5 ซีนของไผ่-จตุภัทร์ ในความสงบ 5 ปี คสช.

19 พฤศจิกายน 2557: ชูสามนิ้วต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ระหว่างที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังกล่าวมอบนโยบายและติดตามปัญหาภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่ามีนักศึกษาชายห้าคน สวมเสื้อยืดสีดำอำพรางใต้เสื้อคลุมเหมือนรอจะทำเซอร์ไพรส์ เสื้อดำภายใต้เสื้อคลุมแต่ละตัวสกรีนข้อความต่างกัน ดังนี้ เอา / ไม่ / ประ / หาร / รัฐ

แต่เมื่อนักศึกษาทั้งห้าคน ลุกขึ้นเดินไปยืนเรียงกันต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ข้อความบนเสื้อจะอ่านได้ว่า: ‘ไม่เอารัฐประหาร’ เจ้าหน้าที่ได้รีบเข้ามาควบคุมตัวนักศึกษาทั้ง 5 ระหว่างที่ยื้อยุดกันอยู่นั้น เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่สวมเสื้อที่สกรีนคำว่า ‘รัฐ’ ได้ชูแขนขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกับชูสามนิ้ว ด้านหลังของเขาคือนายกรัฐมนตรีผู้มาจากการรัฐประหาร

รอยยิ้มข่มความหวาดหวั่นบางอย่างบนใบหน้าของไผ่ขณะแข็งขืนร่างกายเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวในวันนั้น ค่อยผลิบานฉายชัดเป็นยิ้มเย้ยหยันและยิ้มไม่กลัวในเวลาต่อมา

กลุ่มดาวดินแนะนำตัวต่อสังคมวงกว้างด้วยการกระทำครั้งนั้น พวกเขาเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเผยแพร่ และให้ความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมก่อนหน้านั้นหลายปี กลุ่มดาวดินดำเนินการในรูปแบบอาสาสมัครและสานต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายชื่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมในวันนั้น ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, วสันต์ เสตสิทธิ์, เจตษฤษติ์ นามโคตร, พายุ บุญโสภณ และ วิชชากร อนุชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีอยู่ในอารมณ์ที่อึ้งกับเหตุการณ์ แต่ก็ยิ้มออกมาในตอนท้าย และกล่าวติดตลกว่า “นึกว่าเป็นการแสดงกระตั้วยิงเสือ”

หลังได้รับการปล่อยตัวแต่ทั้งห้าคน ยังไม่ยินยอมลงนามข้อตกลงตามข้อเสนอทหาร ที่ระบุว่าหากไม่ลงนาม จะควบคุมตัวและกดดันให้มหาวิทยาลัยคัดชื่อออกจากสถานศึกษา นักศึกษาทั้งห้าคนบอกว่า พร้อมถูกดำเนินคดี และต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

นี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อต้านรัฐประหารของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

 

22 พฤษภาคม 2558: ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร

ท่ามกลางความเงียบสงบในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 นักศึกษากลุ่มดาวดินจำนวน 7 คน ได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร พวกเขาถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า ‘คัดค้านรัฐประหาร’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น

การแสดงสัญลักษณ์ครั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาดาวดินมีวัตถุประสงค์ในการแสดงจุดยืนต่อปัญหาในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน คือ ปัญหาเหมืองแร่ทองคำ ปัญหาการจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม ปัญหาการไล่รื้อที่ดินจากแผนแม่บทป่าไม้และที่ดิน ของ คสช. ปัญหาการศึกษาที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ปัญหารัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการรัฐประหาร

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7 คนในนามกลุ่มดาวดิน ประกอบด้วย วสันต์ เสตสิทธิ์, พายุ บุญโสภณ, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ศุภชัย ภูคลองพลอย, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, สุวิชา พิทังกร และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกจับกุม และ ดำเนินคดี ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หลังได้รับการประกันตัว พวกเขาประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

ต่อมาจตุภัทร์ หรือ ไผ่ หนึ่งในผู้ต้องหาถูกจับในคดีมาตรา 112 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 จึงถูกอายัดตัวต่อเพื่อมาดำเนินคดีนี้ในศาลทหาร ในขณะที่อีก 6 คน ยังไม่ได้เข้ากระบวนการ

ในการนัดสืบพยานจำเลยปากแรกในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ เป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต

การสืบพยานนัดนี้ไผ่-จตุภัทร์ขึ้นเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง

ไผ่-จุตภัทร์ เบิกความอธิบายถึงป้ายผ้าที่เขียนว่า ‘คัดค้านรัฐประหาร’ หมายถึง การไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เนื่องจากการทำรัฐประหารคือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง การทำรัฐประหารเป็นการยกเลิกฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

การทำรัฐประหารยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏ เป็นการทำลายประชาธิปไตย ไผ่-จตุภัทร์ เห็นว่า คำสั่งของ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากไม่มีเหตุผลและไม่เป็นธรรม มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ก็เป็นปัญหา เนื่องจากรับรองให้คำสั่งของ คสช. เป็นกฎหมาย เป็นการให้อำนาจทหารทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบอำนาจได้ และเป็นเรื่องที่อันตรายมากในระบอบประชาธิปไตย

ไผ่-จตุภัทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า หลังจากมีการทำรัฐประหาร เสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัด และคนที่ออกมาคัดค้านหรือเรียกร้องเรื่องต่างๆ จะถูกดำเนินคดีดังในกรณีของเขา การที่ทหารอ้างเรื่องการรักษาความสงบและการปราบคอร์รัปชันในการทำรัฐประหารนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจถ่วงดุลกันอยู่แล้ว ข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของทหาร อีกทั้งการทำรัฐประหารไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีอำนาจถ่วงดุล

ในการสืบพยานฝ่ายจำเลยปากที่ 4 ไผ่-จตุภัทร์ขออนุญาตศาลใช้สิทธิจำเลยซักถามความพยานจำเลยด้วยตนเอง พยานจำเลยที่ขึ้นเบิกความคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จตุภัทร์ถามนิธิถึงการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยกองทัพในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และบทบาทของคนหนุ่มสาวในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“คนหนุ่มสาวมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองมาตลอด เพราะเป็นคนที่ได้รับการศึกษา ซึ่งไม่ยอมที่จะเห็นประเทศเดินถอยหลัง คนเหล่านี้มีสำนึกตลอดมาว่า นี่คือหน้าที่ที่จะต้องทำ สังคมที่นิ่งดูดายกับเรื่องนี้จะเป็นสังคมที่ไปไหนไม่รอด” นายนิธิกล่าว

นิธิกล่าวอีกว่า ตนเห็นว่าการออกมาทำหน้าที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารของจำเลยไม่ควรผิดกฎหมาย การเคลื่อนไหวของจำเลยถือว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทย เสมือนในประวัติศาสตร์ที่มีกลุ่มคนหนุ่มสาวในนามขบวนการเสรีไทยเคลื่อนไหวไม่ให้ประเทศตกเป็นประเทศจำเลยสงคราม ทั้งที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่าขบวนการเสรีไทยเป็นกบฏ

“ผมคิดว่าคณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนและอำนาจของรัฐ อย่างการคัดค้านการรัฐประหาร คสช. ของจำเลย ผมคิดว่ามันไปกระทบอำนาจของคสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ” นายนิธิกล่าว

ต่อมามีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ยกเลิกความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมเกิน 5 คน

 

6 สิงหาคม 2559: รณรงค์โหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560

1 วันก่อนการลงเสียงประชามติ จตุภัทร์ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักศึกษาหนุ่มวัย 25 ปี (ขณะนั้น) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวศิน ในวัย 20 ปี นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559

หลังถูกฝากขัง จตุภัทร์ไม่ขอประกันตัวและประกาศอดข้าวประท้วงระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เป็นเวลา 12 วัน ก่อนได้ประกันตัวในเวลาต่อมา

ในชั้นศาลจำเลย ไผ่-จตุภัทร์ให้การปฏิเสธ เขาให้การว่า การแจกเอกสารรณรงค์เป็นสิทธิเสรีภาพ สามารถทำได้ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยยืนยันว่า การแจกเอกสารรณรงค์เช่นนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ลงโทษปรับ 500 บาท ฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน

 

2 ธันวาคม 2559: แชร์บทความจากสำนักข่าวบีบีซีไทย

2 ธันวาคม 2559 สำนักข่าวบีบีซีไทย ลงบทความที่ชื่อว่า ‘พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย’ ไผ่-จตุภัทร์ เป็น 1 ใน 2,800 คนที่แชร์บทความนี้

พลโทพิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ซึ่งพบการแชร์บทความดังกล่าวเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจตุภัทร์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น

ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ตำรวจจับกุมตัวจตุภัทร์ระหว่างร่วมกิจกรรม ‘ธรรมยาตราลุ่มน้ำประทาว’ ที่จังหวัดชัยภูมิ ในความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

“ตอนนี้ผมกำลังจะโดนจับ ข้อหา 112 จากตำรวจขอนแก่น เนื่องจากแชร์ข่าว BBC Thai” คือข้อความที่ ไผ่-จตุภัทร์ โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวในวันที่ 3 ธันวาคม 2559

จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวในสถานีตำรวจหนึ่งคืนก่อนที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจะอนุญาตให้เขาประกันตัวในวันต่อมา ศาลให้ประกันตัวในวงเงิน 400,000 บาท ศาลเห็นว่าที่ผ่านมา จตุภัทร์มีคดีติดตัวหลายคดี แต่ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งยังมีสอบเพื่อจบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ธันวาคม 2559: DAB หน้าศาลทหาร เย้ยหยันอำนาจรัฐ

หลังจากได้รับการประกันตัว ไผ่และเพื่อนที่มารอรับได้ถ่ายรูปหมู่หน้าศาลทหารขอนแก่น พวกเขาทำท่าที่เรียกว่า DAB ก่อนจะโพสต์ภาพเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค

14 ธันวาคม 2559 ไผ่-จตุภัทร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ว่า “ตอนแรกก็อยากจะขอโทษเพื่อนประชามติทั้ง 3 คน เพราะคดีล่าสุดก็โดนไป 400,000 แต่ผมไม่ได้ผิดไง ผมไม่สามารถกระทำการขอโทษได้จริงๆ” เขาได้ติดแฮชแท็กให้กับประโยคปิดท้ายของสเตตัสนี้ว่า #เศรษฐกิจมันแย่แมร่งเอาแต่เงินประกัน

22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น นัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว บีบีซีไทย

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น อ้างเหตุว่า หลังผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมแล้ว ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีที่ตนได้รับประกันตัวเป็นจำนวน 400,000 บาท ว่า “เศรษฐกิจมันแย่แมร่งเอาแต่เงินประกัน”  นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี และคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง พร้อมทั้งอ้างเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนว่า ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา และอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หากรอถึงวันที่ 23 มกราคม 2560 อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น

ส่วนภาพถ่ายของเขากับเพื่อนที่ทำท่า DAB ถูกตีความว่า เป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ

ระหว่างถูกฝากขัง สังคมได้รณรงค์ให้เห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับไผ่-จุตภัทร์ และการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างจากอำนาจรัฐของรัฐบาล คสช.

ระหว่างที่ถูกฝากขังเป็นเวลากว่า 100 วัน ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ไผ่-จตุภัทร์ ถูกประกาศชื่อให้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2017 ที่ประเทศเกาหลีใต้ รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู เป็นรางวัลที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ มอบให้กับนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือทางการเมืองของชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาต่อต้านการปกครองของเผด็จการทหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2523

“เป็นรางวัลที่ตอกย้ำความเชื่อ ความคิด ความฝัน ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ จึงอยากให้รางวัลนี้เป็นรางวัลของทุกคน ขอขอบคุณที่เห็นคุณค่าการต่อสู้เพื่อสิทธิ และขอให้เสรีภาพจงมีแก่ทุกคน” พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่-จตุภัทร์ เป็นตัวแทนลูกชายของเธอ รับรางวัลและกล่าวบนเวทีที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

ไผ่-จตุภัทร์ จะได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นในวันที่ 10 พฤษภาคม เวลา 9.00 น. พร้อมกับนักโทษอีก 100 คน ที่ได้รับการอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10

เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ที่เขาถูกจองจำในฐานะผู้ต้องหาคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความจากสำนักข่าวบีบีซีไทย ซึ่งมีผู้แชร์กว่า 2,800 คน แต่เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดี และถูกจองจำ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า