เฮโรอีนเป็นแป้ง โคเคนคือยารักษาฟัน นักเรียนนักศึกษาและทนายความเป็นผู้ต้องหา

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

สังคมเป็นพื้นที่ทั้งในความคิดและในความเป็นจริง

เมื่อเป็นพื้นที่ จึงมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ทั้งหดแคบลงหรือขยายกว้างขึ้น การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ดังกล่าว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุรูปธรรมภายนอกและการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ที่ส่งผลต่อกันและกัน ในทางความคิดมนุษย์สามารถมีจินตนาการได้ไม่รู้จบ แต่รูปธรรมภายนอกเป็นสิ่งที่มีความจำกัด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยมีมนุษย์อยู่ในพื้นที่นั้นด้วย ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งขัดแย้งต่อสู้หรือประนีประนอมจนเกิดเป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่แต่ละฝ่ายยอมอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ได้เปรียบเสียเปรียบไม่เท่ากัน

การยินยอมอยู่ร่วมกันภายในพื้นที่ที่ไม่เท่ากันและมีผู้ได้ประโยชน์มากกว่าตามโครงสร้างเป็นไปได้ เพราะการทำงานของสถาบันต่างๆ ในสังคม ซึ่งสังคมจัดตั้งสถาบันขึ้นเพราะเห็นว่ามีประโยชน์หรือมีความจำเป็นต่อส่วนรวม สถาบันกำหนดแบบแผนพฤติกรรมหรือความสัมพันธ์ของคนในสังคมไปในทิศทางที่ผู้คนพอจะอยู่ร่วมกันได้ โดยมีเงื่อนไขว่าทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ แบบแผน และมาตรฐานขั้นต่ำบางประการ โดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งและได้รับสิทธิอำนาจจากสถาบันที่ตนเองสังกัดอยู่ ยิ่งต้องมีภาระรับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำเหล่านั้น

ความสัมพันธ์ทำนองนี้ไม่เพียงแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับสถาบันหนึ่ง แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนค้ำจุนกันและกันเป็นเครือข่ายด้วย

แม้ว่าสถาบันจะกดทับควบคุม อำนวยประโยชน์ให้กับชนชั้นนำ มีด้านกดขี่ อยุติธรรมแต่มีความชอบธรรมจากการยอมรับของประชาชนที่เห็นว่าภายใต้โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ยังมีพื้นที่จำนวนหนึ่งที่ประชาชนสามารถมีวิถีชีวิตที่พึงใจและแสวงหาเติมเต็มศักยภาพของตนเองได้ตามสมควร จนกว่าประชาชนจะรู้สึกว่าเพดานต่ำเกินกว่าจะใช้ชีวิตตามที่ฝันได้ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งจากการที่ประชาชนขยายเพดานขึ้นสูง หรือชนชั้นนำกดเพดานลงมาต่ำ

อย่างไรก็ตาม พลวัตทางสังคมทำให้การขยับขยายพื้นที่แบ่งปันผลประโยชน์เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระดับสากลทิศทางการเปลี่ยนแปลงมุ่งไปสู่การลดพื้นที่ความได้เปรียบอย่างถาวรของชนชั้นที่ได้เปรียบอยู่ก่อนลง การเคลื่อนไหวนี้ถูกเรียกสรุปอย่างรวบรัดชัดเจนว่า ‘ความเท่าเทียม’ หรือคนเท่ากัน

ข้อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมหรือคนเท่ากัน เป็นข้อเรียกร้องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ได้เปรียบอยู่แล้วอย่างสาหัสและสำคัญ เพราะมันทำลายอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ได้มาโดยไม่ต้องใช้สติปัญญาและความสามารถอันเป็นพื้นที่สงวนสำคัญของชนชั้นผู้ได้เปรียบ พัฒนาการเรื่องนี้ในหลายประเทศมักจบลงด้วยความรุนแรง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการปรับตัวที่น้อยเกินไปและช้าเกินไปของสถาบันต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะสถาบันสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าที่ควรคือการที่ผู้มีอำนาจมิได้แสดงให้เห็นว่า สถาบันที่ดำรงอยู่สามารถทำงานเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมและประสานรอยร้าวในสังคมให้ขัดแย้งกันได้โดยสันติ แต่กลับเพิกเฉยต่อมาตรฐานขั้นต่ำหรือหลักการของสถาบัน และใช้อำนาจมุ่งปราบปรามผู้เห็นต่างจนทำให้ด้านความชอบธรรมในการใช้อำนาจของสถาบันหลุดลอกเปลือยเปล่าเหลือแต่อำนาจดิบ กลายเป็นการบังคับด้วยกำลังเพียงด้านเดียว

ในแง่นี้การปฏิวัติครั้งสำคัญๆ ของโลกไม่ได้เกิดขึ้นจากความยากไร้และการกดขี่เท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เป็นมูลฐานในสังคมอยู่แล้ว แต่การที่ประชาชนเกินทนและต้องลุกขึ้นสู้ก็ด้วยเหตุที่ว่าความยากไร้และการกดขี่โดยสถาบันต่างๆ ในสังคมนั้นเกิดขึ้นอย่างอุจาดเกินระดับที่วิญญูชนจะทนได้ ซึ่งหมายถึงความเสื่อมของสถาบันที่ค้ำจุนให้ความชอบธรรมแก่อำนาจกดขี่

ในสังคมไทย ความเสื่อมดังกล่าวเกิดขึ้นมาพักใหญ่ แต่มากขึ้นเรื่อยๆ หลังการรัฐประหารปี 2557 ธรรมชาติของเผด็จการอำนาจนิยมทำให้เกิดการกระทำตามอำเภอใจของสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอันเป็นแหล่งพึ่งพิงสุดท้ายที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมภายใต้โครงสร้างอันอยุติธรรม ความเสื่อมนี้ส่อเค้าให้เห็นตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายและตัดสินพิพากษาคดีสำคัญทางการเมือง ที่มีคู่ขัดแย้งทางการเมืองสองขั้วชัดเจนเรื่อยมา จนถึงคดีอาญาที่ประชาชนทุกคนรับรู้ในฐานะเรื่องใกล้ตัวไม่เลือกฝ่าย

ในยุคสมัยที่เฮโรอีนกลายเป็นแป้ง โคเคนกลายเป็นยารักษาฟัน กลับมี เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และทนายที่ทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกทำให้เป็นผู้ต้องหาถูกติดตามคุกคามจับกุมคุมขัง เพราะการแสดงออกทางความคิดตามกรอบกฎหมาย เหล่านี้ย่อมสะท้อนความเสื่อมลงในแนวดิ่งของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม

ความเสื่อมของสถาบันจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชน แต่เกิดขึ้นจากสมาชิกของสถาบันพร้อมใจกันบังคับใช้กฎหมายไปในทางเสื่อม ไม่ปฏิบัติตามหลักการขั้นต่ำอันพึงกระทำของสถาบันที่ตนเองสังกัดใช้ประโยชน์

บุคคลกับสถาบันสัมพันธ์ในลักษณะส่งเสริมหรือบั่นทอนกันและกัน หากบุคคลใช้อำนาจที่มาจากสถาบันไปในทิศทางที่สังคมยอมรับนับถือยกย่อง บุคคลนั้นย่อมมีความมั่นคงในอำนาจและก็จะส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันไปด้วย ในทางกลับกันหากบุคคลใช้อำนาจที่มาจากสถาบันในทางเสื่อมนอกจากตัวบุคคลจะเสื่อมแล้วยังทำให้สถาบันเสื่อมลงไปด้วย

ความเสื่อมนี้หากไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างทันท่วงที ย่อมทำให้ประชาราษฎร์หมดศรัทธาและนำพาให้สถาบันพังทลายลงด้วยลักษณะอำนาจนิยมของสถาบันนั้นเอง

Author

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี
ปัจจุบันสอนวิชาสังคมวิทยาการเมืองอยู่ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า