คณากร เพียรชนะ: เสียงปืนเงียบงัน ชื่อหายไปจากสารบบศาลยะลา

เรื่อง: วรรณา  แต้มทอง

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เสียงปืนนัดหนึ่งดังขึ้นในสังคมไทย หลัง คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาตัดสินใจใช้ความตายขับเคลื่อนความยุติธรรมเรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” กระสุนปืนนัดนี้จึงสร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการตุลาการ เหตุการณ์ #ผู้พิพากษายิงตัวเอง กลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ที่กระตุ้นให้สังคมเกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมและความเป็นอิสระในการตัดสินคดีของผู้พิพากษาตุลาการอยู่ระยะหนึ่ง

แต่ปรากฏว่าหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเพียง 1 เดือน สิ่งที่สังคมไทยได้รับรู้เกี่ยวกับกรณีของผู้พิพากษาคณากรเริ่มเบาบางลงไปเรื่อยๆ นอกจากการทราบว่าผู้พิพากษาคณากรสามารถรอดชีวิตมาได้ ความจริงอื่นเกี่ยวกับกรณีนี้ก็ถูกทำให้ขาดหายไปจากความรับรู้ของสังคมอย่างเงียบๆ พร้อมกับความคับข้องใจและความกดดันในการทำงานที่อัดแน่นอยู่ภายใต้คำแถลงการณ์จำนวน 25 หน้าของผู้พิพากษาคณากร ที่ไม่ได้รับการอธิบายให้กระจ่างจากปากเสียงของเจ้าตัวเอง และผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการยิงตัวเองของผู้พิพากษาคณากร โดยอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญ ซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีคำสั่งให้ตรวจสอบไปตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือมีการประกาศผลให้สังคมได้รับรู้แต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้ความเงียบงันนี้ นอกจากข่าวของผู้พิพากษาคณากรจะหายไปจากการนำเสนอข่าวของแหล่งข่าวต่างๆ แล้ว ตอนนี้ชื่อของผู้พิพากษาคณากรก็ยังถูกทำให้หายไปจากสารบบข้อมูลของศาลจังหวัดยะลาอีกด้วย จากการตรวจสอบข้อมูลในส่วนโครงสร้างหน่วยงานของศาลเกี่ยวกับรายชื่อผู้บริหาร/ผู้พิพากษาศาลจังหวัดทั้งหมดจำนวน 114 ศาลทั่วประเทศไทย1 มีเพียงศาลจังหวัดยะลาเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ชื่อของผู้พิพากษาทั้งหมดถูกทำให้ไร้ข้อมูลและไม่สามารถเข้าถึงได้

จากการเข้าถึงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562

 

โดยปกติแล้วศาลจังหวัดทุกจังหวัดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดของตนเองไว้ในเว็บไซต์ของศาลจังหวัดนั้น2 แต่จากการสังเกตการณ์มาระยะหนึ่งพบว่า เว็บไซต์ของศาลจังหวัดยะลาเองก็มีการจัดทำข้อมูลส่วนผู้บริหาร/ผู้พิพากษาไว้เช่นกัน แต่ข้อมูลส่วนนี้ทั้งหมดถูกทำให้หายไปและมีการแทนค่ารายชื่อของผู้พิพากษาทั้งหมดเป็น XXX ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการปรับปรุงเว็บไซต์ (ซึ่งเป็นอยู่ศาลเดียวจาก 114 ศาลจังหวัด) หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม แต่เหตุการณ์นี้ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ของผู้พิพากษาคณากรในตอนนี้ที่ถูกทำให้หายไปจากสังคม เรื่องราวการสร้างความยุติธรรมที่เปื้อนเลือดและเต็มไปด้วยบาดแผลของผู้พิพากษาคณากรกลายเป็น XXX ที่ว่างเปล่าในสมการของความยุติธรรม ไม่มีการออกมายอมรับหรือปฏิเสธจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไร้ซึ่งคำอธิบายต่อสังคม

ก่อนที่เสียงปืนของผู้พิพากษาคณากรจะถูกกลบฝังให้หายไปจากสังคมด้วยความเงียบงัน ความจริงเกี่ยวกับกรณี #ผู้พิพากษายิงตัวเอง ควรได้รับการตรวจสอบให้สังคมรับรู้โดยกระจ่าง เพราะความเป็นอิสระในการตัดสินคดีของผู้พิพากษา เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับประชาชนทุกคนโดยตรงเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย และเป็นความรับผิดชอบอย่างสำคัญที่ฝ่ายตุลาการควรมีต่อสังคม ดังนั้น หวังว่าที่ประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน นี้ จะมีการประกาศผลสอบข้อเท็จจริงกรณี #ผู้พิพากษายิงตัวเอง ให้สังคมได้รับรู้

 

เชิงอรรถ

  1. ศาลยุติธรรม, ระบบศาลยุติธรรม, อ้างอิงจาก https://www.coj.go.th/cms/s1/u52/pdf/structure_22052560.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562.
  2. ยกเว้นศาลจังหวัดนครสวรรค์ที่ไม่มีการทำข้อมูลส่วนโครงสร้างหน่วยงานในเว็บไซต์ และไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อผู้พิพากษาประจำจังหวัดเลย

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า