วิกฤติธรรมาภิบาล สนิมในสภามหาวิทยาลัย

edu-2

ท่ามกลางสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งที่กำลังเผชิญวิกฤติด้านธรรมาภิบาลอย่างรุนแรงในขณะนี้ ปรากฏบทความชิ้นสำคัญของ ศาสตราจารย์รัตนะ บัวสนธ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง ‘วิกฤตกาลธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย: ปัญหาและแนวทางแก้ไข’ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาถึงความไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงของสภามหาวิทยาลัยไทยที่ไม่สามารถแก้ปัญหาภายในได้ด้วยตนเอง เป็นเหตุให้หัวหน้าคณะรัฐประหารต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าจัดการ

การใช้มาตรา 44 นี่ดูเสมือนว่าจะเป็นที่สะใจ ถูกใจของประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นๆ รวมทั้งบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยที่ติดตามข่าวสารทางการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดี การใช้มาตรา 44 นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาบำบัดโรคร้ายของสภามหาวิทยาลัยที่ได้ผลเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น – เนื้อหาในบทความดังกล่าวระบุ

ฉีกหน้ากากผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา

บทวิเคราะห์ของศาสตราจารย์รัตนะ เผยถึงรากเหง้าของปัญหาและสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤติธรรมาภิบาลในหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งเปรียบเสมือนทุกข์และสมุทัยของการขาดธรรมาภิบาล โดยชำแหละให้เห็นต้นตอที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ ดังนี้

  1. นายกสภามหาวิทยาลัยไร้ประสิทธิภาพ สาเหตุนี้นับว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงที่สุด แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่เกิดขึ้น ดังที่ปรากฏออกมาในลักษณะต่างๆ นานา ได้แก่
    • ชราภาพ แม้ว่าข้อเท็จจริงประการหนึ่งของสังคมไทยคือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและผู้สูงวัยเหล่านั้นยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองได้อีกมากมาย แต่ก็ปรากฏว่า นายกสภามหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ยังติดยึดยินดีกับตำแหน่งและการได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนทั่วไป ความอาวุโสมากเกินไปของนายกสภาฯ นำมาสู่ความเกรงอกเกรงใจของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง หรือเกิดสภาพเออออห่อหมกไปกับนายกสภามหาวิทยาลัย และตัวนายกสภาฯ ที่สูงวัยก็ไม่ยินดีที่จะให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่อ่อนวัยกว่าโต้แย้ง ใครโต้แย้งบ่อยๆ ก็กลายเป็นปรปักษ์กับนายกสภาฯ ไปโดยปริยาย ดังนั้น จึงนำไปสู่การตัดสินใจลงมติเรื่องสำคัญๆ ในทำนองเกรงใจนายกสภามหาวิทยาลัย
    • อาชีพนายกสภาฯ หลายคนทำหน้าที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยซ้ำซ้อนกันถึง 2-3 แห่ง บางคนเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหนึ่ง และยังเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยอื่น แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาจะพยายามแก้ไขปัญหาการควบตำแหน่ง โดยออกกฎเกณฑ์การเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าหลายคนมีอาชีพเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเต็มจำนวนที่กำหนด ซึ่งได้รับค่าตอบแทนและสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถประจำตำแหน่ง การเข้าพักในโรงแรมชั้นดี การเดินทางไปต่างประเทศ และยังมีค่าตอบแทนให้กับผู้ติดตามนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นต้น
    • เอื้อประโยชน์สมยอมกับฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย เนื่องจากนายกสภาฯ ได้รับการเสนอชื่อสรรหาโดยอธิการบดีและทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ดังนั้น เมื่อผู้บริหารสูงสุดเสนอวาระต่างๆ เข้าในสภามหาวิทยาลัย นายกสภาฯ ย่อมเห็นดีเห็นงามหรือสนับสนุนไปด้วย เข้าทำนองผลประโยชน์ต่างตอบแทน ดังนั้น บ่อยครั้งที่มติจากสภามหาวิทยาลัยจึงเป็นไปตามที่นายกสภาฯ และอธิการบดีต้องการ โดยปราศจากการฟังเสียงของประชาคมในมหาวิทยาลัย หรือตระหนักในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยโดยรวม
    • ขัดแย้งกับอธิการบดี ข้อนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับข้อที่กล่าวมา นั่นคือ เกิดการไม่ลงรอยระหว่างนายกสภาฯ กับอธิการบดี อาทิ นายกสภาฯ ล้วงลูกการบริหารงานมหาวิทยาลัย แทนที่จะกำกับนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่กลับไปทำหน้าที่สั่งการฝ่ายปฏิบัติงานซึ่งเป็นหน้าที่ของอธิการบดีโดยตรง หนักไปกว่านั้นนายกสภามหาวิทยาลัยบางแห่งมานั่งทำงานในห้องประจำตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยทุกวัน ทำให้เกิดสภาวะมีสองอธิการบดีในหนึ่งมหาวิทยาลัย หรือนายกสภาฯ บางแห่งยึดมั่นในบทบาทหน้าที่ของตนโดยไม่โอนเอน ไม่สมยอมกับอธิการบดีในเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดความเสี่ยงกับมหาวิทยาลัย นำไปสู่การใช้อำนาจสภามหาวิทยาลัยปลดอธิการบดี หรืออธิการบดีสั่งปลดนายกสภามหาวิทยาลัย
  1. ผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยไม่มีหลักคิดของตนเอง ปัญหาเกี่ยวกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่สามารถเป็นหลักให้พึ่งพิงได้ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในการตัดสินใจมีมติสำคัญต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชาวมหาวิทยาลัย เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีความเกรงใจนายกสภาฯ และ/หรืออธิการบดีที่อาวุโสกว่า จึงทำให้การตัดสินใจลงมติเรื่องนั้นๆ ถูกครอบงำชักจูงโดยผู้อาวุโสกว่า ดังที่นักวิชาการท่านหนึ่ง (วรากรณ์ สามโกเศศ, กรุงเทพธุรกิจ, 20 กันยายน 2559) ได้แสดงความคิดในเรื่องทำนองนี้ไว้ นอกเหนือจากความเกรงใจแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อโดยอธิการบดี ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิมีลักษณะลูบหน้าปะจมูก
  1. อธิการบดีขาดธรรมาภิบาล ปัญหาการบริหารงานมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากตัวอธิการบดีขาดธรรมาภิบาล นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดและส่งผลต่อความล้มเหลวของการบริหารมหาวิทยาลัยมากที่สุด และเป็นผลนำไปสู่การใช้มาตรา 44 ในหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งสาเหตุของปัญหาอันเกิดจากตัวอธิการบดี สามารถจำแนกได้ดังนี้
  • หลงตน รวบอำนาจ อธิการบดีต้องบริหารมหาวิทยาลัยโดยอาศัยความร่วมมือจากคณบดี ผู้อำนวยการศูนย์ สำนักต่างๆ ดังนั้น หลักการกระจายอำนาจการบริหารงาน ความไว้วางใจ ให้คณบดีมีอิสระภายใต้การกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ถ้าหากอธิการบดีหลงตนเองว่ามีความสามารถแต่ผู้เดียว มองคณบดีเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องทำตามคำสั่งโดยปราศจากการโต้แย้ง และอธิการบดีก้าวก่ายล้วงลูก ย่อมก่อให้เกิดแรงต้านและความวุ่นวายขององค์กร
  • ใช้สภามหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือการบริหารงาน สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยและคอยกำกับดูแลการบริหารงานของอธิการบดี แต่กลับพบว่าอธิการบดีมีการใช้อำนาจครอบงำเหนือสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความเกรงใจ ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นขัดแย้งกับอธิการบดี เพราะกลัวการใช้อำนาจกลั่นแกล้งจากอธิการบดี ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยจึงถูกอธิการบดีจัดการมากกว่าจะเป็นองค์กรคณะบุคคลที่ทำหน้าที่จัดการอธิการบดีให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดทิศทางการพัฒนา
  • อาชีพอธิการบดีและสร้างทายาท มีจำนวนไม่น้อยสำหรับบางคนที่ติดยึดยินดีกับความเป็นอธิการบดี หรือมีอาชีพเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหนึ่งๆ จนกระทั่งหลงคิดไปว่าตนเองเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ไม่ไว้วางใจให้ใครบริหารงาน เพราะเกรงว่าจะมาหักล้างล้มเลิกในสิ่งที่ตนกระทำไว้ ดังนั้น จึงสร้างหรือพยายามทุกวิธีทางที่จะให้มีทายาทมารับช่วงบริหารงานต่อ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นได้รับการยอมรับจากชาวมหาวิทยาลัยหรือไม่ หนักไปกว่านั้น ผู้ที่มีอาชีพอธิการบดีบางกลุ่มยังใช้วิธีการสลับกันเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัย โดยเว้นวรรคให้คนอื่นมาคั่นกลางวาระ เพื่อที่ตนเองจะได้หวนกลับมาเป็นอีกครั้ง ลักษณะเช่นนี้นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยโดยรวม

ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่รับรู้โดยทั่วกันของชาวมหาวิทยาลัยที่ไร้ความหวัง หมดที่พึ่งกับการทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย จนกระทั่งท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การถูกใช้มาตรา 44 กันโดยถ้วนหน้า – บางตอนของบทความระบุ

ข้อเสนอเพื่อทางออก

ศาสตราจารย์รัตนะมีข้อเสนอว่า แนวทางแก้ไขปัญหาการขาดธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย จำเป็นต้องแสวงหาทางออกที่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ดังนี้

  1. การได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องสรรหาหรือคัดเลือกโดยปราศจากการชี้นำแทรกแซงของอธิการบดี และต้องพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจในกิจการบริหารการอุดมศึกษาอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ยังมิได้กล่าวถึงบุคคลบางจำพวกที่ต้องการได้เป็นนายกสภาฯ และ/หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพียงเพื่อสร้างเกียรติประวัติให้แก่วงศ์ตระกูลของตนเอง หรือเข้ามาเพื่อตักตวงผลประโยชน์ค่าตอบแทนต่างๆ จากมหาวิทยาลัย

ดังนั้น การสรรหานายกสภาฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ควรดำเนินการโดยคณะกรรมการสรรหาที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเป็นผู้เสนอชื่อ และมีขั้นตอนการคัดกรองที่โปร่งใส รวมทั้งมีความสำนึกรับผิดชอบแห่งการกระทำ (accountability) ในการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้

  1. การได้มาซึ่งอธิการบดี

อธิการบดีกับสภามหาวิทยาลัยนั้น ต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันไม่มากก็น้อย และความสัมพันธ์ที่มีนี้อาจจะเป็นไปในทางบวก ราบรื่น หรือเป็นไปในทางลบก็ได้อีกเช่นกัน ขึ้นอยู่กับข้อ 1 ที่กล่าวมานั่นเอง ดังนั้น เพื่อให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยได้รับการยอมรับนับถือจากประชาคมมหาวิทยาลัย และปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการเอื้อผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย การได้มาซึ่งอธิการบดีจะต้องคำนึงถึงปัจจัยและขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  • การเป็นผู้ได้รับการยอมรับจากประชาคมมหาวิทยาลัยนั้น โดยผ่านกระบวนการเสนอชื่อจากหน่วยงานภายในตามลำดับ และให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาทาบทามและการตอบรับของผู้เสนอตัวเข้ารับการสรรหาด้วยการกำหนดร้อยละขั้นต่ำของการหยั่งเสียงและเสนอชื่อจากคณะ เช่น ผู้ที่จะได้รับการทาบทามนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-20 ของผู้มีสิทธิ์หยั่งเสียง ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงบุคคลภายนอกที่ประสงค์จะยื่นใบสมัครด้วยเช่นกัน จะต้องมีร้อยละคะแนนเสียงขั้นต่ำของการยอมรับตามที่กำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วม (participation)
  • คณะกรรมการสรรหา ต้องได้รับการแต่งตั้งและมอบอำนาจจากสภามหาวิทยาลัยให้ทำหน้าที่สรรหากลั่นกรอง ซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาโดยสภานั้น ในวาระพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีจะต้องไม่มีอธิการบดีคนเดิมนั่งอยู่ในห้องประชุม แม้ว่าจะใกล้หมดวาระแรกหรือวาระสองของการดำรงตำแหน่ง การเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาจะต้องกระทำโดยการลงคะแนนลับนับเปิดเผย เพื่อให้ได้ตามจำนวนและองค์ประกอบ เป็นไปตามข้อบังคับการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนั้นๆ การดำเนินการเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจและการสร้างทายาทจากอธิการบดีคนเดิม ทั้งยังเป็นไปตามหลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ (transparency and accountability)
  • คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหา ทำการพิจารณากลั่นกรองสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นไปตามคุณสมบัติ คุณลักษณะที่กำหนด (เช่น คุณสมบัติทั่วไป คุณลักษณะต้องห้าม) และพิจารณาจากการนำเสนอวิสัยทัศน์ แนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยของผู้ตอบรับและได้รับการทาบทามนั้น ทั้งนี้ การพิจารณาสรรหาบุคคลที่เหมาะสมจะต้องไม่คำนึงให้ความสำคัญกับหนังสือบัตรสนเท่ห์ที่ไม่ลงนาม เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ปราศจากหลักฐานพยานบุคคล เอกสารที่ชัดเจน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีสกปรกที่ภาษานักเลงเรียกว่า ไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย
  • เมื่อได้ตัวบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาคิดว่าเหมาะสมแล้ว และบุคคลเหล่านี้ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยต่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเสร็จสิ้น คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยอาจจะมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ผู้ได้รับการสรรหานำเสนอผ่านมา และต้องไม่อภิปรายเรื่องอื่นใด โดยเฉพาะเกี่ยวกับคุณสมบัติ คุณลักษณะต่างๆ ของผู้ได้รับการสรรหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นการชี้นำโดยอคติส่วนตัว และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกโจมตีได้แสดงข้อมูลหักล้าง ทั้งๆ ที่บุคคลนั้นผ่านการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติมาแล้วจากคณะกรรมการสรรหา ยิ่งถ้าหากการกล่าวให้ร้ายโจมตีนั้นเกิดจากการกระทำของอธิการบดีด้วยแล้วก็ยิ่งไม่เป็นสิ่งบังควรอย่างที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่า อธิการบดีเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกระทำดังนี้เป็นไปตามลักษณะที่เรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) อย่างแท้จริง

ดังนั้น สิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่งในขั้นตอนนี้ก็คือ อธิการบดีและรองอธิการบดีที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่งนั้นต้องไม่อยู่ในที่ประชุมในวาระการลงคะแนนเสียงเลือกอธิการบดี แม้ว่าอาจจะอ้างว่าตนเองมีสิทธิตามข้อบังคับก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันก็คือความเหมาะสมกับกาลเทศะ

ทั้งนี้ เมื่ออภิปรายเสร็จสิ้น (หรือบางครั้งอาจไม่มีการอภิปราย) ก็ต้องจัดให้มีการลงคะแนนลับนับเปิดเผย โดยที่นายกสภามหาวิทยาลัยผู้ซึ่งเป็นประธานนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะลงคะแนนให้กับผู้ใด เพราะจะขัดกับหลักความเป็นกลาง นายกสภาฯ หรือประธานในที่ประชุมจะลงคะแนนก็ต่อเมื่อเป็นผู้ชี้ขาดกรณีที่ผู้ที่ได้รับการลงคะแนนให้เป็นอธิการบดีมีคะแนนเสียงเท่ากัน เช่นนี้เป็นการใช้อำนาจของประธานที่ถูกต้องสมควร แต่ถ้าหากนายกสภาฯ หรือประธานในที่ประชุมลงคะแนนตั้งแต่แรกและลงคะแนนซ้ำในการเลือกชี้ขาด นั่นเท่ากับว่านายกสภาฯ ใช้สิทธิสองครั้ง ถึงแม้ว่าข้อบังคับจะเปิดช่องให้ทำได้ก็ตาม แต่ช่องทางนี้มีไว้สำหรับแก้ปัญหา มิใช่มีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า นายกสภามหาวิทยาลัยขาดความเป็นกลาง กระทำตนไม่เป็นหลักให้ในที่ประชุมให้สามารถยึดเหนี่ยวไว้วางใจได้ ยิ่งถ้าเป็นการลงคะแนนแบบร่วมมือกับอธิการบดีด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการชักนำสภามหาวิทยาลัยเข้าสู่จุดอับและนำไปสู่การถูกใช้มาตรา 44 ในที่สุด

บทสรุปส่งท้าย

ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัยและการบริหารมหาวิทยาลัยของไทย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ยังสังกัดส่วนราชการหรือมหาวิทยาลัยภายใต้กำกับของรัฐบาล นับเป็นปัญหาร้ายแรงและบ่อนทำลายคุณภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างมาก จนปัจจุบันนี้ได้ตระหนักทั่วกันในสังคมไทย โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาเรื่องนี้เข้าขั้นวิกฤติเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไขได้โดยการทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยตามระบบปกติ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบเฉียบขาดรุนแรง เพื่อระงับหยุดยั้งปัญหานี้

ดังนั้น ภายใต้วิกฤตกาลของปัญหาจึงเท่ากับว่ามีการเปิดโอกาสให้สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ข้อเสนอสาระต่างๆ ที่วิเคราะห์ วิพากษ์ ในบทความนี้ จึงมุ่งหวังว่าจะเป็นอีกมุมมองสำหรับการยกแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะก่อให้เกิดผลการพัฒนาสภามหาวิทยาลัยและการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยไทยอย่างยั่งยืนต่อไป


ที่มา: บทความเรื่อง ‘วิกฤตกาลธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย: ปัญหาและแนวทางแก้ไข’ โดย ศาสตราจารย์รัตนะ บัวสนธ์

เกี่ยวกับผู้เขียน

1

  • ศาสตราจารย์ สาขาวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ
  • อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ประเภทตัวแทนผู้บริหารและตัวแทนอาจารย์
  • กรรมการสภาวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ
  • คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า