จากฉลอง สุนทราวาณิชย์ ถึง ธงชัย วินิจจะกูล: ความทรงจำ หลักฐาน การทำลาย

 

จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2521 ปีนั้นเป็นปีที่ ธงชัย วินิจจะกูล และผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 19 ได้รับการนิรโทษกรรม หลังถูกจองจำมากว่า 2 ปี ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนต้องตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และถูกปรักปรำอย่างผิดไปจากความจริง กระทั่งต้อง ‘ลี้ภัยการเมือง’ อยู่ประเทศอังกฤษ  

มีประวัติศาสตร์ร่วมกันระหว่าง ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล คนแรกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนหลังเป็นแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์เดียวกัน ในปี 2563 ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ถูกคัดเลือกให้เป็นปาฐกในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้จัดและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนับจาก พ.ศ. 2530

หัวข้อในการแสดงปาฐกถาพิเศษของอาจารย์ธงชัย คือ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ก่อนจะถึงวันนั้น WAY อยากชวนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชุด ‘ธงชัย วินิจจะกูล ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17’ ซึ่งประกอบด้วยบทสัมภาษณ์นักวิชาการด้านต่างๆ 4 ท่าน บทสัมภาษณ์แต่ละชิ้นทั้งเติมและต่อทั้งตัวตนและความคิดของอาจารย์ธงชัย

สำหรับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ WAY สนทนากับ รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้นิยามตนเองว่า ‘ไร้สังกัด’ ผู้ที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยกล่าวถึงว่า “อาจารย์ฉลองรักษาความเป็นปัจเจกชนอิสระที่ล้อเล่นกับจารีตอย่างคงเส้นคงวา”

อยากให้อาจารย์ฉลองช่วยฉายภาพให้เห็นวิธีเขียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่นักประวัติศาสตร์รุ่นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จนถึงกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งอาจารย์ฉลองเคยศึกษาไว้ใน วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทยจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แล้วไล่เรียงมายังประวัติศาสตร์นิพนธ์ร่วมสมัย

ต้องเข้าใจก่อนว่า งานชิ้นนั้นเป็นงานที่จำกัดการศึกษาอยู่ที่การเปรียบเทียบพระราชพงศาวดารของรัชกาลที่ 2 สองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกเป็นของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และเวอร์ชั่นที่กรมพระยาดำรงฯ เขียนขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะฉะนั้นก็จะเป็นงานพระราชพงศาวดารที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการของการเขียนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนพระราชพงศาวดารที่แตกต่างกันอย่างไรระหว่างฉบับดั้งเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่เขียนขึ้นตอนต้นรัชกาลที่ 5 กับฉบับของกรมพระยาดำรงฯ ที่เขียนขึ้นในภายหลัง

เนื่องจากเขียนห่างกัน 40-50 ปี และเป็นคนละรุ่น รวมไปถึงการที่กรมพระยาดำรงฯ ได้มีประสบการณ์ มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตกที่เพิ่งเข้ามา เพราะฉะนั้น พระราชพงศาวดาร 2 ฉบับนี้ จึงมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

งานของกรมพระยาดำรงฯ จะสะท้อนถึงวิธีคิดทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ การให้ความสำคัญกับเรื่องของหลักฐานข้อเท็จจริง รวมไปถึงความพยายามที่จะอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะที่งานของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จะเป็นการเล่ารวมถึงการหยิบยกข้อเท็จจริงมาจากพวกปูมโหร หรือรายงานการเดินทัพต่างๆ ในความเห็น ณ ตอนนั้นของผมจึงชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ต่อมาในภายหลัง ผมคิดว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เริ่มพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อการศึกษาประวัติศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาที่เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์ของยุโรป ประวัติศาสตร์ของเอเชีย รวมทั้งการที่จะต้องผลิตครูออกไปสอนหนังสือตามโรงเรียน สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือในระยะแรก แม้ว่าจะมีการขยายตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักวิชาการไทย แต่ลักษณะของการศึกษาประวัติศาสตร์ก็ยังคงจำกัดขอบเขตค่อนข้างคับแคบ คือจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์การเมือง

ถ้าเราจะนิยามอย่างกว้างๆ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์การเมืองเป็นหลัก เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงวางอยู่บนกรอบวิธีคิดแบบเดิม การมองความเปลี่ยนแปลงผ่านราชวงศ์หรือผ่านราชธานี ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่เราจะไม่เห็นในที่อื่น เช่น ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงธนบุรี ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ถ้าเราไปดูในที่อื่นๆ ไม่มีใครเขาแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ในความหมายแบบนี้

พูดง่ายๆ ก็คือการเขียนประวัติศาสตร์ในช่วงแรกเป็นการเขียนประวัติศาสตร์การเมือง ที่ตั้งของราชธานี เรื่องของราชวงศ์ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นหลักที่สำคัญ

ช่วงไหนที่การเขียนประวัติศาสตร์เริ่มเล่าเรื่องราวนอกขอบเขตของการเมืองหรือราชวงศ์

อันที่จริงมีงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ฉีกแนวออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกระแสความคิดของสังคมนิยมหรือแนวความคิดของฝ่ายซ้ายเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของปัญญาชน ในกลุ่มของนิสิตนักศึกษา เราเริ่มเห็นความทะเยอทะยานที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบสังคมนิยม เช่น งานของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แต่อย่างที่เรารู้กัน งานแบบของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะเป็นงานซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษา ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวการศึกษาที่เหมาะสม ไม่เพียงแค่นั้น ยังถูกขจัด ถูกเผา ถูกประกาศให้เป็นงานต้องห้าม

ในช่วงทศวรรษ 2500 เราจะเห็นการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะมีคนอย่างอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ขจร สุขพานิช ที่เขียนงานประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีคำถาม มีข้อเสนอใหม่ๆ เมื่อเราพูดถึงนักวิชาการที่เติบโตขึ้นมาในยุค 2500 เราก็คงลืมคนอย่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้ อาจารย์นิธิก็เป็นคนซึ่งเติบโตขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 2500 ในตอนนี้เองที่ผมคิดว่าการศึกษาประวัติศาสตร์มีความน่าตื่นเต้น มีความน่าสนใจ และเริ่มหลุดออกไปจากประเด็นของประวัติศาสตร์ทางการเมือง

แม้งานจำนวนหนึ่งยังสนใจประวัติศาสตร์การเมือง แต่ก็เป็นการสนใจประวัติศาสตร์การเมืองในคำถามที่เปลี่ยนไป แตกต่างออกไป ยิ่งมาถึงยุคหลัง 14 ตุลาฯ ยิ่งชัดเจน เราจะพบว่าประวัติศาสตร์การเมืองยังคงสำคัญ ยังคงโดดเด่น เราเริ่มจะมองเห็นประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับเรื่องราวของท้องถิ่นนอกเหนือไปจากศูนย์กลาง อย่างราชสำนักที่อยุธยา หรือราชสำนักที่กรุงเทพฯ เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน ประวัติศาสตร์ภูมิภาค ประเด็นเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคุณูปการของกลุ่มการศึกษาที่เน้นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองในช่วงเวลานั้น ความสนใจในมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองมีส่วนอย่างยิ่งในการเปิดประตูไปสู่เรื่องชุมชน เรื่องหมู่บ้าน เรื่องของท้องถิ่นมากขึ้น

การเขียนประวัติศาสตร์หลัง 14 ตุลาฯ เป็นอย่างไร

ด้วยคุณูปการของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่นำไปสู่การให้ความสนใจในเรื่องท้องถิ่นเพื่อพยายามเข้ามาสร้างสมดุลความเข้าใจหรือการรับรู้เกี่ยวกับอดีตของเรา แม้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งสัมพันธ์กับการขยายตัวของการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ มีการตั้งวิทยาลัยครู ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นราชภัฏเกือบจะทุกจังหวัดในประเทศไทย ก็ได้นำไปสู่ความสนใจเรื่องราวท้องถิ่นตนเองของอาจารย์ที่สอนทางด้านประวัติศาสตร์ตามสถาบันราชภัฏ มีความพยายามที่จะตั้งศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นมา ทำหน้าที่ศึกษาเรื่องของท้องถิ่น ไม่เฉพาะในทางประวัติศาสตร์ แต่รวมไปถึงเรื่องภาษา วรรณคดี วรรณกรรม และวัฒนธรรมประเพณีอื่นๆ ของท้องถิ่น

ข้อเท็จจริงที่ผมพบและคิดว่าน่าตกใจก็คือ ในขณะที่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้รับการผลักดันจากกระแสฝ่ายซ้ายหลัง 14 ตุลาฯ แต่งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เผยแพร่ออกมาในตอนนั้น ส่วนใหญ่มักโยงท้องถิ่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ในแง่หนึ่งจึงเหมือนตลกร้าย แทนที่เรื่องท้องถิ่นจะแสดงให้เห็นถึงตัวตนของตนเอง อดีตของตนเอง แม้แต่อดีตซึ่งเคยต่อต้าน หรือเคยเป็นปฏิปักษ์ เป็นคนละฝ่ายกับส่วนกลางราชธานี กลับกลายเป็นว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้พยายามที่จะ justify พยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้เห็นว่าท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกร้าย

อันที่จริงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นน่าจะเป็นกลไก หรือเป็นเครื่องมือในการที่จะยืนยันตัวตนของท้องถิ่นนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นกบฏหรือแยกตัวออกจากส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นก็ควรมีอะไรบางอย่างที่เป็นของตนเอง เรื่องราวในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหลายเมืองหลายจังหวัดกลายเป็นการจงรักภักดี การดำรงอยู่ของตนเองคือความสัมพันธ์กับรัฐส่วนกลาง

ผมคิดว่าการเติบโตของการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งราชภัฏและมหาวิทยาลัยของรัฐที่ตั้งขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 2520-2530 มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ เกิดการขยายตัวแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

จนมาถึงทศวรรษ 2520 ไม่เพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แพร่หลายและได้รับความนิยม ยังรวมไปถึงการเกิดขึ้นมาของประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความคิด งานของอาจารย์นิธิก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมทั้งงานของนิสิตที่ศึกษากับอาจารย์นิธิหลายต่อหลายคนในเวลาต่อมาก็กลายมาเป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ก็จะให้ความสนใจกับประเด็นในเรื่องของภูมิปัญญา ความคิด อุดมการณ์ ซึ่งเป็นงานที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 2520

ในเวลาต่อมา ผมคิดว่าการเติบโตหรือขยายตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ มีส่วนหนึ่งที่เปิดโอกาสให้กับอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ รวมทั้งเข้าถึงงานจากต่างประเทศมากขึ้น ช่วงหลัง 2520 อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถที่จะเข้าถึงงานเขียนของนักประวัติศาสตร์จากต่างประเทศมากขึ้น ทั้งงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง หรืองานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของตะวันตก ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ผมคิดว่าการเปิดเข้าไปสู่งานตรงนี้ ทำให้นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ เกิดประเด็นคำถาม เกิดฐานความรู้ในการที่จะกลับเข้ามาตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย

แน่นอน อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นคนรุ่น 6 ตุลาฯ ในเวลาต่อมาอาจารย์ธงชัยก็ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย เป็นช่วงเวลาที่แนวคิด postmodern แนวคิด postcolonial งานของเฮย์เดน ไวท์ (Hayden White) หรือ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) เริ่มจะมีอิทธิพลต่อวงวิชาการในโลกตะวันตก อันนี้ก็เป็นส่วนซึ่งอาจารย์ธงชัยรับเข้ามา

นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยสนใจเรื่องอะไร

ในช่วงหลังๆ ผมคิดว่ากระแสที่ค่อนข้างจะฮิตมากก็คือ สิ่งที่เรียกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ทางด้าน emotion คือการศึกษาในเร์่องอารมณ์ ความรู้สึก หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ รวมทั้งเรื่องของ trauma บาดแผล ความเจ็บปวด นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ที่ศึกษาเรื่อง psychoanalysis หรือ neuroscience เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เขาก็จะตั้งคำถามใหม่ๆ ในทางประวัติศาสตร์

จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งเมื่อสัก 50 ปีก่อน นักเรียนประวัติศาสตร์ที่คุ้นเคยกับเรื่องการเมืองหรือเรื่องของเศรษฐกิจ ก็ย้ายมาสู่พื้นที่ใหม่ๆ จนถึงทุกวันนี้การศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรา รวมทั้งที่ปรากฏเป็นหนังสือทางประวัติศาสตร์ที่ตีพิมพ์กันขึ้นมา ทำให้เราอาจจะพูดได้ว่า เราอยู่ในระนาบเดียวกับสากล ไม่ได้คับแคบ

แต่เมื่อพูดไปอย่างนั้นแล้วก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลง การเติบโต หรือการขยายตัวในลักษณะนี้ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่มีการศึกษา หรือกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงความรู้ได้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงสมาทานความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่คุ้นเคย หรือเคยถูกบังคับให้รับรู้

งานเขียนของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล มีลักษณะพิเศษอย่างไรในมุมมองของอาจารย์ฉลอง

ลักษณะหรือคุณสมบัติที่นักประวัติศาสตร์หรือนักเรียนประวัติศาสตร์ทุกคนจะต้องมีก็คือ ความพยายามที่จะต้องท้าทายการรับรู้แต่เดิมที่เราเคยมีมา…ท้าทาย ไม่เชื่อ พยายามที่จะพลิกวิธีตอบ หรือพลิกหาคำตอบที่แตกต่างออกไป ในขณะเดียวกันไม่เพียงแต่แตกต่างอย่างเดียว แต่ลุ่มลึก และน่าคล้อยตาม

ผมคิดว่างานทั้งหมดของอาจารย์ธงชัย คือการตั้งคำถามใหม่กับการรับรู้ประวัติศาสตร์ที่เราเคยมีมา ใช้พื้นฐานทางทฤษฎี ใช้ประสบการณ์ทางวิชาการ จากการอ่าน จากการเข้าใจการศึกษาในที่อื่นๆ แล้วกลับเข้ามาทำความเข้าใจ หรือเพื่อที่จะแสวงหาคำตอบที่น่าจะใช่มากกว่าที่เราเคยรับรู้

ผมคิดว่าการศึกษาเกี่ยวกับพระมหาธรรมราชา (ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย กรณีพระมหาธรรมราชา) น่าจะเป็นงานชิ้นแรกๆ ของอาจารย์ธงชัยที่เป็นการพลิกหาคำอธิบาย เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยแบบกระแสหลักได้อธิบายหลายสิ่งในลักษณะผิดฝาผิดตัว ตั้งแต่คำว่า ‘ทรยศต่อชาติ’ หรืออะไรต่อมิอะไร มันไม่มีคำว่าทรยศเกี่ยวกับเรื่องของระบบการเมือง ระหว่างระบบการเมืองแบบจารีตกับสมัยใหม่ เป็นต้น

ผมคิดว่านี่เป็นลักษณะที่เราเห็นได้ชัดจากงานของอาจารย์ธงชัย ผมคิดว่านี่เป็นคุณลักษณะที่นักเรียนประวัติศาสตร์ทุกคนพึงมี คือเริ่มต้นด้วยการบอกว่า “กูไม่เชื่อมึง” แล้วก็พยายามที่จะหาคำอธิบาย ทำให้ข้อถกเถียงดูน่าเชื่อ น่าคล้อยตาม

สำหรับอาจารย์ฉลอง ประวัติศาสตร์คืออะไร

ในด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์คือความทรงจำของคนคนหนึ่งที่มีต่ออดีต เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็สามารถมีประวัติศาสตร์หรือความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตตามแบบของเราได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว คนมักไม่ใช้อำนาจตรงนี้ของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงมีใครบางคนทำหน้าที่คิดแทน แล้วก็สร้างความทรงจำนี้ขึ้นมา กลายมาเป็นความทรงจำร่วมของคนส่วนใหญ่ ตรงนี้ที่ผมคิดว่าอันตราย เพราะมันคือการผูกขาด

เวลาที่เราพูดถึงประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือว่า… เหมือนกับคำถามที่คุณให้ผมมา ที่เป็นโควทของจูเลียน บานส์

จูเลียน บานส์ เขียนข้อความหนึ่งในนิยายเรื่อง The Sense of an Ending ว่า “ประวัติศาสตร์ คือ ความแน่นอนที่ถูกผลิตขึ้น ณ จุดที่ความไม่สมบูรณ์แบบของความทรงจำมาพบกับความไม่เพียงพอของเอกสารหลักฐาน”

ผมคิดว่าใช่เลย เพียงแต่ผมคิดว่า ความรู้ทุกอย่างไม่ใช่เฉพาะประวัติศาสตร์ เราพูดถึงเฉพาะ quotations นี้นะ ไม่ได้พูดถึงบริบทของ quotations นี้ในนิยายของจูเลียน บานส์ ซึ่งผมก็คิดว่ามันเป็นอีกแบบหนึ่ง มีความลุ่มลึก ซับซ้อนมากกว่านี้เยอะ แต่ในความเข้าใจของผม ความรู้ทุกอย่างก็คือความแน่นอนที่เกิดขึ้นจากความไม่เพียงพอของข้อเท็จจริง จากความกระท่อนกระแท่นของความทรงจำ

ฉะนั้นเราจึงเห็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา วันหนึ่งเราถูกสอนว่า ในทางเคมีมีธาตุอยู่ทั้งหมดเท่านี้ แต่อีกไม่นานต่อมาก็มีค้นพบใหม่ ดังนั้นความรู้วิทยาศาสตร์ไม่ได้ต่างอะไรกับประวัติศาสตร์ เพียงแต่ผมคิดว่าความกระท่อนกระแท่นของความรู้ในสาขาอื่นๆ ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับในกรณีของประวัติศาสตร์

ผมคิดว่าความน่ากลัวของประวัติศาสตร์ก็คือ… เราต่างคิดว่าเราต้องมีความรู้เกี่ยวกับอดีตที่เราเข้าใจว่ามันคือประวัติศาสตร์ชุดหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนแต่ละคนสามารถสร้างความทรงจำได้ ผมอาจจะไม่สนใจเลยว่า คนไทยมาจากไหน แต่ผมสนใจเรื่องปู่ย่าตาทวดของผม ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญกับตัวผม ผมสามารถสร้างความรู้ตรงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ของผมเองได้

คนทั่วไปรู้ว่าประวัติศาสตร์สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ยินยอมที่จะปล่อยให้คนอื่นมาสร้างความรู้ตรงนั้น แล้วปล่อยให้ความรู้นั้นกดทับลงมา ทุกคนต้องเชื่อตามนั้น ผมคิดว่าเวลาเราบอกว่าวิชาประวัติศาสตร์สำคัญ มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ว่า สอนให้เรารู้ว่า โดยเนื้อแท้ของประวัติศาสตร์แล้ว มันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเหมือน quotations ของจูเลียน บานส์ ทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากความไม่สมบูรณ์ ขึ้นกับว่าคุณกำลังมีอุดมการณ์แบบไหน แล้วคุณก็จับมันใส่ลงไป ตรงนี้เป็นความน่ากลัวของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ สิ่งที่เป็นพันธกิจของประวัติศาสตร์ก็คือการทำลายตรงนี้ การที่จะบอกทุกคนว่า กูต้องอธิบายใหม่ด้วยหลักฐานเท่าที่มีอยู่ หรืออะไรต่ออะไรก็ว่ากันใหม่

อาจารย์ธงชัยเคยกล่าวถึงอาจารย์ฉลองไว้ว่า “บุคลิกของอาจารย์ฉลองเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นตลกกับเรื่องซีเรียส ชอบแหย่ ท้าทายทีเล่นทีจริง อาจารย์ฉลองรักษาความเป็นปัจเจกชนอิสระที่ล้อเล่นกับจารีตอย่างคงเส้นคงวา และด้วยความสามารถที่คนต้องเคารพ” สิ่งที่อาจารย์ธงชัยพูด อาจารย์ฉลองเห็นด้วยหรือไม่ และอยากให้อาจารย์ช่วยกล่าวถึงอาจารย์ธงชัยกลับ

ในส่วนที่อาจารย์ธงชัยกล่าวถึงผม ผมไม่ควรจะต้องมี respond กลับ แต่ก็คิดว่าใช่นะ คิดว่าอาจารย์ธงชัยคงมองไม่ผิด เพราะอาจารย์ธงชัยกับผมก็รู้จักกันมาหลายสิบปี ผมก็คิดว่าผมคงเป็นคนแบบนั้นจริงๆ ก็คือไม่เอาอะไรจริงจัง เอาสนุกไปวันๆ

ถ้าพูดกันอย่างซีเรียส ผมอยากคิดว่า ลึกๆ ลงไปแล้ว ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของ anarchism เรื่องของอนาธิปัตย์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ผมอยากเป็น anarchist แต่ anarchist ในความหมายที่ไม่ใช่การใช้กำลังรุนแรง แต่ anarchist ในความหมายที่ปฏิเสธอำนาจ ปฏิเสธรัฐ ปฏิเสธอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นกฎระเบียบ คือถ้ามึงมีกฎระเบียบมา กูก็พยายามที่จะไม่ทำตามกฎระเบียบที่ให้มา อาจจะโชคดีที่ผมก็เอาตัวรอดแบบนี้มาได้โดยตลอด แต่อย่างที่บอก ผมไม่ใช่ anarchist ที่นิยมความรุนแรง และในขณะเดียวกัน ผมก็มีบุคลิกหมาป่าเดียวดาย คืออยู่ของผมคนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร ถ้าผมจะต่อต้านอะไรบางอย่าง ผมก็จะทำของผมเองเงียบๆ และในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ชอบเล่นตลก ใช่ไหม เหมือนคำของอาจารย์ธงชัย?

ล้อเล่นกับจารีต

ล้อเล่นกับจารีต ผมมีเงื่อนไขทางครอบครัวบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถที่จะออกไปเต้นแร้งเต้นกาได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการเล่นตลก ในแง่หนึ่งมันคือวิธีการที่เราจะต่อต้าน หรือวิธีการที่เราจะประท้วง ในทางหนึ่งคุณไม่ comfort กับอำนาจหรืออะไรได้โดยตรง ในเมื่อคุณเองก็ไม่มีอำนาจอยู่ในมือ วิธีที่คุณจะต่อต้านหรือประท้วง ก็คือการทำให้มันเป็นเรื่องตลก เพื่อที่จะลดทอนคุณค่าหรืออะไรก็ว่ากันไป

แต่ในส่วนที่ไม่ต้องไปเชื่ออาจารย์ธงชัย ก็คือที่บอกว่าทุกคนต้องเคารพผม อันนั้นผมไม่เห็นด้วย นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องอะไรที่เราต้องเคารพกัน ไม่เห็นจะน่าเคารพตรงไหน

ในส่วนความเห็นของผมเกี่ยวกับอาจารย์ธงชัย ผมคิดว่าอาจารย์ธงชัยมีความแน่วแน่ มั่นคงในจุดยืน อาจารย์ไม่เหมือนผม ผมเป็นคนไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย อาจารย์ธงชัยมีประสบการณ์โดยตรงคือความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่อาจารย์อยู่ตรงนั้น ฉะนั้นก็เป็นเหตุผลที่ดีที่อาจารย์ต้องกัดไม่ปล่อย หรือ commit กับตรงนั้น ในแง่หนึ่งประสบการณ์ตรงนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์ธงชัยคิดว่าสังคมไทยยังมีบาดแผล มีช่องโหว่ มีความชั่วร้ายอีกเยอะแยะที่จะต้องแก้ไข และอีกเยอะแยะที่จะต้องทำให้ดีขึ้น

อาจารย์ฉลองเคยเขียนว่า ‘ใช้ชีวิตแบบไร้สาระ’ มันมีความลึกซึ้งเชิงปรัชญาอะไรซ่อนอยู่ในประโยคนี้ไหมครับ

ความหมายของสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ไร้สาระ’ ความจริงมันก็น่าจะชัดเจนอยู่ในตอนที่ผมเขียน ในบทที่ผมเขียนเรื่องไร้สาระ ก็คือ ผมไม่มีเป้าหมายที่ fix เอาไว้ว่าในชีวิตผมจะต้องก้าวไปถึงตรงไหน นี่คือความหมายของคำว่า ไร้สาระ ก็คือการใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ มีอะไรเข้ามาก็ respond กับมัน

ผมไม่เคยคิดจะมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ด้วยซ้ำไป ช่วงก่อนเรียนจบก็เตรียมหางานที่จะทำเพื่อหนีทหาร…ชีวิตผม ต้องสอนหนังสืออย่างเดียวจึงจะหนีทหารได้ ก็อยากไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อที่จะหนีทหารด้วย เพราะถ้าอยู่กรุงเทพฯ ผมก็ต้องอยู่บ้านพ่อแม่ แล้วผมก็จะต้องถูกความเป็นครอบครัวคนจีน ความคาดหวัง อะไรต่ออะไรแบบนั้นกดดัน นี่คือความหมายของคำว่า ไร้สาระ คือไม่ได้มีเป้าหมายทิศทาง ไม่ได้มีอะไรจะชัดเจน

เหตุผลหลักๆ คือหนีทหาร?

ใช่ ผมเคยเรียน รด. ตอนอยู่เตรียมฯ ก็เรียน รด. ปีหนึ่ง ปีสอง แล้วมาเรียนปีสามต่อที่จุฬาฯ แต่การเรียน รด. ที่จุฬาในตอนนั้นมันไม่เหมือนตอนนี้ คือเรียนเฉพาะวันเสาร์ครึ่งวัน เพราะฉะนั้นเรียนทั้งหมดกี่อาทิตย์ล่ะ…ปกติมันเรียน 10 วัน เมื่อก่อนนะ ตอนอยู่เตรียมฯ เรียน 10 วัน ติดต่อกันเลยตอนปิดเทอม ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทีนี้พอเข้ามาจุฬา ที่ รด. เขากำหนดก็คือ เรียนเฉพาะวันเสาร์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียน 10 เสาร์

การเรียน รด. คุณต้องตัดผมเกรียน ตอนนั้นเราก็เป็นวัยรุ่น ผมก็ไม่ยอมตัดผม ออกไปจากเตรียมฯ แล้วคุณมาอยู่จุฬาฯ คุณต้องไว้ผมยาว ถ้าคุณสอน 10 วันรวดเดียวตอนปิดเทอม ผมก็จะยอมตัดให้คุณ แต่คุณเล่นเรียนเฉพาะวันเสาร์ ผมก็ต้องตัดผมให้สั้นตลอด 2 เดือน…ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งก็เลยโดนไล่ออกจาก รด. นายสิบที่สอน รด. เขาก็บอกไม่ต้องเข้า ถ้าไม่ตัดผม จับวิดพื้น ลงโทษ เราก็ไม่เข้า…เลิก ก็เลยถูกไล่ออกจาก รด.

พอถูกไล่ออกจาก รด. ถ้าจบปริญญาตรีทันที รับราชการก็ยังไม่ได้ ทำงานก็ยังไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ปลดทหาร เพราะฉะนั้นวิธีที่เราจะยื้อต่อก็คือ เรียนโท แต่อันที่จริงตอนที่ผมใกล้จะจบตรี ผมสมัครไปสอน สมัยโน้นการสอนระดับมหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีก็ยังรับเป็นอาจารย์ได้ แต่ไม่มีที่ไหนรับผม คือก็ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร เขาก็ไม่ตอบ ไม่รับ ทั้งที่ก็รู้จักกันนะ เป็นรุ่นพี่ เป็นคนที่เราเคยรู้จัก เขาก็ไม่รับ พอไม่รับผมก็เลยต้องเรียนโทต่อ เพื่อที่จะ defer การเกณฑ์ทหารออก

เมื่อมาเป็นอาจารย์ ก็ไม่ต้องเกณฑ์แล้ว เขาจะยกเว้นให้กับคนที่เป็นอาจารย์ ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

บทสัมภาษณ์ชุด ‘ธงชัย วินิจจะกูล ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17’ นี้ประกอบด้วยการสนทนากับ 1. ยุกติ มุกดาวิจิตร 2. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ 3. พวงทอง ภวัครพันธุ์ 4. ธนาพล ลิ่มอภิชาต เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 หัวข้อ นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เริ่มลงทะเบียนเวลา 12.30 น.

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า