กฤษฎางค์ นุตจรัส: กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ “เราแพ้มาตลอด แพ้ทุกคดี และจะแพ้ต่อไป”

“เราแพ้มาตลอด แพ้ทุกคดี และจะแพ้ต่อไป”

เขาไม่ได้กล่าวถ้อยคำนี้ด้วยน้ำเสียงของผู้สิ้นหวัง ท้อเเท้ หรือยอมแพ้ศิโรราบ …กลับกัน มันถูกเปล่งออกมาด้วยวาจาอันหนักแน่น มุ่งมั่น เจือความขำขื่น และห่อหุ้มด้วยความหวัง ของ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จะไม่ให้แพ้ได้อย่างไร ในเมื่อลูกความของเขาล้วนแล้วแต่ต้องคดีความทางการเมือง ลำพังเฉพาะคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ก็แทบจะนับนิ้วไม่หวาดไหว ไหนจะคดีที่ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องตกเป็นจำเลยจากข้อพิพาทระหว่างผู้มีอำนาจ ความพ่ายแพ้ในสถานการณ์การเมืองและสภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เกินความคาดหมายของเขาแต่อย่างใด

“ไม่ว่าจะนักกีฬาก็ดี ทนายความก็ดี คนแต่งเพลงก็ดี คนเราก็ไม่ควรจะแพ้บ่อย”

จาก 6 ตุลา 2519 ซึ่งเขาเป็นส่วนหนึ่งของนกพิราบที่ถูกล้อมปราบอย่างโหดร้ายทารุณ สู่วันใหม่ที่ขบวนการประชาธิปไตยนำโดยคนรุ่นลูกรุ่นหลาน แม้วันนี้หลายคนจะประสบชะตากรรมไม่ต่างจากนักศึกษาในวันวาน แต่กฤษฎางค์เชื่อว่า อีกไม่นานชัยชนะจะมาถึง ต่อให้วันนี้ขบวนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่จะผลิดอกออกผลในกรงขังก็ตามที

WAY สนทนากับ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ถึงชีวิตและการทำงานของเขา ในฐานะทนายความคดีทางการเมือง ผู้พ่ายแพ้มากว่า 4 ทศวรรษ 

คุณเป็นทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 มาแล้วกี่คดี

ตอนนี้นับไม่ทัน แต่เท่าที่ว่าความเองก็ประมาณ 10 กว่าเรื่องได้ แต่ผมไม่เคยจดไว้เลย ขอโทษที (หัวเราะ) แต่คดีที่ผมเข้าไปร่วมประชุมหรือเข้าไปช่วยดู เพราะศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับคดี 112 ตอนนี้ เกือบ 200 คดีครับ ไม่พูดถึงคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หรือคดีมาตรา 116 นะ เพราะมีเยอะ 

ส่วนคดีที่ผมทำอยู่เฉพาะในช่วงรัฐบาลของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่ได้ตัดสินสักคดีเดียวครับ เช่น คดีปักหมุดสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 และ 20 กันยายน 2563 ก็เป็นคดีที่ใหญ่มาก เป็นคดีที่ยังไม่ได้สืบด้วยซ้ำไปเพราะศาลไม่ยอมออกหมายเรียกให้

นับตั้งแต่เป็นทนายความมา มีคดีไหนที่คุณสะเทือนใจที่สุด 

(นิ่งคิด) ในคดีที่ผมทำ ส่วนใหญ่ผมพยายามเอาตัวเองออกจากความเป็นจำเลยนะ ไม่เช่นนั้นเราจะทำอะไรลำบาก เราก็ช่วยเขาเต็มที่ ซึ่งผมคิดว่าในอนาคตคงจะมีคดีที่ผมสะเทือนใจอยู่มาก 

ยกตัวอย่างคดีอากง ซึ่งเราไม่ได้ทำคดีนะ ผมเคยไปนั่งฟังตอนที่น้องเขาสืบพยาน ผมมีความรู้สึกว่า มัน… มันเป็นการเอาเรื่องการเมืองไปทำลายชีวิตของคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียไปด้วย ผมเศร้าใจในเรื่องนี้ คดีอากงผมถือว่าเป็นคดีที่แย่มาก เป็นการพิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างในกระบวนการยุติธรรม

ความจริงแล้ว ถึงแม้คดียังไม่ตัดสิน บางครั้งมันเศร้าจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องตลก เช่น คดีของสมบัติ ทองย้อย ผมไม่ได้ทำนะ น้องๆ ที่ศูนย์ทนายฯ​ ทำ คดีนี้คุณสมบัติถูกแจ้ง 112 ในข้อความที่โพสต์ว่า ‘#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ’ และถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้อเลียนและใส่ความรัชกาลที่ 10 และกลายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

ผมถามเถอะว่า เราจะเอาอะไรกับมาตรฐานทุกวันนี้ แล้วถ้าเราไปดูทุกๆ คดี 112 ที่ผมทำมา ลูกความไม่ได้ประกันตัวนะ ซึ่งการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคุณไปเอาคนมาติดคุกไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ออกมา หรือการใช้วิจารณญาณในการลงโทษ หลายๆ เรื่องมันเกินกว่าความเป็นจริง เดชะบุญ เมืองไทยมันมีตัวอย่างให้เห็นเยอะ ไม่ต้องไปยกตัวอย่างศาลเมียนมาก็ได้ 

ยกตัวอย่างอีกสักคดีได้ไหม

ผมเคยพูดกับอธิบดีศาลอาญาครั้งหนึ่ง ตอนที่ตัดสินคดีของป้าเป้า (วรวรรณ แซ่อั้ง) จริงๆ แกอายุ 70 กว่าแล้วนะ แต่ในบัตรประชาชนแกไปแจ้งช้า ทำให้แกอายุในบัตรน้อยกว่าความเป็นจริง 

ป้าเป้าแกถูกข้อกล่าวหา ทำร้ายร่างกายหน่วยควบคุมฝูงชน ต่อสู้ขัดขืน สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก แล้วก็ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องว่าไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื้อหาคดีไม่ว่ากัน ศาลก็ยกฟ้อง เพราะถ้าศาลไปลงว่าทำร้าย คฝ. ด้วยยิ่งแย่ไปใหญ่ (หัวเราะ) เพราะพยานโจทก์เขาบอกว่าไม่ได้เจ็บอะไรเลย แถมหิ้วปีกป้าเป้าไปด้วยซ้ำ แล้วตอนป้าเป้าไปขายเสื้อ แกก็โดนจับไปด้วย แล้วศาลก็ไปลงโทษฐานไม่ใส่แมส พูดง่ายๆ ว่าไม่ใส่แมสเพราะศาลบอกว่าไปร่วมชุมนุมที่อาจทำให้เกิดโรคระบาด ผิดคำสั่งนายก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  

ป้าเป้าถูกจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 3 ปี ปรับป้าเป้า 2 หมื่นบาท  แล้วให้ไปทำประโยชน์และรายงานตัวอีกภายใต้ 2 ปี 8 ครั้ง ปีละ 4 ครั้ง หรือ 4 เดือนครั้ง เราก็อุทธรณ์ เพราะโทษที่ป้าเป้าโดน ศาลลงโทษเต็มสูบเลยนะ เพราะ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกสูงสุดคือ 1 ปี แปลว่าคุณจะจำคุก 1 เดือนก็ได้ 1 วันก็ได้เพราะไม่มีโทษขั้นต่ำ 

เดชะบุญ ฟ้ามีตา วันเดียวกันนั้นศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เสียบบัตรแทนกัน ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี น้อยกว่าป้าเป้า แต่จำคุกเท่ากัน 

ถ้าเป็นอย่างนี้ผมบอก “ป้าเป้า ป้าเป้าไปเสียบบัตรแทนดีกว่า แล้วไม่ต้องใส่แมสนะ” คือในโทษคดี ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน เขาถือเป็นโทษทุจริตหนักมาก จำคุก 1-15 ปี แปลว่าศาลฎีกาตัดสินด้วยโทษขั้นต่ำสุดคือ 1 ปี เท่ากับว่า ป้าเป้าและ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกัน ติดคุกเท่ากัน  เฮ้ย อะไรคือดุลยพินิจในการลงโทษ 

ผมพูดเรื่องนี้กับท่านอธิบดีศาลอาญา ติงให้ท่านเห็น ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้มันมีเรื่องอื่นอีกเยอะ แล้วในคดีป้าเป้า ผมเชื่อว่ามีการแก้ไขให้ลงโทษให้หนัก ผมพูดกับอธิบดีศาลอาญาไปแล้วด้วย ผมไม่เกรงใจเพราะคดีนี้ผมว่าความเอง แล้วเราเพียงใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ คดีนี้แหละที่ทำให้เห็นแก่นแท้ว่า เราหวังอะไรได้แค่ไหน

มีคำถามเยอะเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผมบอกว่าเราคงแก้ไม่ได้ตราบใดที่สังคมไทยมันยังมีการศึกษาแค่นี้ แล้วสังคมมีรัฐบาลแบบนี้ ปกครองแบบนี้ การศึกษาก็ไม่เจริญ เราก็จะได้คนแบบนี้แหละมาอยู่ในกระบวนการ ทุกวันนี้เราพัฒนาไปเยอะนะ เช่น แทนที่จะใช้การจด เราใช้การอัดเทปทำให้เร็วขึ้น แต่กระบวนการก็ยังล่าช้าอยู่ ความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่การสร้างตึกศาลให้ใหญ่โอฬาร ผมอยู่ที่สมองของคนที่ตัดสินมากกว่า 

เมื่อสถานการ์การเมืองออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นๆ มันมักมีโอกาสสูงมากที่ศาลจะตัดสินให้เป็นคุณให้กับทิศทางทางการเมืองในช่วงนั้นๆ คำถามคือ คุณคิดเห็นอย่างไรกับคำว่า ‘การพิจารณาคดีมักมีธงทางการเมืองอยู่เสมอ’

ภายใต้ระบบการปกครองแบบนี้ ผมว่ามันเป็นอย่างที่คุณพูด แต่ถามว่ามันควรมีไหม มันไม่ควรมี แต่มันมีแล้ว

ขณะเดียวกัน ผมเห็นผู้พิพากษาที่กล้าหาญหลายคน ผมก็ชื่นชม แต่เนื่องจากเขาเป็นผู้พิพากษาที่ไม่มีอำนาจ แล้วไม่ได้รับการคัดสรรให้มาทำคดีทางการเมือง เพราะการที่จะให้ใครมาทำคดีเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั้น มันจะต้องผ่านการคัดสรร อย่างคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ หรือคดีที่ตัดสินเด็กๆ ว่าปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลชุดนี้คัดสรรโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉะนั้น เมื่อได้คนแบบนี้ เราก็จะได้งานแบบนี้ แล้วถามว่าเขาทำงานได้ดีไหม ก็ดีในสายตาผู้มีอำนาจ แต่ความจริงแล้ว เราควรจะอยู่บนหลักของอะไร บนหลักความจริงที่ปกป้องทุกคนใช่ไหม

ยกตัวอย่าง ผมอาจจะไม่ได้ชื่นชอบในแนวทางของคุณ สิระ เจนจาคะ นะ ซึ่งแกถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้น ส.ส. เพราะเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ลงโทษจำคุกคดีฉ้อโกงเมื่อ 28 ปีก่อน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) เขียนว่าคนที่เป็นห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดบางประเภทลงสมัคร ส.ส. ซึ่งมีผลย้อนหลังและต้องห้ามตลอดชีวิต สิระโดนคดีนี้ แต่โดยหลักการมันไม่ถูกนะ เพราะมาตรานี้เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญใหม่ปี  2560 

มันกรณีเดียวกับที่คนพยายามพูดว่า นายกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี เพราะรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่งประกาศใช้ปี 2560 ของเก่าไม่นับ แต่แล้วทำไมคุณถึงไปนับของสิระ เจนจาคะล่ะ แล้วคดีฉ้อโกงที่สิระโดนมันนานมาก นานมากๆ คุณไปขุดเอามา ซึ่งโอเคนะ เราก็มาเคลียร์กันให้ชัดเจนว่า ถ้าคุณตัดสินเช่นนี้ คุณจะมาตัดสินคดีของประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกอย่างหนึ่ง ผมถามเถอะว่า แล้วใครจะเชื่อถือคุณ เด็กๆ มันเลยไปเอาศาลเจ้ามาเผาไง (หัวเราะ)

การใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกำราบให้กลัว ให้เงียบ และการดำเนินคดีเพื่อสร้างภาระในการต้องติดคุก ติดตะราง ประกันตัว คุณมองประเด็นนี้อย่างไร 

คนที่เราพูดมาทั้งหมดในคดีที่ผมทำ ยังไม่มีใครถูกตัดสินว่าผิดเลย เพราะฉะนั้น การที่คุณปล่อยตัวชั่วคราวไปโดยขังเขาไว้ที่บ้าน หรือใส่กำไลข้อเท้าเขา หรือห้ามเขาออกจากบ้านทั้งวัน หรือให้ไปเฉพาะตรงนี้ตรงนั้น แล้วสั่งให้เขามารายงานสัก 15 วัน ผมว่าเป็นเรื่องของการใช้อำนาจที่เลยเถิดจากที่กฎหมายให้ ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ 

โดยหลักปรัชญาของกฎหมายเขาบอกว่า คุณจะปฏิบัติต่อคนที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผิดแบบเป็นนักโทษไม่ได้ คนที่ถูกกล่าวหานั้น  ไม่ว่าจะเป็นโจรผู้ร้าย เยาวชนนิสิตนักศึกษา หรือญาติพี่น้องเรา ใครก็กล่าวหาได้เพราะในระบบของประเทศไทย เดินไปหาตำรวจ ตำรวจก็รับแล้ว เมื่อรับแล้วเรียกเราไปเป็นจำเลย แล้วเอาเราไปขังขณะที่สู้คดี 10 ปี ถ้าเราชนะขึ้นมาทำไง เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการประกันตัวระหว่างสู้คดีเขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นหลักที่ต้องให้ ถามว่าต้องปล่อยไหม บางครั้งไม่ปล่อยก็ไม่มีใครว่าอะไรถ้าเข้าตามเกณฑ์ของกฎหมาย คือหนึ่ง-หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ คุณติดคุกคดีโกงคน 100 ล้านบาท แต่คุณจะเอาเงินแค่ 20,000 ไปประกันตัว แบบนี้ไม่น่าเชื่อถือ หรือสอง-เชื่อว่ามีพฤติการณ์การหลบหนี และสาม-เกรงว่าจะไปก่อภยันตรายอื่นอีก ขีดเส้นใต้คำว่า ‘อื่น’ นะ เช่น คุณถูกกล่าวหาในคดีบางคดีแล้ว แล้วคุณประกาศชัดว่า ถ้าออกไป ฉันจะไปฆ่าพยาน หรือปล่อยไปครั้งแรกปรากฏว่าไปเผาบ้านเขา ไปยิงเขา จับได้ขณะยิงเขาและรับสารภาพด้วย อย่างนี้ถือว่าไปก่อให้เกิดภยันตรายอื่นอีก 

เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าสามข้อนี้ ศาลมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ประกันตัว แต่ถามว่า เด็กอย่างตะวัน ใบปอ ผักบุ้ง อานนท์ เพนกวิ้น เขาเข้าข่ายข้อพวกนี้หรือเปล่า คุณถึงไม่ให้ประกันตัวเขา ทุกวันนี้ที่ยังถูกขังกันสิบกว่าคน มันมีเหตุผลที่เข้าสามข้อนี้ไหม 

เวลาที่ศาลสั่งก็มักบอกว่า คดีที่คุณถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง เช่นคดี 112 โทษ 15 ปี…เอ๋า ต่อให้เขากล่าวหาโทษประหารชีวิตก็ได้ ศาลไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อ เพราะหลักคือต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาไม่ได้ฆ่า เขาไม่ได้หมิ่น เขาไม่ได้ผิด 112 หรือเมื่อคุณบอกว่า ‘ก็โทษมันสูง เกรงว่าปล่อยไปจะหลบหนี’ ก็เพราะคุณเชื่อว่าโทษมันสูง ทำไมล่ะ คนถูกกล่าวหาโทษสูงแล้วสู้ไม่ได้หรอ เขาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไม่ได้หรอ แล้วพอคุณเอาเขาไปขัง ก็ทำให้เขาไม่สามารถไปแสวงหาพยานหลักฐาน 

ส่วนการจะกำหนดเงื่อนไขเมื่อปล่อยตัวเขา ก็เช่น ถ้าเป็นคดีเด็ก ห้ามไปเข้าสถานบริการภายในอาณาเขตนี้นะ หรือห้ามเข้าไปใกล้คนที่คุณจะทำร้ายเขาภายใน 100 เมตร คำจำกัดเหล่านี้ กฎหมายเขียนว่า ต้องไม่เกินความจำเป็นที่เป็นภาระของผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ในเมื่อคุณให้เขาประกันตัวไปแล้วในคดีการเมือง คุณไปติดกำไล EM กลัวเขาหลบหนีหรอ คนที่เดินใส่กำไล EM ไปทั้งเมืองมันน่าเกลียดขนาดไหน แล้วกำไลมันก็ร้อง ขึ้นเครื่องบินก็ไม่ได้ บางคนเป็นนิสิตแพทย์ต้องไปผ่าตัด กำไล EM มันก็ไปรบกวนเครื่องมือทางการแพทย์ หรือการที่คุณไปขังเขาในบ้าน 24 ชั่วโมง จะไปไหนก็ต้องมาขออนุญาตศาล ตลกนะ (หัวเราะ) 

ถ้าอย่างนี้คุณขังเขาไว้ในเรือนจำก็ได้ ไม่เปลืองค่าเช่าบ้านเขาด้วย …แต่ทำไมเราถึงต้องยอมรับ เพราะไม่มีอยากไปติดคุกหรอกครับ คุกไทยมันลำบาก คนก็มีโรคภัยไข้เจ็บ นอนก็ไม่สบาย อาหารก็แย่ ผู้คุมก็ดุ แต่การที่คุณไปขังเขาไว้ที่บ้าน สมมุติเขาออกมาไม่ได้เลย แล้ววันหนึ่ง ถ้าศาลพิพากษาว่าเขาบริสุทธิ์ คุณจะชดใช้เขายังไง

นักโทษหรือผู้ต้องหาที่ถูกขังไว้โดยไม่ได้รับการประกันตัว หากศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่มีความผิด ยังได้รับเงินชดเชยจากกฎหมายว่าด้วยการชดเชยค่าเสียหายแก่จำเลยในคดีอาญา แต่คุณต้องถูกขังที่เรือนจำนะ  ถามว่าแล้วคุณที่คุณไปขังเขาไว้ที่บ้าน ถ้าเขาชนะคดีเขาไม่ได้สตางค์ด้วยนะ ใครจะรับผิดชอบเวลาที่เขาเสียไป 

คดีทางการเมืองจำนวนมากที่คุณเข้าไปข้องแวะมักประสบกับความพ่ายแพ้ คุณเยียวยาตัวเองอย่างไร

คือคนเราไม่ควรจะแพ้บ่อย ในการทำอาชีพอะไรสักอย่าง นักกีฬาก็ดี ทนายความก็ดี คนแต่งเพลงก็ดี ไม่ควรจะแพ้บ่อย 

ผมมีความฝันอยู่สองสามเรื่อง หนึ่ง-ผมเห็นว่างานที่เราทำกันอยู่นี้ เราทำตามความฝันของคนรุ่นหลัง ที่เขาทำไม่ได้มาก่อน ที่เขาต่อสู้กับคณะรัฐประหารในรุ่นเรา หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แล้วถูกฆ่าตาย ถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ ฆ่าแบบเลวร้ายมาก เราจึงรู้สึกว่า ความฝันที่จะทำงานแบบถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย มันน่าจะไม่มี คนที่อยู่ก็ไปทำมาหากิน คนที่ทนไม่ได้ ก็เหมือนที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์บอกว่า ไม่มีทางเลือกให้เขา เขาก็เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้กับรัฐ ดีที่มันจบลงโดยไม่เกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งมันเกิดแล้ว แต่เมืองไทยมันก็แก้ไขปัญหากันไป และหลังจากนั้นก็ไม่เกิดความฝันอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อเด็กรุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เขาเข้ามาทำงานตรงนี้ เพื่อต่อต้านสิ่งที่ไม่ดีในสังคมแล้วสร้างความฝันใหม่ ผมมีกำลังใจที่ผมจะช่วยเขานะ แล้วสบายใจมากที่จะทำงานเหล่านี้ 

เรื่องที่สอง-ถึงจะแพ้เยอะ แต่ผมเห็นว่าเราก้าวหน้าไปเยอะ ข้อเรียกร้องต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ เป็นข้อเรียกร้องที่คนรุ่นผมต้องการแต่ไม่เคยกล้ามาก่อน แล้วข้อเรียกร้องของเขามันก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับชาติ ผมยกตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการเสนอข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้า เขาเสนอให้ประยุทธ์ลาออก เสนอแบบสันติวิธีด้วย เขาเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกแล้วทำใหม่ เขาเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สามข้อเรียกร้องนี้ก้าวหน้าทั้งหมด แล้วแยกขาดออกจากกันไม่ได้ 

คนบางคนอาจจะบอกว่า ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อเรียกร้องไม่ดี ผิดกฎหมาย จาบจ้วงพระมหากษัตริย์ ผมมองว่าไม่ใช่ มันคือความกล้าหาญของเขา เพราะเมื่อเราดูในรายละเอียดการทำงานของพวกเขา มันเป็นข้อเสนอที่ถ้าทำสำเร็จ จะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์จะยืนยงคู่ประเทศไทยไปยาวนานเหมือนประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก เนเธอแลนด์ 

แต่ถ้าชนชั้นปกครองไม่ฟังเสียงเขา นำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันจะนำความเสื่อมเสียหรืออาจจะถึงขั้นทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ เช่นเดียวกับที่ในหลวงรัชการที่ 9 ท่านพูดเสมอว่า กรณีมาตรา 112 คนที่เสียหายคือฉันนะ คือพระมหากษัตริย์ ท่านพูดไว้นานแล้ว แล้วมันอยู่ในใจผมจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ผมมีกำลังใจที่จะสู้ และหวังเสมอมาว่าเราจะชนะ เพียงแต่ว่าเราแพ้มาตลอด แพ้ทุกคดี และจะแพ้ต่อไป (หัวเราะ) 

กรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กล่าวไว้ เราก็นำมาเป็นข้อต่อสู้ในคดี เช่นคดีน้องตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์) กับเพื่อนทำโพลกรณีรับเสด็จ แล้วเขาถูกกล่าวหาจนต้องไปติดคุกอยู่ 3-4 เดือน เขาทำแค่เอากระดาษไปวางไว้ที่สยามพารากอน แล้วเขียนถามว่า ขบวนเสด็จทำให้ท่านเดือดร้อนไหม คำตอบก็มีทั้งคนที่เดือดร้อน และไม่เดือดร้อน 

ผมถามว่ามันคือการหมิ่นประมาทและจาบจ้วงอย่างไร ตำรวจก็บอกว่า เนี่ย มันทำให้คนรู้สึกว่าขบวนเสด็จทำให้เดือดร้อน อ้าวแล้วการที่ขบวนเสด็จทำให้เดือดร้อน เขาไม่ได้ด่าเจ้า ไม่ได้ด่าพระมหากษัตริย์ เขาด่าพวกคุณ ผมเอาหลักฐานจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เลขาธิการสำนักพระราชวังทำหนังสือแจ้งไปที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สรุปโดยเนื้อหาประมาณว่า คุณทำดีๆ นะ คุณไปปิดกั้นถนนเพื่อขบวนเสด็จ เสด็จตอนกี่โมง แล้วคุณไปปิดถนนก่อนหน้าสามชั่วโมง ประชาชนเขาเดือดร้อน แล้วท่านก็ยังบอกเลยว่า ต่อไปนี้ ถ้าไม่ใช่งานราชพิธีก็ไปดึกๆ อย่าให้ประชาชนเขาเดือดร้อน 

ความปลอดภัยของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ผมเข้าใจ ทุกคนเข้าใจ นายกรัฐมนตรีอย่างประยุทธ์ หรือรักษาการรัฐมนตรีอย่างประวิตร ไปไหนก็สมควรแล้วมีคนแห่แหนไปเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของเขา อาจมีใครทำร้ายหรือเกิดหกล้มหัวฟาดพื้นเพราะแกแก่ ก็ควรจะมีคนตามไป 

ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่มันยกระดับไปแล้ว ถามว่าให้ผมไปทำโพลอย่างตะวัน ผมทำไม่ได้ กลัวติดคุก แต่เด็กคนนี้เขากล้าทำเพราะเขากล้าบอกสังคมแบบสันติ วิธีที่เขาเขียนนั้น ผมบอกได้เลยว่า เป็นการทำงานที่สุภาพที่สุด การทำงานของคนที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์หลายครั้งต่างหาก ที่ไปทำเรื่องให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียมากๆ การที่เด็กเขาไปทำโพลถามเรื่องขบวนรับเสด็จ เป็นการทำงานที่สุภาพ ตรงประเด็น แล้วช่วยพระมหากษัตริย์ในการรักษาภาพลักษณ์ท่านด้วย 

ตอนเป็นนักศึกษานิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณเคยจินตนาการถึงภาพทุกวันนี้ไหม ภาพที่หลายคนสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรม 

ไม่เคยคิดถึงเลย ที่ผมมาเรียนกฎหมายหลังจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ผมเลือกนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพราะได้อ่านหนังสือปีศาจ ของคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ผมอยากจะเป็นทนายความแบบ ‘สาย สีมา’ ผมรู้สึกว่ามันช่วยคนได้ รู้สึกว่าศาลจะยุติธรรมถ้าเราไปต่อสู้ด้วยความสามารถ ความถูกต้อง เราจะช่วยคนที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกล่าวหา ช่วยชาวบ้านที่ยากจนได้ 

แต่เมื่อทำงานมา ตั้งแต่ปี 2522- ปัจจุบัน ผ่านมา 43 ปี จึงรู้สึกว่า ชีวิตจริงกับความฝันมันคนละเรื่องนะ มันเหมือนกับเรามาอยู่ในระบบราชการระบบหนึ่ง เราไม่อยากเป็นข้าราชการ เราปฏิเสธการไปเป็นอัยการผู้พิพากษา เพราะเราอยากมีอาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพทนายความอิสระก็จริง แต่เราถูกบีบบังคับโดยระบบ ถ้าเราต้องการผลสัมฤทธิ์ หรือผลประโยชน์ ต้องการชนะคดี มีชื่อเสียง เราต้องเป็นไปตามระบบของมัน ซึ่ง… ผมผิดหวัง ผมบอกตรงๆ ผมก็ผิดหวัง

ผมก็เป็นทนายความทั่วไป ทำมาหากิน ว่าความให้กับวิสาหกิจชุมชนเยอะแยะไปหมด ก็ได้สตางค์มา เคยอยู่บริษัทโน้นบริษัทนี้ แต่พอมาทำงานในเรื่องที่เป็นความทุกข์ของชาวบ้านจริงๆ รู้สึกเลยว่ามันเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความฝัน แล้วเราคงต้องแก้ไขโครงสร้างทั้งหมดของมันเพื่อเปลี่ยนระบบยุติธรรม เพราะถ้าเกิดเราเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้า มีเสรีภาพ คนฉลาดและเรียนรู้ เข้าใจสิทธิเสรีภาพของตัวเอง นั่นหมายความว่า ระบบยุติธรรมแบบนี้อยู่ไม่ได้ เขาต้องปรับปรุงตัวเอง ระบบการศึกษาของกฎหมาย ตั้งแต่ชั้นมหาวิทยาลัยจนถึงชั้นเนติบัณฑิต ก็ยังคงต้องเปลี่ยนระบบใหม่ เพราะตอนนี้ระบบเราล้าหลัง สภาพที่เป็นอยู่ของศาลไทย อย่าว่าแต่คดีทางการเมืองเลย คดีทั่วไปเราก็ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเด็กและเยาวชน หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มันไปไกลแล้ว 

คุณในวันนี้ มองเห็นตัวเองในเด็กๆ และเยาวชนเหล่านี้อย่างไร 

เวลามองพวกเขาทีไรผมคิดถึงตัวเองนะ ผมรู้สึกว่า ผมไม่ได้หนึ่งในสิบของเขาเลย จริงๆ นี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนและอยากพูด 

สมัยก่อนผมก็เป็นนักกิจกรรมคนหนึ่ง ตั้งแต่เรียนสวนกุหลาบจนเข้าธรรมศาสตร์ผมทำกิจกรรมทางการเมืองมาตลอด สู้ก็อาจจะไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่ก็ทำกิจกรรมมาตลอด ผมรู้สึกว่า เมื่อมองพวกเขาแล้ว ไม่ว่าจะเบญจา รุ้ง ใบปอ บุ้ง เพนกวิ้น ฯลฯ ผมรู้สึกว่า อื้ม! มันเก่งว่ะ  ในความหมายว่า หนึ่ง – เขาฉลาดแหลมคม สอง – มีความกล้าว่ะ เมื่อมองพวกเขาทุกครั้ง ผมมีความมั่นใจว่า พวกเขาจะพาประเทศไทยไปสำเร็จ

อยากบอกอะไรกับนิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนนิติศาสตร์ และอาจกำลังสิ้นศรัทธากับกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ 

ผมเคยผิดหวังกับธรรมศาสตร์ เวลามองไปที่คณะนิติศาสตร์ ผมรู้สึกว่าเราทำแค่สอนให้คนจบเพื่อไปทำงาน แต่เราไม่ได้สอนเรื่องวิธีคิด คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งอาจจะสอนก็ได้นะ แต่ผมคิดว่าน้ำหนักมันไม่ค่อยมีเท่าที่ผมเห็น คนที่เรียนจบออกมา เหมือนผ่านสายการผลิตออกมาแล้วคุณเป็นมือถือรุ่นหนึ่ง ซึ่งเราไม่ได้ต้องการเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เราต้องการทนายความที่รักความเป็นธรรม เราต้องการผู้พิพากษาที่ยืนหยัดในหลักการแม้ตายก็จะตัดสินโดยเที่ยงธรรมคาบัลลังก์ พิพากษาให้คนที่สมควรติดคุกได้รับโทษ คนที่สมควรยกฟ้องก็ยกฟ้องเขาไป ต้องการพนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ไม่ควรสั่งฟ้อง เพราะอัยการคือตัวแทนของประชาชน คือองค์กรอิสระที่ต้องพิจารณาก่อนส่งฟ้อง เพราะการไปฟ้องคนในระบบ ทำให้เขามีภาระค่าใช้จ่ายเยอะแยะค่าจ้างทนาย ค่าเสียเวลามาศาล ฯลฯ 

ฉะนั้น ผมอยากเรียกร้องให้น้องๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ เข้าใจว่า ชีวิตที่คุณมาเป็นนักศึกษา แล้วจะมาทำงานด้านกฎหมายนั้น คุณจะเจอสภาพแบบนี้ คุณจึงควรเรียกร้องให้สถาบันเปลี่ยนแปลงระบบการสอน ผลิตคนที่มีความกล้าหาญออกมาครับ 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า