพบกันที่กรุงเทพฯ ตอนที่เขาประท้วง ก็คุยกันที่อีสาน ในฐานะคนอีสาน ไม่ว่าอีสานแบบไหน อีสานลาว อีสานเขมร อีสานภูไท อะไรก็แล้วแต่ โดยมีเป้าคือจะทำอะไรเพื่ออีสาน

เท่าที่ทราบ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังนักศึกษา นักศึกษาเขาคิดเอง ทำเอง เขาเก่ง คนที่อายุเท่าผม อายุเท่า อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขาก็ไม่รู้จะพูดหรือแนะนำอะไร เพราะว่าเด็กๆ เขาเก่งกว่าเรา เขารู้มากกว่าเรา ฉะนั้นถามว่าอยู่เบื้องหลังไหมก็ตอบว่าไม่ แต่ถามว่ารู้จักไหม ก็รู้จักมานานแล้วเหมือนกัน

เขาอยู่เบื้องหลังคุณมากกว่าใช่ไหม (หัวเราะ)

ใช่ มากกว่า (หัวเราะ) คือผมไม่ได้เป็นปากเสียงของไผ่นะ บางครั้งเราเจอกันก็คุยกัน เขาไม่เคยมาปรึกษาว่าดาวดินจะทำอันนี้ดีไหม เขาไม่เคยทำ แล้วเขาก็ไม่ได้ขอให้ผมแนะนำอะไร ผมก็แค่เปิดเวทีให้นักศึกษา นักเขียน ศิลปิน นักกิจกรรมมาคุยกันเอง ว่าเราควรจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์อีสานแบบมุมมองใหม่ดีไหม ก็เหมือนกับเมื่อก่อนที่เราเปิดเวทีให้นักศึกษาอเมริกันพบกับชุมชน เขาจะตัดสินใจทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่โดยทั่วไปก็จะแนะนำว่า อย่าทำอะไรผิดกฎหมาย ซึ่งอันนี้เป็นข้อแนะนำธรรมดาๆ

การเปิดเวทีมีรูปแบบอย่างไรบ้าง

เราเปิดสัมมนา เช่น อัตลักษณ์อีสาน เชิญกลุ่มคนหัวก้าวหน้า ศิลปิน นักกิจกรรม นักเขียน เยาวชน ชุมชน LGBT มาเจอกัน แล้วให้เขาคุยกันเอง ผมก็นั่งกับนักวิชาการ คุยแบบกระจายอำนาจ เดี๋ยวเราต้องทำประวัติศาสตร์ใหม่ของอีสานหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมามีหลายอย่างหายไป เราพูดคุยกันถึงบทบาทของสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนาม มีค่ายทหารที่อุบลฯ ที่อุดรฯ มันเปลี่ยนสังคมยังไง กลุ่ม LGBT ก็คุยประเด็นของเขา กลุ่มเยาวชนก็คุยของเขาเอง NGO ก็คุยของเขาเอง เขามีประเด็นตั้งไว้อยู่แล้ว เราแค่ช่วยหาวิธีว่าจะร่วมมือกันอย่างไรดี

ความสัมพันธ์กับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นอย่างไร คืออาจารย์สุลักษณ์อาจถูกผลักไปซ้ายทีขวาที ทำให้คนสับสน โดยเฉพาะตอนที่อาจารย์สุลักษณ์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

อาจารย์สุลักษณ์​ก็เป็นเพื่อน เป็นอาจารย์ผม ผมรู้สึกว่าตนเองเป็นลูกศิษย์ ตอนที่ผมเป็นพระ ผมก็ไปเยี่ยมถึงบ้าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นนักเขียนคนแรกในไทยที่ผมรู้สึก…โอ้สุดยอดเลย แต่หลังจากนั้นเขาก็ตกเป็นเป้า โดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมก็ไปศึกษาคดีต่างๆ ของเขา เขาก็ให้ข้อมูลดี แม้ช่วงหลังเขาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ชัดเจน ผมก็ไม่แน่ใจ อันนี้เป็นเรื่องจุดยืนทางการเมืองของเขา หลายครั้งก็งงๆ ไม่พอใจ แต่ยังไงความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ยังดีอยู่ ผมยังซื้อไวน์ไปดื่มที่บ้านเขาที่กรุงเทพฯ ผมก็ให้ความเคารพ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่เห็นด้วย

คุณคิดอย่างไรกับมาตรา 112

ผมไม่เห็นด้วยกับนักศึกษาว่าให้ยกเลิก 112 เพราะการปกครองที่มีสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องมีการปกครองพิเศษในทางกฎหมายอยู่แล้ว แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาคือโทษมันหนักเกินไป

ตอนนี้ผมศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์จากทั่วโลกเลยนะ ทุกที่ก็มีกฎหมายในลักษณะนี้ ดูตัวอย่างกรณีการปฏิวัติที่ฝรั่งเศส ก็จะมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งคงไม่มีใครอยากเห็นอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นอีก ซึ่งตอนนั้นได้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ช่วงนั้นสังคมไม่พร้อม เขาก็เลยต้องเอากลับมาภายในไม่กี่ปี ดังนั้นมันจึงไม่ใช่วิธีการที่จะทำอะไร… เดี๋ยวจะมีผลเสียมากกว่า ต้องคิดดีๆ ตอนที่ อานนท์ นำภา พูดปราศรัย ผมก็ว่าเขาพูดดี เขาไม่ได้เสนอว่าต้องยกเลิกหรือไม่ แต่เขาตั้งคำถามว่าสถาบันจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไรเท่านั้นเอง

หมายความว่าธงของคุณอยู่ที่การปรับแก้มาตรา 112 ไม่ใช่ยกเลิก

ใช่ ต้องแก้ไข สถาบันทุกสถาบันในสังคมน่าจะวิจารณ์ได้ โดยเฉพาะสถาบันสาธารณะ หมายความว่า มันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณชนทั่วๆ ไป ผมไม่มีจุดยืนด้วยซ้ำ ผมไม่เคยคิด มีบางคนถามผมว่า ประเทศไทยจะเอายังไง หน้าที่ของผมก็แค่เปิดเวทีแลกเปลี่ยน เขียนบทความให้คนคิด แต่ผมไม่ได้เสนออะไร นอกจากว่าน่าจะแก้ไข 112 แล้วก็มาถกกันเพื่อให้สังคมตัดสินใจว่าจะเอายังไง แต่ผมไม่เคยพูดอะไร แล้วนักศึกษาก็ไม่เคยมาปรึกษากับผมด้วยว่าจุดยืนจะเอายังไง เขาก็ไปเอง

อีกกรณีหนึ่งก็คือหนังสือ Truth on Trial in Thailand ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ…

ก็มีบทหนึ่ง เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทั้งหมด ที่ผมพยายามอธิบาย

ตอนที่เขียนคราวนั้น คุณเคยจินตนาการไหมว่า เรื่องนี้จะถูกโยงมาเรื่องล้มสถาบัน

ผมก็รู้สึกแปลก เพราะอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เขาก็เชิญให้ผมเขียนบทความในหนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work: Thailand’s Monarchy in Perspective หรือ กลางใจราษฎร์ ผมก็ยินดีช่วย ผมช่วยร่าง 3 บท เพราะถ้าอยากจะเข้าใจปรากฏการณ์ชีวิตทั้งหมดของรัชกาลที่ 9 ก็ต้องดูทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 ผมก็ยินดีเข้าร่วม รู้สึกภูมิใจ ดีใจด้วย คนอื่นจะวิจารณ์หนังสือเล่มนั้นว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ไม่สน ผมรับผิดชอบบทที่ผมเขียนไปอย่างดีที่สุด เขา (อานันท์ ปันยารชุน) ก็โอเค เขาก็รับ เขาชอบ ก็พิมพ์แล้วแปลเป็นภาษาไทย

มันก็เลยงง เพราะถ้าดูงานเขียนของผม สิ่งที่ผมพูด ไม่ว่าพูดกับเพื่อน ไม่ว่าคุยกับใคร ผมไม่เคยใช้คำว่าล้มสถาบัน ไม่เคยมีวี่แววแบบนี้ แต่วิจารณ์ไหม ก็วิจารณ์ธรรมดา โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งหนักเกินไป

หนังสือ Truth on Trial in Thailand โดย David Streckfuss
หนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work: Thailand’s Monarchy in Perspective ที่เดวิดร่วมเขียนตามคำเชิญของ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

จริงๆ แล้วเนื้อหาในหนังสือ Truth on Trial in Thailand พยายามจะชี้ไปที่อะไร

ภายใต้การสร้างอุดมการณ์ของรัฐ ทำให้คนเข้าถึงความเป็นจริงของสถานการณ์นั้นๆ ได้ยาก เพราะจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทตลอด ดังนั้น คนจึงพูดได้แค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นภาพพจน์ที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาความเป็นจริงของเรื่องนั้นๆ ทำให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยาก สังคมที่เข้าถึงความจริงไม่ได้ มันจะวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาปัจจุบันได้ลำบาก แต่หากเข้าถึงความเป็นจริงได้ ก็จะแก้ไขเยียวยาสังคมนั้นๆ ได้

การสร้างภาพพจน์ เช่น ที่ฝ่ายขวาจัดกำลังทำกับผม เขาบอกว่าผมบวชเป็นพระอยู่ประเทศลาว 6 ปี อะไรวะ! ผมไม่เคยอยู่ประเทศลาวมากกว่า 1 อาทิตย์ แล้วก็ไม่เคยบวชพระที่นั่น จะบวชพระที่นั่นทำไม ซึ่งตอนนี้ก็จะมีอะไรแบบนี้ ก็โกหกอยู่เรื่อยๆ แล้วบอกว่าผมเป็น CIA… อะไรกันนักกันหนา บ้าเหรอ มันเหลือเชื่อ ถ้าจะจับผมก็จับในสิ่งที่ผมเป็น จับในสิ่งที่ผมพูด แต่อย่าสร้างแฟนตาซีให้เกินเลย อันนี้ไม่รับผิดชอบกระทั่งความซื่อสัตย์กับตัวเอง

กรณีล่าสุดที่ มข. ยกเลิกสัญญา ทำให้คุณต้องเจอปัญหา ซึ่ง มข. ก็มีคำอธิบายชุดหนึ่ง เรื่อง CIEE ที่มันไม่คืบหน้า

ก็ต้องขอบคุณ มข. ตลอดมา ที่เป็นเจ้าภาพในเรื่องที่ผมขอวีซ่า ตอนที่ CIEE ปิดเพราะโควิด มีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ยินดีที่จะให้วีซ่าผมต่อ แล้วก็รอให้ study abroad กลับมา แต่ผมก็เช็คเรื่อยๆ มันก็ยังนิ่งอยู่ เพราะผมเองก็แก้โควิดเองไม่ได้ มันจึงคืบหน้าไม่ได้ กว่านักศึกษาจะเริ่มเดินทางได้เป็นปกติก็อาจจะเดือนมกราคมปีหน้า แล้วที่ผ่านมาก็ไม่มีใครมาทวงงานว่าคืบหน้ายังไง เพราะว่าไม่มีอะไรคืบอยู่แล้ว ใครจะคิดสร้างโปรแกรมอะไรในช่วงนี้ได้ เพราะทุกที่ปิดหมด รู้แต่ว่ามีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่เล่าให้ผมฟังประมาณวันที่ 18 กุมภาฯ ว่า ตำรวจมาหาท่านอธิการบดีกับท่านคณบดี และบอกว่าผมไปยุ่งกับการเมือง แล้วคณบดีคนนั้นก็ตัดสินใจว่า ยกเลิกไปเลย แค่นี้ แล้วผมก็… โอเค เขาก็บอกว่า ขอโทษด้วย เขาพยายามที่จะหาทางออกอื่นแล้ว แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบมากขนาดนี้ ผมเข้าใจแค่ว่า วีซ่ากับใบอนุญาตทำงานเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับสัญญานั้น แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่ มันมาคู่กัน ถ้ายกเลิกสัญญาทำงาน ก็เหมือนยกเลิกใบอนุญาตทำงาน แล้วก็เหมือนยกเลิกวีซ่าพร้อมกัน ผมเพิ่งรู้ เพราะทำมา 27 ปี ไม่เคยเจอ

อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล บอกว่า คุณเป็นปรากฏการณ์ปกติของโลกยุคนี้ที่ผู้คนมากมายย้ายถิ่นฐานไปยัง ‘บ้าน’ ในต่างแดน แต่คนคลั่งชาติไม่มีทางเข้าใจ เพราะเขาลืมสมองไว้กับยุคสงครามเย็น

ก็เป็นเรื่องธรรมดา ตอนแรกผมไม่ตั้งใจอยู่ประเทศไทยด้วย ผมแค่รู้สึกสนุกกับงาน แล้วผมก็ชอบอยู่กับชาวบ้าน ชอบคลุกคลีกับชาวบ้าน อาจเพราะว่าผมก็เป็นเด็กบ้านนอก ผมไม่ได้ถือเรื่องชาติอะไรมากมาย ผมรักมนุษยธรรมมากกว่า ตอนนั้นถ้าหากว่ามีใครย้ายออกไป เหมือนธงชัยย้ายไปสหรัฐ ก็เป็นธรรมชาติ ลูกเขาสนใจการเมืองก็ไปช่วยพรรคการเมือง ก็เรื่องปกติ เพราะเขาก็อยู่ในสังคมนั้น เขามีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น ก็เป็นเรื่องธรรมดา มีแต่ฝ่ายขวาจัดที่แบบว่า คุณไม่เป็นคนอเมริกันแท้ๆ…

อันที่จริงตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย ก็เรียนกับคนอิหร่านที่หนีจากอิหร่าน เรียนกับคนเวียดนามที่หนีจากเวียดนาม ไม่มีใครเคยถามว่า คุณเกิดที่ไหน คุณไม่มีสิทธิที่จะพูดอะไรที่นี่ เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คุณอยู่ในสังคมไหนก็ไม่ได้มีสิทธิอย่างเดียวหรอก เราต่างมีหน้าที่ที่จะออกความเห็นว่าไปทางนั้นดีไหม ทางนี้ดีไหม เห็นอะไรดีก็ทำ มีเรื่องต้องช่วยคนก็ไปช่วย อย่างผมอยู่ที่นี่จนถึงจุดที่รู้สึกว่าอีสานคือบ้าน อันนี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ลูกก็เกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ เหมือนที่ผมพูดว่าธงชัยย้ายไปสหรัฐ เขาก็จะรู้สึกมีสิทธิมีเสียงเพราะเป็นพลเมืองที่นั่น แล้วโลกนี้ก็จะเริ่มมีอะไรที่ธงชัยพูดถึง คือมีความหลากหลายมากขึ้น สหรัฐเองก็มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้คุณฝันเป็นภาษาอะไร

บางครั้งก็ฝันเป็นภาษาลาว บางครั้งก็เป็นภาษาไทย บางครั้งก็เป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่ถึงกับรู้สึกชัดเจนว่าฉากในฝันคือที่ไหน รู้เพียงว่าเป็นที่ที่ผมรู้จัก ที่ผมใกล้ชิด และรู้สึกอบอุ่น

กินลาบก้อยจนชำนาญหรือยัง

ก็กินลาบ แต่ไม่ใส่เครื่องใน เมื่อก่อนกินซกเล็ก ตอนนั้นกินสารพัด แต่ช่วงหลังๆ ชอบกินข้าวเหนียวร้อนๆ ไข่เจียวเป็นมื้อเช้า กินกาแฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ ดีที่สุด

ปั้นข้าวเหนียวติดมือไหม

ก็ปั้นอยู่ ตอนที่กินส้มตำไม่ได้ใช้ช้อนหรือส้อม (ถ้าวัดจากทักษะการปั้นข้าวเหนียว) แฟนผมก็พูดบ่อยๆ ว่าเขาไม่ได้มีความเป็นอีสานเท่าผม

พิธีบายศรีสู่ขวัญเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564

ชาวบ้านนาหนองบง มาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ (หลังจากมีกรณียกเลิกสัญญากับ มข. ซึ่งกระทบกับใบอนุญาตทำงาน) มันให้ความรู้สึกอย่างไรบ้าง

ก็รู้สึกว่าเรามีความสัมพันธ์ยาวนาน เจอทุกข์ เจอสุข อะไรมาด้วยกัน ก็คล้ายๆ เป็นญาติที่เราร่วมโชคชะตาด้วยกัน เราเข้าใจว่าอันนี้เป็นแค่ชุมชนหนึ่ง ก็จะมีหลายชุมชนที่นักศึกษารวมทั้งสตาฟฟ์ของ CIEE เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ด้วย ก็ปกติ เป็นเรื่องธรรมดา ชาวบ้านนาหนองบงก็เคยมา เมื่อก่อนก็มาผูกแขน พวกเขาเป็นเพื่อนผม และเป็นครอบครัวของผม

อยู่อีสานมานาน คุณมีเสี่ยวไหม

ทุกคนก็เป็นเสี่ยว แม้ไม่เคยทำพิธีผูกเสี่ยวก็ตาม

 อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า