ความชอบทำที่ไม่ชอบธรรม ‘ตลกรัฐธรรมนูญ’ กับคดี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หนึ่งวันก่อนครบรอบ 70 ปีกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี – รัฐธรรมนูญที่จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ขึ้นมาในประเทศเยอรมนีเป็นครั้งแรก ก่อนจะกลายต่อมาเป็นแม่แบบของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญในนานาประเทศรวมถึงประเทศไทย

ช่องทีวีสาธารณะของประเทศเยอรมนีได้เผยแพร่รายการพิเศษโดยมี แอนเดรียส ฟอซคูเลอ (Andreas Voßkuhle) ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ ยืนอยู่ท่ามกลางประชาชนซึ่งนั่งล้อมรอบอยู่ในสตูดิโอกว่า 150 คนเพื่อตอบคำถามที่ประชาชนสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี โดยรายการดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘ในนามของประชาชน’ (Im Namen des Volkes – กองบรรณาธิการ) อันมาจากวลีที่ปรากฏอยู่บนหัวกระดาษคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นๆ ทั้งหลายเพื่อสื่อนัยยะของหลักประชาธิปไตยที่ว่า

อำนาจตุลาการในฐานะสาขาหนึ่งของอำนาจรัฐก็ต้องมีที่มาเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อประชาชนเช่นเดียวกันกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 หนึ่งวันหลังครบรอบห้าปีการรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย – รัฐประหารซึ่งประกาศให้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง แต่อนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและมีภารกิจสำคัญในการปกป้องรัฐธรรมนูญยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ – ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำสั่งรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องเพื่อให้วินิจฉัยการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บนเหตุตามคำร้องว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญอยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งยังมีมติให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ปัญหาความชอบธรรมขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องก้าวเข้ามาวินิจฉัยคดีทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพรมแดนที่คาบเกี่ยวสัมพันธ์กันระหว่างกฎหมายและการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในทางทฤษฎีรัฐธรรมนูญมานานนมก่อนที่โลกนี้จะรู้จักองค์กรเฉพาะในรูปลักษณ์ของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เช่นที่ปรากฏอยู่ในนานาประเทศทุกวันนี้เสียอีก

ใน Federalist paper ฉบับที่ 78 เจมส์ แมดิสัน (James Madison) ได้บรรยายลักษณะของอำนาจตุลาการไว้ว่า เป็นองค์กรที่ไร้ซึ่งดาบหรือถุงเงิน อีกทั้งผลิตผลของอำนาจตุลาการนั้นมีก็แต่เพียงแค่คำพิพากษา ซึ่งศาลเองไม่อาจบังคับให้ใครปฏิบัติตามได้ เว้นแต่โดยอาศัยความช่วยเหลือจากฝ่ายบริหาร เช่นนี้แล้ว องค์กรตุลาการจึงเป็นองค์กรที่อันตรายต่อสิทธิทางการเมืองน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

องค์กรตุลาการที่เป็นอิสระจากฝ่ายอื่นๆ จึงเหมาะสมจะเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยการใช้อำนาจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมายว่าเป็นไปโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตราบเท่าที่ศาลยึดถือเอารัฐธรรมนูญไว้เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคดี จึงย่อมไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า ศาลมีสถานะอยู่เหนือกว่าองค์กรหรืออำนาจอื่น แต่เป็นอำนาจของประชาชนต่างหากที่อยู่สูงสุดเหนืออำนาจทั้งปวง

บนคำอธิบายเช่นนี้ เราอาจกล่าวสรุปได้ว่า ความชอบธรรมพื้นฐานที่สุดของการใช้อำนาจตุลาการในคดีทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายนั้น ก็คือการที่ศาลตัดสินวินิจฉัยคดีอยู่บนฐานตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความชอบธรรมบนฐานของคำอธิบายว่า อำนาจตุลาการตัดสินคดีไปตามรัฐธรรมนูญแต่เพียงลำพังนั้น หาใช่เหตุผลเพียงพอที่อาจสนับสนุนความชอบธรรมของศาลในการตัดสินคดีทางรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นสรณะไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายที่กำหนดจัดวางการใช้อำนาจของศาลในเรื่องดังกล่าวไว้ให้เป็นที่สุดและผูกผันองค์กรอื่นทุกองค์กร เพราะท้ายที่สุดแล้วการอ้างฐานว่าศาลยืนอยู่บนกรอบการใช้อำนาจไปตามกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ก็ต้องเผชิญกับคำถามสำคัญที่ว่า แล้วใครกันเล่าจะเป็นผู้คอยควบคุมเหล่าผู้ควบคุมกฎเหล่านี้ว่าได้ปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่จริง?

การเชื่อถือให้ผู้ควบคุมกฎควบคุมผู้อื่นบนฐานของการวินิจฉัยโดยอ้างกฎเกณฑ์ทั้งหลายบนความไว้ใจ ว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาเหล่านั้นจะผูกพันตนเองเข้ากับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ จึงกลายเป็นเหตุผลย้อนแย้งที่ทำลายการกล่าวอ้างการปกครองโดยกฎหมายในฐานะความชอบธรรมของการใช้อำนาจตุลาการไปเสียเอง

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของคำอธิบายดังกล่าวย่อมจะพาเราไปสู่การปกครองของตุลาการผู้มีนิ้วเป็นเพชรฤทธีที่สามารถชี้เป็นชี้ตายได้ว่าอะไรคือกฎหมาย ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งดังกล่าวจะเป็นกฎหมายจริงๆ หรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่เรานั้นไม่อาจจะเรียกว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายได้แต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะอธิบายความชอบธรรมให้กับองค์กรตุลาการในการเข้ามาตัดสินคดีทางรัฐธรรมนูญจึงถูกเรียกร้องยิ่งๆ ขึ้นไป มากกว่าการอ้างกล่าวแต่เพียงว่า เพราะนี่คือการตัดสินคดีไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ กล่าวคือ ที่มาของตุลาการผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องดังกล่าว ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่เชื่อมโยงกลับไปหาประชาชนได้อย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งการทำคำวินิจฉัยจะต้องประกอบไปด้วยเหตุผลเผยแพร่สู่สาธารณะภายใต้บรรยากาศของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์เหตุผลของคำวินิจฉัยได้บนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้

อนึ่ง ความชอบธรรมในมิติเหล่านี้ หากพิจารณาบนหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนนั้น แท้จริงแล้วเป็นความชอบธรรมที่องค์กรตุลาการทั้งหลายพึงมี แม้ว่าจะเป็นกรณีเพียงการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อวินิจฉัยคดีตามกฎหมายปกติก็ตาม ยิ่งหากเป็นการใช้อำนาจเพื่อวินิจฉัยคดีทางรัฐธรรมนูญแล้ว ข้อเรียกร้องในความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ตลอดจนความรับผิดชอบต่อประชาชน ก็ยิ่งจะต้องเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นคำอธิบายของภาพที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันยืนอยู่ในรายการท่ามกลางประชาชน เพื่อคอยตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยในตอนท้ายของรายการ ประธานศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้พูดถึงประสบการณ์สำคัญที่ได้จากการพูดคุยกับประชาชนในครั้งนี้ว่า นอกจากศาลจะได้อธิบายเหตุผลต่างๆ แล้ว ศาลยังได้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย

ตัดภาพกลับมาที่เหตุการณ์ในประเทศไทย ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราพบเห็นบทบาทขององค์กรตุลาการเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินคดีทางการเมืองมากมายหลายคดี ภายใต้โครงการ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ที่เปิดเฟสแรกอย่างเป็นทางการนับแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยมีผลงานสำคัญคือ การล้มสองการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสองพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การถอดถอนสามนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง ตลอดจนการขัดขวางกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายครั้ง

คำถามสำคัญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีหรืออาศัยความชอบธรรมใดในการเข้ามาวินิจฉัยเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้?

ภายใต้บรรยากาศของเสรีภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่บีบกระชับพื้นที่ของการถกเถียงให้แคบลงไปอีก ตลอดจนเมื่อพิจารณากลไกการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนหรือผู้แทนของประชาชนอย่างน้อยนิดมาก ไม่มีทางเลยที่จะกล่าวได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญยืนอยู่บนฐานความชอบธรรมหรือความรับผิดชอบต่อประชาชน แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการใช้อำนาจบนฐานความชอบธรรมของความเชื่อทางประเพณีว่า เพราะนี่คือคำพิพากษาของศาลในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

คำถามก็คือ ในฐานะของมนุษย์ผู้มีเหตุมีผลในตัวเอง เราจำเป็นต้องทนกับอำนาจที่ปรากฏออกมาเพียงเพราะว่าผ่านรูปแบบการใช้อาชญาสิทธิ์โดยบุคคลผู้สวมชุดครุยนั่งอยู่บนบัลลังก์ตลอดไปเพียงใด? หรือเราควรจะท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการตีแผ่ให้สาธารณชนได้เห็นว่าแท้จริงแล้วภายใต้ชุดครุยบนบัลลังก์นั่นก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งอาจมีอคติและอำเภอใจได้เช่นเดียวกันกับเราๆ ท่านๆ ทั่วไป และการที่เราจะเคารพหรือยอมรับการใช้อำนาจตุลาการ จึงไม่ใช่เพราะว่านั่นเป็นการใช้อำนาจของบุคคลผู้เป็นตุลาการหรือผู้พิพากษา แต่เป็นเพราะนั่นเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยปราศจากอคติและอำเภอใจต่างหาก

กรณีที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือข้อกล่าวหาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) โดยในข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า

“วันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดอันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)”

ก่อนที่ในอีกหกวันถัดมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องมาตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 โดยเห็นว่ามาตราดังกล่าว “ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)” คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องนี้ “จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) แล้ว”

ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวจะเป็นเช่นไร การโอนหุ้นเกิดขึ้นสำเร็จจริงหรือไม่และในวันที่เท่าไร เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้องจะต้องพิสูจน์และชี้แจง ไม่ใช่เฉพาะต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่รวมตลอดถึงต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใสด้วย

อย่างไรก็ตาม สมควรตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อลองพิจารณาบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายในเรื่องนี้แล้ว จะพบว่าช่องทางการเสนอเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีนี้นั้นเป็นไปอย่างผิดฝาผิดตัว จนไม่อาจที่จะกล่าวได้ว่าเป็นการเสนอและรับคำร้องไว้ตามกลไกที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด กล่าวคือ

1. ในเบื้องต้น เราต้องแยกระหว่างกลไกทางกฎหมายในการตรวจสอบ ‘คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับความชอบด้วยกฎหมายในการเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ และการตรวจสอบ ‘คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพลงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ออกจากกันให้ชัดเจน เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องจะพบว่า กลไกทางกฎหมายทั้งสองเรื่องนี้แยกจากกันเด็ดขาด และเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน

2. กล่าวสำหรับกลไกการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นก่อนบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 แยกพิจารณาออกเป็นกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

2.1 กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบพบก่อนวันเลือกตั้งเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 52 วรรคหนึ่งของกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร หากเป็นการตรวจสอบเห็นหลังวันเลือกตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้สมัครซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามจะได้คะแนนอยู่ในลำดับที่ได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะวินิจฉัยเองตามมาตรา 53 วรรคหนึ่งและวรรคสองของกฎหมายเลือกตั้ง

แต่ถ้าหากเป็นการตรวจสอบเห็นหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากผู้สมัครซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง มาตรา 54 วรรคหนึ่งของกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย

2.2 กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น โดยมาตรา 61 วรรคหนึ่งของกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ปัญหาคือ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติหรือหรือมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อภายหลังวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังประกาศผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร กลับไม่มีการบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายเลือกตั้งต่อไปแต่อย่างใด ต่างไปจากกรณีของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาในแต่ละช่วงเวลาไว้อย่างชัดเจนแตกต่างกันไป

2.3 ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายในการเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น นอกจากเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวผู้สมัครแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความชอบด้วยกฎหมายของตัวการเลือกตั้งด้วย โดยประเด็นหลังนี้กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดกลไกกระบวนการตรวจสอบและวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมเอาไว้ในหมวดเจ็ด มาตรา 132 ถึง 140 ซึ่งเป้าหมายของบทบัญญัติในหมวดนี้คือการตรวจสอบกระบวนการการเลือกตั้งเท่านั้น จะนำมาใช้กับการตรวจสอบปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวบุคคลผู้สมัครที่มีกลไกกำหนดไว้เป็นการเฉพาะต่างหากอยู่แล้วอีกไม่ได้

3. ในส่วนของการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพลงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงสมาชิกสภาพความเป็นผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นการตรวจสอบปัญหาข้อเท็จจริงเรื่องการขาดคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามนับแต่ช่วงเวลาที่เข้าดำรงตำแหน่งความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นต้นไป โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือหากเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ามีเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

4. การเสนอเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งบนข้อเท็จจริงประเด็นลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ จึงเป็นการให้เหตุผลสนับสนุนการเสนอคำร้องที่ไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของกระบวนพิจารณาคดีตามช่องทางดังกล่าว ซึ่งโดยหลักการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาก็คือประเด็นว่า นับแต่วันที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วมีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากนั้นที่เป็นเหตุให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามดำรงอยู่หรือปรากฏขึ้นมาใหม่หรือไม่ แต่การเสนอคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลับเป็นเพียงการเสนอข้อเท็จจริงก่อนที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะมีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่สนับสนุนเหตุแห่งการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ได้แต่อย่างใด

5. ปัญหาว่า แล้วหากเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อหลังวันเลือกตั้งแล้วจะเป็นเช่นไร สมมุติฐานของช่องว่างทางกฎหมายนี้อาจเป็นไปได้อย่างน้อยสองแนวทาง คือ หนึ่ง-ผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งอาจหลงลืมไม่ได้คิดให้เป็นระบบอย่างครบถ้วน หรือ สอง-ผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งตั้งใจให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ต้องตรวจสอบเรื่องราวให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จทันในเวลาดังกล่าว อาจหมายความว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามเป้าหมายที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใด เมื่อไม่มีบทบัญญัติกำหนดเอาไว้ คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวได้ กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งย่อมเป็นที่ยุติลง เว้นแต่จะเป็นกรณีการตั้งประเด็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 151 ที่กำหนดโทษทางอาญากรณีซึ่งผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยหากเป็นกรณีที่ไม่ได้มีองค์กรซึ่งอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายเลือกตั้งได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไว้เป็นที่สุดแล้ว ในกระบวนพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวศาลที่พิจารณาก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวให้มีข้อยุติด้วย

แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นที่ยุติอย่างไรก็ตาม ก็ไม่กระทบต่อการได้มาหรือการดำรงอยู่ต่อไปของสถานภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด เว้นแต่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะยังคงดำรงอยู่ในขณะที่มีสมาชิกสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หรือเพราะผลของคำวินิจฉัยได้ตัดสินลงโทษทางอาญาหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวอันเป็นเหตุใหม่ในภายหลังที่อาจทำให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเท่านั้น

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ เพราะเป็นการยื่นคำร้องบนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นและยุติลงไปแล้วก่อนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ใช่เหตุสนับสนุนคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ได้ คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากย้อนกลับไปทบทวนและตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ในคดีทางรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยของศาลรัฐธรรมนูญตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาในคำวินิจฉัยต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลทางนิติศาสตร์ เราจะพบการบิดผันกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งในเชิงวิธีสบัญญัติเพื่อสถาปนาเขตอำนาจใหม่หรือเพื่อรับคดีไว้พิจารณา แม้จะไม่ได้เป็นไปตามกลไกกระบวนการซึ่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความกำหนดไว้ และในเชิงสารบัญญัติเพื่อวินิจฉัยไปตามธงที่ศาลรัฐธรรมนูญเองมีอยู่ก่อนแล้ว แล้วค่อยย้อนกลับไปหาเหตุผลให้กับธงที่ตั้งไว้ ‘ความชอบทำ’ ของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมาก่อให้เกิดคำถามถึง ‘ความชอบธรรม’ ของศาลรัฐธรรมนูญไทย ว่าอาจไม่ได้เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีตามรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่จะเป็นก็เพียง ‘ตลกรัฐธรรมนูญ’ ที่ชอบทำคดีทางการเมืองไปตามแนวทางเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอ้างในนามของกฎหมาย แม้แท้จริงแล้วจะไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายเลยก็ตาม

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นอีกหนึ่งครั้งที่สังคมควรวิเคราะห์ว่า การรับคำร้องดังกล่าว รวมตลอดถึงกระบวนพิจารณาและคำวินิจฉัยที่จะตามมานั้นเป็นเรื่องปกติตามอำนาจที่ชอบธรรมบนฐานของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือเป็นอีกครั้งที่จะชอบทำแบบเดิมซ้ำๆ เป็น ‘ตลกรัฐธรรมนูญ’ ภาคต่อให้สังคมมองเห็นความผิดปกติที่ดำรงอยู่อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

Author

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านทฤษฎีรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยเมือง Münster ประเทศเยอรมนี เจ้าของผลงานหนังสือ 'ตลกรัฐธรรมนูญ' และเคยมีบทบาทในฐานะหนึ่งในสมาชิก 'กลุ่มนิติราษฏร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร'

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า