คืนสิทธิประกันตัว ก่อนจะมีใครตาย: “ไม่ต้องรักก็ได้ จะชิงชังก็ตามสบาย แต่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ฆ่าพวกเขา”

“คุณไม่ต้องรักพวกเขาก็ได้ จะชิงชังพวกเขาก็ตามสบาย แต่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้พวกคุณฆ่าพวกเขาในนามของการไม่ให้ประกันตัว คืนสิทธิการประกันตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะมีใครตาย” 

ถึงตัวจะมาไม่ได้ แต่ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ในนามของกองทุนราษฎร ฝากข้อความมาในงานเสวนาหัวข้อ ‘โควิดในเรือนจำ กับชีวิตเสี่ยงของผู้ต้องขัง คืนสิทธิประกันตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนจะมีใครตาย’ ร่วมกับ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ภาสกร อินทุมาร เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘อยู่หยุดขัง-ยืนหยุดขัง’ จัดโดยกลุ่ม People GO network 

ทั้งนี้ สิทธิในการได้รับการประตัว ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ COVID-19 หรือสถานการณ์ปกติ ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ ผู้ต้องหามีสิทธิจะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลจะต้องให้ความยุติธรรมในการพิจารณาคดี ตามหลักการสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) 

หากสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ประชาชน นักศึกษา ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกคุมขัง พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการประกันตัว ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ที่ COVID-19 ระบาดเข้าไปถึงเรือนจำ 

“ถ้าเราอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย ก็จะทำให้เพื่อนของเราถูกลืม” ข้อความจากอดิศรที่กล่าวไว้ในงานเสวนา น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญของการจัดกิจกรรม ‘อยู่หยุดขัง-ยืนหยุดขัง’ โดยกลุ่ม People GO network ที่ก่อนหน้านั้น เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ประกาศอดอาหารและปักหลักค้างคืน ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ถูกคุมขังทั้งที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดี

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ผู้เคยผ่านการเป็นนายประกัน อธิบายว่า สิทธิประกันตัวเป็นหลักการสากลในเรื่องสิทธิมนุษยชน รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสามารถได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและจะต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจะต้องไม่ถูกคุมขัง แต่ต้องได้รับการตัดสินโทษก่อนจึงจะคุมขังได้ 

“การคุมขังก่อนพิจารณาคดี ควรใช้กับคดีที่มีความร้ายแรง แต่ผู้ที่ถูกคุมขังตอนนี้ พวกเขาเพียงแค่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่เขาสามารถทำได้” เบญจรัตน์กล่าว 

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว

COVID-19 ในเรือนจำ

เมื่อสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ระบาดเป็นวงกว้าง เรือนจำที่แออัดย่อมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ กรณีของ ‘นุ๊ก จัสติน’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวก ยืนยันเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา จึงเกิดข้อกังวลว่า หากคุมขังผู้ต้องหาต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งนายประกันอย่างอาจารย์อดิศร เล่าถึงกระบวนการประกันตัวที่ผ่านๆ มาว่า ก่อน 19 กันยายน 2563 (การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง) ใช้เพียงตำแหน่งอาจารย์ก็สามารถประกันตัวนักศึกษาของตนเองได้ แต่หลังจากนั้นกลับไม่สามารถทำได้ เพราะศาลอ้างเหตุผลว่า หากเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นคดีที่รุนแรงและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ 

“การออกมาชุมนุมในวันนี้มันเสี่ยงเหมือนกัน แต่ถ้าเราอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลยก็จะทำให้เพื่อนของเราถูกลืม เราไม่สามารถทิ้งเขาไว้ในเรือนจำอย่างเดียวดายได้”

อดิศร จันทรสุข (ภาพ: mappalearning.co)

อดิศรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนเองยังมีความหวังกับระบบยุติธรรมในประเทศไทย และคาดหวังให้คนในสังคมตระหนัก ตื่นรู้ กับกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้ด้วย

นัยยะสำคัญของการอดอาหาร 

อาจารย์อดิศรอธิบายไว้ว่า ความหมายของการอดอาหารในเชิงการต่อสู้ คือ การเลือกใช้ร่างกายของตนเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม เป็นกระบวนการขั้นสูงสุดที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทางเจ้าหน้าที่จึงไม่อยากเปิดเผยภาพของผู้ถูกคุมขัง เพราะเป็นกังวลว่าสังคมจะมองเห็นการกระทำที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหา 

“ถ้าหากเขาเลือกที่จะอดอาหารแล้ว เราก็ต้องทำความเข้าใจและเคารพเขา รัฐบาลใช้อำนาจเพราะความกลัว การที่เขาไม่เปิดให้สังคมเห็นภาพของเพนกวินกับรุ้ง เพราะเขากลัวว่าจะทำให้คนในสังคมลุกขึ้นมาทำอะไรมากกว่าเดิม” 

แล้วการอดอาหารนั้นดีจริงไหม? เบญจรัตน์ตั้งคำถาม เพราะสังคมไทยอาจยังไม่ตระหนักหรือเห็นใจผู้ที่อดอาหาร โดยเบญจรัตน์ยกตัวอย่างคนในครอบครัวตนเองว่า พวกเขาหัวเราะให้กับการอดอาหารของเพนกวิน และชี้ว่าสภาวะเช่นนี้ คือสภาวะนิ่งเฉยของสังคม 

“ถ้าประเทศไทยเป็นประเทศที่คนในสังคมเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และสนใจความเป็นธรรม การอดอาหารเป็นสิ่งที่ทำได้ แล้วมันเวิร์ค แต่คนในประเทศไทยไม่ได้มองเห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันขนาดนั้น” 

อดิศร จันทรสุข, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว, ภาสกร อินทุมาร

ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ด้าน ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา จากกองทุนราษฎร แม้ไม่ได้มาร่วมเสวนา แต่ได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับการไม่ได้รับการประกันตัวของประชาชนเหล่านักเคลื่อนไหว

ไอดาเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า หลายครั้งที่ภาคประชาชนได้ส่งคำร้องขอไปยังศาล รัฐบาล และผู้ที่มีอำนาจ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ก็มิได้รับการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

“ประเทศเราสิ้นหวังขนาดต้องออกมาจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนของเรา คำร้องอันยืดยาวที่ประชาชนเขียนไปถึงรัฐบาล ซึ่งเขียนด้วยภาษาทางกฎหมาย อธิบายหลักการต่างๆ เพื่อให้ปล่อยตัวเพื่อนเรา ถูกส่งไปไม่รู้ตั้งกี่หน้า สุดท้าย วลีเลือดเย็นที่ได้รับคือ ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง’ 

“วลีนี้เป็นตัวแทนของอำนาจที่อับจนของศาลตุลาการ ในฐานะนายประกันตัวได้เห็นผู้ที่ถูกคุมขังและครอบครัวของเขากำลังถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง แต่ศาลกลับไม่เห็น คุณไม่ต้องรักพวกเขาก็ได้ จะชิงชังพวกเขาก็ตามสบาย แต่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้พวกคุณฆ่าพวกเขาในนามของการไม่ให้ประกันตัว 

“คืนสิทธิการประตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะมีใครตาย ดิฉันพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้วจริงๆ” 

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า