แด่ผู้วายชนม์ ’53: เมื่อกระบวนการยุติธรรมไทยถูกปิดตาย หนทางสุดท้ายคือศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในงานรำลึก 12 ปี การปราบปรามประชาชน เมษา-พฤษภา 53 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา แฮชแท็ก #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม ได้ขึ้นเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย ด้านหนึ่งสะท้อนความรู้สึกขมขื่นต่อกระบวนการอยุติธรรมของไทยที่ปิดประตูสู่ความยุติธรรมทุกด้านแล้ว ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่าคนเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่จะไม่ลืม และจะยืนยันทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตต่อไป กระนั้น ก็ไม่มีการเสนอหนทางทวงความยุติธรรมที่ชัดเจนแต่ประการใด 

กระบวนการยุติธรรมไทยที่ปิดตาย 

หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้ไม่หยุดนิ่งดูดายแต่ประการใด แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งเอาผิดกับผู้ชุมนุมฝ่ายเดียวเท่านั้น ทั้งที่ฝ่ายที่สูญเสียมากที่สุดคือฝ่ายผู้ชุมนุม กล่าวคือ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 คน เป็นฝ่ายประชาชน 84 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ 10 คน มีประชาชนบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,000 คน ทั้งๆ ที่มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ. ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่กระบวนการยุติธรรมต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ 

ทันทีหลังสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมถูกจับกุม-ดำเนินคดีสารพัด ผู้ชุมนุม 1,025 คน ถูกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายคดีศาลสามารถตัดสินจบภายในวันเดียว เป็นคดีอาญาร้ายแรง 513 คน ที่รู้จักกันดีคือ คดีชายชุดดำที่ถูกกล่าวหาว่าสังหาร พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ในคืนวันที่ 10 เมษายน คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์และห้างอื่นๆ คดีเผาที่ว่าการจังหวัดหลายแห่งในภาคอีสาน คดีมีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง แต่ในที่สุด หลายคดีถูกศาลยกฟ้อง พวกเขาถูกจับกุมคุมขังฟรีๆ อยู่หลายปี โดยไม่ได้รับการชดใช้แต่ประการใด 

นอกจากนี้ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 22 คน ถูกดำเนินคดีร้ายแรง เช่น ก่อการร้าย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และทำให้เสียทรัพย์ ในที่สุด ศาลอาญายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา กระนั้น ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ศาลฎีกาของศาลแพ่งกลับมีคำสั่งให้แกนนำ นปช. 3 คน คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ ชดใช้ค่าเสียหาย 21 ล้านบาท ให้กับเจ้าของอาคารเซ็นเตอร์วัน ทั้งๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้เผา แต่ศาลกลับยกฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องร่วมในคดีเดียวกัน 

ในทางตรงกันข้าม ในช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลอยู่นั้น กระบวนการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐกลับหยุดนิ่ง จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มทำงานอย่างจริงจัง ดีเอสไอเริ่มรวบรวมหลักฐานและนำไปสู่การไต่สวนการตายของผู้ชุมนุม

การไต่สวนการตายหลายกรณีคืบหน้าอย่างรวดเร็ว การเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 17 ราย (รวมทั้งกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ) ศาลอาญามีคำวินิจฉัยว่าพวกเขาเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งทหาร ในเดือนตุลาคม 2556 อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่า ศาลอาญาประทับรับฟ้อง แต่พอเกิดรัฐประหารโดย คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระบวนการยุติธรรมก็พลิกกลับอย่างรวดเร็ว 

เพียง 3 เดือนหลังรัฐประหาร ศาลอาญาได้กลับคำพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวของทั้งสองคนเป็นการใช้อำนาจ ตำแหน่ง หน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และหาก ปปช. ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

คำพิพากษาดังกล่าวได้ลดระดับความรุนแรงของคดีอาญาให้เป็นเพียง ‘ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ’ เท่านั้น ซึ่งในที่สุด ปปช. ก็มีมติไม่ยื่นฟ้องต่อทั้งสองคน นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจเลยสักนิดเมื่อเราได้เห็นการทำงานของ ปปช. นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา 

ญาติของผู้เสียชีวิตและแกนนำ นปช. ยังพยายามเดินหน้าสู้ต่อ พวกเขายื่นอุทธรณ์ แต่ความพยายามของพวกเขาก็ไร้ผล ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สิ่งนี้หมายความว่าโอกาสที่จะนำคดีความปี 53 กลับคืนสู่กระบวนการยุติธรรมในไทย ได้มาถึงทางตันแล้ว 

จะไป ICC ได้อย่างไร: คำตอบอยู่ที่ประชาชน

International Criminal Court (ICC) หรือศาลอาญาระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีขอบเขตพิจารณาอาชญากรรม 4 ประเภทด้วยกัน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมจากการรุกราน การจะหวังพึ่งความยุติธรรมจาก ICC ได้ ขั้นแรกสุดคือรัฐบาลไทยจะต้องให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม (the Rome Statute) และทำข้อตกลงเชิญ ICC เข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ปี 53 แต่ที่ผ่านมา 12 ปี กลับไม่ปรากฏเจตนารมณ์ของผู้นำพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการต่อสู้ของคนเสื้อแดงแม้แต่น้อย 

ในเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งอยู่ในช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความพยายามแสวงหาความยุติธรรมผ่านช่องทาง ICC โดยกลุ่มบุคคลที่ประกอบด้วย อ.ธงชัย วินิจจะกูล อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ นปช. คณะบุคคลนี้ได้เข้าพบนางฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการของ ICC เพื่อขอให้ ICC เข้ามาสอบสวนความรุนแรงปี 53 การเข้าพบครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่าอัยการของ ICC มีความสนใจคดีปี 53 อย่างยิ่ง ซึ่งความสนใจนี้เป็นผลจากจดหมายที่ อ.ธงชัย ส่งถึงนางเบนซูดาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 โดย อ.ธงชัย ได้เล่าถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535 แต่ผู้ใช้ความรุนแรงกลับไม่เคยต้องรับผิดเลยสักครั้ง 

อ.ธงชัย หวังว่าหาก ICC สามารถเข้ามาสอบสวนคดีปี 53 จะไม่เพียงช่วยคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อปี 53 เท่านั้น แต่อาจช่วยยุติการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในไทยได้ด้วย[1] ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ ICC ให้ความสำคัญ นางเบนซูดาได้กล่าวกับคณะที่เข้าพบว่า กรณีปี 53 อยู่ในเงื่อนไขที่ ICC จะรับพิจารณา แต่รัฐบาลไทยจักต้องให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม เพื่อรับเขตอำนาจของ ICC ก่อน ICC จึงจะสามารถดำเนินการใดๆ ได้ 

ICC ได้แสดงความกระตือรือร้นต่อกรณีของไทยอย่างยิ่ง ในเดือนพฤศจิกายน 2555 นางเบนซูดาได้เดินทางมาไทยเพื่อเข้าพบนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ของไทยในขณะนั้น เพื่อชี้แจงขั้นตอนการยอมรับเขตอำนาจของ ICC แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ทำอะไรเลยแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม เพราะมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากการชุมนุมของคนเสื้อแดงมากที่สุด จึงมีพันธะที่จะต้องทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนตายมากที่สุด อีกทั้งการรับเขตอำนาจของ ICC ยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ณ วันนี้ กระบวนการยุติธรรมในไทยที่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวและมาถึงทางตัน ยิ่งทำให้กรณีปี 53 สอดรับกับหลักการ Complimentarity ของ ICC ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ICC จะรับพิจารณาคดีที่พิสูจน์แล้วว่ารัฐภาคีไม่เต็มใจดำเนินคดี หรือไม่มีความสามารถดำเนินคดีอย่างยุติธรรมได้ กระนั้น 8 ปีหลังรัฐประหาร เราไม่เคยได้ยินคำมั่นสัญญาใดๆ ในเรื่องนี้จากพรรคเพื่อไทยเลย 

ประเด็น ‘ประมุขของรัฐ’ เป็นปัญหาจริงหรือ? 

เชื่อกันว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยไม่กล้าให้สัตยาบันยอมรับเขตอำนาจของ ICC ก็เพราะประเด็นที่ว่า ‘ประมุขของประเทศต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายของ ICC ด้วย’ ซึ่งอาจกระทบต่อสถานะของกษัตริย์ นอกจากนี้ ยังอ้างว่าเรื่องนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ตามมาตรา 190 ที่มีข้อความครอบจักรวาล โดยตอนหนึ่งระบุว่าหนังสือสัญญาใด “มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง” จะต้องให้สภาพิจารณา จึงเกิดความกลัวว่ามาตรา 190 อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเล่นงานรัฐบาลได้อีก ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีปราสาทพระวิหาร 

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่ฝ่ายขวาจะใช้มาตรา 190 เล่นงานพรรคการเมืองที่ต้องการผลักดันเรื่อง ICC แต่ผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องต่อสู้ จะต้องถกเถียงทำความเข้าใจกับสาธารณชนให้ชัดแจ้ง ไม่ใช่เริ่มจากการสยบยอม ไม่ทำอะไรต่อเลย ปล่อยให้ฝ่ายขวาตีความกฎหมายอย่างเกินเลยเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตน

ต้องโต้แย้งอย่างหนักแน่นว่า ตามนิยามของ Constitutional monarchy หรือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้น กษัตริย์ไม่ถือว่าเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยตรง จึงไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำในทางบริหารแต่ประการใด ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือรัฐบาลหรือผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหาก ประการสำคัญ ในกรณีปี 53 ปฏิบัติการสลายการชุมนุมถูกรองรับด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับปี พ.ศ. 2548 ที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เป็นผู้ลงนามประกาศใช้โดยตรง ไม่มีการขอพระบรมราชโองการจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สถาบันกษัตริย์ไม่มีความเกี่ยวข้องทางกฎหมายกับกรณีปี 53 แม้แต่น้อย การโต้แย้งประเด็นนี้ย่อมส่งผลเป็นการป้องกันการใช้มาตรา 190 อย่างฉ้อฉลด้วย 

ประชาชนต้องกดดันพรรคการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่านี้คือกับดักที่สร้างความหวาดกลัวให้กับนักการเมือง ซึ่งเชื่อได้ว่าต่อให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต่อให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบแลนด์สไลด์ ความกลัวนี้ก็ยังดำรงอยู่ และจะไม่ผลักดันเรื่อง ICC อย่างแน่นอน การทวงความยุติธรรมให้กับเหยื่อปี 53 ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นรัฐบาลแม้แต่น้อย แต่ ‘การเป็นรัฐบาลเพื่อปากท้อง’ จะถูกใช้เพื่อรองรับการไม่แตะต้องปัญหาทางการเมืองต่อไป แม้จะรู้กันดีว่าปากท้องจะไม่มีวันอิ่มอย่างยั่งยืนถ้าการเมืองไม่มั่นคง ถ้าไม่แตะต้องปัญหาทางการเมือง ต่อให้มีนโยบายเศรษฐกิจที่เลิศหรูเพียงใด ก็จะไม่มีวันทำให้เป็นจริงได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ฉะนั้น ในภาวะที่นักการเมืองและพรรคการเมืองขาดความกล้าหาญ ไม่มีเจตจำนงที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่เสียสละชีวิตและทำประโยชน์ให้ตน ภารกิจการผลักดันเรื่อง ICC จึงขึ้นกับประชาชน และแกนนำ นปช. ที่ยังมีสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนของตนเอง หากประชาชนและแกนนำ นปช. ไม่กล้าเรียกร้องกดดันพรรคการเมือง ก็อย่าหวังว่าพรรคการเมืองจะทำเรื่องนี้ 

ประชาชนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงประชาชนเสื้อแดงเท่านั้น แต่คือประชาชนที่เชื่อในประชาธิปไตยและต้องการสถาปนา Rule of Law เพื่อความยุติธรรม เป็นประชาชนที่สนับสนุนทั้งพรรคเล็กและใหญ่ จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้เรื่อง ICC เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมืองที่พวกท่านเลือกให้ได้ ทำให้มันเป็นสัญญาประชาคมที่นักการเมืองจะต้องทำ ทำให้การทวงคืนความยุติธรรมคือภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มุ่งทำลายการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทย และป้องกันการปราบปรามประชาชนในอนาคต การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะกดดันเรียกร้องสัญญาประชาคมนี้จากนักการเมืองของตน

การแก้ไขปัญหาปากท้องสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการต่อสู้เรื่องการเมือง และในขณะเดียวกัน การต่อสู้ทางการเมืองที่มีพลังมวลชนสนับสนุนอย่างเต็มที่อาจช่วยให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้นด้วยซ้ำ เป็นเสมือนปราการป้องกันการเมืองแบบฉ้อฉลของกลุ่มฝ่ายขวา 

ในสภาพที่กระบวนการยุติธรรมในไทยปิดตาย การรับเขตอำนาจของ ICC เป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ และมีแต่การผนึกกำลังของประชาชนร่วมกันเรียกร้องอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะทำให้พรรคการเมืองยอมทำตาม ที่ผ่านมา ประชาชนเสื้อแดงได้พิสูจน์ความกล้าหาญและเสียสละมามากพอแล้ว ฉะนั้น ประชาชนจึงมีทั้งศักดิ์และสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเรียกร้องนโยบายจากพรรคการเมืองของตน เพราะหากไม่มีเจตจำนงนี้ ยิ่งนานวัน ความตายของคนเสื้อแดงก็จะเป็นแค่ข้อกล่าวอ้างสำหรับหาเสียงของพรรคการเมือง เป็นแค่เหตุผลไว้โจมตีพรรคการเมืองคู่แข่ง และการจัดงานรำลึกความตายของคนเสื้อแดงก็จะเป็นแค่ ‘งานเช็งเม้ง’ อีกงานหนึ่งให้คนรุ่นหลังล้อเล่นต่อไปเท่านั้น 

[1] ดูจดหมายฉบับเต็มได้ที่ https://prachatai.com/english/node/3281. ดูเทปสัมภาษณ์ ศ.ธงชัย ที่ https://voicetv.co.th/watch/44685.

Author

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้ประสานงาน 'ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53' (ศปช.) อันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง จุดมุ่งหมายของ ศปช. คือจัดทำรายงานค้นหาความจริงเกี่ยวกับล้อมปราบในปี 53 ซึ่งถือเป็นการทำงานคู่ขนานและตรวจสอบการทำงานของ คอป. ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า