ปูนเทพ ศิรินุพงศ์: คดีไทยรักษาชาติ และการกลับมาของตุลาการภิวัตน์

หลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจขึ้นหลายเหตุการณ์ เริ่มจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ประกาศชื่อของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมทั้งส่งเรื่องพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนเป็นสัญญาณของการกลับมาอีกครั้งของ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ตัวแปรสำคัญในการลงดาบทางการเมือง โดยครั้งนี้ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ จะกลับมารับบทบาทและมีหน้าที่อีกครั้ง หลังจากที่บทบาทของฝ่ายตุลาการเงียบหายไปในยุครัฐบาล คสช.

การกลับมาในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังถือสิทธิที่สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองได้อีกครั้ง การตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

WAY พูดคุยกับ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ย้อนสำรวจวิวัฒนาการของตุลาการภิวัตน์ บทบาทที่แท้ของศาลรัฐธรรมนูญ รูปแบบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทย พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้

 

ศาลรัฐธรรมนูญคืออะไร และทำไมต้องตัดสินเฉพาะคดีทางการเมือง

ถ้าเราไปดูประเทศต้นกำเนิดของศาลรัฐธรรมนูญ ชื่อเสียงของศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ จะมาจากการเป็นองค์กรที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าองค์กรที่ไปตัดสินคดีทางการเมือง ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้น ธรรมชาติขององค์กรนี้เป็นอย่างไร เพราะเป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังปี 1900 นี้เอง พร้อมๆ กับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร อธิบายได้ว่า ต่างจากองค์กรตุลาการปกติ และมีความเป็นองค์กรทางการเมืองเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับศาลอื่นๆ เพราะต้องตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวมพรมแดนระหว่างการเมืองและกฎหมาย เขาจึงสร้างศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อการนี้ เพื่อตีความเฉพาะ และเพื่อการให้ความหมายสุดท้าย

ด้วยเหตุนี้เอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่าปกติ ซึ่งก็อาจให้ผู้แทนประชาชนอย่างสภานิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภา (จากการเลือกตั้ง) เป็นผู้พิจารณาและสรรหา รับรองให้ความเห็นชอบกับศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นลักษณะและธรรมชาติของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและกฎหมาย และทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ

จริงๆ แล้วเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่คือ หนึ่ง-กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน พูดง่ายๆ ก็คือการรับรองและบัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ สอง-การบัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ว่าความสัมพันธ์ในเชิงการจัดลำดับ การกระจายการปกครองภายในประเทศ การกระจายอำนาจ การแบ่งอำนาจ ซึ่งธรรมชาติสองข้อนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปตัดสินเรื่องที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจเอาไว้

ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยจะได้รับการยอมรับเรื่องการมีวินิจฉัยที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมไปถึงตรวจสอบการทำงานของฝ่ายตุลาการ ว่าละเมิดหรือใช้อำนาจที่กระทบกับสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องทำทั้งสองอย่าง จริงๆ ควรบอกว่าหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ

พอลองย้อนกลับมาที่กรณีประเทศไทย จะพบว่านับตั้งแต่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปวินิจฉัยคุ้มครองสิทธิของประชาชนแทบจะนับได้ไม่เกินฝ่ามือ ตลอด 20 กว่าปีที่มีศาลรัฐธรรมนูญมา ถ้าว่ากันตามโครงสร้าง มีสามศาลที่ถูกตั้งขึ้นมา คือ ศาลรัฐธรรมนูญปี 2540 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ 2550 ที่อยู่ยาวถึงปัจจุบัน กลับมีชื่อเสียในการเข้าไปตัดสินคดีความทางการเมืองมากกว่าการเข้าไปคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น มีคำวินิจฉัยอยู่ไม่กี่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าได้เข้าไปคุ้มครองสิทธิ ยิ่งถ้าเทียบกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ เทียบกับระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญทำงาน ทำให้เห็นว่า หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าไปพิทักษ์ประชาชนยังทำได้ไม่เพียงพอ

ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสถูกแทรกแซงทางการเมืองได้หรือไม่ เพื่อให้มีการตัดสินทางการเมืองมากกว่าการประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ศาลรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน เป็นศาลที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 พอเกิดรัฐประหาร 2557 ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงทำหน้าที่ต่อแม้ไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อ และเมื่อมีรัฐธรรมนูญประกาศมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ต่อเนื่อง ถ้าถามว่าศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันถูกแทรกแซงหรือเปล่า ในทางอุดมการณ์ทางการเมืองอาจจะบอกว่า โดยปกติศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญกับตัวรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ผูกโยงกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

หน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งในเชิงการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในเชิงคุ้มครองการใช้อำนาจองค์กรของรัฐให้ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่พอศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันไม่ได้ถูกยุบ หรือสามารถดำรงอยู่ได้ในสภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ความหมายว่า คณะรัฐประหารไม่ได้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอุปสรรคต่อกลไกในการเข้ามาของคณะรัฐประหารเอง อาจจะไม่ได้มีการแทรกแซงหรือเข้าไปโยกย้ายตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือพยายามเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรตุลาการอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ

ในประเทศไทยเห็นชัดเจนว่า ตัวศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคกับคณะรัฐประหาร และอาจจะมีทัศนคติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ คสช. เลยไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง ข้อเท็จจริงของการที่มีศาลรัฐธรรมนูญในเวลาที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นทุกอย่างอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แน่นอนว่า ไม่มีที่ไหนในโลก

ตามหลักสากล ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ควรลาออก?

ไม่ใช่ควรลาออกนะ แต่โดยกลไกของรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญประกาศความไม่ชอบของการรัฐประหาร ถ้าในกรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครอง นี่คือกลไกในการใช้อำนาจของศาล คือกลไกที่ศาลจะต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ

พอมีการรัฐประหาร มีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไปแล้ว ฐานความชอบธรรมในการดำรงอยู่ก็ไม่มีอีกต่อไป แต่กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญของไทยยังคงทำหน้าที่ต่อ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพระบบรัฐธรรมนูญของไทยว่า มีความซับซ้อนกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เพราะหลังจากการรัฐประหารมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ศาลก็ยังทำหน้าที่ต่อ แต่เปลี่ยนจากผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นผู้พิทักษ์ระบอบการปกครองที่ใช้ชื่อว่า ‘ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ และโยงมาถึงปัจจุบัน คือในระบอบการปกครองนี้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงสร้างนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยมีอุดมการณ์รับรองระบอบการปกครองนี้อยู่

พอจะยกตัวอย่างการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญกับการวินิจฉัยคดีต่างๆ ในไทยได้ไหม

ผมขอแบ่งเหตุการณ์เป็นสี่ช่วง และเรียกว่า ‘ตุลาการณ์ภิวัตน์’

ช่วงที่หนึ่ง เกิดขึ้นครั้งแรกเลยก็คือ กรณีวินิจฉัยการล้มการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่ามีการหันคูหาเลือกตั้งออกมาข้างนอก ซึ่งทำให้คนภายนอกเห็นกระบวนการการเลือก นี่เป็นเหตุผลที่บอกว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ พอกลับไปดูบริบททางการเมืองในปี 2549 ตอนนั้นมีประเด็นเรื่องการบอยคอตการเลือกตั้งด้วย ทำให้มีการยื่นคำร้องไปหลายๆ ประเด็น ว่าการเลือกตั้ง 2 เมษา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ตอนนั้นประธานทั้งสามศาล ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มาประชุมร่วมกันแล้วออกแถลงข่าวว่า ทุกศาลจะตัดสินไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ถ้าอธิบายโดยหลักการ ความเป็นอิสระในการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการคงไม่สามารถอธิบายได้ เพราะโดยปกติศาลทุกศาลเป็นอิสระต่อกัน และตัดสินคดีความไปตามกฎหมาย หลังจากนั้นก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ มีสองศาลออกมารับรองและเพิกถอนการเลือกตั้ง

โดยธรรมชาติของเรื่องนี้มีความประหลาดคือ คดีใดคดีหนึ่งควรอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งเท่านั้น แต่ละศาลไม่ควรมีเขตอำนาจทับซ้อนกัน แต่ในที่นี้มีมากกว่าหนึ่งศาลที่ออกมาตัดสินคดีเดียวกัน

ส่วนปรากฏการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร 2549 คือมีการเรียกร้องให้ กกต. ออกจากตำแหน่ง เพื่อจะได้มีการตั้ง กกต. ชุดใหม่ในการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาแทน ตอนนั้นมีเลขานุการประธานศาลฎีกาออกมาแสดงความเห็นว่า ให้ กกต. ลาออก เพื่อศาลจะได้เข้าไปทำหน้าที่สรรหา กกต. ชุดใหม่เพื่อจัดการเลือกตั้ง ตอนนั้นมีการบอกให้ดูคำวินิจฉัยศาลอาญาให้ดี และหลังจากนั้นศาลอาญาก็มีคำพิพากษาว่า กกต. ชุดนั้นทำผิดมาตรา 157 ต้องติดคุก ผลก็คือ กกต. พ้นจากตำแหน่ง

เรื่องนี้ที่น่าสนใจก็คือ คนที่ฟ้อง กกต. จนได้รับวินิจฉัยให้ต้องติดคุก คนฟ้องตอนนั้นคือ คุณถาวร เสนเนียม  สส. ประชาธิปัตย์ ในทางกฎหมาย การจะฟ้องมาตรา 157 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยปกติแล้วรัฐจะต้องเป็นผู้ฟ้องเอง เพราะเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ อัยการจะต้องเป็นผู้ฟ้อง แต่กรณีนี้ คุณถาวร ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้ฟ้อง ศาลเองก็รับฟ้อง แล้วก็ตัดสินในท้ายที่สุดว่า กกต. ต้องติดคุก ต่อมาปี 2556 ศาลฎีกาออกมาตัดสินยกฟ้อง กกต. ทั้งสามคน ณ ขณะนั้น เพราะเหตุว่าคุณถาวรไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี ตอนนั้นในทางการเมืองเท่ากับว่า กกต. ชุดนั้นติดคุก เพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง และทำการสรรหา กกต. ใหม่ขึ้นมา แต่โดยปกติก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะมีการพิจารณาคดีให้รอลงอาญาหรือไม่รอลงอาญา แต่กรณีนี้คือ ตัดสินให้ติดคุก เพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง แต่หลังจากนั้นก็มีการสู้คดีต่างๆ จนศาลยกฟ้องว่าไม่ผิด

ถ้าย้อนไปยุคนั้นคือ ผลการตัดสินนี้มีผลกระทบทางการเมืองอย่างมหาศาล เป็น กกต. ที่พ้นจากตำแหน่งออกไป ไม่มีการเลือกตั้ง และเกิดรัฐประหาร 2549

ต่อมาช่วงที่ 2 คือ หลังจากรัฐประหาร 2549 มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง และผู้พิพากษาให้กับศาลฎีกาและศาลปกครอง การตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หน้าที่หลักคือ การยุบพรรคไทยรักไทย ตอนนั้นมีออกประกาศ ถ้ามีการยุบพรรคการเมืองก็ให้เพิกถอนสิทธิของกรรมการบริหารพรรค คือ ‘บ้านเลขที่ 111’ เดิมโทษของการยุบพรรคจะไม่มีการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค แต่คราวนี้มีการออกประกาศของ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ออกมาว่า ให้มีการใช้กฎหมายนี้กับพรรคที่ถูกยุบภายหลังการรัฐประหารด้วย สุดท้ายก็มีการยุบพรรคไทยรักไทย นี่คือภาค 2 ของตุลาการภิวัตน์

ช่วงที่ 3 ตุลาการภิวัตน์กลับมาหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้ว ตอนนั้นมีการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย สามพรรค แต่ก่อนที่จะมีการยุบพรรคพลังประชาชน ก็ไปถอดถอน คุณสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกฯ ที่คนทั่วไปเข้าใจกันก็คือ มีการทำกับข้าวออกทีวี ศาลได้มีการตีความคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ให้ต่างไปจากความหมายของกฎหมายแรงงาน แต่ไปยึดเอาตามความหมายของพจนานุกรมมาใช้อธิบาย

หลังยุบพรรคพลังประชาชน นายกรัฐมนตรีตอนนั้น ซึ่งก็คือ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย อันนี้คือภาค 3 เมื่อคุณสมชายพ้นจากตำแหน่ง พอคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ ตุลาการก็แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย

ระบบตุลาการกลับมามีบทบาทอีกครั้งตอนที่ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้คือช่วง 4 ซึ่งตอนนั้นผมเคยคิดนะว่าจะเป็นเฟสสุดท้ายของตุลาการภิวัตน์ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ คดีหลักๆ ในช่วงนี้คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นรัฐบาลมีแนวคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ เขาใช้มาตรา 68 อธิบาย โดยใช้หลักการให้ตายยังไงก็ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเอาเรื่องความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปพิจารณาได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังใช้และทำ และการแก้ไขข้อมูลในเวลานั้นเป็นความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้คือ สว. ที่มาจากการเลือกตั้งจะนำไปสู่สภาผัวเมีย ทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นเสียหายไป การที่ สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย นี่คือเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญตอนนั้น

นอกจากคดีการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีคดีถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแต่งตั้งโยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำให้มีการยื่นเรื่องถอดถอนมายังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง ทำให้ตอนนั้นเกิดสุญญากาศ เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาว่า ใครจะเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนั้นได้ยุบสภาไปแล้ว และมีการถอดถอนนายกฯ ที่ทำหน้าที่รักษาการอยู่

จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีก ที่พีคที่สุดบอกว่า การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบ แต่การที่จะบอกว่าไม่ชอบ ก็มีคำอธิบายทางกฎหมายที่อธิบายไม่ได้ในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า พรฎ.การเลือกตั้ง นั้นไม่ชอบ เพราะไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งวันเดียวทั่วทั้งอาณาจักรได้ คำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า เพราะ พรฎ. ไม่ชอบ เลยทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบ แต่ถ้าเราดูกันตามหลักการ พรฎ. เป็นเรื่องที่ออกมาก่อนการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เกิดตามมาหลัง พรฎ. ถ้าจะอธิบายว่าไม่ชอบ ก็ต้องไปอธิบายกับตัวจัดการการเลือกตั้ง ไม่ใช่อธิบายจาก พรฎ. ในทุกๆ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้าไปย้อนดู เราจะพบการให้เหตุผลทางนิติศาสตร์ที่มีปัญหาทั้งหมด มีคนโต้ทั้งหมด ไม่เคยมีเรื่องไหนสามารถอธิบายได้หรือให้การยอมรับด้วยเหตุผลทางวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญได้เลย

ผมจะสรุปง่ายๆ ว่า ตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นจนถึงรัฐประหารปี 2557  มี 2 การเลือกตั้งที่ถูกล้ม 3 นายกฯ ที่ถูกถอน และ 2 พรรคการเมืองแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกยุบ

ถ้าถามถึงความเป็นกลางและความฝักใฝ่ทางการเมือง ก็ไม่ได้ชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝักใฝ่ทางใดทางการเมือง ในแง่การแสดงความเห็นหรือออกมาให้เหตุผล แต่การใช้อำนาจเชิงรุกของศาลรัฐธรรมนูญ มักจะออกมาใช้อำนาจเสมอ ในยามที่ฝ่ายขั้วการเมืองใดเมืองหนึ่งมีอำนาจ ก็อาจจะอธิบายสถานะความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในตัว

ในระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบอบตุลาการไทยไปขัดขวางคุณค่าประชาธิปไตยแบบที่ทั่วโลกเขายึดถือไหม ถ้าขัดขวาง มีวิธีอย่างไรที่จะยับยั้งได้

ปัญหานี้ผมว่าจริงๆ ไม่ใช่แค่ตุลาการนะ เราต้องนิยามให้ได้ว่าระบอบการปกครองที่เราอยู่ในปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตยในแบบที่เป็นคุณค่าสากลจริงๆ หรือเปล่า มากน้อยเพียงไร และคนที่มีอำนาจในหลายๆ องค์กร รวมถึงตัวบทรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยที่เป็นสากลมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้าตัวระบอบหรือตัวโครงสร้างไม่ได้เอื้อหรือส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยจริงๆ กลไกตุลาการก็เป็นแค่กลไกหนึ่งที่อาจจะสนับสนุนระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ผมมองว่าตุลาการไทยเป็นเพียงส่วนประกอบในการขัดขวางเท่านั้น อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ร่วมขัดขวางระบอบประชาธิปไตยแบบสากล

ปัญหาพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย คุณค่าพื้นฐานที่ยึดถือนั้นเป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า ผมกล่าวไปข้างต้นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบอบนี้มีคำว่าประชาธิปไตยอยู่ ปัญหาคือคำนี้นี่เอง มันให้คำอธิบายเดียวกันกับคำว่าประชาธิปไตยแบบสากลไหม เหมือนเวลาเราพูดถึงปลาวาฬ คนก็เข้าใจว่าเป็นปลา แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทหนึ่ง กรณีนี้ก็เหมือนกัน

หลักการทำงานของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญในคดีไทยรักษาชาติเป็นอย่างไร

เรื่องการยุบพรรคการเมือง มีอยู่ในกฎเกณฑ์ระเบียบและกติกาของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ฉบับปี 2560 เขียนเอาไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งในมาตรา 92 เขาก็ได้กำหนดเหตุที่ กกต. อาจสามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองได้ มีสองเหตุที่สำคัญในมาตรา 92 วรรค (1) และ (2)

วรรค (1) เขียนไว้ว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ (2) กรณีที่พรรคการเมืองอาจกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่งจริงๆ ก็มีเหตุอื่นอยู่ที่เขียนไว้ แต่กรณีที่สอดคล้องกับเรื่องนี้มีสองข้อนี้

เหตุที่เกิดขึ้นก็คือ หลังจาก 8 กุมภาพันธ์ พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ และในวันเดียวกัน ตอนกลางคืนก็มีประกาศพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ถ้าดูในประกาศพระราชโองการ มีอยู่สองย่อหน้าที่มีนัยยะแบ่งสู่สองทาง

หนึ่งก็คือ การที่มีใครก็ตามแต่ที่นำสมาชิกในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง เป็นการกระทำที่ขัดกับโบราณราชประเพณี

ขณะที่ในวรรคที่สอง (วรรคสุดท้าย) ยึดตามพระราชโองการ ก็คือสื่อไปถึงทูลกระหม่อมฯ กรณีที่พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองได้ สองนัยยะที่ปรากฏอยู่ก็หมายถึงคนที่นำราชวงศ์ไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แม้ว่าในที่นี้จะไม่ได้บอกตรงๆ ก็ตาม ตามบริบทก็หมายถึงพรรคไทยรักษาชาติ

ผลที่ตามมาก็คือ กกต. ต้องประกาศรายชื่อแคนดิเดตทั้งหมดในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งในวันนั้นเอง กกต. ก็ไม่ได้ประกาศชื่อของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ โดยเหตุที่ไม่ได้รับรองและประกาศชื่อทูลกระหม่อมฯ กกต. ก็ให้เหตุผลซึ่งปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ กกต. เอง ด้วยการก็อปปี้ถ้อยคำในพระราชโองการทุกอย่าง

วันเดียวกัน (11 กุมภาพันธ์) ก็มีการยื่นคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เกี่ยวกับการที่ไทยรักษาชาตินำชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มาใช้เพื่อการหาเสียง ขัดต่อระเบียบของ กกต. และเข้ากับองค์ประกอบมาตรา 92 (2) ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ยื่นคำร้อง พอถึง 12 กุมภาพันธ์ กกต. ก็มีการพิจารณาคดี กรณีไทยรักษาชาติเสนอชื่อบุคคลที่เข้าข่ายทำผิดมาตรา 92 วรรค (2) ว่าเข้าข่ายให้ยุบพรรคหรือไม่ และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กกต. ก็มีมติให้ส่งเรื่องพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยในแถลงข่าวของ กกต. ก็ไม่ได้ให้เหตุผลอะไรไปมากกว่า พรรคไทยรักษาชาติกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เหตุก็คือ เนื่องจากไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ กกต. มองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เรื่องก็ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงภายใน 7 วันนับตั้งแต่ได้รับคำร้อง

ถ้าเทียบขั้นตอนการพิจารณาคดี ระหว่างไทยรักษาชาติกับพลังประชารัฐ เงื่อนเวลาค่อนข้างแตกต่างกันทีเดียว?

ในขณะที่มีเรื่องของไทยรักษาชาติ ก็มีอีกฝ่ายไปยื่นให้มีการยุบพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างเหตุหลายๆ ข้อประกอบกัน เช่น เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ที่เป็นหัวหน้า คสช. หรือกรณีโต๊ะจีนอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งอาจตีความได้ว่า อาจจะเข้าเหตุเดียวกันกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ประเด็นก็คือเงื่อนไขเรื่องระยะเวลา ตอนที่มีข่าวเรื่องโต๊ะจีน ราวๆ เดือนธันวาคม จะมีแค่ประเด็นเรื่องการรับเงิน หน่วยงานรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริจาคให้พรรคการเมือง แต่ยังไม่เคยยกเป็นประเด็นเรื่องยุบพรรคพลังประชารัฐมาก่อน กรณียุบพรรคมาเกิดหลังจากที่ กกต. มีการเสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติไปแล้ว

ถ้าถามว่าทำไมระยะเวลาถึงต่างกัน ต้องเข้าใจก่อนว่าตัวกฎหมายไม่ได้ระบุเวลาไว้ว่า กกต. จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกี่วัน โดยปกติเวลามีการร้องเรียน กฎหมายก็เขียนไว้ว่าให้ กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องมีช่วงระยะเวลาหนึ่งในการตัดสิน แต่ระยะเวลาก็ไม่ควรจะนานเกินไป ความผิดปกติของเรื่องนี้คือ กกต. มีมติเสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติเร็วเกินไป ซึ่งก็พูดยากอยู่เหมือนกันที่จะพิจารณาว่าอุดมการณ์ของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบภายในหนึ่งคืนเท่านั้น ถามว่าหนึ่งคืนพอจริงไหม กับการใช้หลักฐานแค่เพียงการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ

แล้วหนึ่งคืนนี่นานไหม

ต้องขออธิบายก่อนว่า ต้องพิจารณาองค์ประกอบที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างมาก เป็นการพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างแรกเลยเราต้องนิยามให้ได้ก่อนว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นมีความหมายอย่างไร แค่ไหน มีรายละเอียดองค์ประกอบอะไร มีหลักการอะไรที่ประกอบกันขึ้นมาบ้าง ถึงจะบอกได้ว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งทำการอันเป็นปฏิปักษ์หรือเปล่า แล้วการกระทำอย่างไร อะไรบ้าง ถึงจะสรุปได้ว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ ไม่ใช่ว่าจะมายึดเอาการกระทำอันใดอันหนึ่งแล้วสรุปไปโดยตรง

กรณีเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ สามารถทำได้หรือไม่ เพราะเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งบางคนบอกว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย

จริงๆ ตามตัวบทกฎหมาย การเสนอใครเป็นแคนดิเดตจะเสนอใครก็ได้ ไม่มีใครผิดทั้งนั้น ไม่ว่าจะพลเอกประยุทธ์ หรือทูลกระหม่อมฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักเกณฑ์ที่เขียนมาฉบับนี้ พูดตรงๆ ก็คือเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. อยู่แล้ว

ในรายละเอียด การเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ อาจมองได้ยากว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมาเพื่อวางกลไกให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เราเอาความคิดไปจับเอาเองว่า เราต้องการนายกฯ ที่เป็นประชาธิปไตย นายกฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร คือพอมองแบบนี้ก็ทำให้เรามองว่า การเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์นั้นขัดต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างที่บอกว่า คำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ เป็นคำที่กว้างมาก และยังเป็นใจกลางของปัญหาทางการเมืองทั้งหมดในเวลานี้ เพราะเป็นคำที่ถูกใช้เพื่อตีความการรับรองรัฐประหาร และการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญในหลายๆ กรณี

การเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรมในวิถีประชาธิปไตย แต่ถ้าถามว่าขัดรัฐธรรมนูญไหม ผมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกในการอธิบายด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าไม่ขัด

เหตุใดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 กกต. แจ้งว่าทูลกระหม่อมฯ สามารถเป็นแคนดิเดตได้ แต่สุดท้ายกลับส่งเรื่องฟ้องยุบพรรคไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ณ กลางวัน วันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีการถกเถียงเรื่องความเหมาะไม่เหมาะ ควรไม่ควร แต่ถ้าไปดูกันในทางกฎหมายจริงๆ ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรไหนที่บอกว่า ไทยรักษาชาติจะเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนคิดเดตนายกฯ ไม่ได้ ฝ่ายกฎหมายของไทยรักษาชาติได้ตรวจสอบข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว กกต. ก็ตรวจสอบกฎหมายทั้งหมดแล้ว ถึงได้รับเรื่องเอาไว้ เพียงแต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ต้องตัดรายชื่อออกไปคือ พระราชโองการ ที่กล่าวถึงประเพณีการปกครอง

เอาเข้าจริงๆ ประกาศพระราชโองการก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ว่านับเป็นกฎหมายหรือไม่ และมีผลผูกพันองค์กรต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เป็นการพูดคุยผ่าน Skype กับ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ซึ่งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า