ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 9: ‘นอกระบบ’ แบบเพี้ยนๆ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การยกระดับคุณภาพทางวิชาการและการวิจัยที่เป็นจริงเกี่ยวพันกับระบบการบริหาร หรือ governance ของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมาก เพราะควรจะต้องกระจายอำนาจ ให้บทบาทแก่ระดับสาขาวิชาต่างๆ เป็นผู้กำกับควบคุมคุณภาพทางวิชาการด้านนั้นๆ จนถึงกับมีอำนาจกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมกับแขนงความรู้นั้นๆ 

จะให้มีมาตรการและเกณฑ์ต่างกันได้และยืดหยุ่นได้ จะให้ระบบสนองต่อความหลากหลายแตกต่างกันของแขนงความรู้ได้ จะแก้ไขระบบบริหารงานวิชาการไม่ให้เป็นระบบรวมศูนย์บนลงล่าง ไม่ว่าในระดับรัฐที่มาควบคุมอุดมศึกษาสถาบันต่างๆ หรือภายในสถาบันหนึ่งๆ ต้องทบทวน governance ของมหาวิทยาลัย (ขออนุญาตไม่แปลคำนี้ออกเป็นภาษาไทยสันสกฤต เพราะผมเห็นว่าการแปลคำนี้ออกมาเป็น ‘ธรรมาภิบาล’ นั้น เป็นการ ‘ลากเข้าพุทธ’ จนหลงทางกันไปใหญ่ทั้งความหมายโดยตรงและโดยนัย)

นี่เป็นปัญหาที่สำคัญมาก

การบริหารงานวิชาการต้องไม่เป็นแบบราชการ ต้องไม่ใช่การบังคับบัญชา เพราะมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนนักดนตรีหรือผู้เชี่ยวชาญด้านความรู้ต่างแขนงกันมารวมตัวกัน และในกลุ่มวิชาความรู้หนึ่งๆ มีนักดนตรีหรือผู้เชี่ยวชาญรายบุคคลมาร่วมมือกัน ผู้บริหารงานวิชาการระดับต่างๆ ล้วนมีบทบาทเป็นวาทยากร (conductor) ให้นักวิชาการรายบุคคลหรือสาขา ภาค คณะ แขนงวิชาต่างๆ ทำงานประสานกัน ทั้งๆ ที่ต่างคนต่างหน่วยล้วนแต่ทำงานตามที่ตนเชี่ยวชาญ

ผู้บริหารงานวิชาการไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้านายแบบระบบราชการ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีนักอุดมคติทางการศึกษาจำนวนหนึ่งเล็งเห็นว่า ระบบราชการเป็น governance ที่เป็นอุปสรรคมากต่อการพัฒนาของอุดมศึกษาไทย เพราะการบริหารจัดการเป็นลำดับชั้น บนลงล่าง และรวมศูนย์ แถมยังเหมือนกันเป๊ะทั้งระบบ ย่อมเป็นขีดจำกัดต่อการบริหารทางวิชาการที่ต้องเปิดโอกาสแขนงวิชาต่างๆ ให้ปรับเปลี่ยนมีพลวัตในจังหวะต่างๆ กันได้ ต้องมีอิสระในการจัดการ กระจายอำนาจ และมีเสรีภาพเพื่อเปิดโอกาสให้มีโครงการ การวิจัยทดลองความรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทาย ลองถูกผิด และทันโลกเกิดขึ้นได้ในดีกรีและจังหวะที่ต่างกัน ลดทอนปรับตัวยกเลิกก็ได้

ระบบราชการของไทยมีคุณสมบัติตรงข้ามกับระบบบริหารงานวิชาการที่พึงเป็นอย่างมาก จึงเป็นอุปสรรคทั้งทางด้านการบริหารงบประมาณและบุคลากร ทั้งระดับโครงการ คณะ และแขนงวิชา พวกเขาจึงพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัย ‘ออกนอกระบบ’

40 กว่าปีผ่านไป ‘มหาวิทยาลัยนอกระบบ’ กลับเบี่ยงเบนเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น จนแทบไม่เหลือร่องรอยของหลักการและจินตนาการแต่แรกเริ่ม

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ การที่รัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้แล้วมอบอำนาจแก่สถาบันหนึ่งๆ มากกว่าเดิมไปจัดการเอง ระยะแรกเกิดจากรัฐที่ต้องการลดภาระของตนลง (โปรดสังเกตว่าจุดเปลี่ยนที่รัฐยอมให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบในระลอกแรกๆ เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลต้องการลดภาระงบประมาณลงหลังวิกฤต ต้มยำกุ้ง)

ดูเผินๆ นี่เป็นการกระจายอำนาจให้อิสระแก่มหาวิทยาลัยมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่ายังถูกควบคุมการจัดอัตรากำลัง กฎระเบียบราชการมากมาย และยังต้องพึ่งพิงงบประมาณรัฐเป็นสัดส่วนสูงมาก เนื่องจากระยะแรกยังหารายได้ด้วยตัวเองไม่พอ (หลายแห่งยังเป็นเช่นนั้นจนทุกวันนี้) จึงกลายเป็นว่ายังต้องนอบน้อมเชื่อฟังระบบราชการ แทบไม่ต่างจากเดิมหรือกลับยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

ในเมื่อได้รับสัมปทานอำนาจมา ทำให้ผู้บริหารสถาบันต้องจัดการให้เขตอำนาจที่ได้รับสัมปทานมาอยู่รอดเติบโตให้ได้ จึงทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจต่อลูกจ้างใต้อำนาจตน นานวันเข้า อำนาจเหนือเขตอิทธิพลหนึ่งๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นอิสระนั้น กลายเป็นช่องทางให้เกิดการก่อตัวของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่พยายามสืบทอดอำนาจต่อกันมาโดยคนกลุ่มเดียวกัน ตั้งแต่ในสภามหาวิทยาลัยลงมาจนถึงระดับคณะที่สำคัญๆ (จนมีผู้ล้อเลียนว่าเกิดเป็นราชวงศ์ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยจำนวนมากโดยเฉพาะที่มีผลประโยชน์สูง)

ผู้บริหารซึ่งเป็นหัวหน้าของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์นั้น ยิ่งต้องอ่อนน้อมต่ออำนาจของระบบราชการ ยิ่งกว่าก่อนออกนอกระบบด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่เพียงแค่เพื่อความอยู่รอดของสถาบัน แต่เพื่อการรักษาอำนาจของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์เหนือเขตอิทธิพล (มหาวิทยาลัย) ด้วย จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องก้มหัวให้กับระบบราชการยิ่งกว่าก่อนออกนอกระบบ เป็นเด็กดีของรัฐ และสถาบันหลักต่างๆ ของรัฐไทย ทั้งกองทัพและสูงกว่านั้น เพราะการจะสร้างรายได้และรักษาอำนาจในเขตอิทธิพลของตนนั้น ต้องการการค้ำจุนหนุนหลังของรัฐ ระบบราชการ และสถาบันหลักเหล่านั้น

การ ‘ออกนอกระบบ’ แบบที่เป็นอยู่ จึงมิใช่อิสระเพื่อยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัย แต่กลับเกิดผลที่ตรงข้ามกับที่ควรจะเป็น อำนาจแบบรับสัมปทานมามักจะไม่กล้า (หรือกลัว) จะเป็นอิสระ จึงยอมนอบน้อมต่อการควบคุมในแง่ทิศทางและนโยบายจากรัฐบาลเช่นที่เคยเป็นมาตลอด หรืออาจจะยิ่งกว่าเดิม

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบอุปถัมภ์เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นพิษ (toxic power relations) ในสถาบันและองค์กรหนึ่งๆ โดยปกติหมายถึงระบบที่เต็มไปด้วยมาตรการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาและการบริหารที่ไม่สมเหตุสมผล เพื่อการควบคุมทั้งด้วยอำนาจและด้วยการผ่อนผันเพื่อสร้างบุญคุณ

มีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันตกอยู่ใต้อิทธิพล เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) การออกนอกระบบทำให้เสมือนเป็นบรรษัทเอกชน ผมไม่เห็นด้วยนัก เพราะปรากฏการณ์ที่มหาวิทยาลัยและความรู้กลายเป็นสินค้า (commercialization of higher education) อย่างขนานใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้บริบทการที่รัฐ ‘เท’ หรือตัดหางปล่อยวัดให้มหาวิทยาลัยต้องพึ่งตัวเอง จนกระทั่งต้องยอมให้ตลาดเป็นอิทธิพลหลักที่กำกับครอบงำจนทำให้มหาวิทยาลัยและความรู้กลายเป็นสินค้าตามแบบฉบับของเสรีนิยมใหม่

ผมกลับเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยยังต้องพึ่งพิงระบบราชการอย่างมาก ยังถูกกำหนดทิศทางนโยบายโดยรัฐ ต้องสนองตอบต่อนโยบายความต้องการของรัฐ ที่แย่ที่สุดคือมหาวิทยาลัยไทยยุคนอกระบบนี้ ขาดอิสระทางการเมืองยิ่งกว่าช่วงที่ยังไม่ออกนอกระบบเสียอีก เดินถอยหลังหันขวารับใช้การเมืองเจียมเนื้อเจียมตัวต่อรัฐราชการและสถาบันหลักของรัฐไทยยิ่งกว่าก่อนออกนอกระบบ แต่เพราะได้รับสัมปทานอำนาจมา ซึ่งรวมถึงอำนาจที่จะหารายได้ตามที่คนเห็นสมควรด้วย จึงมีอิสระในการทำมาหากินกับเขตอิทธิพลของตนเอง มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้ถูกตลาดกำกับครอบงำมากเท่ากับวิ่งเข้าหาตลาดเอง

ลักษณะแบบนี้ไม่น่าจะใช่เสรีนิยมใหม่ แต่ดูคล้ายการ ‘ทรงกรม’ หรือ ‘กินเมือง’ หรือเป็นเจ้าพ่อท้องถิ่น หรือเป็นผู้รับเหมารายย่อย ใต้อำนาจของศักดินารายใหญ่หรือเจ้าพ่อระดับชาติหรือเจ้าของสัมปทานเสียมากกว่า

ผมยังเชื่อว่าการออกนอกระบบยังเป็นอุดมคติที่น่าจะใช้ได้ แต่คงต้องทบทวนกันใหม่ว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้กลายเป็นระบบผู้รับเหมาใต้กำกับราชการ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้อิสระสัมพัทธ์ที่ต่อเนื่อง จะไม่กลายเป็นช่องทางให้เกิดเครือข่ายระบบอุปถัมภ์เหนือเขตอิทธิพลนั้นๆ จนไม่กล้าเป็นอิสระจากระบบราชการอย่างที่เป็นอยู่

Governance ที่มหาวิทยาลัยต้องการโดยหลักการพื้นฐานต้องให้อำนาจการตัดสินใจในทางวิชาการ (รวมทั้งการประเมินคุณค่าผลงาน) กับสาขาความรู้ต่างๆ ในทางปฏิบัติจะกระจายขนาดไหนต้องว่ากันอีกที และย่อมต้องมีการกำกับดูแลแต่ไม่ทำตัวรู้ดีไปกว่านักวิชาการในด้านนั้นๆ การบริหารจัดการและทุนสนับสนุนการวิจัยต้องสอดคล้องกับกระบวนการวิจัยแขนงนั้นๆ

ผู้บริหารวิชาการมีบทบาทเป็นวาทยากร ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา ต้องรอบรู้เข้าใจวิชาการสารพัดแขนง ต้องฟังและเปิดช่องทางให้แต่ละส่วนกำหนดมาตรการและเกณฑ์ของตนเอง การควบคุมคุณภาพหลักๆ ควรมาจากคนในสาขาวิชาการนั้นๆ ภายในและข้ามสถาบัน มาจากระบบตรวจสอบคุณภาพผลงาน (referee and review) โดยผู้บริหารควรเป็นผู้กำกับดูแลให้กระบวนการตรวจสอบคุณภาพเหมาะสม ยุติธรรม ไม่มีการลูบหน้าปะจมูกหรือทุจริต

——–

มหาวิทยาลัยไทยก็เช่นเดียวกับสถาบันในวิชาชีพอื่นๆ และภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย คือเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทะยานสู่อนาคต สร้างคุณประโยชน์มหาศาลให้กับสังคมไทย เพราะพวกเขามีพลังสร้างสรรค์ มีความอดทนไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถึงแม้จะผ่านภาวะย่ำแย่ตกต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ความสามารถของพวกเขาไม่ใช่เพียงเพื่อยกระดับอุดมศึกษาไทย แต่พวกเขาจะมีส่วนช่วยผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าอีกมาก

ทว่าพวกเขาก็เช่นเดียวกับบุคลากรในวิชาชีพและภาคส่วนอื่นๆ ที่เผชิญกับอุปสรรคสำคัญ นั่นคืออำนาจของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่แผ่ซ่านไปในทุกระบบของสังคมไทยกดทับเขาไว้ ฉุดรั้งทำให้หมดความพอใจในวิชาชีพ และดูดเอาพลังงานสร้างสรรค์ไปเสียสิ้น ทำให้ศักยภาพและความกระตือรือร้นของพวกเขาถูกจำกัดทำลายลงอย่างน่าเสียดาย กระทั่งทำให้พวกเขาสิ้นหวังกับอนาคตของสังคม

ยกเครื่องมหาวิทยาลัย ปลดปล่อยศักยภาพของพวกเขา

ตอนต่อไป : หรือว่าการไต่แรงก์กิงเป็นเพียงม่านควันของการรักษาอำนาจ ?

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า