ตัดสินโดยปราศจากอคติ รู้จัก ‘เทพีเธมิส’ มองสัญลักษณ์​กฎหมาย​ในตำนานกรีก สู่นิติศาสตร์​แบบไทยๆ

ในสมัยที่คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เกิดขึ้น สรรพสิ่งทั้งหลายตั้งแต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทางสังคม ทางการเมือง ไปจนถึงการมีอยู่ของโลกและจักรวาล ต่างถูกอธิบายผ่านการสร้างบุคลาธิษฐาน (personification) ตัวอย่างที่ชัดและโด่งดังที่สุดอันหนึ่งคือ กรณีของเทพเจ้าในปกรณัมกรีก-โรมัน

อันที่จริงเทพเจ้ากรีก-โรมันในฐานะปกรณัม (myth) น่าจะเป็นสถานะที่เกิดขึ้นจากการมองย้อนกลับไปจากยุคสมัยใหม่ที่วิทยาศาสตร์เป็นใหญ่เสียมากกว่า เพราะดังที่เห็นว่าชาวกรีก-โรมันก็ไม่ได้มองเรื่องเล่าและการมีอยู่ของเทพเจ้าในฐานะตำนาน ตรงกันข้าม พวกเขามองว่าเทพเจ้าเหล่านี้มีอยู่จริง สะท้อนชัดที่สุดผ่านการสักการะบูชาเทพเจ้าเหล่านั้นในทำนองเดียวกับการนับถือศาสนา

เทพีเธมิส (Themis) เป็นเทพกรีก-โรมันที่หลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาบ้าง เธอเป็นธิดาของไกอาหรือกายา (Gaia) มหาเทพีแห่งพื้นพสุธา กับเทพเจ้าแห่งผืนฟ้า ยูเรนัสหรืออูรานอส (Uranus/Ouranos) และยังเป็นชายาองค์หนึ่งของซูส (Zeus) เทพสูงสุดผู้ปกครองยอดเขาโอลิมปัส 

ตามความเชื่อกรีก-โรมัน เทพีเธมิสเป็นทั้งเทพเจ้าแห่งกฎหมาย ความยุติธรรม ข้อบังคับศักดิ์สิทธิ์ และจารีตประเพณี รูปลักษณ์อันโด่งดังของเธอ (ที่รู้จักกันในนาม Lady Justice) คือการถือตราชูในมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งกำดาบ บนใบหน้ามีผ้าปิดตาคาดไว้ 

ความหมายของการถือตราชูคือ ความเที่ยงธรรมต่อข้อเท็จจริงทั้งหลาย

ความหมายของการถือดาบคือ ความเด็ดขาด และอำนาจในการพิพากษา

ส่วนความหมายของผ้าปิดตาคือ การปราศจากอคติ

บางประติมากรรมยังให้เทพีเธมิสเหยียบงู อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วในสังคมกรีก-โรมัน พร้อมกับยืนอยู่บนหนังสือ ซึ่งหมายถึงการยืนอยู่บนความรู้และสติปัญญา

ในมหากาพย์อีเลียด เทพีเธมิสจะเป็นเทพผู้พิทักษ์กฎแห่งโอลิมปัส และด้วยความสามารถในการล่วงรู้ชะตากรรมของเทพเจ้าและมนุษย์ทั้งหลาย ทำให้เธอมีตำแหน่งเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ซูส เพื่อให้ซูสมีคำสั่งตามคำตัดสินของเธอ ในภาษากรีกโบราณเรียกคำสั่งของซูสนี้ว่า ‘themistes’ โดยคำสั่งของซูสก็จะกลายเป็นกฎหมายและความถูกต้อง จึงเป็นสาเหตุให้ชาวกรีกโบราณเรียกการกระทำใดที่สอดคล้องกับกฎหมายว่า “นั่นคือเธมิส”

นอกจากจะเป็นเรื่องเล่าตามปกรณัมแล้ว ในโลกสมัยใหม่เทพีเธมิสยังมักถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของกฎหมาย วิชานิติศาสตร์ ตลอดจนถูกใช้คู่กับสถาบันตุลาการ ในฐานะตัวแทนของความเที่ยงตรงตามกระบวนการ และผู้ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม 

แม้การผูกมัดความยุติธรรมเข้ากับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นสิ่งที่ถูกนำไปใช้จนแทบจะเป็นสากล แต่ในสังคมที่ไม่ได้มีรากฐานมาจากกรีก-โรมัน ความยุติธรรมยังอาจปรากฏในรูปลักษณ์อื่นที่ไม่ใช่เทพีเธมิส เช่น ในประเทศไทย ตราสัญลักษณ์ของศาลยุติธรรม ก็ใช้สัญลักษณ์เป็นดวงตราซึ่งประกอบด้วย

  1. พระมหาพิชัยมงกุฎครอบอยู่เหนืออุณาโลม หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  2. ดอกบัว หมายถึง ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยมีทั้งหมด 9 ดอก หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
  3. ตราดุลพาหตั้งอยู่บนพานสองชั้น มีพระแท่นรองรับพานอีกทอดหนึ่ง หมายถึง ความยุติธรรมตั้งอยู่บนรากฐานอันมั่นคง
  4. ครุฑจับนาค หมายถึง แผ่นดิน

กรอบคิดเรื่องความยุติธรรมแบบไทยๆ ยังปรากฏเด่นชัดในคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้พิพากษาของไทย ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 191 ความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ”

ทั้งนี้ ตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน มาจนถึงปัจจุบัน คำถามคลาสสิกหนึ่งที่มีมาตลอดเกี่ยวกับความยุติธรรม คือคำถามที่ว่า “ความยุติธรรมที่กฎหมายอ้างนั้น เป็นความยุติธรรมของใคร”

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า