ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทนำ: ผมขอละเมิดคำเตือนของเพื่อน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

– 1 –

คงไม่มีใครแย้งอีกต่อไปแล้วว่า ระบบการศึกษาไทยอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ

อันที่จริงมีผู้เห็นวิกฤตนี้และร้องต่อสังคมมาเป็นเวลานานแล้ว การถกเถียงว่าวิกฤตขนาดไหน เพราะอะไร และจะแก้อย่างไรก็มีมาตลอดหลายสิบปี ล่าสุดผลการสอบ PISA ก็ยืนยันอีกครั้ง

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมจากที่ผู้รู้จำนวนมากได้กล่าวไว้แล้วเพียงประการเดียว คือในกรณีคะแนน ‘การอ่าน’ ย่ำแย่นั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อสอบ แต่ผลสอบ PISA สะท้อนทักษะความสามารถ reading comprehension ของนักเรียนไทยตามที่เป็นอยู่โดยทั่วไป เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผมมีประสบการณ์โดยตรงกับนักข่าว นักศึกษา ป.ตรี และหลัง ป.ตรี ของไทยจำนวนไม่น้อยที่เห็นได้ชัดว่าทักษะ reading และ listening comprehension เป็นปัญหาน่าวิตก ผมเชื่อว่าเพื่อนอาจารย์จำนานมากมีประสบการณ์ทำนองเดียวกัน

ทักษะนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของความสามารถที่จะคิด การคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ และคิดอย่างมีจินตนาการ

ทักษะ reading comprehension เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพื้นฐานในระบบการศึกษาของทุกสังคม ควรฝึกฝนตั้งแต่ระดับประถมตลอดจนถึงมัธยมในวิชาภาษา (เช่น ภาษาไทย วรรณคดี การสื่อสาร เป็นต้น) การปรับปรุงวิชาสังคมศึกษา รวมทั้งประวัติศาสตร์ ไม่มีทางเป็นไปได้ด้วยการปรับหลักสูตรวิธีการสอนสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์อย่างโดดๆ แต่ไม่เปลี่ยนการเรียนการสอนภาษาและวรรณคดีไปด้วย เราไม่ค่อยเฉลียวใจว่า วิชาภาษาควรเป็นเครื่องมือฝึกฝนทักษะความสามารถ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ และการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ

เช่นนี้แล้ว ถึงเวลาทบทวนยกเครื่องการเรียนภาษาและวรรณคดีไทยหรือยัง หากต้องการให้คะแนน PISA เพิ่ม ต้องยกระดับคุณภาพการเรียนภาษาและสังคมศึกษา ต้องไม่ใช่เพียงหาทางฝึกฝนเอาชนะข้อสอบ PISA

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความเห็นจากคนในแวดวงการศึกษาคนหนึ่ง ผมไม่มีความรู้เข้าใจการจัดการศึกษาก่อนปริญญาตรี เนื่องจากผมคุ้นเคยกับอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยมากกว่า ซึ่งผมก็เห็นว่าอยู่ในวิกฤตเช่นกัน

– 2 –

มีผู้กล่าวถึงวิกฤตมหาวิทยาลัยมาพอควรแล้วเช่นกัน แต่ดูเหมือนไม่มีผลให้ผู้มีอำนาจผู้บริหารอุดมศึกษาสนใจแต่อย่างใด ผมจึงเชื่อว่ารัฐบาลไม่เห็นวิกฤตของมหาวิทยาลัยและอุดมศึกษาไทย ก็ในเมื่อเขาไม่เห็นวิกฤตของระบบการศึกษาระดับสามัญ ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตยิ่งกว่าอุดมศึกษาเสียอีก แล้วเขาจะเห็นวิกฤตของอุดมศึกษาได้อย่างไร

ผู้มีอำนาจไม่ว่ารัฐบาลไหน มาจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหารก็ตาม ล้วนไม่เข้าใจอุดมศึกษาสักเท่าไร มีเพียงรัฐมนตรี (บางคน) และผู้บริหารบางคนในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เท่านั้นที่พอเข้าใจหน่อย (แต่จะมากแค่ไหน น่าสงสัยอยู่) ส่วนผู้มีอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษา ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจมหาวิทยาลัยเพียงแค่เป็นกลไกผลิตบัณฑิตออกมาป้อนตลาดงานที่ก่อผลทางเศรษฐกิจ เขาคงหมายถึงวิชาชีพระดับสูงมาก เช่น แพทย์ วิศวะคอมพิวเตอร์ และวิชาชีพระดับรองลงมา รวมถึงวิชาชีพทางสังคม เช่น นิติศาสตร์ บัญชี บริหารธุรกิจ เป็นต้น

ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่เห็นความสัมพันธ์ของวิชาชีพเหล่านั้นกับความรู้ที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์และศิลปะที่ไม่เกี่ยวพันกับวิชาชีพโดยตรง เขาไม่เคยเข้าใจว่าอันที่จริงวิชาประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญา เป็นพื้นฐานของวิชาชีพทางกฎหมาย เพราะเราเรียนนิติศาสตร์แบบเน้นแต่เทคนิคทางกฎหมาย ไม่ผูกโยงกับฐานความรู้ความคิดทางสังคมหรือมนุษย์สักเท่าไร เป็นต้น

เขาเข้าใจว่าความรู้ประวัติศาสตร์สำคัญก็เพราะมันมีประโยชน์ทำให้คนรักชาติ หากเขาเห็นด้วยกับผมว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีไว้สอนให้คนรักชาติ เขาก็คงไม่แคร์วิชาประวัติศาสตร์อีกต่อไปเพราะไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

รัฐไม่เห็นความสำคัญของวิชาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ ว่าจำเป็นต่อการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ รู้จักคิด รู้จักปรับตัว ผมเชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่เข้าใจภารกิจข้อนี้ เพราะเขาแคร์แค่ความรู้ที่เห็นประโยชน์ตรงๆ สร้างอาชีพได้ หรือก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจเห็นกันง่ายๆ ชัดๆ ตรงๆ 

สำหรับพวกเขา มหาวิทยาลัยมีค่าแบบนี้เท่านั้น

มหาวิทยาลัยก็พยายามให้รัฐเข้าใจถึงบทบาทที่กว้างขวางมากกว่าเป็นกลไกผลิตบุคลากรเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมา แต่ดูเหมือนการสื่อสารข้อนี้เราทั้งหลายในวงวิชาการยังทำไม่สำเร็จ สังคมคาดหวังอุดมศึกษาเพียงแค่ผลิตคนให้มีงานทำ และผลิตมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในแง่หนึ่งก็เพราะความอ่อนแอของวิชาการที่ไม่ใช่วิชาชีพหรือไม่ใช่ความรู้ประยุกต์เหล่านั้น (ในประเทศไทย) ที่อ่อนแอกว่าโดยเปรียบเทียบกับวิชาชีพและวิชาเชิงประยุกต์ทั้งหลาย (ผมจะอธิบายต่อไปว่าภาวะเช่นนี้เป็นมรดกมาตั้งแต่อุดมศึกษาไทยที่เป็นแบบอาณานิคมมาแต่แรกเริ่ม ต่างกับอุดมศึกษาในประเทศพัฒนาซึ่งมีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและมนุษย์ศาสตร์)

(ประชด) น่าคิดว่า อว. และมหาวิทยาลัยจะกังวลกับการไต่แรงก์กิง (ranking) ทำไม ในเมื่อการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติต้องการงานวิจัยในระดับความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ที่มีคุณภาพ แต่รัฐต้องการเน้นความรู้เทคนิคระดับสูง ถ้าเช่นนั้นก็กำหนดให้ภารกิจของอุดมศึกษาไทยเป็นไปเพื่อวิชาชีพเสียเลย

– 3 –

ข้อเขียน 10 ตอนที่ผมขอเสนอ (หลังจากบทนำชิ้นนี้) เป็นความพยายามอีกครั้งที่จะอธิบายปัญหาสำคัญๆ หลายประเด็นอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน พร้อมเสนอทางออกในเชิงหลักการ และแนวทางต่อปัญหาเหล่านั้น

ในตอนต่อๆ ไป ผมจะเริ่มจากความหมกมุ่นกับแรงก์กิงหรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะล้มเหลวแล้วยังก่อปัญหาเกี่ยวเนื่องด้วย ความล้มเหลวมาจากมาตรการและเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผล ทำในสิ่งไม่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่น่าจะทำ ผมจะลองอธิบายถึงที่มาของมาตรการก่อปัญหาเหล่านั้น และจะลองเสนอความเห็นว่าควรพัฒนาอะไรอย่างไร เพื่อให้นักวิชาการของไทยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ แนวทางอย่างไรจึงจะช่วยให้วิชาการไทยมีบทบาทในวิชาการสากลได้ โดยเฉพาะต้องมีระบบสนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ปัจจัยสำคัญที่จำเป็นคือ ระบบการบริหารงานวิชาการที่ดี ไม่ใช่การ ‘ออกนอกระบบ’ แบบเพี้ยนๆ อย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นเพียงคำเรียกสวยหรู (euphemism) ของการได้สัมปทานอำนาจมาจากรัฐแค่นั้นเอง

ในตอนท้าย จะเสนอความเห็นว่าวัตถุประสงค์แฝง แต่อาจจะเป็นสาระที่แท้จริงของการพยายามไต่แรงก์กิง ก็คือเพื่อค้ำจุนระบบและสถาบันแบบอำนาจนิยมของไทย การไต่อันดับตามมาตรฐานสากลอาจจะเป็นเพียงความปรารถนาที่กลับก่อให้เกิดผลภายในระบบอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยของไทยเองมากกว่า นั่นคือเป็นเทคโนโลยีของอำนาจแบบใหม่ เพื่อควบคุมนักวิชาการและบทบาทของมหาวิทยาลัย

– 4 –

ต้องขอออกตัวว่า ผมไม่มีความรู้พอเกี่ยวกับวิชาการและการจัดการในสายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและประยุกต์ ความเห็นที่จะกล่าวต่อไปจึงเป็นมุมมองจากด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์เป็นหลัก แม้ว่าอาจจะสะท้อนสภาพคล้ายกันบางอย่างในสายวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ผมไม่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยไหน แต่ผมมีโอกาสทำงานในมหาวิทยาลัยที่มีการบริหารจัดการทางวิชาการอย่างสมเหตุสมผลกว่ามหาวิทยาลัยในไทยมาก อันดับแรงก์กิงก็ไม่เลวนักซึ่งสะท้อนคุณภาพที่ดีพอควร  แม้จะเป็นเพียงอาจารย์คนหนึ่งและเป็นผู้บริหารระดับเล็กๆ แค่เป็นครั้งคราวก็ตาม ผมเชื่อว่าประสบการณ์กว่า 30 ปีที่นั่น ช่วยให้ผมพอเข้าใจการทำงานของมหาวิทยาลัยดีๆ อยู่บ้าง

ผมยังมีโอกาสเป็นผู้ประเมินคุณภาพทางวิชาการของคณะและสถาบันหลายแห่งในอเมริกา รวมทั้งของ Faculty of Arts & Social Science (FASS), National University of Singapore (NUS) ในช่วงสิบปีแรกที่เขากำลังเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอีกด้วย จึงได้รับรู้ถึงแนวคิด แผนงานรวม และมาตรการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนมหาวิทยาลัยตามแนวทางดังกล่าวซึ่งอุดมศึกษาไทยก็พยายามทำ

นอกจากนี้ผมเคยเป็นประธานของสมาคมวิชาการด้านเอเชียศึกษาของสหรัฐอเมริกา 1 ปี และเป็นกรรมการบริหารของสมาคมอีก 4 ปี จึงพอรับรู้ความเป็นไปและปัญหาสารพัดจากความพยายามทำนองเดียวกันของอีกหลายสถาบันในหลายประเทศ

ขอแถมท้ายว่า งานปกติอย่างหนึ่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาคือ ต้องตรวจสอบประเมินต้นฉบับหนังสือเล่มและบทความที่ขอตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ เราทำกันคนละหลายเล่มหลายบทความต่อปี รวมทั้งของวารสารชั้นนำในเครือ Scopus ด้วย ผมยังเป็นบรรณาธิการกลั่นกรองต้นฉบับหนังสือให้แก่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมากกว่า 10 ปี และอยู่ในคณะที่ปรึกษาของกองบรรณาธิการวารสารวิชาการอีกหลายฉบับ ฉบับละหลายปี ผมเชื่อว่าผมรู้มาตรฐานและกระบวนการตีพิมพ์งานวิชาการในโลกภาษาอังกฤษดีพอควร

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมคิดจะเขียนเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยไทยหลงทิศผิดทางมาหลายครั้ง แต่มิตรหลายคนมักเตือนว่าอย่าเสียเวลากับเรื่องที่ผู้มีอำนาจของไทยไม่ฟังเลย ผมขอละเมิดคำเตือนด้วยความหวังดีเหล่านั้นในคราวนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า