ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 3: ไต่แรงก์กิง อิง Scopus หาทางลัดแต่ไม่พัฒนา

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

นอกจากภาระการสอนที่กลายเป็นอุปสรรคต่อภารกิจการวิจัยดังที่กล่าวถึงในตอนก่อนแล้ว ยังมีมาตรการและเกณฑ์บังคับอาจารย์อีกหลายประการที่เป็นปัญหา ไม่สมเหตุสมผล บางอย่างแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ หรือคงมีเพียงยอดนักวิชาการเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถทำได้

ผมไม่สามารถประมวลอธิบายได้หมด จะขออนุญาตนำเสนอเพียงประการสำคัญๆ และคงเสนอได้ไม่เป็นระบบเท่าไรนัก เพราะปัญหาที่เกิดจากมาตรการเหล่านี้พัวพันกันนุงนังเกินกว่าที่ผมจะสามารถลำดับให้เห็นเป็นระบบได้

ขอเริ่มจากประเด็นที่กล่าวถึงกันมาก คือการกำหนดให้ต้องตีพิมพ์ผลงานลงวารสารนานาชาติในเครือข่าย Scopus (ผู้รวบรวมฐานข้อมูลบรรณานุกรมและบทคัดย่องานวิจัยทั่วโลก – บรรณาธิการ)

หลายปีก่อน ความคาดหวังนี้เริ่มจากตั้งเป้าจำนวนบทความที่อาจารย์ต้องตีพิมพ์ต่อปีและต่อช่วงสัญญาจ้างหนึ่งๆ ไว้สูงมาก เพราะใช้ความคุ้นเคยกับการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์เป็นเกณฑ์ทั่วไป ผู้ตั้งเกณฑ์คงไม่รู้ว่าการผลิตผลงานวิจัยในแขนงและสาขาวิชาต่างกันนั้น มีกระบวนการ ขั้นตอน ใช้เวลาแตกต่างกันมากขนาดไหน และการตีพิมพ์ในวารสารของแขนงวิชาต่างกันนั้น มีกระบวนการไม่เหมือนกัน ใช้เวลามากน้อยกว่ากันอย่างไร จึงตั้งเป้าจำนวนที่ต้องตีพิมพ์ไว้สูงกว่าที่อาจารย์ทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษถูกคาดหวังเสียอีก

ปัญหาการตั้งเกณฑ์ไม่สมเหตุสมผลเพราะใช้สายวิทยาศาสตร์เป็นตัวแบบทำนองเดียวกัน เกิดกับหลายมหาวิทยาลัยในเอเชียที่สายวิทยาศาสตร์พัฒนามากกว่าสายอื่น และมักมีอำนาจมากกว่าสายอื่น แต่แทบทั้งหมดยอมปรับเปลี่ยนในเวลาต่อมา

ในประเทศไทยก็เช่นกัน หลังจากมีเสียงวิจารณ์มากมาย รัฐและหลายสถาบันจึงยอมปรับเปลี่ยน แต่เกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผลยังคงมีอยู่ในหลายมหาวิทยาลัยของไทยจนถึงวันนี้ สถาบันนั้นๆ กำหนดขึ้นด้วยเหตุผลว่าต้องการขยับแรงก์กิงให้สูงขึ้น

ความไม่รู้ยังคงก่อปัญหาอื่นๆ ต่อมาจนทุกวันนี้ เช่น ระบุว่าต้องตีพิมพ์ให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดเพราะถือเป็นเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการต่อสัญญาจ้าง ทั้งๆ ที่ผู้ผลิตผลงานไม่สามารถควบคุมได้เลย หรือมีส่วนน้อยมากในการกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการทั้งหมด นับจากส่งบทความจนถึงการพิมพ์ ได้แก่ การตรวจสอบประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก ความเห็นส่งกลับมาที่ บ.ก. พิจารณา แล้วส่งต่อให้ผู้เขียน หากไม่ปฏิเสธ จะให้แก้ไขมากหรือน้อย เวลาที่ต้องใช้แก้ไข การพิจารณาอีกรอบเพื่อตัดสินว่าจะตีพิมพ์หรือไม่ หากตอบรับจะใช้เวลารอคิวอีกเท่าไรจึงจะตีพิมพ์ ฯลฯ

กระบวนการทั้งหมดนี้ มีแต่ขั้นตอนการแก้ไขเท่านั้นที่ผู้เขียนพอจะควบคุมเวลาได้ นอกเหนือจากนั้นไม่มีทางรู้เลย หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการแก้ไขนี้ก็ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า ไม่สามารถบริหารเวลาจนกว่าจะได้รับคำวิจารณ์ หากบทความถูกปฏิเสธ กระบวนการต้องเริ่มใหม่หมด

ดังนั้น สัญญาจ้างที่ผูกกับระยะเวลาการตีพิมพ์อันไม่สมเหตุสมผลจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ชีวิตหลายปีตลอดระยะสัญญาจ้างจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสำหรับนักวิชาการไทยที่ปกติไม่คุ้นเคยกับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ

ในอเมริกา อาจารย์ใหม่ที่ยังไม่ได้สัญญาจ้างตลอดชีวิต (tenure) ก็มักอ่วมทุกข์ด้วยสาเหตุทำนองเดียวกัน แต่ระบบเขาให้เวลาสำหรับการเขียนงานส่งตีพิมพ์ยาวกว่าระยะสัญญาหนึ่งๆ ในระบบไทย ทั้งที่ส่วนใหญ่เขาใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แถมโดยมากยังถือว่าจดหมายตอบรับว่าจะตีพิมพ์ก็ใช้ได้แล้ว ตัดขั้นตอนช่วงรอการตีพิมพ์จริงซึ่งมักนานมากและอยู่นอกการควบคุมของผู้เขียน

จากประสบการณ์ของต่างประเทศ ปัญหานี้มี 2 ประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน

หนึ่ง ต่างแขนงความรู้ (branch of knowledge) หรือต่างสาขาวิชา (disciplines) มีลักษณะของการทำวิจัยและการตีพิมพ์รายงานผลการทดลองวิจัยต่างกันมาก เช่น วิจัยเดี่ยวหรือเป็นทีม ใช้เวลาขนาดไหน บทความยาวหรือสั้น แบบแผนของบทความเป็นรายงานผลตามข้อเท็จจริง หรือเป็นการบรรยาย ถกเถียง และอธิบาย ธรรมเนียมการใส่ชื่อผู้ร่วมวิจัยหรือร่วมเขียน กระบวนการตรวจสอบต้นฉบับ วิจารณ์ แก้ไข และรอการตีพิมพ์ดังที่ระบุข้างบนแล้ว ฯลฯ จำนวนบทความที่น่าจะผลิตในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงต่างกัน

ในขณะที่วารสารทางวิทยาศาสตร์ใช้เวลาในการตรวจสอบ ประเมิน และตอบรับว่าจะตีพิมพ์หรือไม่สั้นกว่า คนคนหนึ่งจึงสามารถมีชื่อปรากฏในบทความนับสิบชิ้นได้ในแต่ละปี ในขณะที่ทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ไม่มีทางเป็นไปได้ และมักเป็นการวิจัยเดี่ยวหรืออย่างมากก็เพียง 2-3 คน โดยที่ลำดับชื่อไม่มีความสำคัญใดๆ

อาจารย์ศิลปะท่านหนึ่งเล่าว่า เขาต้องเขียนบรรยายความคิดเบื้องหลังการผลิตงานศิลปะ แล้วส่งบทบรรยายนั้นให้ผู้ใหญ่เพื่อการประเมินผลงาน แทนที่จะประเมินจากตัวงานศิลปะจริงๆ ยังไม่นับการที่เขาต้องพยายามเขียนบทความลงวารสารวิชาการอีกด้วย แต่การจัดแสดงศิลปะในระดับชาติและนานาชาติของเขา กลับไม่ถูกนับว่าคือการเผยแพร่ผลงาน เพราะทั้งวิทย์-สังคม-มนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอำนาจอนุมัติการขอตำแหน่งทางวิชาการ ล้วนไม่เข้าใจวิชาศิลปะและประเมินผลงานศิลปะไม่เป็น รู้จักแต่ข้อเขียนและการตีพิมพ์ข้อเขียนลงวารสาร

สอง วารสารชั้นนำหมายถึงอะไร ใครกำหนด ปัญหานี้จึงนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทประมวลรายการวารสารและการอ้างอิงอย่าง Scopus เมื่อปี 2004 ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานกลางสำหรับให้บริการแก่มหาวิทยาลัยทั่วโลก ทว่าไม่ได้แก้ปัญหาเดิมไปเสียทีเดียว แถมนำไปสู่ปัญหาใหม่อีกด้วย

ปัญหาของ Scopus ที่มีมาแต่เริ่มก็คือ เอียงข้างวารสารภาษาอังกฤษ และไม่มีทางที่จะรวบรวมวารสารชั้นนำของทุกสาขาจนเป็นมาตรฐานกลางได้ เช่น จะรวมเอาวารสารระดับโลกรายไหนที่นักอ่านจารึกโบราณของทั้งโลกยอมรับร่วมกัน

ต่อปัญหาเหล่านี้ Scopus แก้ว่า เขาไม่ได้บงการบังคับให้ใครมายึดถือเขาเป็นมาตรฐาน มหาวิทยาลัยต่างๆ คงชาญฉลาดพอที่จะใช้ Scopus อย่างมีวิจารณญาณ และใช้ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ที่จะแก้ข้ออ่อนของ Scopus ในบรรดาประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่ควรอิง Scopus มากไป

การแก้ต่างข้อนี้พอฟังขึ้น เพราะนักวิชาการย่อมรู้ดีว่าไม่มีทฤษฎี คอนเซ็ปต์ หรือมาตรฐานใดๆ ที่จะเป็นสากล (universal) หรือสามารถเป็นมาตรฐานร่วมกันได้โดยไม่มีข้อยกเว้น ข้อจำกัด และช่องโหว่ เราจึงต้องรู้จักปรับใช้อย่างมีวิจารณญาณให้เหมาะกับกรณีเฉพาะหนึ่งๆ

แต่ทว่า…โปรดตระหนักว่า การจัดแรงก์กิงระดับโลก 2 รายหลักปัจจุบัน คือ Times และ QS ต้องอิงกับ Scopus เป็นพื้นฐาน ดังนั้นมหาวิทยาลัยไม่ว่าที่ใดภาษาใดที่ต้องการเข้าเล่นเกมไต่แรงก์กิงจะมีทางเลือกหรือไม่ เพราะถ้าไม่อิง Scopus ก็เสียเปรียบเสมือนถอนตัวจากเกมนี้ไปแล้วครึ่งค่อนตัว

ปัญหาใหม่คือเป้าหมายทางธุรกิจของ Scopus เองกับความน่าเชื่อถือทางวิชาการไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งกัน กล่าวคือวารสารที่ยอดพิมพ์สูงพอมักจะจ่ายค่าธรรมเนียมให้ Scopus ในขณะที่วารสารดีๆ แต่รองรับสาขาความรู้ที่เล็กๆ ที่มีผู้ใช้ (ตลาด) จำกัด เช่น การอ่านเอกสารโบราณ หรือไทยศึกษา อาจไม่ได้ถูกนับเข้าใน Scopus หรืออาจกลายเป็น tier ล่างๆ

ปัญหานี้ระเบิดขึ้นมาบ่อยขึ้นในระยะไม่กี่ปีหลัง เพราะปรากฏมีวารสารประเภทที่มักเรียกกันว่า วารสารล่าเหยื่อ (predatory journals) อยู่ในมาตรฐานด้วย หมายถึงวารสารที่พยายามเชิญชวนให้นักวิชาการส่งบทความไปลงพิมพ์โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับทางวารสารนั้นด้วย ซึ่งตรงข้ามกับวารสารที่น่าเชื่อถือซึ่งมีผู้ส่งผลงานไปให้พิจารณามากมายพอ ไม่ต้องจ่าย และไม่มีค่าตอบแทน แต่ต้องรอกระบวนการคัดเลือกนานมาก อาจใช้เวลาถึง 2 ปีจึงจะถึงคิวได้ลงพิมพ์

ไทยเริ่มพยายามไต่แรงก์กิงเมื่อมี Scopus ไปแล้ว และเราเชื่อถือ Scopus เกินไป โดยไม่ปรับใช้อย่างมีวิจารณญาณ และไม่ค่อยสอบสวนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ควรมีอะไรเสริมหรืองดใช้ Scopus ในกรณีใดสาขาใดหรือไม่ เพราะวัฒนธรรมราชการมักต้องการเกณฑ์วัดผลชุดเดียวกัน หรือเพียงไม่กี่ชุดสำหรับทุกสาขาวิชา

มิหนำซ้ำ ดูเหมือนเราจะตามไม่ทัน (หรือไม่สนใจ) ว่า ปัญหาใหม่ๆ เช่น ปัญหา ‘วารสารล่าเหยื่อ’ เป็นอย่างไร จนเกิดการ ‘ซื้อ’ ชื่อใส่ในบทความที่ลงในวารสารที่ Scopus ก็ยอมรับ มหาวิทยาลัยไทยก็ยอมรับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ก็ยอมรับ

น่าสงสัยว่า ไม่มีการตรวจสอบทั้งๆ ที่ง่ายมาก หรือไม่ประสงค์จะตรวจสอบ

หรือประสงค์จะไม่ตรวจสอบ (เพราะลือกันว่าอธิการบดีบางคนก็ไต่เต้าขึ้นมาด้วยวิธีนี้) หรือเพราะว่าผู้มีอำนาจตั้งกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักคุ้นเคยกับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติสักเท่าไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า