ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 7: Engage กับวิชาการโลก และ ลดกำแพงปิดกั้นตัวเอง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ขอนำส่วนหนึ่งที่กล่าวในตอนก่อนมากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง

“ตลอดกระบวนการวิจัย…จะต้องอ่านต้องคิดให้กว้างกว่าโลกภาษาไทย ต้องออกนอกกรอบโลกวิชาการไทย…ยิ่งอ่านกว้างออกไป คิดเปรียบเทียบกับกรณีทำนองเดียวกันของไทยอยู่เรื่อยๆ ทำเช่นนี้มากเข้า ก็จะตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ และอธิบายโดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของโลกวิชาการภาษาไทยไปโดยปริยาย ข้อวิเคราะห์ใดๆ ก็อาจจะใช้ได้กับกรณีเทียบเคียงกันของประเทศอื่นได้ด้วย หากยกระดับต่อไป การวิจัยจากกรณีของไทยอาจถึงกับปรับแก้ มโนทัศน์ (concept) หรือทฤษฎีต้นทางก็เป็นได้ และอาจเป็นมโนทัศน์หรือทฤษฎีที่ผู้อื่นสามารถรับไปประยุกต์ใช้ก็เป็นได้”

ระบบสนับสนุนช่วยเหลือเพื่อให้เกิดสภาวะที่นักวิชาการสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ของไทยสามารถ engage กับวิชาการนอกภาษาไทยเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการมีบรรณาธิการ แต่หมายถึงอะไรบางอย่างเป็นรูปธรรม

คำตอบที่คิดได้ไม่ยากก็คือ โอกาสที่จะแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการระดับโลก ที่ยากขึ้นไปอีกหน่อย แต่น่าจะได้ผลดีกว่าและจำเป็นยิ่งกว่าคือ มีห้องสมุดที่ดี (กว่าปัจจุบัน)

ทุกวันนี้หนังสือวิชาการภาษาต่างประเทศในห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังค่อนข้างจำกัด เป็นเรื่องปกติที่นักวิชาการต้องหาหนังสือที่ต้องการเอาเองด้วยทุนรอนของตัวเอง เราน่าจะต้องสร้างระบบที่ห้องสมุดหลายสถาบันแชร์หนังสือใช้ร่วมกันที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ (โปรดเรียนรู้ได้จากระบบห้องสมุดของญี่ปุ่น)

การเข้าถึงฐานข้อมูลวารสาร (journal databases) และหนังสือต่างๆ ได้จำนวนมากและสะดวกเป็นส่วนสำคัญของห้องสมุดมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน แต่หลายแห่งยังมีฐานข้อมูลวารสารไม่เพียงพอ นักวิชาการต้องพึ่งฐานข้อมูลที่มีผู้ใจบุญปล้นมาแจกจ่าย (pirated databases) แบบตัวใครตัวมัน ทั้งๆ ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือมหาวิทยาลัยไทย น่าจะทุ่มงบประมาณให้กับห้องสมุด และสามารถรวมตัวกันซื้อฐานข้อมูลเหล่านี้ในราคาต่อรองแล้วแบ่งกันใช้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ 

รูปธรรมคงมีอีกหลายอย่างซึ่งต้องช่วยกันคิด แต่ขอยกตัวอย่างรูปธรรมอีกอย่างที่สำคัญ และเรามักมองข้ามกันมาตลอด นั่นคือ การแปลงานวิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย งานเช่นนี้ไม่นับเป็นผลงานเพื่อขอตำแหน่งแทบตลอดมา จนเพิ่งเปลี่ยนเมื่อต้นปี 2566 นี่เอง (แต่หากพิจารณาเกณฑ์วัดคุณภาพของงานแปล กลับน่าสงสัยว่าจะมีสักกี่ชิ้นที่ผ่านเกณฑ์เช่นนั้นได้ นี่เป็นการส่งเสริมหรือเป็นด่านสกัดงานแปลกันแน่ — ดู เอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 หัวข้อ 7.2.5)

เราอาจคิดว่านักวิชาการโดยทั่วไปควรใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนทำได้ดี แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ นักศึกษา ปัญญาชน และผู้ที่สนใจทั่วไปทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ควรมีโอกาสเข้าถึงความรู้ ข้อมูล แนวคิดทางวิชาการจากต่างประเทศด้วย ไม่ใช่จำกัดเพียงผู้ที่ภาษาอังกฤษดีพอเท่านั้น

ประสบการณ์จากญี่ปุ่นที่สามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนการสอนได้ตามปกติตลอดมา แต่คุณภาพของงานวิจัยและวิชาการทัดเทียมกับโลกตะวันตก และสามารถ engage กับวิชาการสากลได้ตลอดมาเช่นกัน ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการแปลงานวิชาการ  เขาเริ่มต้นทุ่มเทกับการแปลผลงานสำคัญๆ ในภาษาอื่นมาตั้งแต่สมัยเมจิหรือ 100 กว่าปีก่อน ทั้งที่การแปลงานวิชาการไม่เคยทำกำไรพอที่จะเป็นธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้เลย  เพราะเขาตระหนักถึงการยกระดับความรู้ทั้งของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ปัญญาชน และคนทั่วไป เพื่อให้ความรู้ในสังคมญี่ปุ่นสามารถ engage กับวิชาการสากลได้

ในขณะที่มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกมักไม่ให้ความสำคัญกับการแปล (เว้นในวิชาภาษาและวรรณคดีภาษาต่างๆ) การแปลทางวิชาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะการแปลเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี (transfer of technology) อย่างหนึ่งของทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์

นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับงานที่สนองจุดประสงค์ทำนองเดียวกัน เช่น การรายงานและ/หรือวิจารณ์หนังสือและความรู้ใหม่ๆ ในภาษาต่างประเทศออกมาเป็นภาษาไทย (literature review) เพื่อช่วยเหลือให้นักศึกษานักวิชาการเข้าถึงความก้าวหน้าของความรู้ในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในโลกภาษาต่างประเทศ

ในวงวิชาการโลกตะวันตก งานทำนองนี้มักถูกถือว่ามีค่าน้อยเพราะไม่ค่อยสำคัญ เพราะการแปลและงานแบบนี้ไม่ใช่การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาษาที่เขาไม่คุ้นเคย แต่สำหรับประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ การแปลและงานแบบนี้มีความสำคัญ เราจึงไม่ควรใช้เกณฑ์เดียวกันกับวิชาการตะวันตก แต่ในปัจจุบันวารสารวิชาการไทยแทบไม่มีบทแนะนำ-วิจารณ์หนังสือเลย ทั้งๆ ที่จำเป็นมากตามเงื่อนไขของเราเอง

มหาวิทยาลัยไทยน่าจะให้คะแนน นับงานแปลทางวิชาการ และการถ่ายทอดความรู้ข้ามภาษาด้วยซ้ำไป แม้ฝรั่งจะไม่ให้ค่างานแบบนี้ก็เถอะ แม้ว่าจะไม่เข้าข่าย Scopus ก็ตาม

ตัวอย่างเหล่านี้คือระบบสนับสนุนเพื่อช่วยให้วิชาการของไทยเข้า engage (พัวพัน ถกเถียง ปะทะ โต้แย้ง ปรับปรุง ต่อยอด) กับวิชาการนอกประเทศไทยได้ ถ้าหากนักวิชาการประจำห้องทดลองเป็นบุคลากรอันจำเป็นสำหรับการสอนและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในทำนองคล้ายกัน ทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ก็ต้องการบรรณาธิการ นักแปล ผู้ทำรีวิว ประมวลทบทวนความก้าวหน้าของความรู้และการศึกษาด้านต่างๆ ประเด็นต่างๆ

แต่ในทางกลับกัน ต้องพยายามลดทอนกำแพงหรืออุปสรรคที่ถ่วงรั้งกีดกันการ engage กับพลวัตของวิทยาการใหม่ๆ ด้วย ในเรื่องนี้คงมีประเด็นให้ถกเถียงกันได้มากมาย ในที่นี้ผมขออภิปรายเพียงเรื่องเดียวที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาในวัฒนธรรมของชุมชนวิชาการไทย ที่กลายเป็นปัญหาเชิงระบบมาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่มีใครพูดถึงมาก่อนเลย

นั่นคือ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (patronage) ในวงวิชาการ ทั้งระหว่างอาจารย์กับศิษย์ รวมถึงที่เป็นเครือข่ายหรือ ‘สกุล’ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อยในชุมชนวิชาการหนึ่งๆ ที่กลายเป็นกำแพงล้อมรอบวิชาการของไทย

การอุปถัมภ์เช่นนี้มักเกิดจากความจำเป็นของบางสาขาความรู้ในระยะหนึ่ง จึงส่งผลบวกในบางบริบท เช่น เมื่อมหาวิทยาลัยและสาขาความรู้นั้นๆ ยังอ่อนแอและมีขนาดเล็ก ยังมีจำนวนนักวิชาการในด้านนั้นน้อยและไม่แน่ว่าจะอนาคตของวิชานั้นๆ จะเป็นอย่างไร การสร้างนักวิชาการรุ่นต่อไป จึงอาศัยการอุปถัมภ์ฟูมฟักปั้นกันขึ้นมาเป็นทางออกหนึ่ง

แต่การอุปถัมภ์เช่นนี้ส่งผลลบต่อพัฒนาการทางวิชาการ และก่อปัญหาหากทำแบบนี้ต่อเนื่องกันนาน กล่าวคือ มักเกิด ‘inbreeding’ ทางปัญญา หมายถึงหลายรุ่นเข้าก็มักจะก่อตัวเป็นกลุ่ม พวก สกุลของความคิดและวิธีวิทยาคล้ายๆ กัน มีอำนาจหรือถึงขนาดครอบงำความรู้ด้านนั้นๆ สาขานั้นๆ และมักไม่สนใจ engage กับวิชาการนอกภาษาไทยซึ่งมีพลวัตไม่หยุดหย่อน ที่มีอาการหนักสักหน่อยก็อาจถึงขนาดกีดกันความรู้ความคิดใหม่ๆ ด้วย ทั้งโดยอคติที่ไม่รู้ตัวและโดยความกลัวจะเสียอำนาจนำในสาขาวิชานั้นๆ การพัฒนาที่ออกนอกกรอบสกุลความคิดนั้นจึงเป็นไปได้ยาก ผลแย่สุดของอาการแบบนี้คือวิชาการที่แข็งตัว (frozen) เพราะก่อกำแพงทางวิชาการทั้งปิดกั้นคนอื่นและปิดบังตัวเอง จนถึงกับกล่าวหาว่าความคิดใหม่ๆ ไม่ใช่วิชาการในสาขานั้นๆ เป็นต้น

นี่เป็นปัญหาที่ทำให้ความรู้แบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) หรือความรู้ผสมสาขา (hybrid knowledge) เกิดยากในวงวิชาการไทย ทั้งๆ ที่การผสมผสานข้ามสาขาและข้ามแขนงความรู้ให้กำเนิดวิทยาการอันน่าตื่นเต้นของวิชาการโลกใน 20 ปีที่ผ่านมา เช่น นาโนเทคโนโลยี เคมีชีววิทยา และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ในแง่การบริหารวิชาการ ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มักจะก่อให้เกิด การเมืองเป็นพิษ (toxic) ในชุมชนวิชาการ เพราะแทนที่จะเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบแนวราบและเป็นประชาธิปไตย กลับเกิดเป็นเครือข่ายของผู้ใหญ่ผู้น้อยในกลุ่มสายสกุลเดียวกัน (ขอให้นึกถึงเครือข่ายของหลวงปู่พระครูคนสำคัญกับสานุศิษย์) พลวัตทางวิชาการภายใต้ระบบอำนาจเช่นนี้จะจำกัด เพราะต้องขึ้นกับเส้นสายของความภักดีและความใกล้ชิดผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อมีอาณาจักรทางปัญญาของตนแล้ว ก็มักจะไม่สนใจพลวัตทางวิชาการ บางกรณีถึงขนาดปิดกั้นความรู้ใหม่ๆ ที่มาวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนวความคิดต่างจากกรอบเดิมๆ

ผมมีข้อสังเกตอีกอย่าง (ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไป) ว่าอาการทำนองนี้พบได้ในสาขาความรู้ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยเริ่มมหาวิทยาลัยแบบอาณานิคมภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น นิติศาสตร์ บริหารรัฐกิจ ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นต้น ในขณะที่สาขาวิชาที่ใหม่กว่าหรือมีบทบาทไม่มากต่อการสร้างรัฐสมัยใหม่ในยุคดังกล่าว ไม่ค่อยมีอาการแช่แข็งทำนองเดียวกัน หรืออาการไม่หนักเท่าไรนัก เช่น เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา เป็นต้น แต่เรื่องนี้คงต้องว่ากันอีกมากในโอกาสอื่น

ตอนต่อไป:  ยกระดับคุณภาพด้วยระบบบริหารการวิจัยที่ดีขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า