When are we ready? ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น

“ประเทศไทยสำหรับผม ยัง! ยังไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐเผด็จการ” ประโยคที่ถูกตอบอย่างทันที เมื่อ ประจักษ์ ก้องกีรติ ถูกยิงคำถามจาก สิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการ ในงานเสวนา ‘ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น’ ว่าประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วหรือยัง?

ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น?

ถ้าในเวลานี้ ประเทศไทยไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แล้วประเทศไทยปกครองในระบอบใดกันแน่

แน่นอนว่า ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้ันและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดประชุมสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ประเทศไทยยังคงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐเผด็จการ ด้วยเงื่อนไขนานานัปการ

ประจักษ์ชี้ให้เราเห็นว่า ลักษณะของประเทศไทยในเวลานี้สามารถนับเข้าได้ว่าเป็น ‘การปกครองในระบบผสม’ (Hybrid Regime) ระหว่างระบอบเผด็จการทหารแบบเต็มใบ ดังเช่นยุคสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับระบอบที่เป็นเผด็จการที่น้อยลง มีความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้นผ่านการเลือกตั้ง แต่ข้อน่าสังเกตของระบบผสมดังกล่าว คือรัฐไทยภายใต้การนำของรัฐบาลทหารไม่สามารถใช้ลักษณะของเผด็จการเต็มใบดังเช่นในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ได้อีกต่อไป จึงต้องมีการปรับตัวเข้ากับระบอบที่เป็นเผด็จการน้อยลง แต่ปัญหากลับอยู่ที่รูปแบบการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการแบบเต็มไปสู่ระบบผสมนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้น แต่กลับไปช่วยสะกิดย้ำสังคมให้ตั้งคำถามกับการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส หรือ สว.แต่งตั้ง ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกขณะนี้

ภายใต้คำถามเดียวกัน ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นด้วยกับคำตอบของประจักษ์ที่มองว่า ระบอบการปกครองของประเทศไทยขณะนี้มีลักษณะของระบอบผสม ดุลยภาคจึงอธิบายถึงระบอบผสมที่ว่านั้นคือ ระบอบเผด็จการกึ่งแข่งขันกึ่งครอบงำ โดยระบอบเผด็จการแบบที่มีการแข่งขัน (Competitive Authoritarianism) เกิดขึ้นจากการปล่อยให้มีการเลือกตั้ง สภาพเช่นนี้ทำให้คณะ คสช. ไม่สามารถชนะขาดในการเลือกตั้งได้ และทำให้พรรคการเมืองมีความโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางการแข่งขัน

แต่ในทางตรงกันข้ามกันก็ได้รวมเข้ากับ ระบอบเผด็จการแบบครอบงำ (Hegemonic Authoritarianism) ที่เป็นลักษณะของอำนาจที่ถูกรวมไว้ที่กลุ่ม คสช. และทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียนทางอำนาจของชนชั้นนำ อีกทั้งยังทำให้พลังของฝ่ายค้านอ่อนแอ ดุลยภาค มองว่า ประเทศคือการรวมระหว่างสองลักษณะดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกัน

หากอยากกลับไปเป็นระบอบประชาธิปไตยควรจะทำอย่างไร?

เลือกตั้งแล้ว มี สส. แล้ว มีนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังไม่ได้กลับไปเป็นประชาธิปไตยเสียที เราควรจะรับมือและทำอย่างไรกับเหตุการณ์ตรงหน้า

ประจักษ์อธิบายระยะการเปลี่ยนผ่านของประเทศที่มีการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยว่ามีทั้งหมด 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 คือการเปลี่ยนผ่าน ระยะที่ 2 คือสภาพหลังเปลี่ยนผ่าน เมื่อได้ประชาธิปไตยมาแล้วทำอย่างไรจึงจะสามารถเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและยืนหยัดในสังคมได้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 คือเป็นช่วงการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย (Democratic Consolidation)

จุดเน้นย้ำพิเศษของสังคมไทยคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ครั้งที่สองคือเหตุการณ์เมื่อ 2516 มีการเดินขบวนของนักศึกษาเพื่อโค่นล้มเผด็จการ แต่ก็ไม่สำเร็จในอีก  3 ปีถัดมา และครั้งล่าสุดคือเหตุการณ์ 2535 พฤษภาทมิฬ ในการขับไล่ทหารออกจากอำนาจ ประจักษ์ชวนคิดต่อว่า เพราะอะไรเหตุการณ์การเปลี่ยนผ่านหลายครั้งในสังคมไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นได้ โดยประจักษ์สรุปว่า

เราจะไม่สามารถเปลี่ยนผ่านและมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้น

ขณะที่ดุลยภาคอธิบายด้วยวิธีจับคู่ให้เห็นว่า เหตุการณ์การเปลี่ยนผ่านทั้งหมด 4 ครั้ง 2475, 2516, 2535 และ 2550 เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นจากตัวอย่างของประจักษ์ คือการออกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่เป็นคู่ตัดขนานระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยในปี 2540 มีลักษณะของการใช้อำนาจที่ขัดแย้งกัน

ในเหตุการณ์การปฏิวัติสยามเมื่อปี 2475 นั้น ลักษณะการใช้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปในรูปแบบของบนลงล่าง (top-down) แต่การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2516 กลับมีลักษณะแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) และในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็เช่นกัน เป็นลักษณะของการใช้อำนาจแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) แต่พอถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2550 กลับเป็นลักษณะของบนลงล่าง (top-down) อีกครั้ง

จะเห็นได้ว่ารูปแบบการใช้อำนาจไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียว และครั้งล่าสุด การรรัฐประหารปี 2557 ก็เป็นภาพการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครองอีกครั้ง ซึ่งมีลักษณะแบบบนลงล่าง (top-down) คือมีคณะชนชั้นนำทหารได้ทำการรัฐประหารประเทศและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองให้ออกจากระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง

และเมื่อทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า อุปสรรคในการตั้งมั่นประชาธิปไตยมีมิติด้านใดบ้าง ดุลยภาคแบ่งปริมณฑลทางอำนาจออกเป็น 5 ปริมณฑล และชี้ให้เห็นว่า ทหารมีอำนาจในทุกปริมณฑลทางอำนาจมากกว่าพลเรือนมากถึง 3 ปริมณฑล

หนึ่งคือ ปริมณฑลของชนชั้นนำไทย ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เรายังคงเห็นทหารและกลุ่มคนชนชั้นนำบางกลุ่มเข้ามามีบทบาทและโลดแล่นอยู่บนเส้นทางหลังการเปลี่ยนผ่านเมื่อปี 2557 จุดนี้ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการตั้งมั่นของประชาธิปไตย เพราะทำให้ประชาชนถอยห่างออกจากปริมณฑลการใช้อำนาจ และการปักหลักประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนก็ทำได้ยากยิ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้ง เพราะประชาชนสามารถกำหนดสัดส่วนของชนชั้นนำไทยผ่าน สส. ในรัฐสภา

สองคือ ปริมณฑลทางอำนาจของทหารและเทคโนแครต การออกนโยบายสาธารณะโดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการแยกขาดทางอำนาจของประชาชนกับการเมือง แต่ภาพนั้นเปลี่ยนไปหลังการเลือกตั้ง คล้ายคลึงกับปริมณฑลแรก เมื่อมี สส. ช่วยเพิ่มปริมณฑลทางอำนาจของประชาชนผ่านการมีส่วนร่วมและการกำหนดนโยบายได้

สามคือ ปริมณฑลการใช้อำนาจภายในประเทศ เป็นการใช้อำนาจที่ประชาชนไม่สามารถมีสิทธิยุ่งเกี่ยวได้ ในมิติด้านนี้ พลเอกประยุทธ์และคณะยังคงมีอิทธิพลสูงอยู่

สี่คือ ปริมณฑลในการออกกฎหมายและระเบียบการปกครอง เช่น การวางยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกแบบให้มีลักษณะควบคุมและครอบงำทุกรัฐบาลที่จะเข้ามาดำเนินงานภายหลังยุค คสช. ในส่วนนี้ไม่ได้ทำให้อำนาจของพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารหายไปแต่อย่างใด

และสุดท้ายคือ ปริมณฑลการใช้อำนาจของกองทัพ ทำให้กองทัพมีเอกภาพและมีอำนาจมากยิ่งขึ้น

จะเห็นว่าปริมณฑลทางอำนาจ 3 ใน 5 ของพลเอกประยุทธ์และคณะยังคงมีอานุภาพในการกางกั้นไม่ให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจสูงสุด ซึ่งเป็นอุปสรรคในการตั้งมั่นประชาธิปไตยในสังคมไทย อย่างเลี่ยงไม่ได้

ทำอย่างไรชนชั้นนำจะคืนอำนาจให้ประชาชน?

ในเมื่ออำนาจทางการเมืองของประชาชนถูกยึดกุมจากคณะรัฐประหารอยู่นั้น มีวิธีการอย่างไรที่ชนชั้นนำจะคืนกลับสู่ประชาชน

ประจักษ์บอกว่า การปฏิรูปกองทัพคือทางออก เราจะปฏิรูปการเมืองไม่ได้ หากไม่มีการปฏิรูปและจัดระเบียบกองทัพ ประจักษ์ได้ยกตัวอย่างสาเหตุที่ไม่สามารถปฏิรูปสังคมไทยได้สำเร็จ และเป็นความล้มเหลวเสมอมา เมื่อเหตุการณ์หลังปี 2475 เกิดสงครามกลางเมือง ตามด้วยสงครามโลก ทำให้กองทัพจำเป็นต้องมีแสนยานุภาพที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ของความไม่สงบ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพและลดอำนาจให้เหมาะสม

ในเวลาถัดมาคือการเปลี่ยนผ่านเมื่อปี 2516 มีความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพ แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะภายหลังจากนั้น 3 ปี กองทัพก็กลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 เกือบจะปฏิรูปกองทัพสำเร็จในที่สุด แต่ก็มาเกิดวิกฤติ 2540 จำเลยทางสังคมในเวลานั้น คือนักการเมือง การเขียนและออกแบบรัฐธรรมนูญ จึงทำขึ้นเพื่อจัดการกับสถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง มากกว่ามุ่งประเด็นไปที่การปฏิรูปกองทัพ

ถ้าหากไม่มีการปฏิรูปกองทัพ ก็ยากที่จะมีการคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนและกลายเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นได้ในที่สุด เพราะในเวลานี้ กองทัพ และชนชั้นนำทหาร ได้ทั้งอำนาจทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ยึดครองพื้นที่ผลประโยชน์ทั้งหมด จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาต้องคืนอำนาจให้ประชาชนพร้อมทั้งความเสี่ยงที่จะถูกลดอำนาจอีก

ดลุยภาพก็มองไม่ต่างกันกับประจักษ์ การคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนนั้นเป็นโจทย์ที่ยากมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา เหตุการณ์ประเภทขวาพิฆาตซ้ายและท่าทีของกองทัพแสดงออกมาในลักษณะของการวนลูปต่อท่าทีของประชาชนที่ต่อต้านเสมอมา ถ้าไม่มีการใช้กลยุทธ์ของพลเรือนในการลดบทบาทและอำนาจของกองทัพ ก็จะเป็นเรื่องที่ยากในการนำอำนาจกลับคืนสู่ประชาชน

ในอดีตเคยมีรัฐบาลพลเรือนที่พยายามใช้กลยุทธ์ดังว่า แต่สุดท้ายก็ถูกรัฐประหาร พลเรือนที่ว่าก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดุลยภาคย้ำว่า กลยุทธ์ของพลเรือนในการถ่ายโอนอำนาจของกองทัพสามารถทำได้ แต่ต้องเลือกระดับที่เหมาะสม และจะเป็นการนำอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนได้

นี่เป็นภาพรวมและการอธิบายปรากฏการณ์ของความไม่สามารถลงหลักปักฐานของประชาธิปไตยในสังคมไทยได้ จากงานเสวนา ‘ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ ร้าน Brainwake Café แม้จะเป็นงานเสวนาในโมงยามที่อำนาจเผด็จการเกาะกุมในทั่วทุกอณูของประชาชน แต่การเสวนาครั้งนี้อาจจะเป็นการเล่าเรื่องการเมืองไทยที่ซับซ้อนและสิ้นหวังให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ง่ายพอที่จะทำให้สังคมหันมาฉุกคิดและหาหนทางออกให้กับวิกฤติประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่นนี้ก็เป็นได้

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า