สามทศวรรษการเมืองไทย ขาลงและจุดจบของนายกรัฐมนตรี

ชีพจรทางการเมืองของไทยยามนี้เต้นปกติหรือแผ่วเบาอย่างไรไม่รู้ แต่จากการสำรวจชีวิตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบข้อสังเกตประการหนึ่งคือ อำนาจบนหลังเสือนั้นน่าจับตาที่สุดก็คือตอนขาลง

เกมการต่อรอง หักเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบ การเข้าถึงเส้นสายและอำนาจจะถูกงัดออกมาใช้งานก็ยามนี้

ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา อาจมีบ้างที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีใช้ทักษะการขึ้นได้-ลงเป็น แต่ส่วนมากหากไม่เลือกลงเองก็มักถูกถีบให้ไถลครูดลงบนคมหนาม แผ่นหลังของอดีตนายกรัฐมนตรีบ้างจึงมีรอยเท้าของเพื่อนพ้องในสภา บ้างเป็นบาทาของประชาชน ขณะที่หลายคนถูกประทับด้วยท็อปบูทและด้ามปืน

จาก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราเห็นละครการเมืองปิดม่านเช่นนั้น ส่วนลุงตู่ผู้ไม่เคยสัญญาอะไรกับใครจะลงอย่างพระเอกหรือผู้ร้าย เชิญปูเสื่อแล้วบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันตั้งแต่บัดนี้

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

พรรคชาติไทย

No Problem

4 สิงหาคม 2531 – 23 กุมภาพันธ์ 2534
ขาลง: ข้อกล่าวหาทุจริต
จุดสิ้นสุด: รัฐประหาร

‘น้าชาติมาดนักซิ่ง’ หรือ ‘น้าชาติหัวใจสิงห์’ คือฉายาของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17

โดยมีนโยบายสำคัญคือ ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟูฟ่องเปรียบดังฟองสบู่ ตัวเลข GDP พุ่งสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จนผู้เชี่ยวชาญพากันคาดการณ์ว่าไทยจะได้เป็น ‘เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’ ต่อจากเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน

คำฮิตติดปากว่า “No Problem” ของพลเอกชาติชายถือเป็นการสะท้อนภาพรวมการทำงานของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการตอบในลักษณะพยายามกลบเกลื่อนหรือหลีกเลี่ยงในทำนองที่ว่า “เดี๋ยวผมจัดการเอง” ยิ่งสร้างความคลุมเคลือและความข้องใจต่อประชาชน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลชุดนี้เป็น ‘บุฟเฟ่ต์คาร์บิเนต’ ที่มีการทุจริตและหาผลประโยชน์ในโครงการลงทุนของรัฐ

การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชายต้องเป็นอันสิ้นสุด เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยการนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ พลเอกสุจินดา คราประยูร พลตำรวจเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยพลเอกชาติชายถูกจี้ตัวบนเครื่องบิน C-130 ขณะกำลังเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ โดย รสช. อ้างเหตุผลในการรัฐประหารครั้งนี้ว่า รัฐบาลชุดนี้มีการคอร์รัปชันสูง กระทั่งนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี พ.ศ. 2535

แม้รัฐบาลชุดนี้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ สืบเนื่องจากรัฐบาลมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก กล่าวคือสามารถผูกขาดอำนาจได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะรัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรก็ได้รับความเห็นดีเห็นชอบจากสภาไปเสียหมด แต่สุดท้ายความมีเสถียรภาพดังกล่าวก็ถูก รสช. กล่าวโจมตีว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวง พยายามทำลายสถาบันทหารและล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จนโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้ได้สำเร็จ

 

อานันท์ ปันยารชุน

ประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยมาโดยตลอด

(จากคำให้สัมภาษณ์ต่อ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา วันที่ 14 สิงหาคม 2557 ในงานระดมทุนเพื่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35)

สมัยที่ 1: 2 มีนาคม 2534 – 7 เมษายน 2535
สมัยที่ 2: 10 มิถุนายน 2535 – 23 กันยายน 2535
จุดสิ้นสุด: ลาออกเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั้งสองครั้ง

อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ และเคยถูกรัฐบาลขวาจัดกล่าวหาว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์จากกรณีเดินทางไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนก่อนรัฐบาลหม่อมราชวงษ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเดินทางไปสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ ดำรงภาพลักษณ์ของความเป็น ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกด้วยการประกาศว่า จะเป็นรัฐบาลที่ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของ รสช. ก่อนจะลาออกเพื่อเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผลปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรมที่มี นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ทว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศบอยคอตการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายยณรงค์ เพราะมีกรณีเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติด

ผลจากการบอยคอตทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีว่างลง ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือสนับสนุนให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่ง เกิดเป็นกรณี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในที่สุดรัฐบาลของพลเอกสุจินดาก็ต้องประกาศยุบสภาเปิดทางให้ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งผลปรากฏว่าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากสุด คือ พรรคประชาธิปัตย์

แม้มีภาพลักษณ์ความเป็น ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ แต่เมื่อนายอานันท์มารับเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติภายหลังเหตุการณ์กระชับพื้นที่ในปี 2553 นับจากจุดนี้ ทำให้มวลชนส่วนหนึ่งเกิดความเคลือบแคลงในความโปร่งใสที่เคยเป็นมาในอดีต

 

พลเอกสุจินดา คราประยูร

พรรคสามัคคีธรรม, คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

เสียสัตย์เพื่อชาติ

7 เมษายน 2535 – 24 พฤษภาคม 2535
ขาลง: กระแสเรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง
จุดสิ้นสุด: เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

หลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535

ในช่วงเวลานั้น มีเสียงทักท้วงเกี่ยวกับความไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกประกาศใช้

ก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดา คราประยูร เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หลังการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้ง พรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม จำนวน 79 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคที่ถูกตั้งขึ้นจากบุคคลที่ใกล้ชิด รสช. เพื่อรักษาอำนาจหลังรัฐประหาร มีการต้อนนักการเมืองเข้าพรรคจำนวนมาก โดยมี นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคสามัคคีธรรมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร และมีการเตรียมเสนอ นายณรงค์ วงศ์วรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์เป็นบุคคลที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

การกลับคำพูดและรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นที่มาวลี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายคัดค้านรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหว รวมถึงเกิดกระแสการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ในวันแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 รัฐบาลถูกโจมตีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านและผู้ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนบริเวณหน้ารัฐสภามีประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ต่อมาการประท้วงได้ลุกลามจนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชกระแสรับสั่งพร้อมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเลวร้าย

วันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของ พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์

 

ชวน หลีกภัย

พรรคประชาธิปัตย์

ยังไม่ได้รับรายงาน

สมัยที่ 1: 23 กันยายน 2535 – 13 กรกฎาคม 2538
ขาลง: ส.ป.ก. 4-01
จุดสิ้นสุด: ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

นายกรัฐมนตรีผู้มีภาพลักษณ์สมถะเรียบง่ายตามสไตล์ ‘นายหัวชวน’ ในทางการเมืองเขาคือนักโต้วาทีผู้มีวาทศิลป์แพรวพราวราวใบมีดโกน แต่ในแง่การบริหารราชการแผ่นดินกลับเป็นไปอย่างอืดอาดจนได้รับฉายา ‘ชวนเชื่องช้า’

ประโยคติดปากของนายกฯ ชวน เมื่อถูกผู้สื่อข่าวซักถามถึงกรณีต่างๆ ก็คือ “ยังไม่ได้รับรายงาน” ซึ่งถือเป็นคาถาประจำตัวที่นายชวนมักใช้ในการบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงการตอบข้อซักถาม

ประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยไม่ควรลืมสมัยรัฐบาลชวน 1 หลังมี พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ประชาชนผู้มีฐานะยากจนมีโอกาสเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตปฏิรูป หรือที่เรียกว่า ‘ส.ป.ก. 4-01’ โดยการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ต้องเป็นไปเพื่อการทำเกษตรกรรมเท่านั้น ทว่าผลจากการเร่งรัดดำเนินนโยบายที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ปรากฏว่าที่ดินทำกินจำนวนหลายร้อยไร่กลับตกไปอยู่ในมือคนใกล้ชิดของพรรครัฐบาลและบรรดาผู้มั่งคั่งในพื้นที่ภาคใต้

ส.ป.ก. 4-01 จึงเป็นผลงานอัปยศที่สร้างรอยด่างติดตรึงอยู่กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาถึงทุกวันนี้ สวนทางกับภาพลักษณ์ของนายหัวชวนผู้ใสซื่อมือสะอาด และเมื่อถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุดท้ายรัฐบาลจึงประกาศยุบสภาหนีความอับอาย เพราะจนปัญญาที่จะชี้แจงประเด็นการทุจริตให้สังคมเกิดความกระจ่าง

สมัยที่ 2: 9 พฤศจิกายน 2540 – 9 กุมภาพันธ์ 2544
ขาลง: สลายม็อบคนจน
จุดสิ้นสุด: ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

รัฐบาลชวน 2 กลับมาอีกครั้งหลังจากรัฐบาลชุด พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ถูกแรงกดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่ง อันเป็นผลจากพิษเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตกและการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

เหตุที่รัฐบาลชุดนี้สามารถกลับมายึดทำเนียบได้อีกครั้งเนื่องจากแรงหนุนของนักการเมือง ‘กลุ่มงูเห่า’ ที่พลิกข้างเปลี่ยนขั้ว ทว่าเสถียรภาพของรัฐบาลชุดนี้ก็จัดอยู่ในขั้นง่อนแง่นเปราะบาง พร้อมที่จะสั่นคลอนได้ทุกเมื่อ เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค อีกทั้งการบริหารราชการในยุคนั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างขัดสน เพราะเป็นยุคที่ต้องแบกรับหนี้ IMF การดำเนินนโยบายต่างๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้า เข้าทำนอง ‘ชวนเชื่องช้า’

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้คือ กรณี ‘ม็อบปากมูล’ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นการรวมตัวในนามสมัชชาคนจนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอาชีพประมงล่มสลาย โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ยุติโครงการเขื่อนปากมูลเพื่อคืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับปฏิบัติการโต้ตอบด้วยสารพัดวิธี ทั้งการจับกุม ปราบปราม การจัดม็อบชนม็อบ และการใช้ความรุนแรงสลายผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ รัฐบาลชวน 2 ยังฝากผลงานการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนรากหญ้า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2542 กรณีชาวไร่มันสำปะหลังจากจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาประท้วงหน้าทำเนียบ โดยรัฐบาลได้ใช้มาตรการขั้นโหดสัสด้วยการ ‘ปล่อยหมากัดม็อบ’ จนชาวบ้านได้รับบาดเจ็บไปหลายคน

 

บรรหาร ศิลปอาชา

พรรคชาติไทย

เออ…ขอให้จากกันด้วยดีนะ ก็ไปเลือกตั้งกันมาใหม่

13 กรกฎาคม 2538 – 25 พฤศจิกายน 2539
ขาลง: บรรหารกับเกมสภาและความวุ่นวายในรัฐบาลผสม / 18-20 กันยายน 2539 เขาถูกพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ
จุดสิ้นสุด: ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

‘มังกรสุพรรณ’ ผู้เติบโตจากการเป็นนักธุรกิจก่อสร้าง ก่อนถูกดึงเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2517 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายเก้าอี้ หลายสมัย ไล่มาตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนนท์ รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จนถึงรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร กระทั่งถึงจุดสูงสุดบนเส้นทางการเมืองด้วยการได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศ ที่เข้าดำรงตำแหน่งพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า

“วันแรกที่เข้าไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล นักข่าวยื่นไมค์ออกมาถามผมว่า ปัญหาเงินเฟ้อจะแก้อย่างไร ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสามแสนกว่าล้าน จะแก้อย่างไร ผมบอกไปว่าไม่เป็นไร ผมเพิ่งเข้ามา ให้โอกาสผมหน่อยนะ” คำบอกเล่าของเขาอธิบายสถานการณ์ด้านเงินๆ ทองๆ ของประเทศในขณะนั้นเป็นอย่างดี…

“เป้าหมายหลักของการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อพัฒนาคนในสังคมให้มีความสุข มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา สามารถแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้ โดยไม่ทิ้งสภาพความเป็นไทย…

“คนในสังคมได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีภูมิปัญญา มีส่วนร่วมในการพัฒนา รวมทั้งมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้การพัฒนาทุกด้านเป็นไปอย่างสมดุล”

เขาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาถูกนำไปเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนักหน่วง และแทบทุกประเด็นพุ่งตรงมาที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา โดยตรง

วิกฤติศรัทธา วิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งในรัฐบาลผสม ทำให้นาวาของรัฐบาลสั่นคลอนอย่างหนัก พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกผู้นำคนใหม่

18-20 กันยายน 2539 เป็นเวลาสามวันเต็มในการอภิปรายไม้ไว้วางใจ เขาถูกลอยแพจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยการนั่งรองรับกระสุนน้ำลายจากการอภิปรายอย่างโดดเดี่ยวในสภา กระทั่งถึงกับออกปากบรรยายถึงความเหงาและวังเวงในครั้งนั้นว่า

“ตลอดเวลาของการอภิปราย ขณะที่ผมนั่งในที่นั่งนายกรัฐมนตรี ในสภา ผมรู้สึกถึงความวังเวงได้อย่างดี ไม่มีรัฐมนตรีขึ้นไปนั่งในฟากของรัฐบาลเลยแม้แต่คนเดียว”

ความโดดเดี่ยวถูกตีราคา เมื่อถึงวันที่ต้องยกมือลงมติ เขาถูกต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาลว่า หากยอมลาออก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคร่วมรัฐบาลจะยกมือไว้วางใจ แต่บรรหารแม้จะโดดเดี่ยวก็เป็นมังกรที่เขี้ยวลากดิน

“ผมขอเวลา 30 วัน เขาไม่ให้ ขอเวลา 15 วัน เขาก็ไม่ยอม ผมไม่มีทางเลือกจึงพูดไปว่าจะลาออกภายใน 7 วัน พวกเขาพากันปรบมือ จนวันลงมติผมได้รับความไว้วางใจ 207 เสียง จากทั้งหมด 391 เสียง”

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเขาเก็บตัวเงียบในบ้านพัก เมื่อครบ 7 วันตามกำหนดเขาเข้าประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลนัยว่ามันเป็นการประชุมสั่งลา พร้อมกับบอกว่าให้รอฟังข่าวทางวิทยุ ทุกพรรคพร้อมเพรียงอยู่ที่นั่น แต่ไพ่ใบสุดท้ายทำเอาทุกคนแทบหงายหลัง เมื่อที่สุดกลายเป็นว่าเขาไม่ลาออก แต่หวยออกที่การยุบสภาแทน

“เออ…ขอให้จากกันด้วยดีนะ ก็ไปเลือกตั้งกันใหม่” อดีตนายกรัฐมนตรีพูดเช่นนั้น หลังเดินลงจากตำแหน่งสูงสุดที่ดำรงอยู่เพียง 1 ปีกับอีก 4 เดือน 12 วัน ซึ่งแม้ไม่สามารถปลุกเศรษฐกิจให้เติบโต และไม่สามารถบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพได้อย่างใจหวัง แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงที่ได้รับการพูดถึงตลอดมาคือการริเริ่มผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

พรรคความหวังใหม่

มันคือโปเตโต้

25 พฤศจิกายน 2539 – 9 พฤศจิกายน 2540
ขาลง: วิกฤติต้มยำกุ้ง
จุดสิ้นสุด: ลาออก

ช่างใจร้ายเหลือเกินในการตั้งข้อสังเกต ‘พ่อใหญ่จิ๋ว’ ผู้กุมหัวใจคนภาคอีสานว่าป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่บทบาทของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นั้นโดดเด่นมาตั้งแต่เมื่อสมัยสงครามเย็นที่เคยปฏิบัติภารกิจลับไปเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อให้ที่พักพิงแก่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และมอบอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วนมาต่อสู้กับกองทหารเวียดนามเหนือ จนกระทั่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และลาออกเพื่อมาก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กลายเป็น ‘พ่อใหญ่จิ๋ว’ และ ‘จิ๋วหวานเจี๊ยบ’ ที่สมญานามแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อมาทำงานการเมือง

พลเอกชวลิตเป็นคนแรกๆ ที่ขึ้นปราศรัยต่อต้านรัฐบาลพลเอกสุจินดาในช่วงพฤษภา 35 และยังเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่คนที่สองต่อจาก นายวีระ สุวรรณกุล (ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จัก) โดยมี นายเสนาะ เทียนทอง เป็นเลขาธิการพรรค รวมถึง นายจาตุรนต์ ฉายแสง ในตำแหน่งโฆษกพรรค พลเอกชวลิตเป็นผู้นำพาพรรคไปสู่ชัยชนะการเลือกตั้งในปี 2539 เฉือนชนะพรรคประชาธิปัตย์จากฐานเสียงที่เป็นชาวอีสานเป็นส่วนมาก

แต่แล้วก็ต้องเผชิญการประท้วงขับไล่อย่างรุนแรงที่สุดจากกรณีการตั้งองค์การปฏิรูปสถาบันการเงิน หรือ ปรส. เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน นำไปสู่กรณีล้มบนฟูกของบรรษัทรายใหญ่ แต่ทิ้งให้บริษัทเงินทุนรายย่อยต้องประสบภาวะล้มละลาย

ก่อให้เกิดข้อครหาของคำว่า ‘ขายชาติ’ จากกรณีลอยตัวค่าเงินบาท ประกอบกับเกิดกลุ่มม็อบปกคอขาวที่สีลมขึ้นเนื่องจากไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาล จนบิ๊กจิ๋วเผลอโต้กลับว่า “มันไม่ประสงค์ดีต่อประเทศ” จากคำว่า ‘มัน’ กลายเป็นเชื้อเพลิงราดให้กลุ่มม็อบประท้วงมีท่าทีรุนแรงเพิ่มขึ้น วันถัดไปบิ๊กจิ๋วจึงปฏิเสธกลับไปว่า ‘มัน’ ที่กล่าวไปหมายถึง ‘โปเตโต้’ ก่อนจะลาออกสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2540

 

พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

พรรคไทยรักไทย

บกพร่องโดยสุจริต

ขาลง: ชุมนุมขับไล่
จุดสิ้นสุด: รัฐประหาร

แม้จะมีปัญหาตั้งแต่ช่วงแรกของการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีฯ อันเป็นเท็จ จากกรณีซุกหุ้นไว้กับคนใช้และคนขับรถ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าผิดจริง เขาจะต้องลงจากตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่เพิ่งขึ้น

การพิจารณาคดีในศาล ทักษิณให้การว่าไม่ได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เป็นเพียง “ความบกพร่องโดยสุจริต” ที่มาจากการดำเนินการของผู้ช่วยและเลขานุการของตนเองเท่านั้น มิได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ทักษิณพ้นผิดอย่างเฉียดฉิวด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 เสียง

เป่าปากแล้วเริ่มต้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบชวนใจหายใจคว่ำ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีสถานะแกร่งทั่วแผ่นดิน ทั้งฐานเสียงมวลชน เสถียรภาพรัฐบาล และท่าทีของกองทัพ ล้วนมีท่วงทำนองสนับสนุนรัฐบาลทั้งสิ้น

โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP, กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท, นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และอีกหลายต่อหลายนโยบายถูกพิจารณาและผลักดันอย่างรวดเร็ว ชำระหนี้ IMF แล้วเสร็จก่อนกำหนดถึงสองปี เปลี่ยนประเทศจากที่มีสภาวะเซื่องซึมเพราะพิษไข้ต้มยำกุ้งมาเป็นประเทศที่มีความหวังอีกครั้ง ภาพลักษณ์ของทักษิณเวลานั้นไม่ได้สวยงามแค่ในประเทศไทย กระทั่งในเวทีผู้นำนานาชาติก็ได้รับการยกย่องและจับตามอง

พ.ศ. 2544-2548 ระยะเวลาสี่ปีเต็มที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นอกจากเขาแล้ว มีเพียงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้นที่ทำได้

นั่นคือจุดที่ ทักษิณ ชินวัตร พาตัวเองไปสูงลิบ ชนิดที่แทบจะหานายกรัฐมนตรีคนใดได้รับความนิยมขนาดนี้ไม่ได้เลย

แต่ยิ่งสูงยิ่งหนาว อยู่สูงเพียงใดก็ตกมาเจ็บเท่านั้น

รัฐบาลทักษิณในวาระที่ 2 แม้จะได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายถึง 19 ล้านเสียง กวาด 376 ที่นั่งในสภา ทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เพียง 96 ที่นั่ง ชนิดไม่เห็นฝุ่น

ด้วยจำนวนที่นั่งขนาดนั้นจึงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคประชาธิปไตย สภามีเสถียรภาพ แต่การต่อต้านบนท้องถนนก็เริ่มขึ้นเช่นกัน

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมโจมตีการขายหุ้นชินคอร์ป 1,487 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.595 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 73,000 ล้านบาทให้กับบริษัท เทมาเส็ก ของรัฐบาลสิงคโปร์ว่าเป็นการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเจตนาหลบเลี่ยงภาษี

อีกทั้งกล่าวโจมตี ทักษิณ ชินวัตร อีกต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกวาดล้างยาเสพติดว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะกรณีตากใบที่มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ปัญหาการทุจริตในโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผิดจริยธรรม ใช้อำนาจแทรกแซงสื่อ

มีฝั่งไล่และมีฝั่งหนุน กองเชียร์และกองแช่งทักษิณ ชินวัตร แสดงจุดยืนบนท้องถนนเรือนหมื่นเรือนแสน ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มทวีความรุนแรง ไม่ใช่เพียงอยู่ในสภาหรือกลุ่มนำเท่านั้น แต่ลุกลามมาถึงประชาชนด้วยกัน เริ่มแบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน

24 กุมภาพันธ์ 2549 ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เป็นการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังอยู่ในตำแหน่งวาระที่ 2 เพียง 1 ปี 6 เดือน

และแม้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยจะได้คะแนนเสียงถล่มทลายถึง 460 ที่นั่ง แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ตัดสินใจคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ต่อมาศาลปกครองพิพากษาให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ กระทั่ง 19 กันยายน 2549 ก็เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

หลังถูกยึดอำนาจ ทักษิณ ชินวัตร ยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้ง ชื่อของเขายังเป็นผีหลอกหลอนเสมอมา

 

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

1 ตุลาคม 2549 – 29 มกราคม 2551

ขาลง: เขายายเที่ยง
จุดสิ้นสุด: ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ก่อนที่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มาก่อน และเคยมีข่าวลือหนาหูว่าพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จะทำการยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ถึงขั้นทักษิณต้องโทรศัพท์ไปสอบถามด้วยตัวเองว่า “พี่จะปฏิวัติผมหรือ” เป็นเหตุให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

แต่หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับผู้นำเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จากนั้น คปค. ได้แปรรูปเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จึงเชิญพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549

แม้จะเป็นนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารก็ตาม แต่กลับได้คะแนนนิยมอย่างท่วมท้นทั้งจากกองทัพและประชาชนเอง สืบเนื่องจากตัวพลเอกสุรยุทธ์เองเคยนั่งอยู่ในตำแหน่งองคมนตรีและเป็น ผบ.ทบ. มาก่อน บารมีที่สั่งสมมาจึงทำให้นั่งอยู่ในอำนาจได้อย่างค่อนข้างมั่นคง แม้จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารออกมาโจมตีบ้าง แต่ก็เป็นเพียงคลื่นใต้น้ำที่ไม่อาจกวนให้น้ำขุ่นไปมากกว่านั้น

ในช่วงแรกของการตั้งรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกสื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า ‘ฤาษีเลี้ยงเต่า’ เพราะมีภาพลักษณ์เป็นคนดีมีศีลธรรมเสมือนฤาษี แต่ก็ทำงานเชื่องช้าเป็นเต่า หรือ ‘รัฐบาลขิงแก่’ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาสะสางปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลชุดที่แล้ว กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลขิงแก่ไม่ปรากฏผลงานใดเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน นอกเสียจากจะมีส่วนสำคัญในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ให้ผ่านไปได้ด้วยดี

แม้ในด้านการเมือง พลเอกสุรยุทธ์จะบริหารราชการได้ค่อนข้างราบรื่น แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นข้อวิจารณ์เรื่องคอร์รัปชันและการบุกรุกที่ดินป่าสงวนเขายายเที่ยง จังหวัดนครราชสีมา และกรณีมีโบกี้รถไฟอยู่ในบ้านพัก ซึ่งขัดต่อกฎหมายพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม้พลเอกสุรยุทธ์จะออกมาปฏิเสธเรื่องโบกี้รถไฟพร้อมพานักข่าวเข้าเยี่ยมชมบ้านพัก แต่ในกรณีเขายายเที่ยงนั้นมีการฟ้องร้องคดีบุกรุกที่ดินป่าสงวน แม้อัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่สุดท้ายบ้านพักก็ถูกรื้อถอนออกไปในปี 2553

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 29 มกราคม 2551 หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกครั้ง และเป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

 

สมัคร สุนทรเวช

พรรคพลังประชาชน

เมื่อคืนไปเสพเมถุนกับใครมา

29 มกราคม 2551 – 9 กันยายน 2551
ขาลง: การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จุดสิ้นสุด: ชิมไปบ่นไป

นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วันที่ 9 กันยายน 2551 ว่ามีพฤติกรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เพราะเป็นพิธีกรรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และ ‘ยกโขยง 6 โมงเช้า’ เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาล นายสมัครถูกจับตามองในฐานะ ‘นอมินี’ ของทักษิณ ทั้งนายสมัครเคยให้สัมภาษณ์ว่า พันตำรวจโททักษิณเป็นผู้โทรศัพท์ทางไกลเชิญให้รับตำแหน่งด้วยตัวเอง

นอกจากนี้รัฐบาลสมัครแสดงท่าทีว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะยุบสภาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองตระกูลชินวัตร รอยร้าวเริ่มปรากฏให้เห็นภายในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากรัฐมนตรีในพรรคบางคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ที่ออกแถลงการณ์ชัดว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ต่อมาจึงกลายเป็นเหตุให้กลุ่มพันธมิตรฯ กลับมาชุมนุมอีกครั้ง มีการบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล จนถึงขั้นเข้าปิดล้อมสนามบิน 7 แห่งในภาคใต้ โดยการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นไปอย่างยืดเยื้อ ขณะเดียวกัน มวลชนเสื้อแดงในภาคอีสานและภาคเหนือก็ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐบาลสมัครในพื้นที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งสุดท้ายบทบาทของนายกรัฐมนตรีสมัครต้องปิดฉากลง เมื่อถูกกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ตัดสินชี้ขาดว่านายสมัครขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังคงทำรายการ ‘ชิมไป บ่นไป’ และ ‘ยกโขยง 6 โมงเช้า’ ให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ ตามความหมายคำว่า ‘ลูกจ้าง’ แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 678 และเป็นลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว มีผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

 

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

พรรคพลังประชาชน

18 กันยายน 2551 – 2 ธันวาคม 2551
ขาลง: ลงตั้งแต่ตอนขึ้น
จุดสิ้นสุด: เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

เขาคือผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘นายกฯ ที่ไม่เคยเข้าทำเนียบรัฐบาล’ และได้เป็นนายกฯ เพราะ ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’

หลังจาก นายสมัคร สุนทรเวช ถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมตรีในขณะนั้น ได้รับเสียงโหวตจากสภาผู้แทนราษฎร ชนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ท่ามกลางแรงต้านของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยกังวลว่านายสมชาย ซึ่งเป็นน้องเขยของพันตำรวจโททักษิณ จะยังดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นประโยชน์แก่รูปคดีต่อพี่เขยต่อไป

เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินทางมาปิดล้อมพื้นที่รัฐสภาตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 ตุลาคม เพื่อสกัดกั้นไม่ให้นายสมชายได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ นายสมชายจึงมีคำสั่งให้เข้าสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบ เจ้าหน้านี้ใช้อาวุธและแก๊สน้ำตา ทำให้มีผู้เสียชีวิตสองงคน ขณะที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาขณะนั้นต้องปีนกำแพงหนีตายกันอย่างโกลาหล

16 ตุลาคม 2551 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพตบเท้าเข้ารายการ ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ ที่มี นายสรยุทธ สุทัศนจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อกล่าวถึงจุดยืนของกองทัพต่อการเมืองและสถานการณ์ชายแดนกัมพูชา พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายสมชายแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เหตุการณ์นี้ถูกกล่าวขานว่าเป็นการ ‘การปฏิวัติหน้าจอ’

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคประชาธิปัตย์

Unfortunately some people died

17 ธันวาคม 2551 – 5 สิงหาคม 2554
ขาลง: การสั่งฟ้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย / เหตุการณ์ชุมนุม 2552 และ 2553
จุดสิ้นสุด: ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

หนุ่มนักเรียนนอก สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เข้าสู่วงการเมืองตั้งแต่อายุ 27 ปี เป็นนักการเมืองที่ถูกจับตาว่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทย สู่การเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

15 ธันวาคม 2551 นายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร 235 เสียง เหนือ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ที่ได้รับเสียงสนับสนุนไป 198 เสียง ซึ่งแม้จะเป็นไปตามกลไกของรัฐสภา แต่เบื้องลึกของการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นว่ากันว่ามาจากการเดินสายดึงเสียงฝั่งตรงข้ามมาร่วมหัวจมท้ายกับประชาธิปัตย์ จนได้ชื่อว่าเป็นตำนานงูเห่าภาค 2 โดยมี ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ ซึ่งเคยสังกัดพรรคพลังประชาชนที่เพิ่งถูกยุบพรรคเป็นตัวแปรสำคัญ

เป็นการเล่นเกมการเมืองในสภา ขณะที่ปัญหาการเมืองบนท้องถนนก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมายึดพื้นถนน

26 มีนาคม 2552 เพียงสามเดือนหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก็เริ่มขึ้น เพราะมองว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของนายอภิสิทธิ์เป็นการสมคบคิดของกองทัพและคณะบุคคลชั้นสูง โดยการชุมนุมเริ่มจากสนามหลวงเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล

เหตุการณ์ชุมนุมทวีความรุนแรงในเดือนเมษายน 2552 โดยมีช่วงสำคัญคือการปะทะของกลุ่ม นปช. และกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินที่พัทยา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 4 กระทั่งงานต้องถูกยกเลิก และนายอภิสิทธิ์ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในจังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชมุนุมได้มาตั้งหลักที่กรุงเทพฯ และมีการปะทะเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม และระหว่างผู้ชุมนุมกับชาวบ้าน นำมาซึ่งการบาดเจ็บนับร้อยราย ที่สุดแกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันความสูญเสีย แต่เหตุการณ์ยังไม่จบเพียงเท่านั้น

หนึ่งปีถัดมา การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. เริ่มต้นอีกครั้ง มีการเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่

การชุมนุมคราวนี้เข้มข้น รุนแรง และยืดเยื้อกว่าเดิม เหตุการณ์ตั้งแต่ 12 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 กว่าสองเดือนของการชุมนุม เกิดการปะทะนับครั้งไม่ถ้วน ตามมาด้วยการกระชับพื้นที่สลายการชุมนุม รวมผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิตถึง 94 คน นับเป็นเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย

นอกจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองแล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังเผชิญปัญหารอบด้าน ทั้งการปะทะกันในแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารระหว่างทหาร กับข้อกล่าวหาเรื่องการจัดหาปลากระป๋องเน่าไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เกินราคาในโครงการไทยเข้มแข็ง และระหว่างที่เป็นรัฐบาลก็มีการไล่ปิดเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก

ตลอด 2 ปี 7 เดือนที่ดำรงตำแหน่ง แทบไม่มีช่วงใดราบรื่น หนำซ้ำยังทวีความขัดแย้งรุนแรง แม้ว่าช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งจะพยายามผลักดันเรื่องการปรองดอง แต่กลับไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

9 พฤษภาคม 2554 เวลา 20.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

“การตัดสินใจในวันนี้ในการเดินหน้าประเทศ จึงเป็นการตัดสินใจว่า เราจะให้ประเทศของเรานั้นเดินไปในทิศทางไหน จะเดินไปข้างหน้า หรือจะเดินถอยหลัง หรือจะเดินวนจมปลักอยู่กับปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งทำให้ปัญหาอีกหลายๆ อย่างของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริง ไม่ได้รับการแก้ไข”

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ยุบสภา ลงสู่สนามเลือกตั้ง หากเขาชนะ จะได้เป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสง่าผ่าเผย ทว่า เขาแพ้ต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเพิ่งลงเล่นการเมืองเพียง 54 วันเท่านั้น

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พรรคเพื่อไทย

ดิฉันถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว

5 สิงหาคม 2554 – 7 พฤษภาคม 2557
ขาลง: มหาอุทกภัย / ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ / โครงการรับจำนำข้าว
จุดสิ้นสุด: ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ท่ามกลางคำครหามากมายในฐานะน้องสาวคนเล็กของตระกูลชินวัตร ภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบในปี 2551 นางสาวยิ่งลักษณ์ก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ของพันตำรวจโททักษิณในการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จนเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 ทักษิณถึงกับออกมาพูดว่า “เธอเป็นโคลนของผม” และ “เธอสามารถตอบ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ ในนามของ ‘ผม’ ได้”

นโยบายที่โดดเด่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีตั้งแต่เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านเป็นสองล้านบาท เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ วิสัยทัศน์ 2020 กำจัดความยากจน และนโยบายปรองดองแห่งชาติ เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2549 สัญญาณ ‘ขาลง’ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มต้นเมื่อประเทศประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 และอาจเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นสภาวะคลื่นใต้น้ำระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน มอบอำนาจการจัดการปัญหาอุทกภัยให้อยู่ในมือกองทัพ แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ปฏิเสธ และนำ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 มาใช้ เพื่อดึงอำนาจการจัดการให้ยังอยู่ในมือรัฐบาลแทน

ปี 2554 ภาพลักษณ์ของความเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเริ่มหมอง และยิ่งอับแสงมากขึ้นเมื่อนโยบายปรองดองแห่งชาติที่ยิ่งลักษณ์มุ่งหวังให้เป็นการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างสองเสื้อสีทางการเมืองด้วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ทางออกของนางสาวยิ่งลักษณ์กลับกลายเป็นทางลงของรัฐบาลในทันที เพราะไม่เพียงจะถูกคัดค้านจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังรวมถึงแกนนำ นปช. กับมวลชนคนเสื้อแดงที่เคยเป็นฐานเสียงให้กับตระกูลชินวัตรมาโดยตลอด เพราะ พ.ร.บ.นี้จะเป็นการปล่อยให้คนที่ทำผิดในกรณีปราบปรามการชุมนุมเมื่อปี 2553 ลอยนวล

การชุมนุมเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2556 นำไปสู่การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เฉพาะเขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิตในเดือนสิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 วุฒิสภามีมติยับยั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังคงจัดการชุมนุมต่อไปโดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านรัฐบาล

24 พฤศจิกายน นปช. จัดการชุมนุมใหญ่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ฝ่าย กปปส. ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชนส่วนหนึ่งเข้าต่อต้านนำไปสู่การปะทะที่มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 57 คน

1 ธันวาคม 2556 กปปส. ยกระดับการชุมนุมมุ่งหมายเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ทว่าต้องเผชิญการต้านจากตำรวจปราบจลาจลด้วยแก๊สน้ำตาและหัวฉีดน้ำดับเพลิงจนมีผู้บาดเจ็บนับร้อย ก่อนที่ตำรวจจะเปิดประตูทำเนียบให้ผู้ชุมนุมเข้าไปได้เพื่อสงบศึกก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 ธันวาคม จากนั้นจึงชุมนุมกันต่อ

ลุถึงวันที่ 8 ธันวาคม พลพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคณะลาออก 9 ธันวาคม รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา

ตลอดเดือนธันวาคม 2556 ถึง 19 พฤษภาคม 2557 กรุงเทพฯ นนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี อำเภอบางพลี สมุทรปราการ ตกอยู่ภายใต้เหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร แม้นางสาวยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 และประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้ว การชุมนุมของฝ่าย กปปส. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังคงดำเนินต่อ จนกระทั่ง 20 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ สองวันต่อมา กองทัพเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ ของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

และแม้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะหลุดพ้นจากสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 แล้ว แต่ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ยิ่งลักษณ์ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้มูลความผิดในกรณีโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์จะเคยยอมรับในการอภิปรายปี 2556 ว่าไม่เคยเข้าร่วมประชุม กขช. เลย โดย ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ฟ้องยิ่งลักษณ์ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยอ้างว่าชาวนาหลายล้านคนยังไม่ได้รับเงิน ต่อมา 28 พฤศจิกายน 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คสช. ปฏิเสธเพิ่มหลักฐาน 72 ชิ้น ในคดีรับจำนำข้าวจากยิ่งลักษณ์

ต่อมา 23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งฐานละเลยหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลให้ถูกห้ามเล่นการเมือง 5 ปี

19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองรับฟ้องจากอัยการสูงสุดในกรณีรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์

25 สิงหาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ไม่มาตามนัดศาล มีการออกหมายจับและริบเงินประกัน 30 ล้านบาท

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า