ไม่มีนวพลใน 6 ตุลา: องค์กรผีของ กอ.รมน.

‘นวพล’ คือหนึ่งในองค์กรมวลชนฝ่ายขวาที่รู้จักกันดีในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ชื่อของนวพลมักถูกเอ่ยควบคู่ไปกับลูกเสือชาวบ้าน และ กระทิงแดง ในฐานะมวลชนฝ่ายขวา 3 กลุ่มหลักที่ทรงพลังมากที่สุดในยุคนั้น ทั้ง 3 กลุ่มเข้าร่วมการสังหารโหดนักศึกษาประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาฯ อย่างไรก็ตาม มีงานที่ศึกษาเกี่ยวกับลูกเสือชาวบ้านและกระทิงแดงพอสมควร เรารู้ว่าใครเป็นผู้อุปถัมภ์หลัก ใครเป็นผู้นำ ใครเป็นสมาชิกบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง ฯลฯ1 ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลเกี่ยวกับนวพลกลับไม่เคยมีความชัดเจน แต่คนก็เชื่อต่อๆ กันมาว่ามีนวพลอยู่จริง คำถามคือ ถ้านวพลไม่มีอยู่จริง หรือมี แต่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่เชื่อกัน แล้วความเชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมฝ่ายขวาจึงสร้าง ‘ผี’ นวพล ขึ้นมา นี่คือประเด็นที่จะอภิปรายในบทความนี้

ภาพลักษณ์อันทรงพลังมาจากไหน?

มีความเชื่อสืบทอดกันจนถึงปัจจุบันว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นผู้ก่อตั้งและสนับสนุนมวลชนฝ่ายขวามากมายหลายกลุ่มในช่วงปี 2516-2519 โดยนวพลเป็นกลุ่มจัดตั้งที่ใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดของ กอ.รมน. มี พลเอกสายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. ในขณะนั้น เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 2517 ผู้นำของนวพลคือ นายวัฒนา เขียววิมล ที่เป็นคนชอบคุยโม้โอ้อวด และอ้างว่านวพลมีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน มีเป้าหมายที่การปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เน้นการทำสงครามจิตวิทยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ จัดชุมนุม มีเครือข่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีข้าราชการและนักธุรกิจท้องถิ่นเป็นสมาชิกจำนวนมาก และยังมีคำร่ำลือว่านวพลมีหน่วยสังหารของตนเองอีกด้วย

คนส่วนใหญ่ล้วนเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะในขณะนั้นมีชนชั้นนำฝ่ายขวาหลายคนประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นสมาชิกของนวพล เช่น พลโทสำราญ แพทยกุล องคมนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในขณะนั้น เป็นสมาชิกอันดับ 1, พลตำรวจโทสุรพล จุลละพราหมณ์ ผบ.ตำรวจตระเวนชายแดน, พลเอกวัลลภ โรจนวิสุทธิ์ เจ้ากรมข่าวทหาร เป็นต้น นายวัฒนามักอ้างว่าตนมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับซีไอเอและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอเมริกัน ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะเคยเรียนและอาศัยอยู่ในสหรัฐ ถึง 10 ปี

Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok โดย ธงชัย วินิจจะกูล

แต่ในหนังสือเล่มใหม่ของ ธงชัย วินิจจะกูล Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok2 กลับเห็นว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวถูกสืบทอดกันมาโดยไม่เคยมีใครตรวจสอบความน่าเชื่อถือจริงๆ เลย นอกจากคำอวดอ้างของนายวัฒนาแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานอื่นที่ชี้ว่านวพลมีกำลังถึงกว่า 1 ล้านคนจริง การชุมนุมใหญ่ที่นายวัฒนาอวดอ้างว่าเป็นของนวพล ก็เป็นการชุมนุมร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ไม่พบว่านายวัฒนาและนวพลเคยจัดชุมนุมเองเลยสักครั้ง การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีก็เป็นการชุมนุมของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ราว 15,000 คน ธงชัยชี้ว่างานวิชาการของ Morell and Chai-anan3 เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่บรรยายถึงความยิ่งใหญ่ของนวพล แต่งานชิ้นนี้ก็อ้างคำสัมภาษณ์ของนายวัฒนาเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ธงชัยเห็นว่างานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่งานเขียนอื่นๆ หลังจากนี้ได้นำเรื่องนวพลไปรีไซเคิลต่อ จนกลายเป็นความเชื่อที่ไม่ต้องตั้งคำถาม

ที่มาภาพ: mekongreview.com

จากการสนทนากับอาจารย์ธงชัย อาจารย์เริ่มตั้งข้อสงสัยนี้เมื่อตอนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับความทรงจำของฝ่ายขวากับ 6 ตุลาฯ ตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เมื่ออาจารย์ไม่สามารถตามหาสมาชิกของนวพลเพื่อขอสัมภาษณ์ได้เลย ขณะที่สมาชิกกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ กลับมีตัวตนให้ติดต่อได้ไม่ยาก บรรดามวลชนฝ่ายขวาด้วยกันเอง ซึ่งมักจะรู้จักกันและกันแม้จะอยู่ต่างกลุ่ม ก็ไม่มีใครรู้จักสามัญชนที่เป็นสมาชิกนวพลเลย

นอกจากนี้ ยูจีน ฟอร์ด (Eugene Ford) ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Cold War Monks: Buddhism and America’s Secret Strategy in Southeast Asia4 ก็กังขาต่อตัวตนของนวพล โดยฟอร์ดพบเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ มีคำสั่งให้สถานทูตสหรัฐในไทยทำรายงานเกี่ยวกับนวพลส่งให้ในทันทีหลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอ่านเจอบทความในนิตยสารการเมือง Far Eastern Economic Review เกี่ยวกับนวพล

Cold War Monks: Buddhism and America’s Secret Strategy in Southeast Asia

แม้ว่ารายงานของสถานทูตสหรัฐในไทยไม่ได้ชี้ชัดว่านายวัฒนามีสายสัมพันธ์กับซีไอเอจริงหรือไม่ แต่รายงานกลับแสดงความกังขาต่อความยิ่งใหญ่ของนวพล ที่ทำตัวเสมือนสมาคมลับ มีสมาชิกระดับสูงชอบอวดอ้างตนเอง รายงานยังระบุว่านายวัฒนาเป็นบุคคลประเภท “aggressive, name-dropping, influence peddler” (ก้าวร้าว ชอบเอ่ยอ้างชื่อคนดัง และเสาะแสวงหาอิทธิพล) รายงานของสถานทูตยังระบุว่านายวัฒนาไม่ค่อยได้รับความนับถือจากชนชั้นนำฝ่ายขวาเท่าไรนัก เขาจึงมักคุยโม้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ ถึงขั้นโม้ว่าเขาเคยเป็นที่ปรึกษาของ นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ เจ้าหน้าที่ไทยบางคนดูถูกนายวัฒนาเสียด้วยซ้ำ และปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือแก่เขา บุคลิกของนายวัฒนาจึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของนวพล

ฟอร์ดชี้ต่อไปว่า แม้ว่าเมื่อถึงเดือนกันยายน 2518 อิทธิพลของนวพลต่อการเมืองไทยยังมีไม่มากนัก แต่นายวัฒนาสามารถขยายเครือข่ายของตนที่เชียงใหม่ น่าน ลำพูน และอุดรธานี ฉะนั้น นวพลจึงถูกจับตาว่าเป็นองค์กรที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้

สำหรับตัวดิฉันเอง ที่ได้ทำวิจัยและเขียนหนังสือ Infiltrating the Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs5 เกี่ยวกับบทบาทของทหารในกิจการความมั่นคงภายในของไทย รวมทั้งการฟื้นฟู-จัดตั้งมวลชนฝ่ายขวาของ กอ.รมน. ก็เกิดคำถามทำนองเดียวกัน

ดิฉันไม่พบชื่อนวพลในเอกสารลับของ กอ.รมน. เลย ทั้งๆ ที่เอกสารเหล่านั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรมวลชนของ กอ.รมน. ในช่วงสงครามเย็น แม้แต่รายงานลับของปี 2519 ที่ พลเอกสายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. มีถึง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจักต้องสนับสนุนการขยายการจัดตั้งองค์กรมวลชนไปทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็ไม่มีชื่อนวพลปรากฏอยู่เลย

ในทางตรงข้าม องค์กรที่พลเอกสายหยุดให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ‘อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง’ (อพป.) อันเป็นมวลชนจัดตั้งในโครงการ ‘หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง’ ที่ยังดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ หน่วยล่าสังหารที่คนร่ำลือกันก็อาจเป็นหน่วยล่าสังหารของกองทัพและ กอ.รมน. นั่นเอง ทั้งนี้เอกสารลับของ กอ.รมน. ที่ดิฉันค้นพบ ก็ระบุถึงหน่วยล่าสังหารในพื้นที่สีแดง ที่มีหน้าที่ ‘เก็บ’ คนที่ถูกสงสัยว่าเป็นสายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่แฝงตัวเข้ามาในหมู่บ้าน พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าตนเป็นหนึ่งในหน่วยล่าสังหารของ กอ.รมน. ในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย

แล้วนวพลมีไว้ทำไม?

ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่นวพลไม่ได้มีมวลชนมากมายมหาศาลอย่างที่เชื่อกัน อาจจะมีมวลชนของตนจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่มากนัก แต่ธงชัยเห็นว่าเพราะชนชั้นนำฝ่ายขวาต้องการขยายภาพมวลชนของตนให้ใหญ่โตทรงพลังเพื่อคุกคามฝ่ายซ้าย ในเวลาที่ชนชั้นนำฝ่ายขวาต้องการแสดงพลังมวลชนที่เป็นเอกภาพและทรงพลัง กอ.รมน. ก็จะช่วยระดมมวลชนในสังกัดของตนเองให้กับนายวัฒนา เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่าฝ่ายของตนมีประชาชนสนับสนุนมากกว่า การแสดงพลังขนาดใหญ่ด้วยชื่อที่เริ่มติดหูย่อมดูน่าเกรงขามมากกว่าการเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ยากจะจดจำชื่อได้หมด ธงชัยจึงสรุปว่า นวพลเป็นเพียง ‘องค์กรผี’ ที่นายวัฒนาและ กอ.รมน. สร้างขึ้นมาเท่านั้น

ทั้งนี้ พึงเข้าใจว่าในช่วงต้นทศวรรษ 2510 หนึ่งในยุทธวิธีที่รัฐไทยใช้เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์คือ การจัดตั้งมวลชนในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญคือ กอ.รมน. กองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดย กอ.รมน. ทำหน้าที่ประสานงานและสามารถสั่งงานข้ามกระทรวงได้ หลัง 14 ตุลาคม 2516 ฝ่ายขวาได้ขยายมวลชนจัดตั้งอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับการเติบโตของขบวนการนักศึกษาในเมือง การจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวาจึงขยายเข้าสู่เขตเมืองมากขึ้น

กลุ่มที่คนในยุคก่อน 6 ตุลาฯ รู้จัก ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ชมรมอาชีวะเสรี เพชรไทย ช้างดำ พิทักษ์ไทย สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย แนวร่วมรักชาติ ประชาชนผู้รักชาติ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ สหพันธ์ครูอาชีวะ ค้างคาวไทย กล้วยไม้ไทย วิหคสายฟ้า สหภาพแรงงานเอกชน และชมรมแม่บ้าน6

ยกเว้นลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ อาจได้รับการสนับสนุนการเงินจากรัฐ แต่ไม่มีกฎหมายรับรอง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง พวกเขาก็สลายตัวไปในที่สุด

ยังมีกลุ่มทางการที่สังกัดหน่วยงานรัฐอีกหลายกลุ่ม แต่เราไม่ค่อยรู้จักกัน บันทึกของ พลเอกสายหยุด เกิดผล ระบุว่ามีมากกว่า 20 กลุ่ม7 เช่น อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ราษฎรรักษาความสงบและพัฒนาหมู่บ้าน ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ไทยอาสาป้องกันตนเอง ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มเสียงชาวบ้าน กลุ่มบางระจัน ชาวบ้านพิทักษ์ถิ่น ราษฎรสามัคคี ราษฎรอาสาสมัครป้องกันชายแดน อาสาป้องกันอาชญากรรม อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย และราษฎรอาสาสมัครป้องกันผู้ก่อการร้าย (ในยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หลายกลุ่มถูกยุบเลิกและให้สมาชิกไปรวมกันในองค์กรใหม่ชื่อ ‘ไทยอาสาป้องกันชาติ’ ที่อยู่ใต้ กอ.รมน. โดยตรง)

จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่สมาชิกขององค์กรเหล่านี้ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ถูก กอ.รมน. เกณฑ์มาใส่ ‘หมวกนวพล’ ในยามที่ฝ่ายขวาต้องการแสดงพลังคุกคามต่อต้านขบวนการนักศึกษากรรมกรชาวนา

เหล้าเก่าในขวดเก่า

ดิฉันเคยกล่าวไว้ในที่อื่นว่า หลังรัฐประหาร 2549 การระดมและขยายมวลชนจัดตั้งได้กลับมาเป็นภารกิจเร่งด่วนของ กอ.รมน. อีกครั้งหนึ่ง โดยมุ่งปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ และให้มวลชนคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อชาติ รวมทั้งร่วมกันแสดงพลังสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล หรือต่อต้านฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม8

แต่ก่อนหน้าที่ขบวนการนักเรียนนิสิตนักศึกษาจะปรากฏตัวอย่างกว้างขวางในกลางปี 2563 นี้ เป้าโจมตีหลักของชนชั้นนำฝ่ายขวาคือ ขบวนการคนเสื้อแดง แต่หลังจากนี้พวกเขาจะเปลี่ยนเป้าโจมตีมาที่คนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น มวลชนจัดตั้งสารพัดกลุ่มในปัจจุบัน น่าจะถูกสั่งให้ใส่หมวกใบใหม่ที่พวกเขากำลังคิดค้นขึ้นมา แต่ปัญหาคือ พวกเขาอาจเปลี่ยนหมวกได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใบหน้าอันชราได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็น ‘กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ’ ‘กลุ่มเยาวชนช่วยชาติ’ ที่มีใบหน้าเหี่ยวย่นเสียเหลือเกิน

การที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันยังอาศัยวิธีการของยุคสงครามเย็นเพื่อรับมือกับปัญหายุคใหม่ ชี้ว่าพวกเขาไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปได้เลย พวกเขายังมีทัศนคติต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในแบบ ‘If you are not with us, you are with them’ ยังใช้ภาษาและวิธีการเดิมๆ ผ่านสื่อของรัฐและสื่อฝ่ายขวา ยังมีความเชื่อว่าการอบรมปลูกฝังอุดมการณ์ราชาชาตินิยมทั้งในระดับประเทศ หมู่บ้าน โรงเรียน จนถึงมหาวิทยาลัย จะสามารถเอาชนะใจคนรุ่นใหม่ได้ หรือถ้าไม่รักก็ต้องทำให้กลัว ประการสำคัญ เราต่างก็รู้ดีว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการระดมมวลชนฝ่ายขวาในยุค 6 ตุลาฯ ก็คือ พลังของอุดมการณ์แบบจารีตนิยม แต่ ณ ปี พ.ศ. 2563 พลังทางอุดมการณ์ดังกล่าวกลับอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบที่พวกเขามีก็คือ ท่อน้ำเลี้ยงขนาดใหญ่ที่มาจากภาษีของประชาชน และสามารถใช้ความรุนแรงคุกคามฝ่ายตรงข้ามรัฐได้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐยินดีจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่นั่นเอง

เชิงอรรถ

  1. เช่น Bowie, Katherine A. Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in Thailand. New York and Chichester: Columbia University Press, 1997; ธงชัย วินิจจะกูล. “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ก็ชนะอยู่ดี),” ใน 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2558.
  2. Thongchai Winichakul. Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok. Hawaii University Press, 2020: 43-44.
  3. Morell, David and Chai-anan Samudavanija. Political Conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution. Cambridge, MA: Oelgeschlager, Gunn&Hain, 1981.
  4. Ford, Eugene. Cold War Monks: Bhuddhism and America’s Secret Strategy in Southeast Asia. Yale University Press, 2017: 259-260.
  5. Puangthong Pawakapan. Infiltrating the Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs. Singapore: ISEAS Yusof Ishak Institute, อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์.
  6. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551: 154-155.
  7. Saiyud Kerdphol. The Struggle for Thailand: Counter-Insurgency 1965-1985. S. Research Center, 1986.
  8. เช่น พวงทอง ภวัครพันธุ์. “มวลชนจัดตั้งในทศวรรษ 2560,” WAY Magazine 20 สิงหาคม 2563. https://waymagazine.org/rightwing-masses/

Author

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้ประสานงาน 'ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53' (ศปช.) อันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง จุดมุ่งหมายของ ศปช. คือจัดทำรายงานค้นหาความจริงเกี่ยวกับล้อมปราบในปี 53 ซึ่งถือเป็นการทำงานคู่ขนานและตรวจสอบการทำงานของ คอป. ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า