ฟังเสียงนักรัฐศาสตร์: โค้งสุดท้ายก่อนถึงทางแยก ประชาชนเกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้งล่วงหน้าจบลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของทุกพื้นที่ ภาพของผู้คนที่อดทนต่อแถวเพื่อใช้สิทธิ ท่ามกลางปัญหาความวุ่นวายในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ที่ถูกเรียกร้องตั้งแต่เช้าจรดเย็น นัยหนึ่งคือเครื่องวัดอุณหภูมิความร้อนแรงทางการเมืองอย่างดีที่สุด

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่ถูกทิ้งช่วงอย่างยาวนานหลังการครองอำนาจของรัฐบาลทหารเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ล้มเหลวเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่สำเร็จเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 นับเป็นระยะเวลา 8 ปีที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 สัปดาห์นี้จึงกลายเป็นสัปดาห์แห่งการเฝ้าคอย และเป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะผลลัพธ์หลังการเลือกตั้งที่อาจเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากที่สุดในประวัติศาสตร์ สืบเนื่องจากอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ได้สร้างกลไกทางอำนาจที่เต็มไปด้วยคำถามอันน่าคลางแคลงใจ

WAY ส่งกองบรรณาธิการคนรุ่นใหม่ New Voter เข้าร่วมเก็บประเด็นในวงเสวนา ‘โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง’ ที่รวบรวมคณาจารย์รัฐศาสตร์สายปกครองที่แหลมคมที่สุดวงหนึ่ง จัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งภายในงานเต็มไปด้วยข้อเสนอ ข้อสังเกตที่หลากหลายถึงการจัดการเลือกตั้ง กลไก เงื่อนไข ตลอดจนกลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งที่จะถึง


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เสนอ 10 ประเด็นสำคัญ ทั้งตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น

1. การเลือกตั้งรอบนี้มีความน่าสนใจตรงที่เป็นการเลือกตั้งที่ห่างหายไปนานมาก รอบล่าสุดที่ไม่สำเร็จคือปี 2557 ส่วนรอบที่สำเร็จคือปี 2554 ถ้าต้องกันพูดตรงๆ การเลือกตั้งรอบนี้เกิดขึ้นภายใต้สังคมเผด็จการ และเป็นเผด็จการที่มีอายุยืนยาวรองจากถนอม-ประภาส แต่ข้อที่แตกต่างจากยุคนั้นและน่าสนใจก็คือ การเลือกตั้งรอบนี้มีการยินยอมพร้อมใจจากคนกลุ่มหนึ่งในการยอมรับเผด็จการ

2. การตั้งคำถามว่า ระบอบที่เรากำลังจะไปเจอหลังจากนี้จะกลายร่างเป็นระบอบอะไร นักวิชาการและสื่อหลายสำนักเสนอว่า ผลการเลือกตั้งรอบนี้จะทำให้เผด็จการอยู่ต่อไปได้ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแต่อย่างใด  ระบบลูกผสมมักไม่ถูกใช้ในคำอธิบายของระบอบเผด็จการ รอบนี้จะไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านและไม่ได้ใช้ระบบลูกผสม แต่ถ้าจะบอกว่า เปลี่ยนผ่าน ก็น่าจะเป็นการแปรสภาพของระบอบเผด็จการเองมากกว่า

3. กฎกติกาของรัฐที่เกิดขึ้นไม่เป็นสากล มีความพยายามในหลายๆ ข้อ ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรมและไม่เสรี อย่างเช่น กรณี สว. 250 ซึ่งไม่แน่ว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะคล้ายกับ ‘พม่าโมเดล’ แค่ไหน

4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเกิดขึ้น ซึ่งผู้แก้อาจไม่ใช่นักการเมือง แต่ถูกแก้ไขโดยระบอบทหารเอง การร่างรัฐธรรมนูญในรอบนี้ มีประเด็นของการไม่ชนะในเขต แต่ได้รับความนิยม พิชญ์มองว่าข้อนี้สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่คณะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดไว้ เพราะแต่เดิมคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้คะแนนไม่มีความหมาย ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่เผด็จการคาดไม่ถึง

5. เกิดคำถามที่มีต่อองค์อิสระมากขึ้น โดยเฉพาะศักยภาพการทำงาน พิชญ์มองว่า ไม่ใช่เพราะ กกต. ถูกตั้งโดย คสช. แต่มีปัญหามาจากการที่ กกต. ไม่มีศักยภาพโดยตัวของตัวเอง

6. พิชญ์เรียกการเลือกตั้งรอบนี้ว่า การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (Contentious Election) ปกติทฤษฎีนี้จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับขบวนการภาคประชาชน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เพราะมีปัญหาตั้งแต่คนจัดเลือกตั้ง คนเลือกตั้ง กระบวนการการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่เลือกตั้งล่วงหน้า มีความรู้สึกมากน้อยแค่ไหนว่าเสียงของตัวเองจะถูกนับอย่างชอบธรรม นี่คือประเด็นเรื่องความชอบธรรมและความคาดหวังของประชาชน

7. การดีเบตในพื้นที่สาธารณะสำคัญ การเลือกตั้งรอบนี้มีสองโลก โลกของดีเบตและสื่อส่วนกลาง อีกโลกหนึ่งคือโลกท้องถิ่น การหาเสียง หัวคะแนนในท้องที่ ซึ่งทั้งสองโลกแยกขาดจากกันชัดเจน

8. พิชญ์ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน คนจะลงคะแนนแบบไหน ด้วยอุดมการณ์ นโยบาย หรือในเชิงยุทธศาสตร์ หรือท้ายที่สุดอาจเป็นการลงคะแนนแบบ emotional vote เพื่อแสดงความไม่พอใจที่มีต่อระบบ

9. New Voter นิสิต นักศึกษา ที่พิชญ์สอน พวกเขาถามพิชญ์ว่า ถ้าการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ชอบธรรม จะเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลา หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่จะนำมาซึ่งความวุ่นวายในอนาคต

10. ประเด็นในการรณรงค์ระยะแรกเป็นเชิงเศรษฐกิจและเชิงนโยบาย แต่โมเมนท์สุดท้ายกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ว่าคุณจะเอาหรือไม่เอาระบอบนี้ 

นี่คือมุมมองจาก พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่วิเคราะห์การเลือกตั้งหนนี้บนฐานของทฤษฎีการเมืองและสถานการณ์จริง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ปรากฏการณ์ First Time Voter

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พยายามศึกษา First Time Voter ที่มีจำนวน 6,426,014 คน (จำนวนตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ) โดยตั้งโจทย์ว่า เสียงของคนรุ่นใหม่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองหรือไม่ และแท้ที่จริงแล้วคนรุ่นใหม่มีนัยสำคัญอะไรกับสังคมหรือไม่ เธอตั้งข้อสังเกตว่า First Time Voter มีความสำคัญในหน้าสื่อ แต่ยังไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง การเมืองยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้จริงๆ กนกรัตน์ยกตัวอย่างพรรคอนาคตใหม่ที่ออกนโยบายเพื่อความสอดคล้องและให้ความสำคัญกับ First Time Voter ซึ่งเป็นเพียงพรรคเดียวที่พยายามจะโอบล้อมเอาคนกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในนโยบาย เธอตั้งคำถามต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้แค่ไหน

อีกด้านหนึ่ง กนกรัตน์ชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองกลุ่มเก่ามีฐานเสียงเดิมอยู่แล้ว นโยบายส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่ฐานมวลชนกลุ่มเดิมของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นปีกประชาธิปไตย หรือปีกตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย อาทิ ฐานมวลชนในกลุ่ม กปปส. พันธมิตร กลุ่มอนุรักษนิยม แต่ยังไม่ปรากฏภาพของการสนับสนุนนโยบายให้เข้ากับ First Time Voter ขณะที่พรรคท้องถิ่นอย่างประชาธิปัตย์ ก็รณรงค์ในกลุ่มคนกรุงเทพฯ และคนใต้เป็นหลัก

เธอบอกว่า ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นความพยายามของพรรคการเมืองในการรุกคืบเข้าไปหา First Time Voter แม้แต่พรรคอนาคตใหม่ที่มีการชูนโยบายหลายๆ อย่าง อย่างสีพรรคที่ใช้สีส้ม แต่กลับไม่ได้ดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่กระบวนการภายในจริงๆ การตัดสินใจหลายๆ อย่างของพรรคก็ไม่ได้นำเอาคนกลุ่มนี้เข้าไปมีส่วนร่วม

กนกรัตน์มองว่า ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงๆ เริ่มจากกีฬาฟุตบอลประเพณี เกิดปรากฏการณ์ #ฟ้ารักพ่อ เกิดโพลล์ที่คนรุ่นใหม่ขัดกันกับโพลล์ใหญ่ๆ อย่างสามย่านโพลล์ ซึ่งสะท้อนความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างไปจากความต้องการของคนทั้งประเทศ

กนกรัตน์อธิบายถึงปรากฏการณ์ ความแตกต่าง และความต้องการของคนกลุ่มนี้ ด้วยเรื่องของประชากร คนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Baby Boomer GenX GenY GenZ ก็ไม่ได้มีจำนวนน้อยไปกว่า First Time Voter เลย คำถามคือทำไม First Time Voter ถึงได้มีความต้องการที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ มีผลการศึกษาในตะวันตกที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า แต่ละช่วงของวัยนั้นค่อนข้างมีช่องว่างโดยเฉพาะทัศนคติทางการเมือง มักมีช่องว่างที่ห่างกันอย่างชัดเจน ฉะนั้นสรุปได้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก คนรุ่นใหม่ค่อนข้างจะเสรีนิยมมากกว่า

ลักษณะที่ค่อนข้างจะเสรีนิยมกว่าคนกลุ่มอื่น มีสาเหตุมาจาก การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ทำให้ทัศนคติต่างๆ มีช่องว่างที่ห่างกัน ยกตัวอย่าง ประเทศอเมริกามีนิทานเรื่อง ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ เป็นนิทานที่มีแนวคิดเหยียดผิว มีแนวคิดผิวขาวเป็นใหญ่ ขณะที่คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมากับวรรณกรรมอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ แฮร์รี่คือตัวเอกที่เป็นคนชายขอบ ต้องต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง คนอเมริการุ่นใหม่เกิดขึ้นมาบนสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นแบบเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป บริบทของไทยก็ไม่ได้ต่างกัน กนกรัตน์มองว่า พรรคการเมืองควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยดึงคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายมากขึ้น

เธอทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า First Time Voter คิดเสมอว่าพวกเขากำลังจะไม่มีที่ยืนบนโลกนี้ การเกิดขึ้นของคนกลุ่มนี้จึงเป็นการปรากฏตัวของอัตลักษณ์แบบใหม่

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี: วิเคราะห์เจาะลึกทุกคะแนนเสียง

สิริพรรณเริ่มต้นด้วยการแสดงให้เห็นว่า ระบบเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางการเมืองของระเบียบใหม่ (embedded nondemocratic system)

สำหรับ 8 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง สิริพรรณชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนไปคือ การออกแบบระบบเลือกตั้งได้สร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึง เป็นการสั่งสมปัญหาของการรัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การเลือกตั้งทำให้ปัญหาถูกนำเสนอบนพื้นที่สาธารณะ จากที่สังคมถูกทำให้เงียบมายาวนาน พรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพูดแทนคนที่ถูกทำให้เงียบ และ First Time Voter ที่มีมากกว่า 6 ล้านคน หากไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เท่ากับได้ สส. ถึง 100 คน โดยคนกลุ่มนี้อยู่เหนือการควบคุมของกระบวนการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาผ่านการขัดเกลาทางสังคมแบบใหม่มาแล้ว

เลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนว่าประชาชนต้องการพื้นที่ในการแสดงออก นโยบายที่ออกมาเกทับกัน น่าจะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะมีรอยแยกทางการเมืองอยู่ ทั้งรอยแยกราชาชาตินิยม และรอยแยกที่ต้องการความก้าวหน้า

ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าใครจะได้รับชัยชนะ แน่นอนว่า ภาคเหนือยังคงเลือกเพื่อไทย ภาคใต้ยังคงเลือกประชาธิปัตย์ แต่รอบนี้อาจมีความเปลี่ยนแปลงในภาคใต้ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อ สส. บัญชีรายชื่อของประชาธิปัตย์ และการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แม้กระทั่งภาคกลางก็เป็นที่น่าจับตามอง ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย ที่มีโอกาสช่วงชิงพื้นที่กันได้ 

ขณะที่โคราชซึ่งดูเหมือนเป็นฐานที่มั่นของชาติพัฒนา และการหาเสียงแบบ no problem ไม่น่าจะเป็นจุดที่ขายได้ ซึ่งอาจกลายเป็นฐานที่มั่นที่ถูกตีแตกได้ สส. เจ้าของพื้นที่เดิมนั้นยังคงสำคัญอยู่ แม้ว่าจะย้ายพรรคก็ตาม แต่หากสามารถซื้อใจคนได้ก็ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอิทธิพลของตัวบุคคลยังมีอยู่

ขณะที่เสียงของคนรุ่นใหม่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหลายๆ พรรคยังไม่ได้ให้ความสำคัญ แม้ช่วงแรกดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะหันมาเน้นในจุดนี้ด้วยการเปิดตัวกลุ่ม ‘New Dem’ แต่ภายหลังกลับเงียบไป ขณะที่พรรคอนาคตใหม่สามารถครองกระแส First Time Voter ได้มากกว่า ทว่าปัญหาคือ อนาคตใหม่จะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนเสียงได้อย่างไร

สิริพรรณยังชี้เห็นจุดแตกต่างของคนแต่ละวัย โดยกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป มักเลือกพรรคไหนพรรคนั้น ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ขณะที่กลุ่มอายุ 26-49 ปี เป็นกลุ่ม Swing Voter ซึ่งเป็นฐานประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ ตรงนี้น่าสนใจและควรจับตามอง

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังยกตัวอย่างพรรคพลังประชารัฐที่ไม่มียุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งยังใช้วิธีโบราณกว่าการเลือกตั้งปี 2544 โดยการดูด สส. จากพรรคอื่น ตัวเลขของ สส. ที่ดูดมาได้คือ 54 คน สิริวรรณมองว่า พรรคพลังประชารัฐน่าจะได้ไม่เกิน 70 ที่นั่ง แต่หากได้เกินก็ยังมีตัวแปรอื่นๆ ส่วนเพื่อไทยไม่เคยได้คะแนนต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ปัญหาตอนนี้คือเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทุกเขต ทำให้รอบนี้น่าจะได้ สส. ประมาณ 170 เสียง ยังไม่รวม สส. บัญชีรายชื่อ สำหรับประชาธิปัตย์อาจเจอศึกที่หนักที่สุด เพราะส่วนหนึ่งแปรพักตร์ไปอยู่กับพลังประชารัฐ จัดเป็นกลุ่มรอยแยก ซึ่งมีผลให้ประชาธิปัตย์อาจได้ที่นั่งบวกลบ 100 ที่นั่ง

ทางด้านพรรคกลุ่มชาติพัฒนา ภูมิใจไทย ฯลฯ เป็นพรรคที่มีการต่อรองสูง แต่การชูจุดยืนว่าอยู่ตรงไหนก็ได้อาจทำให้เกิดปัญหาด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งภายหลังภูมิใจไทยต้องออกมาประกาศว่า ‘ไม่เอาประยุทธ์’

อีกปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ฝั่งหนึ่งสามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่ไม่มีนายกฯ อีกฝั่งหนึ่งเลือกนายกฯ ได้ แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งความจริงข้อหนึ่งคือ พลเอกประยุทธ์ สามารถขึ้นเป็นนายกฯ ได้เสมอ จากการลากไปเรื่อยๆ หรืออาจเกิดสุญญากาศทางการเมืองที่เปิดทางให้มี ‘นายกฯ คนนอก’

นี่คือความคิดเห็นจากนักวิชาการที่ศึกษารูปแบบการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่ง – สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล

  • แนวร่วมต้าน คสช. เกิน 250 แต่ไม่ถึง 376
  • พลเอกประยุทธ์ท็อปฟอร์ม ได้เกิน 126 บวก 250 เป็นนายกฯ ได้ แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้
  • หลังการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้
  • เกิดนายกฯ คนนอก และรัฐบาลแห่งชาติ
  • การเลือกตั้งเป็นโมฆะ คสช. และมาตรา 44 ยังมีอยู่ต่อไป โดยมีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ
  • ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางนายกฯ คนนอก เฉพาะหลังเลือกตั้งครั้งแรก มาตรา 272

ไชยันต์ ไชยพร

ไชยันต์ ไชยพร: ความพร่ามัวบนเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่าน 

ไชยันต์ ไชยพร เล่าว่า การเกิดรัฐประหารในบ้านเราเกิดขึ้นบ่อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นโรคเรื้อรังที่ติดต่อมา แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐประหารบ่อยครั้ง เเต่ก็พบว่ารัฐบาลเผด็จการทหารมักอยู่ได้ไม่นาน

ไชยันต์พยายามอธิบายการเปลี่ยนผ่านหลังจากอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างนักวิชาการในต่างประเทศ เช่น Dankwart A. Rustow ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านแบบอำนาจนิยม หรือการล้มลุกคลุกคลานของระบอบการปกครองที่ยังไม่มีเสถียรภาพไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ถ้าประเทศใดมีเอกภาพของความเป็นชาติ พลังของประชาชนอาจไม่สำคัญเท่ากลุ่มชนชั้นนำ ก่อนจะอธิบายทฤษฎีของ Myron Weiner Professor of Political Science, MIT เพิ่มว่า เเรงกดดันจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายมักจะทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวมักยั่วยุให้เกิดกระเเสอำนาจเผด็จการ

เงื่อนไขทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ไชยันต์ยกตัวอย่างกรอบเเนวคิดของสิริพรรณ เปรียบเทียบกับเกณฑ์ Democratic Coup d’Etat ของ Ozan O. Varol 

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม ตามแนวคิดของสิริพรรณ ระบุว่า

  1. การผนึกกำลังเเละการประนีประนอมของพลังฝ่ายค้านที่ต้องการประชาธิปไตย
  2. บทบาทของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จริงใจ ต่อการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย
  3. ความเห็นพ้องยอมรับทั้งเนื้อหาและกระบวนการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  4. กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน
  5. ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามควร

ขณะที่แนวคิดของ Ozan O. Varol มองว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยตั้งมั่น สถาบันการเมืองในประเทศเกิดใหม่ยังมีความเปราะบาง ขณะที่กองทัพเป็นองค์กรที่เข้มเเข็งมาตั้งเเต่สมัยดึกดำบรรพ์ กองทัพจึงสามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยตั้งมั่นได้ โดยเกณฑ์ Democratic Coup d’Etat ของ Ozan O. Varol ระบุว่า 

  1. รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จ
  2. กองทัพตอบสนองต่อเสียงของประชาชนที่ออกมาต่อต้านระบอบดังกล่าวอย่างยืนหยัดยาวนาน
  3. ระบอบเผด็จการปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจในการสนองตอบข้อเรียกร้องของประชาชน
  4. รัฐประหารโดยกองทัพได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้คนภายในประเทศ และทหารส่วนใหญ่ของกองทัพจะเป็นกำลังพลที่มาจากการเกณฑ์ทหารจากประชาชน
  5. กองทัพทำรัฐประหารเพื่อล้มระบอบเผด็จการนั้น
  6. กองทัพสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่อิสระเป็นธรรมในระยะเวลาไม่เนิ่นนานเกินไปนัก
  7. รัฐประหารลงเอยด้วยการส่งผ่านอำนาจไปสู่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ไชยันต์ตั้งข้อสังเกตถึงกรอบแนวคิดทั้งสองว่า ยังขาดตัวเเปรในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะบ้านเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะ National Unity มีพลังพอสมควร

หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร มีการฟ้องร้องกันอย่างไร แต่ทุกฝ่ายยังคงอยู่ในกติกา แม้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ช้ามาก หรืออาจต้องใช้มาตรา 5 โดยทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่ในที่สุดก็จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรมได้ เราจะตีความการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนี้ตามเกณฑ์ใด National Unity and Elite Pact หรือ Democratic Coup d’Etat หรือสถาบันพระมหากษัตริย์

ไชยันต์ยกปรัชญาทางการเมืองของ Niccolo Machiavelli ว่า “ในช่วงวิกฤติ ผู้ปกครองที่มีกองกำลังเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนผ่านได้ เเล้วต่อจากนั้นจึงจะเกิดการปกครองของประชาชน (popular government) ที่เป็นรูปแบบการปกครองอันถาวรของรัฐต่อไป” ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองดังกล่าวที่มีเเนวโน้มจะเป็นทรราช ก็จะสร้างเงื่อนไขให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเขาอยู่ต่อไป ซึ่งปัญหาในงานของ Machiavelli คือความพร่ามัวของเส้นเเบ่งระหว่างเจ้าผู้ปกครองที่เข้ามากอบกู้วิกฤติกับทรราช

“ถามว่าตอนนี้เราพ้นวิกฤติหรือยัง ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ไปลงเลือกตั้งบอกว่า พ้นเเละพร้อม ก็จะเกิดประชาธิปไตยตั้งมั่น แต่ถ้าไม่พร้อม หรือกึ่งพ้นกึ่งไม่พ้น หมายความว่า ถ้าหลังเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่เทไปที่พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรของเขา พูดง่ายๆ คือเทไปให้พรรคอื่นโดยที่ไม่เอาพรรคพลังระชารัฐ ไม่เอาพรรคอะไรที่ส่อว่าจะสนับสนุนลุงตู่เลย เเต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เทไปที่พลังประชารัฐ ประชาชนก็ไม่พร้อมที่จะเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยที่มีผู้นำมาจากการเลือกตั้งโดยตรง”

สุดท้าย ไชยันต์ พูดติดตลกว่า เขาเองก็เป็น New Voter เพราะเป็นการใช้สิทธิครั้งแรก หลังจากถูกตัดสิทธิในการใช้สิทธิจากการฉีกบัตรเลือกตั้งในปี 2549

ประภาส ปิ่นตบแต่ง
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง – ที่สองจากขวา

ประภาส ปิ่นตบแต่ง: ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงของการเมืองภาคประชาชน

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้ระบอบใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ ตรงนี้สำคัญและชัดเจนว่าชนชั้นนำมองประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคาม ไม่ได้มองเป็นเป้าหมายและวิธีการที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า แต่ประชาธิปไตยที่ชนชั้นนำสถาปนาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปเป็นระบอบอะไรก็ไม่อาจทราบได้ แม้ระบอบนี้อาจไม่ได้กลับไปเป็นแบบสฤษดิ์ แต่เชื่อมโยงไปถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ภายใต้ระบอบนี้

ในระบอบใหม่นี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบอบการเมือง หรือ สว.ลากตั้งอะไรต่างๆ แต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบราชการ กลไกการใช้งบประมาณ การดึงอำนาจที่กระจายในท้องถิ่นกลับสู่ภูมิภาคทางการเมือง และอีกสิ่งสำคัญที่จะเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งอย่างมากในครั้งนี้คือ ‘การเมืองมวลชน’

“รัฐประหารไม่ว่าจะกี่ครั้ง เราจะเห็นความพยายามในการอบรมประชาธิปไตยให้กับชาวบ้าน ในรัฐบาลนี้ก็ทำ คำถามคือ จะสามารถสร้างการเมืองมวลชนที่สอดคล้องกับที่ระบอบนี้ต้องการสถาปนาได้มากน้อยขนาดไหน?”

ข้อสังเกตของประภาสคือ ประสบการณ์การเมืองมวลชนไม่เคยทำงานได้ เพราะมีความพยายามของกลไกฝ่ายความมั่นคงต่างๆ ที่สกัดกั้น การเลือกตั้งในระดับชุมชนปัจจุบันตื่นตัวมาก มีเครือข่ายของคนที่อยู่ในชุมชน พรรคต่างๆ ก็สัมพันธ์กับการเมืองในระดับชุมชนที่หลากหลาย แน่นอนว่าในหลายพื้นที่ก็มี สส. มาอย่างยาวนานและมีเครือข่าย แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะที่มั่นคงทั้งหมด แม้ในเขตของเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงของพรรคอยู่ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนลักษณะคะแนนที่กระจัดกระจาย อีกส่วนคือคนรุ่นใหม่ทั้งในระดับชุมชนหรือในเมือง ซึ่งพรรคอนาคตใหม่น่าจะได้คะแนนมากในทุกหน่วยเลือกตั้ง

“ประเด็นสำคัญคือ การเมืองได้เข้าไปสู่ชีวิตผู้คนในระดับชุมชน โยงไปสู่ระบบอุปถัมภ์ การซื้อเสียง ผมไม่คิดว่าการซื้อเสียงแบบเดิมจะกว้างขวาง แต่ก็ยังคงมีอยู่ แต่จะสัมพันธ์กันอยู่ภายใต้เครือข่ายต่างๆ โดยที่เครือข่ายเหล่านี้ก็ไม่สามารถคุมได้ทั้งหมด เงินจากโครงการประชารัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อลงไปก็จะไปอยู่ที่เครือข่ายจำนวนหนึ่ง และจะมีทรัพยากรหรืองบประมาณจากเครือข่ายอื่นๆ เข้ามา นั่นแปลว่านี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนกลไกของการเมืองในชีวิตประจำวันของผู้คน การลงคะแนนก็จะเป็นไปในทิศทางเช่นนั้น ผมคิดว่า การเมืองในระดับชาวบ้านอธิบายผ่านประเด็นปากท้อง เป็นเรื่องนโยบายมากกว่าจะเป็นเรื่องอุดมการณ์ ฉะนั้น การจะเข้าใจการเมืองชาวบ้าน ต้องเข้าใจวิถีประจำวันของคนเหล่านี้ด้วย

“ภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างไร ถ้ามองแคบลงไปเฉพาะองค์กรชุมชนที่ทำงานกับชาวบ้าน แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ค่อยมีผลในเชิงของมวลชนเหล่านี้ แต่ระบอบนี้ไปสร้างสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเมืองภาคประชาชนที่จะเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ เราจะเห็นการเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายหลายฉบับในภาคประชาชน หรือกระบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมต่างๆ นี่คือบทเรียนที่ชัดเจนของภาคประชาชนว่า ระบอบแบบนี้ทำให้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหดแคบลง และมีผลกับชีวิตการทำงานของผู้คน การเมืองหลังจากนี้ผมคิดว่า การเลือกตั้งไม่ค่อยมีผลกับภาคประชาชนมากในแง่ของการลงคะแนนเสียง แต่ประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่นี้มีผลทำให้มาตรา 44 หายไป เมื่อมีนายกฯ คนใหม่เข้ามา แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่”

เขามองว่า กติกาที่หดหายไปในระดับโครงสร้างที่ประชาชนเคยใช้ต่อรอง หรือเคยทำให้การเมืองเห็นหัวคนจน แต่หายไปมากในรัฐธรรมนูญ 60 ผมมองว่าจะปรากฏการเคลื่อนไหวในมิติเหล่านี้มากกว่าที่จะไปเดินขบวนขับไล่รัฐบาล

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล – ตั้งคำถามในช่วงท้ายการเสวนา

เนื้อหาข้างต้นคือ ข้อเสนอ ข้อสังเกต ข้อคิด จากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่พูดถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก่อนจบงานเสวนา นักกิจกรรมอย่าง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้ยกไมค์ขึ้นถามขึ้นกลางวงเสวนา ถึงประเด็นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจากการเลือกตั้งต่อจากนี้ โดยมี ไชยันต์ ไชยพร รับหน้าที่เป็นผู้ตอบคำถามของเนติวิทย์ 

“ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาได้ ก็ต้องมี The one รับลงพระปรมาภิไธย ตามเจตจำนงของคนที่ไปเลือกตั้ง ตามเสียง 250 เสียง แต่ถ้าผลการเลือกตั้งตกลงกันไม่ได้ ระยะเวลาทอดยาวนาน ความชอบธรรมของพลเอกประยุทธ์ก็จะเสียไปด้วย พอถึงตรงนั้นก็อาจจะต้องใช้มาตรา 5 ที่ว่าด้วยประเพณีการปกครอง อาจจะมีทั้งยุบสภา จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย การวินิจฉัยตรงนี้ท่ามกลางความชอบธรรมของทุกฝ่ายจึงไม่มีแล้ว ตรงนี้เองคือบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะสำคัญยิ่ง เป็นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

ขอบคุณภาพจากแฟนเพจ MAP-G, MA in Politics and Governance, รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า