เสียงปืนที่จากไป: เมื่อผู้พิพากษาต้องถูกพิพากษา แด่การจากไปของผู้พิพากษาคณากร

เรื่อง: วรรณา แต้มทอง

เช้าวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2563 เสียงปืนจากผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ดังขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง และครั้งนี้กระสุนปืนไม่ปรานีต่อชีวิตของอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้นจังหวัดยะลาอีกต่อไป ผู้พิพากษาคณากรจากโลกนี้ไปในอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เหลือไว้เพียงชื่อของ ‘คณากร เพียรชนะ’ ผู้พิพากษาที่ยิงตัวเองเพื่อข้อเรียกร้องที่สะเทือนไปทั้งวงการยุติธรรม

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา
คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ผลจากการออกมาประกาศให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาการแทรกแซงการตัดสินคดีและการขาดความเป็นอิสระในการตัดสินคดีในหมู่ผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นอกจากจะทำให้ชื่อของผู้พิพากษาคณากรหายไปจากสารบบของศาลจังหวัดยะลาแล้ว หนึ่งเดือนหลังจากนั้น (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562) ผู้พิพากษาคณากรยังถูกย้ายไปช่วยงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ และถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัยอีกด้วย

เมื่อผู้พิพากษาต้องถูกพิพากษา

หากยังจำกันได้ ผู้พิพากษาที่เคยตกเป็นข่าวดังและถูกจับตาจากสังคมไม่ได้มีแค่กรณีของผู้พิพากษาคณากรเพียงเท่านั้น แต่ยังมีกรณีของ ชิดชนก แผ่นสุวรรณ ผู้พิพากษาหญิงที่เคยมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ขณะแสดงความไม่พอใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก และประกาศว่า “มึงสังวรไว้นะว่ากูน่ะเป็นนายของมึง” เมื่อปี 2559 และกรณี ‘เพื่อนโชค’ ของ ไกรรัตน์ วีรพัฒนาสุวรรณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 เมื่อต้นปี 2562

ทั้ง 3 คนต่างเป็นผู้พิพากษาที่ถูกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั้งสิ้น โดย ก.ต. เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ลงโทษผู้พิพากษา ตุลาการที่ทำผิดวินัย หรือการสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งหมดล้วนอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ต. ด้วยเหตุนี้ ก.ต. จึงไม่ต่างจากผู้พิพากษาที่สามารถพิพากษาศาลได้อีกทอดหนึ่ง

แม้ผู้พิพากษาทั้ง 3 คนจะถูกพิพากษาโดย ก.ต. เหมือนกัน แต่ความแตกต่างของกรณีอยู่ที่ ผู้พิพากษาชิดชนกและผู้พิพากษาไกรรัตน์ต่างได้รับการปกป้องจากฟากของศาลยุติธรรม โดยแม้ว่าผู้พิพากษาชิดชนกจะถูกระบุว่าเป็นผู้มีอาการป่วยทางจิต ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ และเคยก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว ทั้งจอดรถกีดขวางการจราจรหน้าศาลอาญา เมื่อปี 2555 และถูกดำเนินคดีฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ด้วยการปาข้าวกล่องใส่รถ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อปี 2556 จนถึงการอาละวาดด่าทอเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกในปี 2559

โฆษกศาลยุติธรรมในขณะนั้นคือ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล ก็ยังออกมาปกป้องว่า ผู้พิพากษาชิดชนกเป็นผู้ป่วย ได้สิทธิคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่ต้องให้ ก.ต. สอบข้อเท็จจริงต่อไปว่าปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อการทำงานหรือไม่

นอกจากนี้ผู้พิพากษาชิดชนกยังเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้พิพากษาที่ถูกย้ายไปทำงานในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เช่นเดียวกับผู้พิพากษาคณากร ซึ่งกองงานนี้เป็นกองที่มีหน้าที่ทำงานด้านเอกสารไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดี ตามที่โฆษกศาลยุติธรรมเคยออกมายอมรับว่า

“ที่ผ่านมามีผู้พิพากษาที่เข้าข่ายหย่อนความสามารถในการทำงาน อาทิ เจ็บป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสองตีบตัน มะเร็ง รวมถึงอาการทางจิต เช่นเดียวกับผู้พิพากษาชิดชนก หลายคนถูกย้ายไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดี และให้ออกจากราชการ ซึ่งถูกลงโทษแตกต่างกันออกไป”1

ไม่ต่างอะไรกับผลสอบข้อเท็จจริงกรณี ‘เพื่อนโชค’ ของผู้พิพากษาไกรรัตน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 ที่ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกดูใบขับขี่และอ้างตัวเป็นเพื่อนผู้กำกับโชค เมื่อต้นปี 2562

ที่ประชุม ก.ต. ลงมติให้การกระทำของผู้พิพากษาไกรรัตน์ไม่เป็นความผิดทางวินัย แต่เป็นเพียงการกระทำที่ไม่เหมาะสม มีมติเห็นควรให้มีหนังสือว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น

ขณะที่การใช้อาวุธปืนยิงตัวเองกลางห้องพิจารณาคดีในศาลจังหวังยะลาครั้งประวัติศาสตร์ของผู้พิพากษาคณากร นอกจากจะถูกแรงกดดันด้วยการย้ายมาอยู่ในกองเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีแล้ว

เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมยังได้ออกมารายงานว่า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ขออนุญาตประธานศาลฎีกาเตรียมดำเนินคดีอาญาตามความผิดใน พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กับผู้พิพากษาคณากร ซึ่งการดำเนินคดีอาญานี้จะกระทำควบคู่กันไปการสอบสวนทางวินัย2

การจากไปของผู้พิพากษาของประชาชน

ความกล้าหาญและการยึดมั่นในความยุติธรรมพาผู้พิพากษาคณากรไปพบกับจุดตกต่ำในหน้าที่การงานและต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา วันนี้เราจึงจำต้องเห็นจดหมายลาตายจากผู้พิพากษาคนหนึ่งที่เลือกยืนอยู่ข้างความยุติธรรมและประชาชนจนลมหายใจสุดท้าย

“ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ พี่น้อง ประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไปผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน”

ตราบใดที่ศาลและกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง เสียงปืนทั้งสองนัดนี้จะไม่หายไป เสียงปืนของผู้พิพากษาคณากรจะยังคงดังก้องอยู่ในสังคมไทย จนกว่าความยุติธรรมที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของผู้พิพากษาคณากรจะปรากฏขึ้นในสังคมที่ขาดไร้ซึ่งความเป็นธรรมให้แม้แต่ผู้เป็นผู้พิพากษา


เชิงอรรถ

  1. มติชนออนไลน์, ศาลยุติธรรม’ แถลงขออภัย คลิปผู้พิพากษาหญิงอาละวาด เผยเป็นคนอารมณ์แปรปรวน, ที่มา https://www.matichon.co.th/local/crime/news_8399
  2. voice online, เอาผิดผู้พิพากษา ‘คณากร’ พกปืนเข้าห้องพิจารณา, ที่มา https://www.voicetv.co.th/read/S9aLli7Co

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า