2023 ปีแห่งการเลือกตั้ง 5 คูหา ชี้ชะตาประชาธิปไตย

หากไม่มีอะไรผิดคาด 7 พฤษภาคม 2566 คือวันเลือกตั้งทั่วไปหลังรัฐบาลประยุทธ์อยู่ครบวาระรอบแรก

เอกสารรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น (กกต. กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป)

ในปีนี้ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่อยู่ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งในช่วงเวลาแหลมคมของการเมืองโลก 

หากมองทิศทางการเมืองทั่วโลก ผลการเลือกตั้งในปี 2022 ที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของกระแสหันขวา-หันซ้าย ที่ชัดเจนขึ้นในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้-ประธานาธิบดียูน ซุก โยล (Yoon Suk-Yoel) ชนะการเลือกตั้งด้วยการชูนโยบายต่อต้านเกาหลีเหนือสุดฤทธิ์ ฮังการี-วิกตอร์ โอร์บาน (Viktor Orbán) กับพรรคขวาสุดโต่งอย่าง Fidesz ยังคงครองเสียงข้างมากต่อไป ฟิลิปปินส์-บองบอง มาร์กอส (Ferdinand ‘Bongbong’ Marcos, Jr.) ลูกชายของเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มากอส ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ออสเตรเลีย-แอนโทนี แอลบานีส (Anthony Albanese) จากพรรคแรงงาน ชนะเลือกตั้งต่อแนวร่วมฝั่งเสรีนิยม-ชาตินิยมอย่างฉิวเฉียด โคลอมเบีย-ได้ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายคนแรกอย่างกุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) อดีตนักรับกองโจร หรือการหวนกลับมาของ ‘ลูลา’ (Luiz Inácio Lula da Silva) ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล 

ขณะที่สนามเลือกตั้งในปี 2023 ก็คึกคักไม่แพ้กัน ด้วยกระแสซ้ายหัน-ขวาหันทั่วโลก ประกอบกับปัจจัยเงินเฟ้อ ปัญหาปากท้อง และการฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้วนทำให้การเลือกผู้แทนและผู้นำ ส่งผลโดยตรงกับชีวิตคนในสังคม

สิ่งที่น่าจับตามองคือ หากฝ่ายที่กุมอำนาจในปัจจุบันยังสามารถครองอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง ย่อมหนีไม่พ้นต้องแบกรับความผิดพลาดในการบริหารของตัวเองต่อไป แต่หากเสียงของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ อย่างน้อยผู้ที่แบกรับความเสียหายนั้นก็คือประชาชนเองจนกว่าจะครบวาระของผู้แทนที่เขาเลือกอย่างแท้จริง

ต่อไปนี้คือ 5 ประเทศในระบอบประชาธิปไตยสายอำนาจนิยมที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023 

ตุรกี, 18 มิถุนายน
2 ทศวรรษของแอร์โดอันกับการเดิมพันผ่านคูหา

กว่า 20 ปีที่ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) แบ่งเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2003-2014 และ 2014-2023 ในตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงอย่างไร ตำแหน่งหลังก็เป็นเพียงตำแหน่งในเชิงพิธีการของระบบรัฐสภาตุรกี ทำให้ในปี 2017 เขาพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของตุรกีไปสู่ระบอบประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว และทำให้เขามีอำนาจมากขึ้นอย่างมีนัยยะตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา กระนั้น ฐานอำนาจของแอร์โดอันกลับไม่มั่นคง แม้ว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงก็ตาม

นอกจากจะทำลายระบอบประชาธิปไตยของตุรกีแล้ว การบริหารประเทศในยุคของแอร์โดอัน ยังทำให้ตุรกีมีอัตราเงินเฟ้อประจำปีร้อยละ 80 อัตราการว่างงานร้อยละ 10 และแอร์โดอันยังต้องเผชิญการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งชาวตุรกีต้องเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ รวมถึงสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ทำให้การเลือกตั้งหนนี้ไม่ใช่เพียงการเดิมพัน ‘การเมือง’ ในความหมายแคบๆ หากแต่เป็นการกำหนดทิศทางของนโยบายทางเศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษา หรือทุกองคาพยพของสังคม

สิ่งที่น่าวิตกคือ เสียงของฝ่ายค้านก็ไม่ได้เป็นเอกภาพมากนัก เพราะในสภาพร่อแร่เป็นทุนเดิม พวกเขามี 2 ฟากฝั่งที่แย่งฐานเสียงระหว่างกัน นั่นคือ The Millet (Nation) Alliance แนวร่วมหลักของฝ่ายค้านที่ยังไม่ตัดสินใจเรื่องผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และกลุ่มกลุ่ม Labor and Freedom Alliance ซึ่งมีพรรค People’s Democratic ของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดเป็นพรรคหลัก รวมถึงกรณีส่งท้ายปี 2022 ที่บั่นทอนกำลังของฝ่ายต่อต้านแอร์โดอันลง เมื่อเอ็กเร็ม อิมาโมกลู (Ekrem İmamoğlu) นายกเทศมนตรีของนครอิสตันบูล ถูกตัดสินจำคุกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฐานดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเงื่อนไขว่า หากยื่นอุทธรณ์จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้แคนดิเดตที่ ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุดคนหนึ่งถูกเตะตัดขาไปเรียบร้อย

ข้างต้นจึงเสมือนการลดทอนแรงต้านเผด็จการอย่างแอร์โดอัน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดหากแอร์โดอันชนะการเลือกตั้ง จะยิ่งทำให้ปัญหา ‘สมองไหล’ ย่ำแย่ลงอีกขั้นหนึ่ง เพราะทั้งหมอ นักวิชาการ นักธุรกิจ หรือกลุ่มคนที่มีการศึกษา ล้วนอพยพไปประเทศฝั่งตะวันตก และเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอลง 

มากไปกว่านั้น ผลของการเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐด้วย เพราะคณะกรรมการกิจการศาสนาของตุรกี (Turkey’s Directorate of Religious Affairs) ซึ่งควบคุมมัสยิด 80,000 แห่ง เป็นพันธมิตรหลักของแอร์โดกัน ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในฝ่ายบริหารก็จะส่งผลต่ออำนาจของคณะกรรมการฯ ด้วยเช่นกัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2023 จะเป็นการต่อสู้กันในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา หากแอร์โดอันชนะ เขาอาจวางตัวเย่อหยิ่งราวกับเป็นรัฐบุรุษของตุรกีต่อจาก เคมัล อาทาทืร์ค (Kemal Atatürk) ผู้นำคนแรกหลังตุรกีล้มระบอบสุลต่าน แต่หากเขาแพ้ พันธมิตรทางการเมือง ธุรกิจ และเครือข่ายศาสนาขนาดใหญ่ของเขา ก็จะเผชิญกับความเสี่ยงหรือถูก ‘เช็คบิล’ อย่างเลี่ยงไม่ได้

อาร์เจนตินา, 29 ตุลาคม
จุดเปลี่ยนของซ้ายจัดและขวาจัดในดินแดนฟ้าขาว

แม้ว่าการได้แชมป์ฟุตบอลโลกจะช่วยชุบชูจิตใจ แต่เศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินาอยู่ในภาวะถดถอยมาเป็นเวลานาน โดยมีหนี้ต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในละตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีอัตราเงินเฟ้อถึงร้อยละ 60 ค่าจ้างต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 4 ใน 10 ของชาวอาร์เจนตินามีฐานะยากจน ค่าเงินเปโซแทบไร้ค่า และยิ่งแย่ลงไปอีกจากการจัดการโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ

แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกิดจากอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ (Alberto Fernández) ประธานาธิบดี และคริสตินา เฟอร์นานเดซ เดอ เคิร์ชเนอร์ (Cristina Fernández de Kirchner) รองประธานาธิบดี เพียงเท่านั้น (ทั้งสองเป็นฝ่ายซ้ายกลางสายเปโรนิสต์ [Peronism] หรือแนวคิดที่ผนวกชาตินิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตย เข้าไว้ด้วยกัน ริเริ่มโดยนายพลฆวน เปรอน ในสมัยปกครองอาร์เจนตินา ในปี 1945) อันที่จริง อดีตประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากริ (Mauricio Macri) ก่อหนี้ไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มหาศาล ก่อนที่จะถูกลงมติไม่ไว้วางใจให้ลงจากตำแหน่งในปี 2019 แต่ในฐานะรัฐบาลใหม่ เฟอร์นานเดซและเคิร์ชเนอร์ก็ยังถือว่าสอบตก เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้

แย่ไปกว่านั้น คู่หูสายเปโรนิสต์ยังประสบปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบเก่า รวมถึงการเป็นเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มั่งคั่งในภูมิภาค กลายเป็นประเทศที่ส่งผ่านโคเคนและเป็นฐานแปรรูป ซึ่งนับเป็นการคอร์รัปชันสมัยใหม่ของอาร์เจนตินา

ปัญหาคอร์รัปชันข้างต้น ส่งผลให้วันที่ 6 ธันวาคม 2022 เคิร์ชเนอร์ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ในคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับสินบน เพราะมีการทำสัญญาสาธารณะกว่า 51 ฉบับ ในจังหวัดปาตาโกเนีย โดยเจ้าของบริษัทเอกชนเจ้ากรรมก็คือ ลาซาโร บาเอซ (Lázaro Báez) เพื่อนและผู้ร่วมธุรกิจของเธอเอง

หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า การจัดการเศรษฐกิจแบบผิดๆ และเรื่องอื้อฉาวเกินเพดาน อาจทำให้ลัทธิเปโรนิซึม อันเป็นปรัชญาการเมืองการปกครองของอาร์เจนตินามากว่า 70 ปี ถึงคราวสิ้นสุดลง ขณะเดียวกัน พรรคขวากลางอย่าง Republican Proposal ของมากริ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายในพรรคของตัวเอง

สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจข้างต้น อาจเอื้อประโยชน์ต่อทางเลือกที่ 3 นั่นคือ ฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมจากพรรค The Liberty Advances ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ย้อนกลับไปในปี 2021 เขาได้รับเลือกให้เข้าสภาล่างของอาร์เจนตินา พร้อมโจมตีการเมืองกระแสหลักในประเทศอย่างไม่ประนีประนอม ซึ่งกลางปี 2022 Ricardo Rouvier & Asociados เผยผลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง ข้อมูลชี้ว่า มิเลได้รับเสียงสนับสนุนถึงร้อยละ 37.7 เป็นรองเพียง โฮราซิโอ โรดริเกซ ลาร์เรตา (Horacio Rodríguez Larreta) นายกเทศมนตรีสายกลางของเมืองบัวโนสไอเรส ที่มีเสียงสนับสนุนร้อยละ 44.7

แต่ด้วยบุคลิกของมิเลในมาดอดีตฟร้อนท์แมนวงร็อกและอดีตนักกีฬาพราวเสน่ห์ รวมถึงสไตล์หยาบคายจนเทียบได้กับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แห่งทุ่งแปมปัส นั่นอาจทำให้เขาล้มล้างความคิดที่ว่า หากจะเป็นประธานาธิบดีในอาร์เจนตินา ก็ต้องเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเปโรนิสต์ขวาจัด หรือไม่ก็กลุ่มหัวรุนแรงอย่างพรรค Radical Civic Union (RCU) ฝ่ายซ้ายจัดในอาร์เจนตินา

ไนจีเรีย, 25 กุมภาพันธ์
การต่อสู้ของผู้แทนจากสามกลุ่มชาติพันธุ์

ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค การเลือกตั้งหนนี้ จึงไม่เพียงส่งผลเฉพาะคนไนจีเรีย แต่ยังส่งผลสะเทือนทั่วแอฟริกาด้วย ขณะเดียวกัน การเมืองในประเทศยังเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์และศาสนา โดยภาคเหนือมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคใต้นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนมาก นำมาสู่ข้อถกเถียงในไนจีเรียว่า หลังจาก 8 ปีที่มูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ซึ่งเป็นชาวเหนือดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงเวลาที่อำนาจควร ‘เปลี่ยนมือ’ ไปทางใต้หรือไม่

เมื่อบูฮารีดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ พรรค All Progressives Congress (APC) จึงเสนอชื่อโบลา อาเหม็ด ทินูบู (Bola Ahmed Tinubu) อดีตผู้ว่าการกรุงลากอส เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่ People’s Democratic หัวหอกของพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอชื่ออัลฮาจิ อะทิคู อะบูบาการ์ (Alhaji Atiku Abubakar) อดีตรองประธานาธิบดีที่แพ้การเลือกตั้งให้กับบูฮารีในปี 2019 ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก 16 พรรคเล็ก มีเพียงปีเตอร์ โอบี (Peter Obi) แคนดิเดตจากพรรคแรงงานที่มีภาษีกว่าคนอื่น ซึ่ง Bloomberg รายงานว่า ผลสำรวจปลายกันยายน 2022 ชี้ว่า โอบีได้รับความนิยมร้อยละ 72 ในหมู่ชาวไนจีเรียที่ตัดสินใจกาบัตรแล้ว

ถ้าการลงสนามจริงในเดือนกุมภาพันธ์ โอบียังได้รับคะแนนเสียมท่วมท้นเช่นนี้ ไนจีเรียจะมีผลการเลือกตั้งแบบขาดลอยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถึงอย่างไร นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์หลักทั้ง 3 กลุ่มในไนจีเรีย มีผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกันอย่างจริงจัง ได้แก่ อะบูบาการ์ ผู้มีเชื้อสายเฮาซา-ฟูลานี, ทินูบู ชาวโยรูบา และโอบี อดีตผู้ว่าการรัฐอะนัมบรา ผู้มีเชื้อสายอิกโบ

แม้ข้างต้นจะสะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผลสำรวจของ Afrobarometer (เครือข่ายการวิจัยทั่วแอฟริกาที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) ชี้ว่า ชาวไนจีเรียเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศชาติมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตน หมายความว่า ภายใต้สูตรของรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้ทั้งคะแนนเสียงส่วนใหญ่และการกระจายสัดส่วนทางภูมิศาสตร์ อาจไม่มีผู้ชนะที่ได้รับฉันทมติหรือเป็นที่ยอมรับได้ทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ชาวไนจีเรียมากกว่า 80 ล้านคนยังคงอยู่ใต้เส้นความยากจน ประกอบกับปัญหาความรุนแรงในไนจีเรียทวีความรุนแรงเรื่อยมานับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดในปี 1970 ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ นำมาสู่การข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทำให้ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างพรรคและภายในพรรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปลายปี 2022

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของ 95 ล้านคน ต่อการเลือกประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่พ้นการวาดหวังว่าประเด็นความปลอดภัย การว่างงาน การศึกษา และปัญหาการทุจริต จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังหย่อนบัตร

ปากีสถาน, ตุลาคม
ความรุนแรงที่แยกไม่ขาดจากการเลือกตั้ง 

เมษายน 2022 อิมราน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีและอดีตนักกีฬาคริกเก็ต แพ้การลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถูกมองว่ามีความพยายามเพิ่มอำนาจให้กับ ‘มือที่มองไม่เห็น’ อย่างกองทัพ ทำให้ปากีสถานยังคงไม่มีนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปีเต็ม ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่

หลังจากพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ข่านอ้างว่า การลงมติไม่มีความโปร่งใส และเป็นการรวมหัวกันของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม เขาจึงรวบรวมผู้สนับสนุนพร้อมจุดกระแสการชุมนุมประท้วงในกรุงอิสลามาบัด แต่สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อข่านได้รับบาดเจ็บจากการพยายามลอบสังหารของบุคคลไม่ทราบฝ่าย โดย เชห์บาซ ชารีฟ (Shebaz Sharif) นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาหลังข่านลงจากอำนาจ ก็ประณามเหตุการณ์นี้เช่นกัน กระนั้น ข่านเชื่อว่า ชารีฟและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

คำถามใหญ่คือการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะตามกฎหมาย รัฐบาลเฉพาะกาลต้องจัดเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน แต่ดูเหมือนว่าเทคโนแครตและรัฐสภาปากีสถานจะตั้งใจกุมอำนาจไว้ให้นานที่สุด

ถึงอย่างไร ผลการเลือกตั้งซ่อมในตุลาคม 2022 เผยว่า พรรคเทห์รีก-อี-อินซาฟ (Tehreek-e-Insaf หรือ Pakistan Movement for Justice) ของข่านกวาด 6 จาก 8 ที่นั่งในสภาแห่งชาติและสภาล่าง ขณะที่อีก 2 ที่นั่งเป็นของพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party: PPP) ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในรัฐบาลของชารีฟ

การเลือกตั้งซ่อมอาจเปรียบได้กับผลคะแนนนิยมของข่านที่เป็นรูปธรรม รวมถึงแสดงภาพความกดดันของชาวปากีสถานต่อรัฐบาลผสมที่ต้องการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปให้ชัดเจนเสียที

ปัญหาการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ถาโถมปากีสถานในทศวรรษนี้ พวกเขากำลังเผชิญวิกฤตการเมือง วิกฤตพลังงาน รวมถึงปัญหาอุทกภัยที่กินพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาลในปี 2022 ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023 อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับความทุกข์ยากของชาวปากีสถาน เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับเสียงข้างมาก พวกเขาอาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน ครั้นจะทำเช่นนั้นได้ อย่างน้อยกลุ่มการเมืองต้องร่วมมือกันให้มากกว่าที่เป็นมา

อายีชา จาลาล (Ayesha Jalal) อาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่า สังคมปากีสถานไม่สามารถแยกประเด็นความรุนแรงและการเลือกตั้งได้ เพราะปากีสถานมีกฎหมายห้ามครอบครองปืนโดยเด็ดขาด แต่กองกำลังความมั่นคงแห่งชาติกลับสามารถละเมิดข้อตกลงหยุดยิงตามแนวชายแดนได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การยิงไรเฟิลตามงานมงคลจะเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งปากีสถานมีจำนวนปืนกว่า 40 ล้านกระบอก หากเทียบเคียงกับการแบ่งขั้วทางการเมืองแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับข่านจึงถือเป็นเรื่องเข้าใจได้

แรงผลักจากผลการเลือกตั้งซ่อม สำทับกับปัญหากองพะเนิน อาจทำให้ผู้มีอำนาจหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2023 ของปากีสถาน ต้องลำบากใจขึ้นไม่น้อย

ซิมบับเว, สิงหาคม
การเลือกตั้งใหม่ถอดด้ามกับมรดกของเผด็จการมูกาเบ

นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของซิมบับเว หลังการหมดอำนาจของนักกอบกู้และผู้นำเผด็จการอย่าง โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) (1924-2019) 

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2018 เป็นผลกระทบจากการรัฐประหารโดยกองทัพ แม้จะเป็นสัญญาณด้านบวกของประชาธิปไตยในซิมบับเว แต่ผลลัพธ์เข้าขั้นน่าผิดหวัง เนื่องจากปัญหาเชิงระบบของอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกอย่างยาวนาน

ดั่งกรณีที่ผู้สังเกตการณ์จากสหรัฐฯ รายงานว่า พรรค ZANU PF (The Zimbabwe African National Union – Patriotic Front) ใช้กองทัพข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีการรายงานข่าวของพรรคฝ่ายค้านและผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยถัดจากวันเลือกตั้ง MDC (The Movement for Democratic Change) พรรคฝ่ายค้านประกาศชัยชนะ โดยอ้างว่าได้รับข้อมูลจากตัวแทนพรรคที่หน่วยเลือกตั้ง และยังอ้างว่า บัตรเลือกตั้งร้อยละ 21 ไม่ได้ถูกนับอย่างเป็นทางการที่หน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายกำหนด ความสับสนและไม่ลงรอยนี้ นำมาสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมฝ่าย MDC ด้วยความรุนแรงโดยกองทัพ จนมีผู้เสียชีวิต 7 ราย 

ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหนนี้ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่นำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารหรือปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงแล้ว ชาติตะวันตกหรือองค์กรระหว่างประเทศ มักใช้ ‘ความโปร่งใส’ ของการเลือกตั้ง เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางการทูต

ผู้สังเกตการณ์จากฝั่งตะวันตก ยังหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสัญญาณปรับปรุงสิทธิทางการเมืองของผู้หญิงซิมบับเว เพราะแม้จะมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความเท่าเทียมทางเพศในทางการเมือง แต่ผู้หญิงกลับได้รับชัยชนะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือ ผู้หญิงได้ที่นั่งผู้นำท้องถิ่นในสภาแห่งชาติ 25 จาก 210 ที่นั่งของเขตเลือกตั้ง หรือเพียง 11.9 เปอร์เซ็นต์ และในสมัชชาแห่งชาติ มีผู้หญิงเพียง 85 จาก 270 ที่นั่ง คิดเป็น 31.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ที่สำคัญ อนาคตของฝ่ายค้านก็แขวนอยู่กับบัตรเลือกตั้ง เพราะตั้งแต่ปี 2018 ขบวนการเคลื่อนไหวในฝ่ายค้านต้องเผชิญทั้งการกลั่นแกล้งกดขี่จากรัฐ ขัดแย้งกันเอง รวมถึงเงินทุนที่น้อยเกินไป ซ้ำร้ายพวกเขายังไม่สามารถเพิ่มฐานเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ 

เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศที่กล่าวมา หากพรรค DMC หรือฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำ ต้นทุนของการต่อสู้ ตรวจสอบ หรือแม้แต่เปล่งเสียงเพื่อต้านเผด็จการก็จะสูงขึ้น และทำให้พรรค ZANU PF รวมถึงความเป็นอำนาจนิยม ค่อยๆ ฝังรากลึกผ่านสถาบันการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

ณิชกานต์ บุญไชย
นิสิตวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแถบลุ่มน้ำชี ยังมีชีวิตอยู่เพราะต้องดูแลแมวเมี้ยวๆ ไม่กินขนมขบเคี้ยว กาแฟเปรี้ยวคือของหวาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า