นอกรั้วมหาวิทยาลัย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

สนามสอบเอ็นทรานซ์ ปี พ.ศ. 2532 …ก่อนจะเข้าห้องสอบ ผมได้ยินคนข้างๆ ท่องสูตร s = ut + ½ at3 วนซ้ำไปซ้ำมา กระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองทำงานอย่างหนักเพราะจำได้ว่าจริงๆ มันเป็น ½ at2 นี่หว่า… หรือหมอนั่นจำผิด ครั้นจะไปเตือนเขาก็ไม่ทันเพราะเข้าห้องสอบไปแล้ว จนถึงคราวทำข้อสอบก็ดันต้องใช้สูตรนี้จริงๆ ด้วย เอาละสิ… มันต้องยกกำลัง 2 หรือยกกำลัง 3 กันแน่ (วะ)

หลังประกาศผลสอบจึงได้รู้ว่านั่นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ตัดคะแนน ‘คู่แข่ง’ จากวิชามาร 101 ที่อาจารย์ชื่อดังคนหนึ่งแนะนำให้ลูกศิษย์ท่องสูตรผิดๆ หน้าห้องสอบ! โดยวิธีนี้ทำให้ ‘คู่แข่ง’ ที่อยู่ใกล้ๆ และไม่มั่นใจในตัวเอง (เหมือนผมสินะ) เกิดความลังเลใจจนอาจทำโจทย์ข้อนั้นผิด ซึ่งท่าทางว่าคำสอนของอาจารย์คนนั้นจะบรรลุผลเป็นที่เรียบร้อย

น่าแปลกใจว่าบรรยากาศการเรียนของเด็กนักเรียนไทยตาดำๆ มันจำเป็นต้องห้ำหั่นกันเหมือนสงครามกลางเมืองแบบนั้นตั้งแต่เมื่อไร และคำว่า ‘เพื่อนนักเรียน’ ถูกผลักไสให้กลายเป็น ‘คู่แข่ง’ ไปได้อย่างไร?

ระบบการเรียนของเด็กไทย ดูจะต้องคร่ำเครียดกับการแข่งขันในทุกย่างก้าว นับตั้งแต่การสอบเข้าอนุบาลยันมหาวิทยาลัย ครั้นเมื่อได้เรียนในคณะและสาขาวิชาที่ชอบแล้ว ก็ยังต้องเจอการตัดเกรดที่ทำให้แต่ละคนต้องขวนขวายทำคะแนนให้สูงกว่าเพื่อน รวมถึงแข่งกันทำคะแนนสะสมเพื่อชิงทุน หรือเพื่อได้รับคัดเลือกในกิจกรรมต่างๆ ความเป็นเพื่อนจึงลดลงแต่มีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ

บรรยากาศการเรียนมหาวิทยาลัยที่น่าจะส่งเสริมความรักใคร่กลมเกลียวกันของนิสิตนักศึกษา ก็เกิดความกังขาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ารั้วมหาวิทยาลัยว่าอยากให้เด็กรักกันหรือเกลียดชังกันแน่เมื่อเจอบางคณะในบางมหาวิทยาลัยยังคงระบบโซตัสไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในปี 2018 แล้วก็ตาม

ในชั้นเรียนที่ครูอาจารย์หวังดีให้เด็กจับกลุ่มกันทำงานร่วมกัน เพราะเชื่อในพลังของการทำงานเป็นทีม แต่สุดท้ายแล้วเด็กๆ ก็ต้องมาเกลียดชังกันอีกเพราะเจอเพื่อนในกลุ่มกินแรงกันเสียง่ายๆ เนื่องจากไม่ได้ช่วยทำอะไรทั้งสิ้นแต่มีรายชื่อและมีคะแนนในกลุ่มได้อย่างน่าชื่นตาบาน ไม่นับการห้ำหั่นกันระหว่างกลุ่มเพื่อช่วงชิงเกรด A ที่มีจำนวนจำกัด

ท้ายที่สุดก่อนที่เด็กปี 4 จะก้าวสุดท้ายออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงเราจึงเห็นการรวมตัวของเด็กแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มเหรียญทอง กลุ่มกิจกรรม กลุ่มแฟชั่น กลุ่มท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละกลุ่มไม่ค่อยจะสุงสิงกันหรือไม่ค่อยจะกินเส้นกันสักเท่าไรนัก

สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน จึงเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศให้เด็กได้ถกกันอย่างเสรีในพื้นที่ที่เปิดกว้างทางความคิด วัฒนธรรมเราอาจไม่เอื้อให้เด็กมหาวิทยาลัยมานั่งถกกันในผับเหมือนต่างประเทศ ซึ่งจะคุยเรื่องเจตจำนงเสรีหรือเทคโนโลยีอากาศยานก็ไม่มีใครว่าอะไร

ระบบการสอนให้เด็กห้ำหั่นกันบั่นทอนโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกในเด็กมหาวิทยาลัยของบ้านเรา การเปิดอกถกกันแบบนี้ลดกำแพงที่เด็กแต่ละคนสร้างขึ้นในใจให้เตี้ยลงๆ แล้วเปิดกว้างทางความคิดให้เขาได้มีมุมมองใหม่ๆ และมองเห็นช่องว่างทางความคิดที่เพื่อนเขามีแต่ตัวเขาไม่มี และทำให้รู้ได้เองว่าความคิดที่เขามีนั้นจะไม่มีวันสมบูรณ์แบบหากขาดบางส่วนจากผู้คนรอบข้างมาเติมให้เต็ม

เพราะโลกทุกวันนี้หมดยุคที่จะทำอะไรแบบ ‘ข้ามาคนเดียว’ แต่หันมาสู่การสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ที่ชักชวนเพื่อนฝูงและคนรอบข้างให้โตด้วยกัน รวยด้วยกัน ไม่เชื่อก็ดูระบบนิเวศของทั้งแอปเปิล และกูเกิล ที่รู้ดีว่าไม่มีกำลังมากพอจะทำแอพต่างๆ รองรับผู้ใช้นับพันล้านคนทั่วโลกได้ จึงหันมาสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาทั่วโลกเข้ามาสร้างรายได้ร่วมกันได้

แนวคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพที่บ้านเราพยายามดำเนินรอยตามอยู่ก็อาศัยการเปิดกว้างทางความคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีใครที่จะเก่งไปหมดทุกอย่าง แม้แต่ ‘แจ็ค หม่า’ เจ้าพ่ออาลีบาบาก็ไม่เว้น เพราะย้อนไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว แจ็คไม่มีทางสร้างประวัติศาสตร์ได้อย่างทุกวันนี้หากไม่มี ‘โจเซฟ ไซ’​ เข้ามาร่วมงานด้วย

โจเซฟ เข้ามาร่วมงานกับอาลีบาบาในวันที่แจ็คกำลังถังแตกเพราะขาดเงินทุน เขายอมทิ้งเงินเดือนนับล้านบาทเข้ามาร่วมงานกับแจ็ค เพราะมองเห็นว่าแจ็คขาดสิ่งที่เขามีอยู่ นั่นคือสายสัมพันธ์กับนักลงทุน จากเงินเดือนหลักล้านที่เคยได้จากงานเก่า มารับเงินเดือนหลักพันในอาลีบาบายุคบุกเบิก เพราะเขารู้ว่าธุรกิจของแจ็คดีพอจะหาเงินลงทุนมาได้แน่ๆ ส่งผลให้โจเซฟกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์กว่า 3 แสนล้านบาทในทุกวันนี้

แจ็คกับโจเซฟอาจจะไม่ได้ถกกันในผับ แต่การเปิดกว้างทางความคิดของคนทั้งสองดึงดูดให้เขามาเจอกัน ซึ่งภาพแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเราน้อยเหลือเกิน เพราะมหาวิทยาลัยขาดการสร้างบรรยากาศเชิงบวกให้กับเด็กๆ

ที่อาจจะได้เห็นบ้าง ก็เป็นการร่วมกลุ่มกันสร้างแชร์ลูกโซ่ ทำงานผ่านเน็ตสบายๆ รับเงินทุกเดือนแค่หาสมาชิกมาเพิ่ม ซึ่งไม่ใช่การถกกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่ถกกันเพราะความโลภอยากได้เงินง่ายๆ ซึ่งกลายเป็นค่านิยมที่น่ากลัวของเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว

บางที ผับ บาร์ ข้างมหาวิทยาลัยอาจมีบทบาทมากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้…

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า