ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 10: หรือว่าการไต่แรงก์กิงเป็นเพียงม่านควันของการรักษาอำนาจ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ในตอนเริ่มแรกสุด ผมเขียนว่า หลักอย่างหนึ่งสำหรับประเมินคุณค่าของระบบใดๆ ก็ตามคือ หากผลที่ได้รับไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือภารกิจที่ตั้งไว้ ทั้งกลับทำให้แย่ลงกว่าเดิม ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ว่า ความคิด วิสัยทัศน์ หรือมาตรการในทางปฏิบัติของระบบนั้นล้มเหลว ต้องยกเครื่องกันขนานใหญ่อย่างเร่งด่วน

การที่มหาวิทยาลัยของไทยตั้งเป้าหมายใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก แล้วออกมาตรการมากมายเพื่อพยายามไต่แรงก์กิงให้สูงขึ้น ก็ถูกพิสูจน์เห็นผลแล้วว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่ช่วยให้แรงก์กิงขยับดีขึ้น ทั้งยังบ่อนทำลายคุณภาพของอุดมศึกษาของไทย ถ้าแรงก์กิงคือตัวชี้วัดความสำเร็จของผู้บริหารเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนที่สุด แล้วทำไมผู้มีอำนาจทั้งหลายทั้งระดับประเทศและระดับมหาวิทยาลัยยังคงดึงดันรักษาระบบที่เป็นอยู่ ทำอย่างเดิมๆ ด้วยมาตรการที่ล้มเหลวและบ่อนทำลายเหล่านั้นต่อไป

ถึงตอนที่ 10 นี้ ผมกลับฉุกคิดขึ้นมา… หรือว่า… การผลักดันอุดมศึกษาไทยด้วยการไต่แรงก์กิง ด้วยมาตรการและเกณฑ์ไม่สมเหตุสมผลทั้งหลาย อาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายตั้งแต่แรก แท้ที่จริงสนองจุดประสงค์อื่นของระบบอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย นั่นคือ เพื่อสถาปนาและตอกย้ำรักษาอำนาจของเครือข่ายอุปถัมภ์ได้รับสัมปทานมา เพราะต้องการรับใช้รัฐเอาใจรัฐ รวมทั้งการควบคุมอาจารย์นักศึกษา และควบคุมภูมิปัญญาของสังคม  ขออธิบายแจกแจงเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ภารกิจไต่แรงก์กิงเป็นการพัฒนาไปตามครรลองเดิมๆ ของระบบ ในด้านหนึ่งก็เลียนแบบมาตรการใหม่ๆ อย่างที่ประเทศอื่นเขาทำกัน เพื่อประกาศความทันโลกทันสมัยโดยไม่ต้องเข้าใจภูมิหลังเงื่อนไขข้อได้เปรียบข้อจำกัดต่างๆ ของเขาและของไทยซึ่งต่างกัน

ในอีกด้านหนึ่งก็เดินไปตามครรลองเดิมๆ ไม่ได้มุ่งหวังการยกระดับคุณภาพจริงๆ หรอก ภาวะ ‘ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา’ เป็นแบบแผนการไล่กวดโลกแบบไทยๆ มาตั้งแต่ยุคพยายามไขว่คว้าหาความศิวิไลซ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เรื่อยมาจนถึงยุคพัฒนาครั้งกึ่งพุทธกาล

พวกเขาจึงไม่เคยคิดจะทบทวนว่า ความล้มเหลวของการไต่แรงก์กิง อาจจะเป็นปัญหาเชิงระบบ (systemic problems) หรือระดับรากฐานก็เป็นได้ เพราะเป็นการพัฒนาตามครรลองเดิมๆ ในรูปโฉมใหม่ๆ แค่นั้นเอง

ประการที่สอง มาตรการและเกณฑ์ที่ดูทันสมัย เช่น การกำหนดให้ต้องตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เพื่อช่วยไต่อันดับนั้น แท้ที่จริงเป็นเทคโนโลยีของอำนาจ เพื่อตอกย้ำอำนาจของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ เปิดโอกาสต่อการลงแส้ใช้อำนาจต่อคนในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษา ไม่ใช่เพื่อก่อให้เกิดยกระดับคุณภาพจริงๆ หรอก

ควรเข้าใจด้วยว่า ระบบอำนาจแบบไทยมิได้ต้องการใช้อำนาจต่อข้าไพร่คนในสังกัดอย่างหนักหน่วงจนเกินไป แต่หมายถึงการแสดงอำนาจให้รู้กันทั่วไป ในขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้มีการผ่อนปรน โดยขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะเมตตากรุณา หรือเปิดช่องทางผ่อนปรนให้ใครในกรณีใดบ้าง

ระบบแบบนี้จึงควบคุมผู้ไม่ประพฤติตาม อยู่ไม่เป็น แต่ให้ประโยชน์หรือผ่อนปรนแก่ผู้ที่อยู่เป็น ไม่แข็งข้อ เช่นนี้เองระบบที่ไม่สมเหตุสมผลแข็งทื่อ ดูโหดร้าย บังคับลงแส้ให้ทำงานอย่างหนัก กลับสามารถพออยู่กันได้ด้วยความกรุณาของผู้มีอำนาจในระบบอุปถัมภ์นั้น (แทนที่จะเป็นระบบที่สมเหตุสมผล มีแนวทางปฏิบัติที่คนในระบบคาดการณ์ได้ว่าต้องอย่างไรแล้วจะได้รับผลอย่างไร โดยไม่ต้องหวังพึ่งพิงการผ่อนปรนของผู้มีอำนาจ ไม่ต้องมีการสร้างบุญคุณและไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณใคร)

การตอบสนองและรู้จักผ่อนปรนแบบ ad hoc หรือ ‘ยอมยกเว้นให้เป็นกรณีๆ ไป’ ด้วยความกรุณาเช่นนี้แหละ เป็นคุณลักษณะของระบบและสถาบันแบบอำนาจนิยมหรือแบบอุปถัมภ์ (authoritarian or patrimonial system and institution) ซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วทั้งระบบราชการของไทย และเป็นหนักมากขึ้นในมหาวิทยาลัยนอกระบบของไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา

ประการที่สาม การตอบสนองรับใช้รัฐโดยพื้นฐานคือ การทำตามนโยบายและบัญชาต่างๆ ของรัฐบาลภารกิจของมหาวิทยาลัย เช่น การผลิตบัณฑิตรับใช้ระบบเศรษฐกิจ การวิจัยให้หน่วยงานราชการ และการสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ตามนโยบายรัฐบาล เป็นต้น แต่การตอบสนองที่น่ารังเกียจที่สุดคือ การหันซ้ายขวารับใช้การเมืองของรัฐบาล และรับใช้การครอบงำทางอุดมการณ์ของรัฐ

มหาวิทยาลัยไทยใช้มาตรการต่างๆ ทั้งการจำกัดพื้นที่กิจกรรมการเมืองของนักศึกษา ปิดมหาวิทยาลัยเพื่อให้คนเข้าร่วมชุมนุมก็มี ห้ามชุมนุมก็บ่อย เซนเซอร์ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิด ถึงขนาดฟ้องร้องเอาผิดกับอาจารย์นักศึกษาที่แข็งข้อหรือคิดต่างจากรัฐ และถึงขนาดตั้งศาลเตี้ยเพื่อลงโทษนักวิชาการที่ผลิตผลงานทางวิชาการที่ถูกหาว่ากระทบกระเทือนรัฐและสถาบันสำคัญของรัฐไทย ทั้งๆ ที่ผู้บริหารเหล่านั้นตระหนักดีว่าการใช้อำนาจฉ้อฉลเพื่อรับใช้รัฐเช่นนั้น เป็นอนันตริยกรรมที่โลกวิชาการรังเกียจอย่างยิ่ง และอาจมีผลลบต่อการจัดอันดับแรงก์กิงแน่

ความขัดแย้งกันระหว่างการรับใช้รัฐอย่างนอบน้อมกับความต้องการขยับแรงก์กิง ลงท้ายด้วยชัยชนะของอย่างแรกเสมอ เพราะการรับใช้รัฐเป็นภารกิจสำคัญกว่าและส่งผลกระทบมากกว่า การไต่แรงก์กิงเป็นเรื่องรองๆ ลงไปมาก

มหาวิทยาลัยนอกระบบแบบไทยรับใช้การเมืองของรัฐไทยเหนือกว่าภารกิจทางวิชาการใดๆ

ผู้มีอำนาจและผู้บริหารสถาบันต่างๆ จะตระหนักสำนึกรู้ถึงจุดประสงค์แฝงเหล่านี้ของระบบหรือไม่ ผมไม่ทราบ พวกเขาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบและได้ประโยชน์จากระบบด้วย จึงทำไปตามครรลองของระบบที่เป็นอยู่ บางคนอาจสำนึกรู้และรับใช้ระบบและรัฐด้วยความเต็มใจก็เป็นได้

เช่นนี้แล้ว เราถือได้ไหมว่าประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายแฝงเป็นอย่างดี นั่นคือ มาตรการ เกณฑ์วัด และการประเมินผลที่ดูเหมือนไม่สมเหตุสมผลทั้งหลายนั้น มีประสิทธิภาพดีในการรักษาอำนาจและเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ของพวกเขา แม้ว่าจะไม่ช่วยให้แรงก์กิงขยับขึ้นสักเท่าไร และมิได้ช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยแต่อย่างใด

ผู้มีอำนาจในระบบมหาวิทยาลัยไทยรู้จักความเป็นจริงของมหาวิทยาลัยไทยดีพอ เพียงแต่เขาได้ประโยชน์จากระบบ ไม่ต้องการจะเปลี่ยนอะไรมากมายนัก เปลี่ยนไปตามครรลองเดิมๆ และรักษาระบบอำนาจเดิมๆ ทั้งของรัฐและในเขตอิทธิพลของเครือข่ายตนไว้ได้เป็นพอ ถ้าทำเช่นนี้แล้วอันดับขยับขึ้นก็ดีไป ไม่ขยับก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตแต่อย่างใด

ข้อวิจารณ์และข้อเสนอทั้งหลาย เช่นที่ผมทำมา 10 กว่าตอนต่างหาก ที่ไม่เข้าใจความเป็นจริงของอุดมศึกษาไทย

ขอให้ความสงสัยในแง่ร้ายสุดๆ เช่นนี้ ไม่เป็นความจริงเถิด…

ทั้งหมดที่อภิปรายมา 10 ตอน เป็นประเด็นที่ผมเห็นว่าควรต้องขบคิด ทั้งปัญหารูปธรรมในทางปฏิบัติมากมาย เช่น จะตั้งเกณฑ์การทำงานและประเมินผลงานอย่างไรให้เป็นธรรม ไม่ใช่กรอกแบบประเมินกันมหาศาลจนเกิดผู้เชี่ยวชาญเทคนิคการกรอกฯ แต่ได้ผลเป็นผักชีโรยหน้า ไม่ใช่ยกระดับคุณภาพทางวิชาการแต่อย่างใด ในขณะที่นักวิชาการที่จริงจังใกล้หมดสภาพ

ที่สำคัญกว่าคงเป็นปัญหาระบบ การบริหารงานทางวิชาการ และวัฒนธรรมทางวิชาการ ต้องหาทางแก้ปัญหาความคับแคบนานาประเภททั้ง governance การบริหาร และระบบที่เป็นอุปสรรคต่อพลวัตทางวิชาการ ต้องส่งเสริมการ engage กับวิชาการระดับโลกจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตีพิมพ์ในวารสารด้วยการจ่ายเงิน ไม่ต้องบังคับให้มีการเสนอผลงานในการประชุมนานาชาติเป็นเงื่อนไขของการจบได้ปริญญา แต่ต้องหาทางส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ทำตามความสามารถ เพื่อให้กล้าที่จะเข้าถกเถียงกับความรู้นอกภาษาไทย … และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าผมทำงานในมหาวิทยาลัยไทย ผมคงไม่ได้รับโอกาสเติบโตทางปัญญาและทางวิชาการต่อเนื่องหลังปริญญาเอก อย่างที่ผมได้รับจากมหาวิทยาลัยบ้านนอกของอเมริกา เพราะผมคงวุ่นกับการกรอกแบบฟอร์ม ขอทุนวิจัยก็ทำไม่เป็น ผมคงสอน สอน สอน เทอมละ 3-4 วิชาหรือมากกว่า เวลาที่เหลือในแต่ละวันคงหมดไปกับการเดินทางบนท้องถนนวันละหลายชั่วโมง การดิ้นรนหาโรงเรียนดีๆ ให้ลูก ฯลฯ  หรือเวลาคงหมดไปกับกิจกรรมทางการเมือง เพราะคนในแวดวงจำนวนมากไม่เห็นว่าผมมีแววจะเอาดีทางวิชาการได้

สภาพต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้คนรักวิชาการระดับปกติที่ไม่ใช่ปราดเปรื่องเป็นพิเศษ สามารถเติบโตทางปัญญาและวิชาการได้สักเท่าไร

ในแง่นี้ ผมขอยกย่องมิตรสหายจำนวนหนึ่งอย่างจริงใจ ที่สามารถเติบโตทำงานต่อเนื่องและสร้างผลงานมากมายได้แม้แต่ในระบบที่เป็นอยู่ ระบบห่วยยังไงก็หยุดเขาไม่ได้ ผมถือว่าท่านเหล่านั้นเป็นบุคลากรทางปัญญาที่พิเศษแท้

มหาวิทยาลัยไทยจะไม่มีทางไต่ก้าวหน้าไปได้ไกลสักเท่าไรด้วยคนพิเศษเหล่านี้ อีกทั้งยังคงไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอาจารย์ปกติส่วนใหญ่ ระบบที่ดีควรเป็นเงื่อนไขให้คนรักวิชาการระดับปกติอย่างผม และอย่างคนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยไทยมีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน มิใช่หรือ

ขอนำสองย่อหน้าสุดท้ายของตอนก่อนมากล่าวอีกครั้ง ณ ที่นี้ …

“มหาวิทยาลัยไทยก็เช่นเดียวกับสถาบันในวิชาชีพอื่นๆ และภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย คือ เต็มไปด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทะยานสู่อนาคต สร้างคุณประโยชน์มหาศาลให้กับสังคมไทย เพราะพวกเขามีพลังสร้างสรรค์ มีความอดทนไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถึงแม้จะผ่านภาวะย่ำแย่ตกต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ความสามารถของพวกเขาไม่ใช่เพียงเพื่อยกระดับอุดมศึกษาไทย แต่พวกเขาจะมีส่วนช่วยผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าอีกมาก

ทว่าพวกเขาก็เช่นเดียวกับบุคลากรในวิชาชีพและภาคภาคส่วนอื่นๆ ที่เผชิญกับอุปสรรคสำคัญ นั่นคือ อำนาจของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่แผ่ซ่านไปในทุกระบบของสังคมไทยกดทับเขาไว้ ฉุดรั้งทำให้หมดความพอใจในวิชาชีพและดูดเอาพลังงานสร้างสรรค์ไปเสียสิ้น ทำให้ศักยภาพและความกระตือรือร้นของพวกเขาถูกจำกัดทำลายลงอย่างน่าเสียดาย กระทั่งทำให้พวกเขาสิ้นหวังกับอนาคตของสังคม”

ถึงเวลาต้องยกเครื่องมหาวิทยาลัยแล้ว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า