ความยุติธรรมในเรื่องแต่ง 3 เล่ม ในมุมมองของ วิภาส ศรีทอง

ภาพ: ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

 

[…] ปกรณ์ถ่ายโอนความรู้สึกนึกคิดมาไว้ที่รอยคราบตรงหน้า จดจ่อกับสิ่งที่เห็น เพียรกำจัดและลบมันทิ้ง ผลักไสมันจากจิตสำนึก […]

“ลบ ลบ ลบ…”

บางส่วนจากนิยายเรื่อง หลงลบลืมสูญ บอกเล่าสภาวะความรู้สึกของตัวละครที่รู้สึกแปลกปลอมจากอากัปกิริยาตรงหน้าของผู้คนรอบกายที่รายล้อม มาร่วมกันลบรอยคราบของความทรงจำเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มมวลชนเสื้อแดงใน ‘บิ๊กคลีนนิ่งเดย์’ อาจจะพอถ่ายเทเป็นภาพแทนความรู้สึกของผู้เขียนต่อการล้อมปราบในนามของการกระชับพื้นที่เมื่อกลางปี 2553

หากทว่าเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ใช่ครั้งแรกของความพยายามลบลืมความสูญเสียโดยภาครัฐ และไม่ใช่วันสุดท้าย

ในท่ามกลางความยุติธรรมที่พร่าเลือน เราตั้งคำถามสั้นๆ ต่อวิภาส ศรีทอง ในฐานะนักเขียนที่ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ว่าเหตุใดเสียงของพวกเขาในทุกวันนี้ได้ถูกทำให้เบาลง จากสังคม จากรัฐ และโดยสำคัญที่สุด จากพวกเขาเอง


คนแคระที่ถูกลบสูญ ความยุติธรรมที่ถูกหลงลืม

“ความยุติธรรมไม่มีแห่งหนหรือยุคสมัย ผมมองว่าความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่สถาปนาขึ้นเสียทั้งหมด มันเป็นอะไรอย่างหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกับธรรมชาติ เป็นนามธรรมที่คู่ไปกับความเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับสามัญสำนึก และไม่ขัดต่อสัญชาตญาณ เหมือนสองบวกสองต้องเท่ากับสี่ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด ยุคสมัยไหน สองบวกสองมันต้องเท่ากับสี่ คุณจะบิดพลิ้วไปโดยอ้างบริบทอื่นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคุณก็กำลังปฏิเสธสามัญสำนึกของตัวเองอันเป็นส่วนสำคัญของความเป็นมนุษย์ ซึ่งถ้าคุณไม่ปกป้องสามัญสำนึกของตัวเอง คุณก็กำลังลดทอนอะไรบางอย่างที่สำคัญในตัวคุณ ถ้าคุณปล่อยเลยตามเลย ทำเป็นมองไม่เห็นความอยุติธรรม ถึงจุดหนึ่งเมื่อทุกคนพร้อมเพรียงกันทำเช่นนั้น รวมหมู่ละทิ้งสามัญสำนึกกันเสียสิ้น ทุกสิ่งไม่ว่าจะวิปริตเลวร้ายสักแค่ไหนก็เสมือนล้วนได้รับอนุญาต ถึงตอนนั้นมันจะเป็นภาพที่น่ากลัวเหนือจินตนาการ

“ถ้าให้พูดถึงยุคสมัยนี้ ตอนนี้ผมรู้สึกว่า ผู้มีอำนาจและกลุ่มคนส่วนหนึ่งกำลังพยายามรักษาภาพลวงตาของพวกเขาไว้ให้ปลอดภัย ล้มคว่ำเสาหลักของสังคม นั่นคือ ระบบและกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ใส่ใจผลของการบั่นทอนทำลายล้างที่พวกเขากระทำ ปู้ยี่ปู้ยำถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ทั้งไม่สนว่าในอนาคตพวกเขาจะถูกจดจำเช่นไรในสายตาของคนรุ่นต่อไปและต่อไป แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ยั่งยืนหรอก ไล่เรียงส่องแว่นขยายจ่อดูประวัติศาสตร์แต่ละกระเบียดมันเหมือนกันหมด ถึงจุดหนึ่งมันก็พังครืนหล่นแหลกเป็นผุยผงและอย่างรวดเร็วด้วย อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ ประวัติศาสตร์บอกเราชัดว่า มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์”

 

ความยุติธรรมไม่มีแห่งหนและยุคสมัย

“ในฐานะนักเขียน ผมก็ได้แต่เฝ้ามอง ซึมซาบรับรู้สิ่งที่เป็นอยู่ แต่งานวรรณกรรมไม่เหมือนงานเชิงสื่อสารมวลชน มันไม่สามารถโต้ตอบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างปัจจุบันทันด่วน เราทำงานส่วนใหญ่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งต้องใช้เวลาในการบดย่อย ปรากฏการณ์ภายนอกเป็นวัตถุดิบพื้นฐาน แต่ผมเชื่อว่าการทำงานกับความนึกคิดในระดับที่ลึกลงไปคือสิ่งสำคัญ เพราะสังคมไม่แค่ต้องการเพียงภาพสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับผิวเผินภายนอก แต่ต้องการคำอธิบายในเชิงลึกที่สามารถเสนอภาพหลากหลายด้าน กระตุ้นมุมมองใหม่ ญาณทัศน์ใหม่ เพื่อที่จะเตือนผู้คนทั้งหลายไม่ให้หวนกลับไปทำสิ่งที่เราเคยผิดพลาดในอดีตอีก”

 

ร่องรอยความยุติธรรมในวรรณกรรม

เมื่อเราตั้งคำถามให้วิภาสแนะนำวรรณกรรมว่าด้วยความยุติธรรมที่เขานึกถึง และนี่คือคำตอบของวิภาส

หนึ่ง:

“เล่มแรกเลยขอแนะนำ ความตายของอีวาน อิลิช (ผู้เขียน ลีโอ ตอลสตอย แปลโดย สิทธิชัย แสงกระจ่าง) ตัวเอกเป็นผู้พิพากษามีชื่อเสียง มีเกียรติ คนยกย่องนับถือ ครอบครัวสมบูรณ์แบบ เล่าเรื่องตั้งแต่เขายังเด็ก เรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในการศึกษา หน้าที่การงาน แต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัว เป็นผู้พิพากษาใหญ่โต จนวันหนึ่งเจ็บป่วย และหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง เรื่องมาเน้นถึงภาวะที่เขาค่อยๆ เผชิญกับความป่วยไข้ และบั้นปลายที่มาถึงเร็วเกินคาด นี่เป็นฉากสองเดือนหลังเจ็บป่วย ซึ่งอ่านดูก็คงเข้าใจได้ว่า ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงพูดถึงความยุติธรรมได้อย่างเข้มข้น

[…] เขาพยายามฟื้นวิธีคิดที่เคยสามารถปกป้องไม่ให้เขาต้องคิดถึงความตาย แต่ประหลาดเหลือเกินที่สิ่งต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นม่านกำบัง ซ่อนเร้น และผลักกั้นทำลายสำนึกแห่งความตายนั้น บัดนี้กลับรางเลือนและไม่สามารถมีผลได้เช่นนั้น อีวาน อิลิช ใช้เวลาระยะหลังๆ เกือบทั้งหมดไปกับการค้นหาวิธีเก่าๆ ที่เคยใช้เป็นม่านกำบังความตาย เขาพูดกับตัวเองว่า “ฉันต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน” เพราะอย่างน้อยครั้งหนึ่งมันก็เคยเป็นชีวิตทั้งชีวิตของฉัน จากนั้นเขาก็ไปทำงานที่ศาล ขับไล่ความสงสัยทั้งหลายที่ค้างอยู่ในใจออกให้หมด เข้าไปอยู่ในวงคณะผู้พิพากษาและเพื่อนร่วมงาน นั่งลงตรงกลางระหว่างคนเหล่านั้นเหมือนที่เคยปฏิบัติ ทอดสายตาเลื่อนลอยไปยังผู้คนที่รายล้อมห้อง ขณะที่นั่งอยู่นั้นมือผอมบางของเขาจับแน่นอยู่กับเท้าแขน ชะโงกชะเง้อไปทางเพื่อนข้างเคียง พลิกกระดาษไปมา ส่งเสียงกระซิบกระซาบ แล้วทันใดก็ยืดตัวตรง เปรยสายตาขึ้นเพื่อกล่าวถ้อยคำซ้ำซาก เป็นการประกาศว่าการพิจารณาคดีเริ่มขึ้นแล้ว แต่ท่ามกลางการพิจารณานั้นความเจ็บปวดก็ยังนั่งนิ่งอยู่กับสีข้างของเขา แล้วมันก็เริ่มทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของบัลลังก์ศาล เริ่มด้วยอาการปวดแปลบหน่วงนาน เขาจะใส่ใจมันเป็นครั้งคราวในช่วงสั้นๆ ขับไล่มันออกจากความคิด แต่มันก็ยังดำเนินขบวนการของมันต่อไป มันจะเข้ามายืนตรงหน้าและจ้องเขม็งที่ดวงตา แล้วอีกครั้งเขาก็ถามขึ้นกับตัวเอง “หรือว่ามันคือความจริง” […]

สองและสาม:

“อีกสองเล่มคือ อ่านใหม่ ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ (โดยเฉพาะบทความที่กล่าวถึงนิยาย คำพิพากษา และ เขาชื่อกานต์) กับ รวมบทความของ เบน แอนเดอร์สัน โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ทั้งสองเล่มพยายามแกะภาพลวงตาของหลายสิ่งหลายอย่างที่มีลักษณะสองชั้นในสังคมประเทศนี้ มันช่วยให้เรารู้เท่าทัน และเข้าใจความยุติธรรมว่าจริงๆ แล้วเส้นที่ขีดเอาไว้มันไหลเลื่อน มันไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเลย”

ถ้าไม่ปิดตาปฏิเสธความจริง สำหรับหลายๆ คนได้เปิดดวงตาขึ้นในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย สำหรับประวัติศาสตร์ระยะใกล้ หลายคนลืมตาในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 หลายคนลืมตาในเหตุการณ์เมื่อปี 2557 และมีอีกหลายคนเช่นกันที่ได้ปลดเปลื้องให้เห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าภายใต้ความงดงามของภาษา แท้จริงแล้วมีอีกบุคลิกซุกซ่อนไว้

ผู้คนที่ถูกลืมหาย ความยุติธรรมที่ถูกลบลืม กัดกร่อนเราให้เหลือเพียงแต่คำพูดเชิงปลอบประโลมอย่างขันขื่นว่า เราเพียงแต่เช่าเขาอยู่ อย่าไปคิดอะไรมาก แต่เราจะปิดตา กระทั่งเบือนหนีจากหน้าประวัติศาสตร์ที่กางแผ่ออกมาให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้สักกี่นานกัน

[…] เขารู้ว่าคนแคระสร้างภาพลวงตาของความหวังอันน้อยนิดที่จะได้รับอิสรภาพเพียงเพื่อให้ตนรอดพ้นจากความตระหนกหดหู่ ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ความฝันอันเลื่อนลอยนี้ยังช่วยหล่อเลี้ยงลมหายใจของเขาให้ยืนหยัดรอคอยด้วยความดื้อรั้น […]

ต่างจาก คนแคระ กรงที่กักขังเราไม่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดให้จับต้อง ซึ่งกับบางคน ไม่เพียงแต่ไม่รับรู้ หากยังปฏิเสธด้วยซ้ำว่า เราต่างถูกกักขัง

เราหลงลืมความหมายที่แท้จริงของคำว่ายุติธรรม เราลบสูญซึ่งความทรงจำที่ควรมี ไม่ใช่ในฐานะคนรู้จัก แต่ในฐานะของมนุษย์ในตัวเราเอง


*ปัจจุบัน วิภาส ศรีทอง พำนักและทำงานเขียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา ภายใต้ทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า