จากพวงทอง ภวัครพันธุ์ ถึง ธงชัย วินิจจะกูล: 6 ตุลาฯ การขุดคุ้ย นิติรัฐ

จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2521 ปีนั้นเป็นปีที่ ธงชัย วินิจจะกูล และผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 19 ได้รับการนิรโทษกรรม หลังถูกจองจำมากว่า 2 ปี ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนต้องตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และถูกปรักปรำอย่างผิดไปจากความจริง กระทั่งต้อง ‘ลี้ภัยการเมือง’ อยู่ประเทศอังกฤษ  

มีประวัติศาสตร์ร่วมกันระหว่าง ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล คนแรกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนหลังเป็นแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์เดียวกัน ในปี 2563 ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ถูกคัดเลือกให้เป็นปาฐกในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้จัดและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนับจาก พ.ศ. 2530

หัวข้อในการแสดงปาฐกถาพิเศษของอาจารย์ธงชัย คือ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ก่อนจะถึงวันนั้น WAY อยากชวนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชุด ‘ธงชัย วินิจจะกูล ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17’ ซึ่งประกอบด้วยบทสัมภาษณ์นักวิชาการด้านต่างๆ 4 ท่าน บทสัมภาษณ์แต่ละชิ้นทั้งเติมและต่อทั้งตัวตนและความคิดของอาจารย์ธงชัย

สำหรับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ WAY สนทนากับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้พยายามทำให้สังคมมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้งผ่านงานวิชาการรวมถึงบทบาทในฐานะผู้ริเริ่ม ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ (Documentation of Oct 6) ร่วมกับอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 อาจารย์คาดหวังจะเห็นอะไรในปาฐกถาหัวข้อ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ของอาจารย์ธงชัย

ดิฉันคาดหวังว่าจะได้ฟังปาฐกถาเกี่ยวกับระบบนิติรัฐไทยที่แตกต่างจากงานที่มีการศึกษามาก่อนหน้า การศึกษาเรื่องนิติรัฐของไทยส่วนใหญ่ศึกษาโดยนักนิติศาสตร์ ซึ่งก็มักจะมองจากกรอบแนวคิดที่ว่า พฤติกรรมทั้งหลายของรัฐ หรือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นการละเมิดตัวกฎหมาย ละเมิดเจตจำนง เจตนารมณ์ของตัวกฎหมาย ทำลายระบบนิติรัฐของไทย พูดง่ายๆ ก็คือคุณมีกรอบอย่างหนึ่งในการมอง แล้วก็บอกว่าสิ่งที่คนอื่นทำนั้นผิดอย่างไรบ้าง มีปัญหาอย่างไรบ้าง แต่ดิฉันคิดว่าอาจารย์ธงชัยคงเห็นประเด็นนี้อยู่แล้ว จึงคาดหวังว่าจะเห็นการวิเคราะห์นิติรัฐของไทยจากมุมมองของนักประวัติศาสตร์ที่พยายามจะเข้าใจว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เราเห็นในระบบนิติรัฐของไทย หรือระบบกฎหมายของไทยที่เป็นลักษณะสองมาตรฐาน มันมีวัฒนธรรมทางการเมือง มีวาทกรรม มีอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรที่รองรับอยู่ มีอำนาจอะไรบางอย่างที่เรามองไม่เห็น ที่ครอบงำ จึงทำให้เกิดการละเมิดนิติรัฐอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เมื่อดูหัวข้อ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ดิฉันคิดว่าอาจารย์ธงชัยคงจะตั้งคำถามไปที่รากฐาน ที่เรามักจะบอกว่าการกระทำทั้งหลายขององค์กร หรือผู้มีอำนาจในช่วงที่ผ่านมาได้ละเมิดนิติรัฐ อาจารย์ธงชัยอาจจะถามว่า สังคมไทยมันเป็นนิติรัฐจริงหรือ ถึงแม้ว่าเราจะรับเอาระบบกฎหมายของตะวันตกเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เราเป็นนิติรัฐจริงหรือ หรือจริงๆ แล้วเราเพียงแต่ใช้อำนาจผ่านกฎหมายเท่านั้นเอง

อ่าน พวงทอง ภวัครพันธุ์: สังคมไทยอุปถัมภ์ความรุนแรง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดถูกโอบอุ้มโดยประชาชน

สังคมไทยเป็นอย่างไร หากมองผ่านงานเขียนของอาจารย์ธงชัย

ถ้าคุณอยากจะเข้าใจการเมืองไทยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่างานของอาจารย์ธงชัยถูกผลิตในฐานะงานประวัติศาสตร์อย่าง Siam Mapped: A History of the Geo-body of Siam ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แต่ดิฉันคิดว่าประเด็นหลายอย่างที่อยู่ในงานชิ้นนี้ สามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่นแนวคิดเรื่องราชาชาตินิยม ซึ่งผูกแนบแน่นกับกำเนิดของแผนที่สยามด้วย หรือการอธิบายบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่แนบแน่นกับการปกป้องดินแดนแถบนี้ แม้กระทั่งคุณจะเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่าลัทธิกษัตริย์นิยมล้นเกิน หรือ hyper royalism ที่เกิดขึ้นในระยะสิบปีที่ผ่านมา ถ้าคุณกลับไปอ่านงานของอาจารย์ธงชัยก็จะเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมือง โครงสร้างทางอำนาจที่อยู่เบื้องหลังวาทกรรม เบื้องหลังแนวคิดเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งด้วยว่า อาจารย์ธงชัยไม่ได้อธิบายเพียงแค่ว่าเกิดอะไรขึ้นในทางประวัติศาสตร์ แต่ชี้ให้เราเห็นถึงการปะทะกันของแนวความคิดทางอุดมการณ์ การปะทะกันของวาทกรรม รวมทั้งอำนาจที่มีอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดการปรับตัวและแปรเปลี่ยนอย่างไร ในที่สุดมันสามารถส่งผ่านช่วงเวลาในทางประวัติศาสตร์ได้อย่างยาวนาน มากกว่าการจะเข้าใจแค่ตัวละครในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความรับรู้ของสังคมไทยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นไปในเชิงบวก อาจารย์พวงทองมองเห็นอะไรในปรากฏการณ์เหล่านี้

สังคมไทยในระยะสิบปีที่ผ่านมา มีคนหันมาสนใจเรื่อง 6 ตุลาฯ กันมากขึ้น ช่วงเวลาที่ครบรอบ 6 ตุลาฯ เราก็จะเห็นข่าว เห็นโพสต์ เห็นอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด มีการจัดงานใหญ่มากยิ่งขึ้น ด้านหนึ่งก็คงเป็นเครดิตของอาจารย์ธงชัย แต่อีกด้านหนึ่งก็คงจะเกี่ยวข้องกับกระแสทางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไปในระยะสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2549 เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลายเป็นประเด็นที่สามารถนำกลับมาใช้วิพากษ์วิจารณ์รัฐและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะสิบปีที่ผ่านมาได้ดี

เวลาเราอ่านงานอาจารย์ธงชัย โดยเฉพาะงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ทำไมเรามักเห็นอารมณ์เชิงวรรณกรรมในงานวิชาการชุดนี้ของอาจารย์ธงชัย

เวลาอาจารย์ธงชัยพูดถึง 6 ตุลาฯ ทีไร ก็ร้องไห้ทุกครั้ง เขายังสะเทือนใจอยู่เสมอ เพราะว่าตนเป็นเหยื่อของ 6 ตุลาฯ เป็นผู้ที่รอดชีวิตจาก 6 ตุลาฯ ดิฉันคิดว่าในอารมณ์นั้นมีความรู้สึกผิดที่ตนเป็นผู้รอดชีวิต แต่ว่าเพื่อนฝูงและคนจำนวนมากเสียชีวิตในวันนั้น อีกจำนวนมากไปเสียชีวิตในป่า ฉะนั้นดิฉันคิดว่านี่คือความสะเทือนใจ ซึ่งระยะเวลาไม่ทำให้มันหายไป มันยังตรึงคงอยู่กับเขา

6 ตุลาฯ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนอาจารย์ธงชัยอย่างแยกไม่ออก ตัวตนนี้สะท้อนออกมาตอนที่อาจารย์พูดถึง 6 ตุลาฯ รวมถึงในงานวิชาการของอาจารย์ด้วย 

งานวิชาการของอาจารย์ธงชัยจะมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นวิชาการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง เช่น Siam Mapped หรือการศึกษาความเป็นอื่นในสังคมไทย หรือลัทธิราชาชาตินิยม กับงานวิชาการส่วนที่เป็น 6 ตุลาฯ แต่ดิฉันคิดว่าสองส่วนนี้แยกจากกันไม่ออก เวลาพูดถึง 6 ตุลาฯ ดิฉันมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของตัวตนอาจารย์ธงชัย

ถ้าเราจำกันได้ ตอนวาระ 40 ปี 6 ตุลาฯ อาจารย์ธงชัยปาฐกถา เริ่มด้วยการบอกว่า มีคนกล่าวว่า 40 ปีที่ผ่านมา แกหมกมุ่นอยู่กับ 6 ตุลาฯ แกก็ประกาศยอมรับอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า ใช่ หมกมุ่น แต่เพราะ 6 ตุลาฯ นี่ต่างหากที่ทำให้แกได้ดี

แปลว่าอะไร ดิฉันคิดว่าความหมกมุ่นของอาจารย์ธงชัยที่ทำให้แกพูดว่า แกได้ดีเพราะ 6 ตุลาฯ ถ้าเราไปอ่านบทนำของ Siam Mapped อาจารย์พูดประโยคหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่โหดร้ายเหลือเกิน” ประวัติศาสตร์อะไรที่โหดร้าย ดิฉันคิดว่า ประวัติศาสตร์ของการเป็นชาติ ประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติ นี่แหละคือสิ่งที่โหดร้าย ปรากฏการณ์ที่เผยให้เห็นคือ ปรากฏการณ์ของ 6 ตุลาฯ

6 ตุลาฯ คือ การพยายามที่จะบอกว่า นิสิตนักศึกษาไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนอื่น ต้องจัดการให้หมดไปจากแผ่นดินไทย ดิฉันคิดว่าความโหดร้ายของประวัติศาสตร์ที่ปรากฏออกมาใน 6 ตุลาฯ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงผลักให้อาจารย์พยายามที่จะตอบคำถามนี้ ซึ่งปรากฏออกมาในงานเขียน Siam Mapped และงานอื่นๆ ที่ออกมาอีกชุดใหญ่

ในงาน 40 ปี 6 ตุลาฯ ประโยคต่อมาอาจารย์ธงชัยพูดประมาณว่า “ผมยอมรับว่าผมเป็นฝ่ายซ้าย ต้องการสังคมนิยม” ทำไม 40 ปีผ่านมาจึงเพิ่งประกาศในที่สาธารณะ

ดิฉันจำไม่ได้แน่ชัดว่า wording คืออะไร แกน่าจะพูดว่า ไม่ได้ผิดที่แกเป็นฝ่ายซ้าย เป็นพวก radical หัวรุนแรง แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายซ้ายในที่นี้ คุณต้องเข้าใจว่า คำว่าฝ่ายซ้ายมันเป็นนิยามที่กว้างมาก โดยเฉพาะในสังคมไทย ปัจจุบันเราก็ยังมีฝ่ายซ้าย ซึ่งฝ่ายซ้ายในปัจจุบันกับฝ่ายซ้ายใน 6 ตุลาฯ ดิฉันคิดว่าไม่เหมือนกัน อาจจะหมายถึงกลุ่มที่ต้องการจะท้าทายต่อระเบียบสังคมเดิมที่มีอยู่ หรือกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐที่ดำรงอยู่ ซึ่งอุดมคติของฝ่ายซ้ายแต่ละยุคไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งฝ่ายซ้ายในยุค 6 ตุลาฯ เอง ดิฉันคิดว่า มันก็ไม่ได้เป็นเหมือนกันหมดทุกคน ขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น ถ้าคุณบอกว่าคนที่ชุมนุมอยู่ที่ธรรมศาสตร์สามพันกว่าคนในวันนั้น คิดเห็นเหมือนกันหมดในทางการเมือง อยากจะเป็นสังคมนิยม อยากจะเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน ดิฉันไม่แน่ใจ มันหลากหลายมากกว่านั้น แต่โอเค เวลาที่รัฐปราบปรามขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น เพราะเขามองว่า ขบวนการนักศึกษาคือขบวนการสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์

บทบาทของอาจารย์ธงชัยเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างในการก่อตั้งโครงการบันทึก 6 ตุลา (Documentation of Oct 6)

บทบาทของอาจารย์ธงชัยที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ ก็คือ การร่วมกันจัดตั้ง ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุออนไลน์ ดิฉันในฐานะผู้จัดการ ก็เกิดจากการคุยกันเมื่อตอนใกล้จะครบ 40 ปี 6 ตุลาฯ แล้วเราก็พบว่าจริง ๆ แล้วมันมีเอกสารข้อมูลจำนวนมากที่อาจารย์ธงชัยมีอยู่ในมือที่ใช้ทำงานวิจัย เราอยากจะเอามาขึ้นเว็บไซต์ เป็นหอจดหมายเหตุออนไลน์ที่ทำให้คนเข้าถึงได้

เริ่มต้นจากการคุยกันว่า เราอยากจะให้มีการสืบทอดความสนใจเรื่อง 6 ตุลาฯ เราพบว่า มีข้อมูลที่แหว่งวิ่นมากเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะว่าเราจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ มาเกือบ 40 ปี ช่วงที่เราคุยกันถึงโครงการนี้คือช่วงครบ 39 ปี 6 ตุลาฯ เราพบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่เราไม่รู้ หลายคนเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร รูปถ่ายของคนที่ถูกแขวนคอ หลายคนเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แล้วเราก็เพิ่งมาสรุปได้ว่า คนที่ถูกแขวนคอจริงๆ มี 5 คน ไม่ใช่คนเดียวอย่างที่เข้าใจผิดมาตลอด ฉะนั้นนี่ก็เป็นภารกิจหนึ่งของการทำบันทึก 6 ตุลาฯ

อาจารย์ธงชัยเริ่มด้วยการให้เงินส่วนตัวห้าแสนบาทสำหรับทำโครงการนี้ แต่ด้วยความที่เราเลี่ยงไปทำเป็นโครงการออนไลน์ ก็ทำให้เราประหยัดงบได้มาก แล้วก็เริ่มระดมเงินสมทบทุนจากคน 6 ตุลาฯ ที่พอดีมีฐานะ ทำให้เรามีเงินเริ่มต้นประมาณล้านเศษๆ แล้วข้อมูลชุดแรกจนถึงชุดปัจจุบันที่ดิฉันเพิ่งเอาขึ้นเว็บไซต์ไปอีกประมาณหลายพันหน้า ส่วนใหญ่เป็นเอกสารจากอาจารย์ธงชัย ดิฉันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ รวมถึงดูแลการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ จัดตั้งเว็บไซต์ จัดตั้งเฟซบุ๊คของโครงการ เพื่อที่จะทำให้คนมาสนใจข้อมูลที่เรามีอยู่

บทบาทของอาจารย์ธงชัยในการทำงาน 6 ตุลาฯ มีความสำคัญกับอาจารย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนแก แล้วงานของแกมันออกมาสองทาง คือหนึ่งงานวิชาการ กับสองงานกิจกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการที่เราทำร่วมกันก็คือโครงการบันทึก 6 ตุลา

มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่จะออกมาในต้นปีหน้า ชื่อ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok เป็นงานที่อาจารย์ธงชัยพยายามจะอธิบายเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ซึ่งไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นในเช้าวันนั้นอย่างเดียว แต่สิ่งที่อาจารย์ธงชัยพยายามจะบอกก็คือว่า เวลาที่พูดถึง 6 ตุลาฯ ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ลืมไม่ได้-จำไม่ลงนั้น หมายถึงอะไร ภาวะลืมไม่ได้-จำไม่ลง เกิดจากอะไร ปัจจัยอะไรที่แม้เวลาผ่านไป 40 ปี ก็ยังทำให้เราพูดถึง 6 ตุลาฯ ไม่ได้อย่างเต็มที่ มันมีเพดานในการพูดถึงเรื่องนี้อยู่ แสดงว่ามีอำนาจบางอย่างที่เรามองไม่เห็น หรือมีการสืบต่อของโครงสร้างทางอำนาจของกลุ่มอำนาจที่เคยมีอำนาจเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะเปลี่ยนตัวบุคคลไป แต่ว่าโครงสร้างเหล่านั้นยังอยู่ แล้วเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางการเมือง เกี่ยวข้องกับวาทกรรม

เวลาที่เราบอกว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ไม่ใช่แค่เรื่องที่มีแต่ฝ่ายซ้ายเท่านั้น หรือผู้ที่เป็นเหยื่อของ 6 ตุลาฯ เท่านั้นที่อยู่ในภาวะของความเงียบ ความเงียบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความพ่ายแพ้ หรือความพยายามถูกทำให้ลืมอย่างเดียว ดิฉันคิดว่า อาจารย์พยายามจะอธิบายว่า ในความเงียบมีอยู่ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ซึ่งมันแตกต่างกัน ฝ่ายขวาก็มีความหลากหลายในกลุ่มของพวกเขา ฝ่ายซ้ายเองก็เช่นกัน ฉะนั้นการมองกลุ่มฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ในลักษณะที่เป็นก้อนใหญ่ๆ สองก้อน โดยไม่เห็นความหลากหลายภายในนั้น จะไม่ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” แล้วเราจะไม่เข้าใจพลวัตของสังคม ของบุคคลได้อย่างเพียงพอ ดิฉันคิดว่ามีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจในตัวงาน 6 ตุลาฯ แล้วสามารถที่จะนำไปใช้เป็นกรอบในการเข้าใจและเปรียบเทียบกับสังคมอื่นที่มีความรุนแรง ความเงียบของเขาคืออะไร ปัจจัยอะไรที่ทำให้เงียบ แล้วกรณีสังคมไทย อะไรที่ทำให้เงียบ แล้วความเงียบมันคืออะไร

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ธงชัยเป็นตัวหลักที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่เราต้องการการศึกษา 6 ตุลาฯ ที่แตกต่างหลากหลาย และแตกยอดไปมากกว่านี้ หนังสือเล่มดังกล่าวที่จะออกมาในปีหน้า ดิฉันคิดว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของอาจารย์ธงชัยที่มีต่อสังคมไทย ที่มีต่อเพื่อน ที่มีต่อผู้เสียชีวิตใน 6 ตุลาฯ เป็นภารกิจที่ดิฉันคิดว่า อาจารย์ลงทุนถึงขนาดลาออกจากงานที่มหาวิทยาลัย Wisconsin Medison เพื่อมานั่งเขียนเล่มนี้เป็นเวลา 3 ปี คิดว่าเป็นภารกิจของชีวิตที่ดิฉันเชื่อว่า ถ้าไม่สำเร็จ อาจารย์คงนอนตายตาไม่หลับ ก็รออ่านกัน ดิฉันคิดว่าเป็นงานที่น่าอ่าน

อาจารย์มองอย่างไรกับการที่นักวิชาการคนหนึ่งยังคงค้นคว้าเอกสารและเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

หลังจากจบหนังสือเล่ม Moment of Silence ดิฉันคิดว่าอาจารย์คงพักเรื่อง 6 ตุลาฯ เท่าที่ทราบแกมีโครงการที่อยากจะเขียนหนังสือเรื่องอื่นอีก เช่น กรณีเรื่องนิติรัฐที่อาจารย์จะปาฐกถาในวันที่ 9 มีนาคมนี้ คิดว่าเป็นงานโปรเจ็คต์ใหม่ที่อาจารย์ต้องการที่จะทำ แต่ถามว่าคนคนหนึ่งนั่งทำ นั่งสนใจเรื่องหนึ่งเป็นเวลา 40 ปี มันผิดปกติไหม ดิฉันคิดว่าอาจารย์เริ่มสนใจทำวิจัยเรื่องนี้ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าอ่านจากที่แกเขียนก็คือเริ่มประมาณ 20 ปี หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นมาแล้ว แต่แน่นอนว่า ชีวิตจิตใจแกอยู่กับ 6 ตุลาฯ ตอนที่ปาฐกถาแกก็บอกว่า ไม่มีวันไหนเลยที่แกไม่คิดถึง 6 ตุลาฯ

บทสัมภาษณ์ชุด ‘ธงชัย วินิจจะกูล ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17’ นี้ประกอบด้วยการสนทนากับ 1. ยุกติ มุกดาวิจิตร 2. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ 3. พวงทอง ภวัครพันธุ์ 4. ธนาพล ลิ่มอภิชาต เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 หัวข้อ นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เริ่มลงทะเบียนเวลา 12.30 น.

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า